ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 4  (อ่าน 2664 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 4


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด


ต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึง เงื่อนไขของหะดีษมักบู้ล โดยรายละเอียดของมันดังต่อไปนี้

7.1.ต้องมีสายรายงานติดต่อกัน ( إتصال الإسناد )

และเป้าหมายของคำว่าสายรายงานติดต่อกันนั้น ก็คือ การที่ผู้รายงานทุกคนในสายรายงาน ได้รับหะดีษมาจากบุคคลที่อยู่ก่อนหน้าเขา โดยตรง ด้วยกับแนวทางหนึ่งจากแนวทางของการับเอามา เช่น ไปเรียนกับเชค(ครู)ของเขาโดยตรง และก็รับหะดีษมาจากครูของเขา  หรือ มีการเล่าหะดีษสืบต่อกันมา โดยมีเงื่อนไขว่า สายรายงานนั้นต้องไม่มีการขาดตอน ตั้งแต่ผู้บันทึกหะดีษไล่ขึ้นไปจนกระทั่งถึงท่านร่อซู้ล(ซล.) หมายความว่า จะต้องไม่มีนักรายงานคนหนึ่ง หรือ มากกว่า ตกไปจากสายรายงานนั้น

7.2.ผู้รายงานต้องมีคุณธรรม ( عدالة الراوي )

และถูกวางเงื่อนในตัวผู้รายงาย ที่จะถูกรับการรายงานของเขา คือ "จะต้องมีความเที่ยงธรรมในศาสนา"

คำว่า อาเด้ล ( العدل ) "คุณธรรม" ในแง่ของภาษานั้น ตรงข้ามกับคำว่า ( الجور ) "การละเมิด"

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "อาเด้ล" นั้น บรรดานักวิชาการได้กล่าวไว้ 2 ทัศนะ คือ

1.ตามคำนิยามของบรรดาฟู่ก่อฮาฮ์(นักปราชญ์ฟิกห์) ก็คือ พรสวรรค์ หรือ ความสามารถที่มั่นคงอยู่ในตัวของบุคคลหนึ่ง ซึ่งมันทำให้บุคคลนั้นผูกพันตนเองอยู่กับความยำเกรงต่ออัลเลาะห์ต้าอาลา และรักษาความประพฤติของเขาทั้งหมด(ให้อยู่ในกรอบที่ดี) และสิ่งดังกล่าวนั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยการออกห่างจากบาปใหญ่ และบางส่วนของบาปเล็ก และสิ่งที่มู่บาฮ์บางประการ

2.ตามคำนิยามของบรรดามู่ฮัดดี่ซีน(นักปราชญ์หะดีษ) การมีคุณธรรม ก็คือ สิ่งที่ประกอบขึ้นมาจาก 5 ปะการ ต่อไปนี้ :

1.เป็นมุสลิม ( الإسلام )

2.บรรลุศาสนภาวะ ( البلوغ )

3.มีสติสัมปชัญญะ( العقل )

4.ปลอดภัยจากสาเหตุที่จะทำให้เป็นผู้ฝ่าฝืน ( السلامة من أسباب الفسق )

5.ปลอดภัยจากมารยาทที่เลวทราม ( السلامة من خوارم المروءة )

ประการที่ 1 จะต้องเป็นมุสลิม :
ถูกวางเงื่อนไขในตัวผู้รายงานว่า จะต้องเป็นมุสลิมในขณะที่รายงานหะดีษ ดังนั้น หากว่าผู้รายงานเป็นกาฟิร(มิใช่มุสลิม) หรือ รายงานในช่วงที่มิใช่มุสลิม ดังนั้น การรายงานของเขาจะไม่ถูกยอมรับ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ประชาชาติอิสลามได้มีมติเป็นเอกฉันท์(อิจมาอ์)ว่า ไม่รับการรายงานของกาฟิร เพราะกาฟิรนั้น ไม่มีคุณสมบัติที่จะรายงานหะดีษจากท่านร่อซู้ล(ซล.) เนื่องจากการเป็นผู้รายงานนั้น ถือว่า เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ซึ่งคนกาฟิรนั้น ขึ้นไปไม่ถึงตำแหน่งดังกล่าว

2.คนฟาซิก(คนที่ละเมิดบัญญัติศาสนา)นั้น การรายงานของเขาก็จะไม่ถูกรับเช่นเดียวกัน เพราะอัลเลาะห์ต้าอาลาทรงตรัสว่า

يَاأَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِن جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَن تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَى مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ


ความว่า "โอ้บรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลาย หากว่ามีคนฟาซิก(ผู้ฝ่าฝืน)คนหนึ่งได้นำข่าวหนึ่งมาบอกพวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสืบค้นให้แน่ชัดเสียก่อน (เพราะ)พวกเจ้าอาจจะทำโทษคนกลุ่มหนึ่งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเป็นเหตุให้พวกเจ้าต้องกลับกลายมาเป็นผู้ที่เศร้าเสียใจ จากการกระทำของพวกเจ้าเองในภายหลัง" (ซูเราะห์ อัลฮู่ญู่รอต อายะห์ที่ 6)

การที่อัลเลาะห์(ซบ.)ทรงใช้ให้หาความชัดเจนจากการบอกเล่าของคนฟาซิก เช่นเดียวกับที่ปฏิเสธการบอกเล่าของเขานั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นผู้ที่ละเมิดต่อคำบัญชาของอัลเลาะห์(ซบ.) และการปฏิเสธศรัทธาของคนกาฟิรนั้น ถือเป็นการละเมิดที่ใหญ่หลวงที่สุด มากว่าการฝ่าฝืนของคนฟาซิก ดังนั้น การฝ่าฝืนของคนกาฟิร ย่อมเป็นเหตุผลที่สมควรที่สุดในการปฏิเสธการรายงานของเขา เพราะคนกาฟิรนั้นตั้งตนเป็นศรัตรูต่อศาสนาอิสลาม ดังนั้น เราจึงไม่ไว้วางใจเขาในเรื่องของการรายงาน แต่ก็อนุญาตให้คนกาฟิรนั้น รับฟังหะดีษได้ และอนุญาตให้เข้าร่วมในสถานที่ชุมนุมของผู้รู้ แต่ไม่อนุญาตให้เขานำหะดีษออกมารายงาน เว้นแต่ ภายหลังจากที่เขาเข้ารับอิสลามแล้ว

ดังนั้น หากว่าเขาเข้ารับอิสลามแล้ว ก็อนุญาตแก่เขา ในการที่เขาจะนำหะดีษนั้นออกมารายงาน แม้จะเป็นหะดีษที่เขาได้รับไว้ในขณะที่เขายังเป็นการฟิรก็ตาม ดังนั้น การเป็นอิสลามของผู้รายงาน จึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งในขณะที่นำหะดีษออกมารายงาน หรือ บอกต่อ แต่ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขในขณะที่มีการรับหะดีษ

ประการที่ 2 จะต้องบรรลุศาสนภาวะ : นักวิชาการส่วนมากมีทัศนะว่า เงื่อนไขสำหรับผู้รายงานหะดีษที่การรายงานของเขาจะถูกรับรองนั้น คือ เขาต้องเป็นผู้ที่บรรลุศาสนภาวะในขณะที่นำหะดีษออกมารายงาน และความหมายของการบรรลุศาสนภาวะในที่นี้ ก็คือ การบรรลุศาสนภาวะตามธรรมชาติ(ด้วยการฝัน หรือ มีประจำเดือนสำหรับสตีเพศ) หรือ ด้วยการมีอายุครบ 15 ปี บริบูรณ์ เมื่อยังไม่บรรลุศาสนภาวะตามธรรมชาติ เนื่องจากผู้ที่อยู่ในวัยนี้ จะมีความรู้สึกรับผิดชอบ ชั่ว-ดี และรู้ว่าจะต้องถูกสอบสวนทั้งคำพูดและการกระทำของเขา ส่วนผู้ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะนั้น ก็ถือว่า เขายังไม่เข้าอยู่ในขอบข่ายการบังคับของศาสนา ดังนั้น การายงานของเขาจึงไม่ถูกยอมรับ

มีบางทรรศนะที่กล่าวว่า อนุญาตให้รับการรายงานของเด็กที่รู้เดียงสาแล้ว(มู่มัยยิซ) เมื่อเขาไม่เคยพูดโกหก แต่ทรรศนะนี้ ขัดแย้งกับทรรศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่(ญุมฮูร)

