ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 5  (อ่าน 2637 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 5


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด



7.3.ผู้รายงานต้องมีความจำดี หรือ แม่นยำ ( ضبط الراوي )

ถูกวางเงื่อนไขในตัวผู้รายงาน ที่จะถูกรับรองการรายงานของเขา คือ ต้องเป็นผู้ที่มีความดีเยี่ยม ไม่เลอะเลือน

คำว่า ด๊อบฎ์ ( الضبط ) "ความจำดี" ในแง่ของภาษา หมายถึง "การประจำอยู่ของสิ่งหนึ่ง และกักขังมันไว้" และการกักขังสิ่งหนึ่งไว้ ก็คือ การจดจำมันไว้ด้วยความแม่นยำ และชายคนหนึ่งมีความแม่นยำ ก็คือ คนที่มีความฉลาด

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "ด๊อบฎ์" นั้น ก็คือ การที่ผู้รายงานนั้นมีความตื่นตัว(คือนึกขึ้นได้)โดยไม่หลงลืมทางด้านของความจำ หากเขารายงานหะดีษจากความจำของเขา และต้องมีความแม่นยำทางด้านการเขียน หากเขารายงานหะดีษจากการบันทึกของเขา

และหากคนหนึ่งรายงานหะดีษจากความหมาย(โดยมิได้กล่าวถึงตัวบท) ก็จะถูกวางเงื่อนไขให้กับการายงานนั้นว่า เขาจะต้องรู้ถึงสิ่งที่จะทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลง เพื่อมิให้เกิดการรายงานที่ผิดพลาดจากถ้อยคำของหะดีษ

ประเภทของการจำ

การจำนั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1.จำไว้ในอก ( ضبط صدر ) หมายถึง การท่องจำเอาไว้ในใจ

2.จำโดยการเขียน หรือ บันทึก ( ضبط كتاب ) หมายถึง การบันทึกหะดีษที่เขารับฟังมาไว้ในบันทึกของเขา

1.การจำไว้ในอก ก็คือ การที่ผู้รายงานได้ท่องจำสิ่งที่ได้ยินมาจากครูของเขา และมีความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่เขาได้ยินมาได้ ไม่ว่าในเวลาใดๆก็ตาม โดยไม่มีการเพิ่มเติม หรือ บกพร่อง ดังกล่าวนี้ หมายถึง การรายงานตามตัวอักษรตามที่เขาได้รับมาจากครูของเขา

ส่วนการรายงานด้วยความหมายนั้น ถือว่าจำเป็นแก่เขา ที่จะต้องมีความรู้ในด้านของภาษาอาหรับ และมีความเข้าใจจากความหมายของคำเหล่านั้นเป็นอย่างดี และต้องรู้ถึงขนาดความเหลื่อมล้ำของคำต่างๆที่มีความหมายเหมือนกัน หรือ ใกล้เคียงกัน เพราะข้อกำหนดของศาสนานั้น จะถูกนำมาจากถ้อยคำของหะดีษ และเขาจะต้องรู้จุดมุ่งหมายของศาสนาและเป้าหมายของมัน เพื่อที่จะไม่ทำให้สิ่งต้องห้ามกลายเป็นสิ่งที่อนุมัติ และสิ่งที่อนุมัติกลายเป็นสิ่งต้องห้าม

2.การจำโดยการเขียน หรือ บันทึก ก็คือ การที่ผู้รายงานได้จดบันทึกสิ่งที่ได้ยินมาจากครูของเขา โดยเขียนไว้ในบันทึกของเขา ในขณะที่ได้ยินมา และต้องบันทึกด้วยความถูกต้อง และจะต้องเก็บรักษาบันทึกนั้นไว้ที่ตัวของเขาในสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อมิให้ใครเข้าไปเปลี่ยนแปลง แก้ไข บิดเบือน เพิ่มเติม หรือ คัดลอก และเขาสามารถนำออกมารายงานได้ตามแต่ความต้องการของเขา โดยมีเงื่อนไขว่า เขาจะต้องไม่ให้ผู้ใดยืมบันทึกของเขา และหากว่าเขาได้ให้ผู้อื่นยืมไป ก็ไม่อนุญาตให้เขานำหะดีษที่มีอยู่ในบันทึกของเขาออกมารายงานอีก เนื่องจากเป็นไปได้ว่า ผู้ที่ยืมไปนั้น อาจจะแก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงบันทึกของเขา ดังกล่าวนี้ แตกต่างกับบรรดาตำราต่างๆที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้ว เช่น ซอเฮี๊ยะห์บุคอรีย์ และตำราอื่นๆที่ผู้อรรถาธิบายได้บันทึกไว้

