ผู้เขียน หัวข้อ: ทำอย่างไรขณะเอียะติดาล  (อ่าน 1118 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ moorid

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 14
  • Respect: +1
    • ดูรายละเอียด
ทำอย่างไรขณะเอียะติดาล
« เมื่อ: ก.ค. 29, 2012, 01:33 PM »
0


الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


การเอียะอฺติดาล (اَلإعْتِدَالُ)  จากการก้มรุ่กัวอฺถือเป็นฟัรฎูและรุ่ก่นหนึ่งจากบรรดารุ่ก่นของการละหมาด ซึ่งจะใช้ไม่ได้นอกจากด้วยการเอียะอฺติดาลนั้น โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัชชาฟิอีย์และการเอียะอฺติดาลที่เป็นวาญิบนั้นคือการที่ผู้ละหมาดหวนกลับหลังจากการรุ่กัวอฺของเขาไปยังสภาพซึ่งเขาเป็นอยู่บนสภาพนั้นก่อนการรุ่กัวอฺ ไม่ว่าเขาผู้นั้นยืนละหมาดหรือนั่งละหมาดก็ตาม (อัลมัจฺญมูอฺ ชัรฮุลมุฮัซซับ ; อิหม่ามอันนะวาวีย์ เล่มที่ 3 หน้า 390) และเมื่อเขาเอียะอฺติดาลในสภาพยืนตรงแล้วให้เขาลดมือทั้งสองของเขาลง (อ้างแล้ว 3/391)


หากพิจารณาคำว่า กลับไปสู่สภาพเดิม ซึ่งเขาอยู่บนสภาพนั้นก่อนการรุ่กัวอฺ ก็เข้าใจได้ว่า ให้กลับไปยืนตรงนั่นเอง เพราะการยืนตรงเป็นสภาพก่อนหน้าการรุ่กัวอฺของผู้ละหมาด ส่วนเมื่อยืนตรงแล้วนั้นต้องกอดอกหรือไม่? ถ้าพิจารณาประโยคที่อ้างจากตำราว่า เมื่อยืนตรงแล้วให้เขาลดมือทั้งสองลง หมายถึง ขณะเริ่มเงยศีรษะจากการรุ่กัวอฺให้ยกมือทั้งสองเหมือนกับตอนที่ยกขณะทำการตักบีร่อตุ้ลอิฮฺรอม แล้วก็ปล่อยมือลง เรียกว่า การปล่อย (อิรซ้าลฺ)


ส่วนกรณีที่มีผู้ละหมาดบางคนยกมือเหมือนขอดุอาอฺนั้น ก็ต้องกลับไปดูว่า ลักษณะการยกมือขณะตักบีร่อตุ้ลอิฮฺรอมทำอย่างไร? อิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัลอุมฺม์และมุคตะซ๊อร อัลมุซะนีย์ และบรรดาอัศฮาบว่า : ให้ผู้ละหมาดยกตรงกับหัวไหล่ทั้งสองของเขา หมายถึง ให้ฝ่ามือทั้งสองของเขาตรงกับหัวไหล่ทั้งสองของเขา อัรรอฟิอีย์ (ร.ฮ.) และมัซฮับกล่าวว่า : ให้ยกมือทั้งสองโดยให้ปลายนิ้วมือตรงกับส่วนบนสุดของหูทั้งสองข้าง และนิ้วหัวแม่มือทั้งสองตรงกับติ่งหูทั้งสอง ฝ่ามือทั้งสองของเขาก็จะตรงกับหัวไหล่ทั้งสองนั่นเอง  ตามนี้อัลมุตะวัลลีย์ , อัลบะฆอวีย์ , และอัลฆ่อซาลี กล่าวเอาไว้เช่นกัน (อัลมัจฺญมูอฺ อ้างแล้ว 3/262 , 263) และอัลมุตะวัลลีย์ กล่าวว่า : ส่งเสริมให้ฝ่ามือของผู้ละหมาดอยู่ทางทิศกิบละฮฺ ขณะทำการยก (อ้างแล้ว 3/266) และให้แยกระหว่างนิ้วมือโดยไม่รวมและไม่ถ่างออกแต่ให้อยู่ในสภาพปกติ (อ้างแล้ว 3/264)


ฉะนั้นตามคำอธิบายของนักวิชาการข้างต้นจึงทราบได้ว่า ไม่มีซุนนะฮฺให้ทำท่าขณะยกมือเหมือนการขอดุอาอฺแต่อย่างใด? เพราะถ้ายกมือแบบขอดุอาอฺก็แสดงว่าผู้ละหมาดเอาฝ่ามือหันเข้าหาตัวและเอาหลังมือหันไปทางทิศกิบละฮฺ ซึ่งค้านกับการอธิบายของนักวิชาการข้างต้น แต่ถ้าผู้ละหมาดทำท่าทางในการยกมือดังกล่าวก็ไม่ได้เสียละหมาดแต่อย่างใด! เพราะการยกมือเป็นเพียงซุนนะฮฺมิใช่รุ่ก่นหรือฟัรฎู ไม่ยกเลยก็ยังสามารถกระทำได้ แต่ก็ไม่ดีเพราะไม่รักษาซุนนะฮฺนั่นเอง



