เรื่อง "อะซานก่อนเ้ข้าเวลาละหมาดจุมุอะฮ์" นั้น ลองหาคำตอบจากหนังสือ ฟิกฮุลอิสลามีย์ วะอะดิลละตุฮฺ (ฟิกฮฺเปรียบเทียบระหว่างมัซฮับ), เล่ม ๑ หน้า ๒๙๐-๒๙๑ (ฉบับแปลภาษามลายู) ของ ดร.วะฮ์บะฮ์ อัซซุฮัยลีย์ ดังนี้
เงื่อนไขใช้ได้ของการละหมาดจุมุอะฮ์
เงื่อนไขใช้ได้ (เศาะห์) ของการละหมาดจุมุอะฮ์ก็คืออย่างเดียวกับเงื่อนไขใช้ได้ของการละหมาดทั่วไป อย่างที่ได้ระบุไปแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือ สิบเอ็ดประการ และเพิ่มเติมอีกเจ็ดเงื่อนไขตามทัศนะของอุละมาอ์สายหะนะฟีย์และชาฟิอีย์ หรืออีกห้าตามทัศนะของอุละมาอ์สายมาลิกีย์ หรืออีกสี่ตามทัศนะของอุละมาอ์สายหันบะลีย์ (ดู หนังสือ อัดดุรรุลมุฅตาร, ฟัตหุลเกาะดีร, อัลบะดาอิอฺ, อัลลุบาบ อัชชัรหุศเศาะฆีร, อัชชัรหุลคะบีร, บิดายะตุลมุจตะฮิด, อัลเกาะวานีน อัลฟิกฮียะฮ์, มุฆนียุลมุห์ตาจ, อัลมุฑฑับ, หะชียะฮ์อัชชัรกอวีย์, คัชชาฟอัลกินาอฺ, อัลมุฆนีย์)
เวลาซุฮฺริ์
ละหมาดจุมุอะฮ์จะใช้ได้ (ก็ต่อเมื่อทำ) ในเวลาซุฮฺริ์เท่านั้น ดังนั้น จึงใช้ไม่ได้หากว่ามันถูกกระทำหลังจากเวลานั้น การละหมาดจุมุอะฮ์มิอาจจะชดใช้ (เกาะฎออ์) ได้ ซึ่งหากเวลาได้คับแคบแล้ว ก็ให้ทำละหมาดซุฮฺริ์เสีย
ตามทัศนะของ “จุมฮูร” (นักปราชญ์ส่วนใหญ่-ผู้แปล) นอกจากอุละมาอ์สายหันบะลีย์แล้ว การละหมาดจุมุอะฮ์ที่ถูกกระทำก่อนเข้าเวลาซุฮฺริ์ กล่าวคือ ก่อนตะวันคล้อย (อัซซะวาล) นั้นย่อมใช้ไม่ได้
ทัศนะนี้อ้างจากการกระทำต่างๆ ที่ดำรงมั่นอยู่จากท่านนบีย์ ศ็อลฯ ที่ปฏิบัติละหมาดจุมุอะฮ์ภายหลังจากตะวันคล้อยดั่งรายงานของท่านอะนัสว่า
ความว่า “แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ปฏิบัติละหมาดจุมุอะฮ์หลังจากตะวันคล้อย” (รายงานโดยอะห์มัด, อัลบุฅอรีย์, อบูดาวูด และอัตติรมีฑีย์ และในหนังสือ นัยลุลเอาฏ็อร)
การปฏิบัติของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม นั้นได้ถูกเจริญรอยตามโดยฅุละฟาอือัรรอชิดีน (บรรดาเฅาะลีฟะฮ์ทั้งสี่-ผู้แปล) และผู้คนในยุคต่อมา ยิ่งไปกว่านั้น การละหมาดจุมุอะฮ์และการละหมาดซุฮฺริ์นั้นก็เป็นฟัรฎุเดียวกันสำหรับหนึ่งเวลา (หมายถึงอยู่ในเวลาเดียวกัน-ผู้แปล) ที่ไม่มีข้อแตกต่างในเรื่องเวลาของมัน เช่นเดียวกันกับการละหมาดของมุกีม (ผู้พำนัก-ผู้แปล) กับการละหมาดของมุสาฟิร (ผู้เดินทาง-ผู้แปล)