ระดับขั้นของความจำ

การจดจำของตัวผู้รายงานนั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่จะจำแนกหะดีษ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

1.ระดับสูง "อุ้ลยา" ( عليا ) ก็คือ คนที่มีความจำดีเยี่ยม และเป็นเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ในหะดีษซอเฮี๊ยะห์

2.ระดับกลาง "วุสตอ" ( وسطي )  ก็คือ คนทีมีความจำดีปานกลาง ไม่เลอะเลือน และเป็นเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ในหะดีษหะซัน

3.ระดับต่ำ "ดุนยา" ( دنيا ) ก็คือ คนที่ความจำไม่ดี และอาจเลอะเลือน และเป็นเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ในหะดีษด่ออีฟ

การที่ไม่มีหลักฐานจากท่านร่อซู้ล(ซล.)นั้น ถือเป็นหลักฐานที่ชี้ถึงห้ามหรือไม่ ?

การ "ฮู่ก่ม" สิ่งที่ไม่มีตัวบทจากท่านร่อซู้ล(ซล.) ว่า "ห้ามกระทำ" โดยอ้างเหตุผลว่า "เพราะท่านร่อซู้ล(ซล.)ไม่เคยกระทำ" ถือว่า เป็นการฮู่ก่มที่ผิดพลาด เพราะเป็นการ "จำกัดฮู่ก่ม" โดยที่ไม่มีตัวบททางศาสนามารับรองถึงการระบุห้ามนั้น ดังนั้น "การห้ามสิ่งที่ไม่มีบัญญัติห้าม" จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาด และเอนเอียงจากความเข้าใจที่ถูกต้อง

การที่ไม่มีตัวบทจากท่านร่อซู้ล(ซล.)นั้น ไม่ถือเป็น "ดะลี้ล" ( دليل ) "หลักฐาน" ที่จะมาระบุห้าม แต่สิ่งนี้ ได้ชี้ถึงการไม่มีหลักฐาน ( عدم الدليل ) ดังนั้น "การไม่มีหลักฐาน" จึงไม่ใช่ "หลักฐาน" ที่จะมาระบุห้าม เพียงแต่ชี้ว่า "ไม่มีรูปแบบการกระทำนั้นจากท่านร่อซู้ล(ซล.)" ซึ่งก็ไม่ได้หมายว่า สิ่งที่ไม่มีรูปแบบจากท่านร่อซู้ล(ซล.) จะถือเป็นสิ่งที่ถูกห้ามไปซะทั้งหมด ดังนั้น เมื่อไม่มีหลักฐานในการห้าม ผลของการฮู่ก่มต่อกระทำนั้น จึงออกมาเป็น 2 แนวทาง คือ "ห้าม" และ "ไม่ห้าม"

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องนำสิ่งนั้นกลับไปพิจารณากับตัวบทอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากการกระทำนั้น ขัดแย้งกับอัลกุรอานและอัลหะดีษ ก็ถือว่า การกระทำนั้น "เป็นสิ่งต้องห้าม" แต่ถ้าหากว่าไม่ขัดแย้ง ก็ถือว่า การกระทำนั้น "เป็นที่อนุญาต" โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระที่ดี ดังกล่าวนี้ จึงถือเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

ดังที่ท่านอีหม่ามชาฟีอีย์(รฮ.) ผู้เป็นปราชญ์สลัฟ ได้กล่าวไว้ว่า

الْمُحْدَثَاتُ مِنَ الأُمُورِ ضَرْبَانِ أَحَدُهُمَا : مَا أُحْدِثَ يُخَالِفُ كِتَابًا أَوْ سَنَةً أَوْ أَثَرًا أَوْ إِجْمَاعًا ، فَهَذِهِ الَبِدْعَةُ الضَّلالَةِ ، وَالثَّانِيةُ : مَا أُحْدِثَ مِنَ الْخَيْرِ لا خِلافَ فِيهِ لِوَاحِدٍ مِنْ هَذَا ، فَهَذِهِ مُحْدَثَةٌ غَيْرُ مَذْمُومَةٍ