กรณีการเอียะอฺติดาลแล้วกลับมากอดอกใหม่นี้ นักวิชาการบางท่าน เช่น ชัยค์ อัตตุวัยญิรีย์ ได้อ้างถึงคำกล่าวของอิหม่ามอะฮฺมัด (ร.ฎ.) ที่ว่า : หากเขาประสงค์ก็ปล่อยมือทั้งสองของเขาหลังจากเงยจากการรุ่กัวอฺ และถ้าหากเขาประสงค์ก็วางมือทั้งสองของเขาไว้ (คือกอดอก) –ดู อัตตัมบีฮาตฺ อะลา ริซาละฮฺ อัลอัลบานีย์ ฟิซฺซ่อลาติ้ ; ชัยค์ ฮะมูด อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัตตุวัยญิรีย์ ริยาฎ (1387) หน้า 18-19)


ท่านชัยคฺ อับดุลอะซีซฺ บิน บ๊าซฺ (ร.ฮ.) ก็ตอบเอาไว้ในฟัตวาของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งมีข้อความว่า : เป็นที่ทราบกันว่า มีซุนนะฮฺให้ผู้ละหมาดวางฝ่ามือทั้งสองบนหัวเข่าทั้งสองในขณะรู่กัวอฺ และให้วางมือทั้งสองบนพื้นตรงกับหัวไหล่หรือหูทั้งสองขณะสุหญูด และให้วางมือทั้งสองบนขาอ่อนและหัวเข่าในขณะนั่งระหว่างสองสุหญูดและในการตะชะฮฺฮุด ตามรายละเอียดที่ซุนนะฮฺได้ให้ความกระจ่างเอาไว้ ดังนั้นจึงไม่เหลืออีกนอกเสียจากขณะยืนก็รู้ได้ว่า นั่นคือจุดมุ่งหมายจากหะดีษของสะฮฺล์ และด้วยสิ่งดังกล่าว จึงเป็นที่กระจ่างชัดว่า แท้จริงมีบัญญัติให้ผู้ละหมาดวางมือขวาของเขาบนข้อมือซ้ายในขณะที่เขายืนในการละหมาดไม่ว่าสิ่งดังกล่าวจะเป็นการยืนก่อนการรุ่กัวอฺหรือหลังรุ่กัวอฺก็ตาม (ดู ฟัตวา ชัยค์ บินบ๊าซฺ ในมัจญมูอฺ ฟะตาวา ว่า มะกอลาตุ มุตะเนาวิอะฮฺ เล่มที่ 11 หน้า 131-140/144-145/146-147/148-149)


ซึ่งการฟัตวาให้กอดอกขณะเอียะอฺติดาลของชัยคฺ บิน บ๊าซฺ นี้ชัยคฺ มุฮำหมัด นาซิรุดดีน อัลอัลบานีย์ได้ตอบโต้และวิจารณ์ คำฟัตวาดังกล่าวเอาไว้ว่า การกอดอกขณะเอียะอฺติดาลเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และเป็นความหลงผิด (ฎ่อลาละฮฺ) – ดู ซิฟะตุ้ ซ่อลาตินฺนะบีย์ ; อัลอัลบานีย์ , มักตับ อิสลามีย์ (1987) หน้า 105-106 ในหมายเหตุ) ท่านชัยค์ บิน บ๊าซฺ (ร.ฮ.) ก็ตอบคำวิจารณ์ของอัลอัลบานีย์ (ร.ฮ.) เอาไว้ในฟัตวาของท่านดังที่อ้างมาข้างต้น และระบุหมายเหตุสำคัญเอาไว้ในฟัตวาเล่มที่ 11/141 ว่า : ฉะนั้นถ้าหากผู้หนึ่งละหมาดโดยปล่อยมือและไม่กอดอกก่อนการรุ่กัวอฺหรือหลังรุ่กัวอฺ การละหมาดของเขาก็ใช้ได้ อันที่จริงเขาเพียงแต่ละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า (อัฟฎ้อล) ในการละหมาด 

ดังนั้นไม่สมควรที่ชาวมุสลิมคนใดจะยึดจากความเห็นขัดแย้งในประเด็นปัญหานี้และที่คล้าย ๆ กันเอามาเป็นสิ่งที่นำไปสู่การขัดแย้ง การเหินห่าง หมางเมิน และการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะแท้จริงสิ่งดังกล่าวไม่อนุญาตสำหรับชาวมุสลิมทั้งหลาย”


จึงสรุปได้ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามองต่างมุมที่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่เป็นข้อปัญหาปลีกย่อย ผู้ละหมาดจะปล่อยมือโดยไม่กอดอกก็ได้ทั้งก่อนและหลังการรุ่กัวอฺ หรือจะกอดอกในทั้ง 2 กรณีก็ว่ากันไป การที่คุณ rusdee เห็นบางคนปล่อยมือและบางคนกอดอกซึ่งต่างกันก็เป็นผลมาจากการมองต่างมุมของนักวิชาการนั่นเอง โปรดอย่านำเรื่องนี้มาทะเลาะกันเพราะมือของใคร ใครคนนั้นก็รับผิดชอบ!  จะกอดอกหรือจะปล่อยก็ละหมาดร่วมกันได้บ่มีปัญหาแต่อย่างใด  สำคัญอย่ากอดคอตีเข่ากันเองก็แล้วกัน เดี๋ยวจะฟาล์วทั้งคู่! 

والله أعلم بالصواب

คัดลอกมาบอกกัน จากเวป ครูอาลี  เสื่อสมิง 






 

GoogleTagged