بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
การละหมาดฮะดียะฮ์ ไม่มีฮะดิษระบุชื่อละหมาดนี้โดยตรงซึ่งเหมือนกับละหมาดตะรอวิห์ เท่าที่ได้ศึกษาค้นคว้าเข้าใจว่า การละหมาดฮะดียะฮ์เป็นละหมาดสุนัตธรรมดา ๆ (สุนัตมุฏลัก) แล้วทำการฮะดียะฮ์มอบผลบุญให้แก่ผู้ตายหรือทำการขอดุอาต่ออัลเลาะฮ์ให้พระองค์ทรงมอบผลบุญการทำละหมาดนี้ให้แก่บิดามารดาของเราหรือบิดามารดาของทายาทผู้ที่ได้มอบหมายให้เราช่วยละหมาดให้
ท่านอิมามอัศศ๊อนอานีย์ กล่าวว่า "ถือว่าใช้ได้โดยการที่คนมุกัลลัฟได้กระทำแทนจากคนอื่นในเรื่องการกระทำอิบาดะฮ์ต่าง ๆ หากแม้นว่าคนอื่นจะไม่ได้สั่งใช้หรือสั่งเสียไว้ก็ตาม ดังนั้นจึงถือเป็นการ(เซาะห์)ใช้ได้กับการที่เขาได้ทำการมอบผลบุญการปฏิบัติอะมัลให้แก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดหรืออื่นจากละหมาดก็ตาม...และข้อบ่งชี้ยังสิ่งดังกล่าวนั้น คือฮะดิษที่รายงานโดยท่านอัดดารุกุฏนีย์ จากฮะดิษของท่านญาบิร ว่า "มีชายคนหนึ่งกล่าวว่า โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ฉันมีบิดามารดา ซึ่งฉันได้ทำความดีต่อท่านทั้งสองในขณะที่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นฉันจะทำความดีแด่ท่านทั้งสองหลังเสียชีวิตไปแล้วอย่างไรดี? ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า "แท้จริงแล้ว เป็นส่วนหนึ่งจากการปฏิบัติซึ่งความดีงามหลังจากความดีงาม ก็คือ การที่ท่านได้ละหมาดให้กับบิดามารดาพร้อมกับการละหมาดของท่านและให้ท่านทำการถือศีลอดให้แก่ทั้งสองพร้อมกับการถือศีลอดของท่าน" หนังสือ สุบุลุสสลาม 4/531 ตีพิมพ์ครั้งที่ 5 ดารุลหะดิษ ไคโร
ดังนั้น การละหมาดให้แก่บิดามารดานั้น ก็คือการละหมาดสุนัตแล้วฮะดียะฮ์มอบผลบุญให้แก่บิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนละหมาดฟัรดูนั้นจะทำแทนบิดามารดาหลังจากที่ทั้งสองเสียชีวิตไปแล้วไม่ได้
ท่านอิบนุก๊อยยิม กล่าวว่า "สำหรับการอ้างหลักฐานจากพวกท่านด้วยคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า "เมื่อบ่าวคนหนึ่งได้เสียชีวิต อะมัลของเขาจะขาดตอน" ถือว่าเป็นการอ้างหลักฐานที่ต้องตกไป เพราะท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้กล่าวว่า "การได้รับผลประโยชน์ของผู้ตายขาดตอน" แต่ทว่าท่านร่อซูลุลลอฮ์ได้บอกว่า อะมัลของผู้ตายเองนั้นขาดตอน เพราะอะมัลของคนอื่นนั้นก็ย่อมเป็นอะมัลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา ดังนั้น หากเขาได้มอบ(ฮะดียะฮ์)มันให้แก่ผู้ตาย ผลบุญอะมัลของเขาก็จะไปถึงคนตาย เพราะฉะนั้น อะมัลที่ขาดตอนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนอะมัล(ของผู้อื่น)ที่ถึงไปยังเขานั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเช่นเกียวกับฮะดิษดังกล่าวนี้ ก็ยังมีฮะดิษอื่น ๆ อีกซึ่งท่านนบี ได้กล่าวไว้ว่า "แท้จริง ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่จะติดตามผู้ตายนั้น ก็คือสิ่งที่มาจากบรรดาความดีงามและอะมัลของเขา" แต่ทว่าฮะดิษนี้ไม่ได้ปฏิเสธอะมัลของคนอื่นและบรรดาความดีงามของคนอื่นที่จะ(มอบ)ติดตามเขาไป" หนังสือ อัรรั๊วะห์ ของท่านอิบนุก๊อยยิม 1/129
ท่านอิบนุก๊อยยิม กล่าวเช่นกันว่า "การถือศีลอด คือต้องมีการเหนียตและระงับอารมณ์จากประการต่าง ๆ ที่ทำให้เสียศีลอด แล้วอัลเลาะฮ์ก็จะทำให้ผลบุญการถือศีลอดไปถึงผู้ตาย ดังนั้น การอ่านอัลกุรอานนั้นผลบุญจะไม่ถึงผู้ตายได้อย่างไร ทั้งที่การอ่านก็เป็นอะมัลหนึ่งและมีการเหนียต ยิ่งกว่านั้น การอ่านอัลกุรอานไม่ต้องการไปยังการเหนียติก็ได้ ฉะนั้น กรณีการที่ผลบุญการถือศีลอดได้ถึงไปยังผู้ตายนั้น เพื่อให้ตระหนักว่าบรรดาอะมัลอื่น ๆ ก็ถึง(ไปยังผู้ตายเช่นกัน)" หนังสือ อัรรั๊วะห์ ของท่านอิบนุก๊อยยิม 1/122