ความว่า "สิ่งไหม่ที่มีขึ้นมาจากเรื่องราวต่างนั้น มี 2 ประเภท คือ 1.สิ่งไหม่ที่มีขึ้นมา โดยขัดแย้งกับกิตาบ ซุนนะห์ อ้าซัร และอิจมาอ์ สิ่งนี้ คือ บิดอะห์ที่ลุ่มหลง 2.สิ่งไหม่ที่มีขึ้นมาจากเรื่องราวของความดี(หมายถึงสิ่งที่ศาสนาถือเป็นความดีโดยมีหลักฐานที่มาจากกุรอานและซุนนะห์อยู่แล้ว) และสิ่งนั้นมิได้ขัดแย้งกับสิ่งหนึ่งจากสิ่งนี้(หมายถึง ไม่ขัดแย้งกับกิตาบ ซุนนะห์ อ้าซัร และอิจมาอ์) สิ่งนี้ คือ สิ่งที่มีขึ้นมาไหม่โดยไม่ถูกตำหนิแต่อย่างใด" (นำออกรายงานโดย ท่านอีหม่ามบัยหะกีย์ ใน มะนะกิบ อัชชาฟีอีย์ เล่ม 1 หน้า 468-469)

จึงสรุปได้ความจากคำกล่าวของท่าีนอีหม่ามชาฟีอีย์(รฮ.)ซึ่งเป็นปราชญ์สลัฟ ว่า : การที่ไม่มีหลักฐานจากท่านร่อซู้ล(ซล.)นั้น ไม่ถือเป็นหลักฐานที่ชี้ถึงห้าม หากแต่ต้องนำสิ่งนั้น กลับไปเทียบเคียงกับกิตาบ ซุนนะห์ แิละอิจมาอ์เสียก่อน ดังนั้น หากสิ่งที่มีขึ้นมาไหม่ ไม่ได้ขัดแย้ง ก็ถือว่า สิ่งนั้นเป็นที่อนุญาตให้ทำได้ และหากสิ่งนั้นได้ขัดแย้งจากหลักฐานหลักๆที่กล่าวมา ก็ถือว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกห้าม

นอกจากนี้ ท่านอีหม่ามเอาซาอีย์(รฮ.) ท่านเป็นปราชญ์สลัฟ (เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 157) ยังได้กล่าวไว้อีกว่า

إِذَا ظَهَرَتِ الْبِدَعُ ، فَلَمْ يُنْكِرْهَا أَهْلُ الْعِلْمِ ، صَارَتْ سُنَّةً

ความว่า "เมื่อได้มีสิ่งไหม่เกิดขึ้น(หมายถึงสิ่งไหม่ที่มีที่มาทางบทบัญญัติ) และบรรดาผู้รู้มิได้ปฎิเสธมัน สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นซุนนะห์" (หนังสือ มะวาอิส อัลอีหม่าม อัลเอาซาอีย์ โดย ซอและห์ อะห์หมัด อัชชามีย์)


7.4.ปลอดภัยจากการขัดแย้งกับบุคคลที่น่าเชื่อถือมากว่า ( السلامة من الشذوذ )

และถูกวางเงื่อนไขในตัวผู้รายงาน ที่จะถูกรับรองการรายงานของเขา คือ การรายงานนั้นต้องไม่ไปขัดแย้งกับการรายงานของบุคคลที่น่าเชื่อถือมากกว่า การขัดแย้งในลักษณะนี้ เขาเรียกว่า "ชาซ"

คำว่า ชาซ ( الشاذ ) ในแง่ของภาษา หมายถึง "ผิดกฎเกณฑ์" หรือ "แปลกประหลาด" ก็คือ ผู้ที่คำพูดและการกระทำของเขาแตกต่างจากคนส่วนมาก

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "ชาซ" นั้น หมายถึง "การขัดแย้งของนักรายงานที่เชื่อถือได้กับนักรายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า" ไม่ว่าการขัดแย้งนั้น จะเกิดขึ้นด้วยจำนวนคน หรือ การจดจำที่ดีกว่า โดยไม่สามารถทำการรวมหะดีษที่ขัดแย้งนั้นเข้าไว้ด้วยกัน ในกรณีนี้ ให้ละหะดีษของเขาไว้ก่อน และให้ไปยึดถือตัวบทหะดีษจากผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าแทน