เงื่อนไขข้อนี้ ถือเป็นเงื่อนไขในขณะที่นำหะดีษออกมารายงาน หรือ เล่าต่อ แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในขณะที่มีการรับหะดีษ ดังนั้น จึงยินยอมให้เด็กที่รู้เดียงสาแล้ว(มู่มัยยิซ)รับฮะดีษได้ และอนุญาตให้มายังสถานที่ๆนักวิชาการหะดีษมาชุมนุมกัน แต่ไม่อนุญาตให้เขานำหะดีษที่เขารับไว้ก่อนบรรลุศาสนภาวะนั้น ออกมารายงาน เว้นแต่ ภายหลังจากบรรลุศาสนภาวะแล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเขาบรรลุศาสนภาวะแล้ว ก็อนุญาตให้เขานำหะดีษที่รับไว้ก่อนที่จะบรรลุศาสนภาวะนั้นออกมารายงานได้ ดังกล่าวนี้ ไม่มีทรรศนะที่ขัดแย้งกันในหมู่นักวิชาการ

ประการที่ 3 มีสติสัมปชัญญะ : ถูกวางเงื่อนไขในตัวผู้รายงาน ที่จะถูกรับการายงานของเขา ก็คือ ต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ดังนั้น จะไม่ถูกยอมรับการรายงานของคนบ้า เมื่ออาการบ้าของเขานั้น เป็นอาการถาวร โดยมติเอกฉันท์ของปรวงปราชญ์ และเช่นเดียวกัน ผู้ที่อาการบ้าของเขาไม่ถาวร คือ เป็นๆหายๆ และมีผลกระทบตามมาหลังจากที่หายบ้าแล้ว เช่น มึนงง หรือ เลอะเลือน ในกรณีอย่างนี้ การายงานของเขานั้น จะไม่ถูกยอมรับ

ส่วนกรณีที่อาการบ้าของผู้รายงาน ไม่ส่งผลกระทบภายหลังจากหายบ้าแล้ว ท่านอิบนุสซัมอานีย์ กล่าวว่า ให้รับการรายงานของเขา

ประการที่ 4 ปลอดภัยจากสาเหตุที่จะทำให้เป็นผู้ฝ่าฝืน : ถูกวางเงื่อนไขในตัวผู้รายงาน ที่จะถูกรับการายงานของเขา ก็คือ เขาจะต้องเป็นผู้ที่ปลอดจากสาเหตุของการเป็นผู้ละเมิด หรือ ฝ่าฝืนบัญญัติของศาสนา

สิ่งต่างๆที่จะส่งผลให้ผู้รายงานกลายเป็นผู้ละเมิด(ฟาซิก)นั้น ก็คือ การทำบาปใหญ่ หรือ บาปเล็กเป็นประจำ ดังนั้น ถ้าหากผู้รายงานคนใดกระทำบาปใหญ่ หรือ ทำบาปเล็กเป็นประจำ โดยไม่ได้สำนึกผิด(เตาบัต) ดังนั้น การรายงานของเขาก็จะถูกปฏิเสธโดยมติของปรวงปราชญ์ เพราะมีความเป็นไปได้ที่เขาจะโกหก ดังนั้น ถ้าหากเขาสำนึกผิด(เตาบัต) ก็ให้รับการรายงานของเขา

ประการที่ 5 ปลอดภัยจากมารยาทที่เลวทราม : และถูกวางเงื่อนไขในตัวผู้รายงานอีกเช่นกัน ที่จะถูกรับการายงานของเขา ก็คือ ต้องปลอดจากการกระทำที่ทำให้เสื่อมเกียรติ

คำว่า มู่รูอะห์ ( المروءة ) นั้น หมายถึง "ความประพฤติของตัวบุคคลซึ่งแบกรับกับมารยาทและจารีตที่ดี" และคำว่า "มู่รูอะห์" นั้น จะพิจารณาถึงจารีตประเพณีเป็นหลักสำคัญ มิใช่พิจารณาจากเรื่องของศาสนาแต่เพียงเท่านั้น เนื่องจากสิ่งที่เป็นจารีตประเพณีนั้น มีเพียงน้อยนิดที่เป็นหลักตายตัว ซึ่งมู่รูอะห์นั้น จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และตามแต่ละสภาพของบ้านเมืองนั้นๆ ซึ่งมีอยู่มากมายที่เมืองๆหนึ่ง มีจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวเมืองถือปฏิบัติกัน แต่ถ้าหากชาวเมืองอื่นนำไปปฏิบัติ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เสียมู่รูอะห์ทันที เช่น ชาวอาหรับนั้น เวลาอาบน้ำละหมาด เขาจะยกเท้าของเขาขึ้นมาล้างในอ่างล้างหน้า ซึ่งผิดกับคนในบ้านเรา ที่ไม่กระทำเช่นนั้น เพราะถือว่า เป็นมู่รูอะห์ที่ไม่ดี เป็นต้น