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ กล่าวว่า "บรรดาอุลามาอฺที่อ้างหลักฐานว่า อนุญาตให้การ(ฮะดียะฮ์) มอบผลบุญอิบาดะฮ์ต่าง ๆ ในด้านทรัพย์สิน (เช่นการซอดาเกาะฮ์) และอิบาดะฮ์ทางร่างกาย(เช่นการถือศีลอดและการทำฮัจญ์) ให้แก่บรรดามุสลิมีนที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น ก็คือมัซฮับของอิมามอะห์มัด มัซฮับอบูหะนีฟะฮ์ มัซฮับกลุ่มหนึ่งของนักปราชญ์มัซฮับมาลิกีและชาฟิอีย์ ดังนั้น เมื่อคนหนึ่งได้ฮะดียะฮ์(มอบ)ผลบุญการถือศีลอด ผลบุญการละหมาด(สุนัต) ผลบุญการอ่านอัลกุรอานให้แก่ผู้ตาย สิ่งดังกล่าวก็ย่อมเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้" หนังสือ มัจญ์มั๊วะอัลฟะตาวา 24/322
ท่านอิบนุก๊อยยิม ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า "บรรดานักปราชญ์ได้ขัดแย้งเกี่ยวกับอิบาดะฮ์ที่กระทำด้วยร่างกาย เช่น การถือศีลอด การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน และการซิกรุลลอฮ์ ท่านอิมามอะห์มัดและปราชญ์สะลัฟส่วนมาก มีทัศนะว่า ผลบุญการถือศีลอด การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮ์ จะถึงผู้ตาย และมันยังเป็นทัศนะบางส่วนของสานุศิษย์อิมามอบูหะนีฟะฮ์ และท่านอิมามอะห์มัดได้กล่าวระบุไว้ในสายรายงานของมุฮัมมัด บิน อะห์มัด อัลกะห์ฮาล เขากล่าวว่า "ได้กล่าวถามแก่ท่านอบีอับดิลลาฮ์ (คือท่านอิมามอะห์มัด) ว่า ชายคนหนึ่งได้กระทำความดี จากการละหมาด การซอดาเกาะฮ์ และอื่น ๆ แล้วมอบผลบุญครึ่งหนึ่งให้แก่บิดาหรือมารดาของเขา ท่านอิมามอะห์มัดตอบว่า "ฉันหวัง(ว่าผลบุญนั้นถึงผู้ตาย)" หรือท่านอิมามอะห์มัดกล่าวว่า "ทุก ๆ สิ่งจากการซอดาเกาะฮ์และอื่น ๆ นั้น ผลบุญจะถึงแก่ผู้ตาย" และท่านอิมามอะห์มัดกล่าวเช่นเดียวกันว่า "ท่านจงอ่านอายะฮ์กุรซีย์ 3 ครั้ง อ่านกุลฮุวัลลอฮุอะฮัด และท่านจงกล่าวว่า "โอ้ผู้อภิบาลแห่งข้าฯ ความดีงามของอะมัลเหล่านั้น ขอมอบแด่บรรดาชาวกุบูร" หนังสือ อัรรั๊วะห์ ของท่านอิบนุก๊อยยิม 1/117
ท่าน อิบนุ มุฟลิหฺ(ศิษย์ของท่านอิบนุตัยมียะฮ์) กล่าวไว้เช่นกันว่า "ไม่ว่าอิบาดะฮ์ใด ที่กระทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการดุอา อิสติฆฟาร การละหมาด การถือศีลอด การทำฮัจญฺ การอ่านอัลกุรอาน และอื่น ๆ แล้วเอาผลบุญดังกล่าวนั้น มอบฮะดียะฮ์ให้แก่มัยยิดมุสลิม เขาย่อมได้รับผลประโยชน์จากสิ่งดังกล่าวแน่นอน ท่านอิมามอะหฺมัด กล่าวว่า ผู้ตายนั้น(ผลบุญ)ทุกๆ สิ่งที่มาจากความดีงามจะถึงไปยังเขา เพราะมีบรรดาตัวบทได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้และเพราะบรรดามุสลิมีนในทุกเมือง ได้ทำการรวมตัวกัน แล้วทำการอ่านอัลกุรอาน จากนั้นพวกเขาก็ทำการฮะดียะฮ์(มอบผลบุญของทุกๆ สิ่งจากความดีงาม) ให้แก่บรรดาผู้ตายของพวกเขา โดยไม่ได้รับการตำหนิเลย ดังนั้น สิ่งดังกล่าวย่อมเป็นมติ(อิจญฺมาอ์)แห่งปวงปราชญ์ เช่นกันกับการขอดุอา และการอิสติฆฟารนั้น หากแม้ว่าจะฮาดิยะฮ์มอบแก่ท่านร่อซูล(ซ.ล.) ก็ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ และผลบุญก็ถึงไปยังท่านนบี ซึ่งได้กล่าวหลักการนี้โดยท่านอัลมัจญฺ" ดู หนังสือ อัลมุบดิอ์ ชัรหฺ อัลมุกเนี๊ยะอฺ ของท่าน อิบนุ มุฟลิหฺ 2/254
บทสรุป : คือการกระทำความดีงามใดก็ตาม เช่น การถือศีลอด การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮ์ แล้วมอบผลบุญให้แก่ผู้ตายนั้น ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ และผลบุญก็ไปถึงผู้ตายอีดด้วย อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ดังนั้น การละหมาดสุนัตธรรมดาสองรอกะอัต แล้วฮะดียะฮ์ผลบุญให้แก่ผู้ตายนั้น อนุญาตให้กระทำได้ และผลบุญถึงผู้ตายตามหลักการที่ได้กล่าวมา
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