และการเกิดขึ้นของ "ชาซ" นั้น เกิดขึ้นได้ทั้งตัวบท(มะตั่น) และสายรายงาน(สนัด) ยกตัวอย่าง เช่น

เมื่อผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือท่านหนึ่งได้รายงานหะดีษไว้ ต่อมาเราก็พบว่าหะดีษนั้น ได้ไปขัดแย้งกับหะดีษของบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า และไม่สามารถที่จะรวมหะดีษทั้งสองบทนั้นเข้าไว้ด้วยกันได้ จากแนวทางของการรวมหะดีษ และไม่ทราบถึงประวัติของหะดีษทั้งสองนั้นว่า หะดีษใดมาก่อน และหะดีษใดมาหลัง เพื่อที่จะนำหะดีษนั้นไปเทียบกับหลักของ นาซิค ( الناسخ ) "ตัวที่มายกเลิก" และมันซูค ( المنسوخ ) "ตัวที่ถูกยกเลิก" เพื่อที่จะหาข้อสรุปของหะดีษ ดังนั้น เมื่อไม่สามารถหาข้อสรุปของหะดีษทั้งสองบทนั้นได้ ก็ให้ละหะดีษที่ขัดแย้งไว้ก่อน และให้ยึดเอาหะดีษของผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าเป็นเกณฑ์

ดังนั้น หะดีษของผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือนั้น ถูกเรียกว่า "ชาซ" ( الشاذ ) "หะดีษที่ขัดแย้งกับหะดีษที่น่าเชื่อถือมากกว่า" และหะดีษของผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่านั้น จะถูกเรียกว่า "มะห์ฟูศ" ( المحفوظ ) "หะดีษที่ถูกรักษาไว้"

7.5.ปลอดภัยจากเหตุผลที่น่าตำหนิ ( السلامة من العلة القادحة )

และจากเงื่อนไขของหะดีษที่จะถูกยอมรับนั้น คือ หะดีษนั้นต้องไม่มีข้อบกพร่อง หรือ ตำหนิที่จะนำมาอ้างเป็นหลักฐาน

คำว่า อิลละห์ ( العلة ) ในแง่ของภาษา หมายถึง "โรค" หรือ "ความป่วยไข้"

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "อิลละห์กอดิฮะห์" นั้น หมายถึง "ข้อบกพร่อง หรือ ตำหนิ ที่เกิดขึ้นในหะดีษ ซึ่งถูกห้ามในการนำหะดีษนั้นมาอ้างอิงเป็นหลักฐาน" ยกตัวอย่าง เช่น

การที่หะดีษบทหนึ่งถูกรายงานมาด้วยสายสืบที่ "มัรฟัวะอ์" อ้างถึงท่านนบี(ซล.) และก็ถูกรายงานไว้เช่นกันด้วยตัวบทของหะดีษเดียวกัน ด้วยสายสืบที่ "เมากูฟ" อ้างถึงบรรดาซอฮาบะห์ แต่หะดีษที่เมากูฟนั้น มีความแข็งแรงมากกว่าหะดีษมัรฟัวะอ์ ทางด้านของตัวบทและสายรายงาน ดังนั้น ในสภาพนี้ ให้ละหะดีษ "มัรฟัวะอ์" เอาไว้ก่อน ในการที่จะนำหะดีษนั้นมาปฎิบัติโดยอ้างถึงท่านร่อซู้ล(ซล.) เพราะเป็นการทำให้เกียรติของท่านนบีลดลง แต่ก็ "อนุญาต" ให้ปฎิบัติตามหะดีษเมากูฟที่มีความแข็งแรงนั้นได้ เนื่องจากเป็นการกระทำของบรรดาซอฮาบะห์ ยกตัวอย่าง เช่น

1.หะดีษมัรฟัวะอ์ ซึ่งผู้หนึ่งได้รายงานว่า ท่านร่อซู้ล(ซล.)ทรงใช้เรา....... (แต่เป็นหะดีษที่สายสืบไม่แข็งแรงนัก เนื่องจากนักรายงานเป็นผู้ที่มีความจำดีปานกลาง และไม่เป็นที่เลื่องลือในความน่าเชื่อถือ แต่ไม่ถูกตัดสินว่าโกหก)