อุละมาอ์สายหันบะลีย์กล่าวว่า อนุญาตให้ทำละหมาดจุมุอะฮ์ก่อนตะวันคล้อย (อัซซะวาล) ได้ ซึ่งเวลาแรกสุดของมันก็เหมือนกับเวลาแรกสุดของการละหมาดอีดนั่นเอง
(ทัศนะ) นี้อ้างจากคำกล่าวของท่านอับดุลลอฮฺ บิน สัยดัน อัสสุละมีย์ ที่ว่า “ฉันได้ทำละหมาดจุมุอะฮ์พร้อมกับท่านอบูบักร์ ซึ่งฅุฏบะฮ์และการละหมาดนั้นได้ถูกปฏิบัติก่อนตะวันคล้อย ต่อมาฉันก็ได้ละหมาดจุมุอะฮ์พร้อมกับท่านอุมัร ซึ่งละหมาดและฅุฏบะฮ์นั้นได้ถูกปฏิบัติจนกระทั่งฉันกล่าวว่า ตะวันคล้อยแล้ว แต่ฉันก็ไม่พบว่ามีใครตำหนิและปฏิเสธเรื่องนี้เลย” (รายงานโดยอัดดาเราะกุฏนีย์และอะห์มัด กล่าวว่า “เช่นเดียวกัน ก็ได้ถูกรายงานโดยท่านอิบนุ มัสอูดและท่านจาบิร, ท่านสะอีดพร้อมกับท่านมุอาวียะฮ์, “แท้จริงพวกเขาละหมาดก่อนตะวันคล้อย” ดูหนังสือ นัยลุลเอาฏ็อร, เล่ม ๓ หน้า ๒๕๙”) ฉะนั้น มันจึงกลายเป็น “อิจมาอฺ” (มติเอกฉันท์) เพราะการละหมาดจุมุอะฮ์นั้นก็เหมือนกับการละหมาดสองวันอีดนั่นเอง
ดังนั้น การละหมาดจุมุอะฮ์ก่อนตะวันคล้อย จึงเป็นข้ออนุญาตและเป็น “รุฅเศาะฮ์” (ข้อผ่อนปรน-ผู้แปล) ประการหนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นวาจิบ (บังคับ) ก็ต่อเมื่อตะวันคล้อย และการกระทำมันหลังจากตะวันคล้อยก็ย่อมประเสริฐยิ่งกว่า (อัฟฎ็อล) โดยอ้างจากสิ่งที่ถูกรายงานโดยท่านสะละมะฮ์ บิน อัลอัควะอ์ใจความว่า “พวกเราพร้อมด้วยท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ทำการละหมาดจุมุอะฮ์เมื่อตะวันคล้อย ซึ่งต่อมา พวกเราก็กลับไปเพื่อร่วมในการแบ่งทรัพย์สินฟัยอฺ (ทรัพย์สินที่ยึดได้จากสงคราม)” (รายงานโดยอัลบุฅอรีย์และมุสลิม และในหนังสือ นัยลุลเอาฏ็อร)
บรรดาอุละมาอ์เห็นพ้องกันว่า สิ้นสุดเวลาของมัน (การละหมาดจุมุอะฮ์-ผู้แปล) คือ สิ้นสุดเวลาซุฮฺริ์นั่นเอง เพราะการละหมาดจุมุอะฮ์นั้นเป็นการทดแทนการละหมาดซุฮฺริ์ หรือเป็นการเอาที่ของมัน ฉะนั้น จึงเหมาะแล้วที่ได้ให้มัน (เวลา) ทั้งสองเท่านั้น เพราะว่าปรากฏความเท่ากันระหว่างมัน (เวลา) ทั้งสองนั่นเอง ..." จบ
สรุปคือ เมื่อละหมาดจุมุอะอ์ก่อนตะวันคล้อยได้ - เวลาซุฮฺริ์จะเข้าตอนตะวันคล้อย - แน่นอนการอะซานก็ย่อมได้ เพราะการอะซานจะอยู่ก่อนละหมาดเสมอ อันนี้ตามมัซฮับหันบาลีย์เท่านั้น ในขณะที่ตามทัศนะของอุละมาอ์ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ ... วัลลอฮุอะอ์ลัม