สิ่งที่ผู้กระทำได้กระทำ แล้วทำให้เสียมู่รูอะห์นั้น มี 2 ประเภท คือ

1.กระทำบาปเล็ก
ก็คือ สิ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นความเสื่อมเสียและบกพร่องทางด้านของศาสนา และไม่รอดพ้นจากถูกมองว่าโกหก เช่น การขโมยสิ่งที่มีราคาเพียงเล็กน้อย เช่น อาหารคำหนึ่ง หรือ ทำให้อาหารขาดตาชั่งไปหนึ่งเมล็ด เป็นต้น

2.กระทำสิ่งที่ศาสนาอนุญาติให้ทำได้(มู่บาฮ์) ก็คือ สิ่งที่ทำให้ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม และทำให้เสื่อมเกียรติ เช่น การพูดจาล้อเล่นจนเกินขอบเขตของความพอดี การรับประทานอาหารในตลาด และการปัสสาวะตามถนนหนทาง เป็นต้น ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ดูผิวเผินแล้ว ไม่น่าจะมีผลต่อการรายงานหะดีษ หากแต่นักวิชาการมองว่า มันเป็นการกระทำที่จะนำไปสู่การโกหกได้ หากไม่มีการระมัดระวัง


ด้วยสิ่งใดที่จะใช้ยืนยันความมีคุณธรรมในตัวผู้รายงาน ?

สิ่งที่จะนำมายืนยันความมีคุณธรรมของผู้รายงานหะดีษนั้น มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ( التنصيص )

2.เป็นที่เลื่องลือและแพร่หลายในความน่าเชื่อถือ ( الإستفاضة والشهرة )

ประการที่ 1 มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจน : คือ การที่มีอุลามาอ์ท่านหนึ่งจากบรรดาอุลามาอ์ที่มีความรู้เรื่องการตำหนิและการรับรองผู้ราย ได้กล่าวยืนยันไว้ถึงความเที่ยงธรรมของเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะถือว่าเขามีคุณธรรมและได้รับความไว้วางใจ ดังกล่าวนี้ คือ ทัศนะที่ถูกต้องที่สุดตามที่นักวิชาการหะดีษและนักวิชาการด้านอื่นๆได้กล่าวเอาไว้

มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า จะไม่มีการยืนยันถึงความเที่ยงธรรมของผู้รายงานหะดีษ นอกจากจะต้องมีนักวิชาการสองท่านยืนยันว่าเขาเป็นผู้ที่มีคุณธรรม โดยใช้หลักอนุมาน ( قياس ) "เทียบ" กับเรื่องของพยาน แต่การนำเรื่องของการรายงานไปเทียบกับเรื่องของการเป็นพยานนั้น ถือเป็นการอนุมานที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเทียบกับสิ่งที่มีความต่าง

ประการที่ 2 เป็นที่เลื่องลือและแพร่หลายในความน่าเชื่อถือ : ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ความมีคุณธรรมของเขาเป็นที่เลื่องลือในหมู่นักวิชาการ จากนักวิชาการทางด้านหะดีษและนักวิชาการด้านอื่นๆ และผู้คนมากมายได้ยกย่องสรรเสริญเขา ในเรื่องของความน่าเชื่อถือและในของด้านการเป็นที่ไว้วางใจ ก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในการยืนยันถึงความมีคุณธรรมของเขา โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีคุณธรรมคนอื่นๆมารับรองความมีคุณธรรมของเขา เช่น ผู้นำทั้ง 4 หรือ ท่านอีหม่ามบุคอรีย์  หรือ ผู้นำคนอื่นๆ จากบุคคลที่เป็นที่เลื่องลือระหว่างผู้คนทั้งหลายว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความสัจจริง พร้อมกับมีความแน่ชัดทางศาสนาและความเข้าใจ บุคคลเหล่านี้ ถึงแม้จะไม่มีการรับรองจากผู้อื่น ก็สามารถนำหะดีษและการรายงานของเขามาปฎิบัติได้ เพราะเป็นที่เลื่องลือแล้วถึงความน่าเชื่อถือและความมีคุณธรรมของพวกเขา

______________________________________________________________________________________________

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พ.ย. 13, 2012, 11:53 PM โดย Al Fatoni »

 

GoogleTagged