2.หะดีษเดียวกัน แต่เป็นหะดีษเมากูฟ ซึ่งผู้หนึ่งได้รายงานว่า ท่านอุมัร(รด.)ได้ใช้เรา....... (แต่เป็นหะดีษที่แข็งแรง เนื่องจากนักรายงานนั้นเชื่อถือได้มากกว่า และเป็นผู้ที่มีความจำดีเยี่ยม)

ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้ละหะดีษของท่านร่อซู้ล(ซล.)เอาไว้ก่อน และให้ปฎิบัติตามหะดีษของท่านอุมัรได้ โดยยึดมั่นว่านั่นเป็นการกระทำของซอฮาบะห์ที่อนุญาติให้ปฎิบัติตามได้ แต่จะต้องไม่ยึดมั่นอย่างเด็ดขาดว่า นั่นคือ ซุนนะห์ของท่านร่อซู้ล(ซล.) เมื่อเข้าใจตามนี้ ก็อนุญาตให้ปฎิบัติตามการกระทำของบรรดาซอฮาบะห์ได้ โดยอาศัยหลักฐานจากหะดีษที่ท่านร่อซู้ล(ซล.)ทรงตรัสว่า

فَعَلَيْكُمْ بِسُنَّتِي وَسُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الرَّاشِدِينَ الْمَهْدِيِّينَ عَضُّوا عَلَيْهَا بِالنَّوَاجِذِ


ความว่า "ดังนั้น จำเป็นบนพวกท่านที่จะต้องยึดซุนนะฮ์ของฉันและซุนนะฮ์(แนวทาง)ของค่อลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมอีกทั้งได้รับทางนำ (และ)พวกท่านจึงกัดมันด้วยฟันกราม" (รายงานโดย อัฎตอบรอนีย์ หะดีษที่ 2600 และอิบนุมาญะห์ หะดีษที่ 42)

7.6.ได้รับการช่วยเหลือ หรือ สนับสนุน จากสายรายงานอื่น ในขณะที่นำมาอ้างอิงเป็นหลักฐาน ( العاضد أو المتابع عند الإحتياج إليه )

คำว่า อาดิ๊ด ( العاضد ) ในแง่ของภาษา หมายถึง "การทำให้แข็งแรง" หรือ "การให้ความช่วยเหลือ"

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "อาดิ๊ด" นั้น หมายถึง "การมีมาของหะดีษด้วยสายรายงานอื่น ซึ่งมาทำให้สายรายงานแรกนั้น มีความเเข็งแรงขึ้น" ก็คือ การมีหะดีษบทอื่นมาสนับสนุนหะดีษบทแรก และทำให้หะดีษบทแรกนั้นมีความแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้วยตัวบท หรือ สายรายงานก็ตาม เช่น

หะดีษบทแรกนั้น เป็นหะดีษที่ด่ออีฟ เนื่องจากสายรายงานของหะดีษนั้นขาดตอนไป หรือ สายรายงานนั้นไม่ขาดตอน แต่มีผู้รายงานคนหนึ่งเป็นคนด่ออีฟ เนื่องจากชู่รูตของการยอมรับหะดีษไม่ได้เกิดขึ้นบนตัวเขา และมีหะดีษอีกบทหนึ่ง(หะดีษทีสอง) พูดไว้เหมือนกัน แต่เป็นหะดีษที่มีสายรายงานติดต่อกัน และนักรายงานมีความจำดีเยี่ยม ดังนั้น หะดีษบทแรกที่เป็นด่ออีฟนั้น ก็จะถูกเลื่อนขั้นขึ้นมาสู่ระดับของหะดีษหะซัน เนื่องจากสายสนัดของหะดีษบทที่สองที่มีความแข็งแรงนั้นมาสนับสนุนไว้ และการมาสนับสนุนของหะดีษบทที่สอง หรือ สายรายงานที่สองนั้น ถูกเรียกว่า "อาดิ๊ด" ( العاضد ) หรือ "มู่ตาเบี๊ยะอ์" ( المتابع  ) และเพราะการมีมาของมัน จึงทำให้หะดีษบทแรกที่ด่ออีฟนั้น กลายเป็นหะดีษที่ถูกยอมรับ



_______________________________________________________________________________________________

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.พ. 08, 2014, 10:19 PM โดย Ahlulhadeeth »

 

GoogleTagged