ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 6  (อ่าน 2789 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 6


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด


8.ประเภทของหะดีษมักบู้ล

เราได้กล่าวมาก่อนแล้ว จากเงื่อนไขของหะดีษมักบู้ล ดังนั้น เมื่อบรรดาเงื่อนไขเหล่านั้นได้เกิดขึ้นกับหะดีษบทหนึ่ง หะดีษบทนั้นก็จะกลายเป็นหะดีษที่ถูกยอมรับ และสามารถนำมาปฎิบัติได้ และหะดีษมักบู้ลนั้น มิได้มีเพียงระดับเดียวที่ถูกยอมรับ โดยที่ความจริงแล้ว มันมีระดับขั้นที่เหลื่อมล้ำกัน และความเหลื่อมล้ำนั้น จะกลับไปพิจารณาถึงจุดสิ้นสุดจากการที่หะดีษบทนั้นไปประจำอยู่ โดยพิจารณาดูจากเงื่อนไขของหะดีษมักบู้ล เมื่อหะดีษบทนั้น ไปประจำอยู่กับเงื่อนไขในข้อใด ตัวของมันก็จะตกอยู่ในขั้นของหะดีษเหล่านั้น เช่น

เมื่อหะดีษบทหนึ่ง ได้ครบสมบูรณ์กับเงื่อนไขของหะดีษมักบู้ล โดยความสมบูรณ์นั้น เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง มันก็จะเป็น "หะดีษซอเฮี๊ยะห์ลี่ซาตี่ฮี"

และถ้าหากหะดีษบทหนึ่งได้ครบสมบูรณ์กับเงื่อนไขของหะดีษมักบู้ล โดยความสมบูรณ์นั้น เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่บกพร่องด้วยเงื่อนไขในเรื่องของความจำ คือ นักรายงานนั้น มีความจำไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม แต่ไม่ใช่คนเลอะเลือน มันก็จะเป็น "หะดีษหะซันลี่ซาตี่ฮี"

และถ้าหากหะดีษหะซันลี่ซาตี่ฮีนั้น ได้รับการสนับสนุนจากหะดีษอื่นที่สูงกว่า เช่น ซอเฮี๊ยะห์ หรือ ในระดับเดียวกัน เช่น หะซัน มันก็จะเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็น "หะดีษซอเฮี๊ยะห์ลี่ฆอยรี่ฮี" เป็นต้น

และต่อจากไปนี้ ผมจะขอกล่าวถึงประเภทต่างๆของหะดีษมักบู้ลโดยรายละเอียด คือ

8.1.หะดีษซอเฮี๊ยะห์ลี่ซาตี่ฮี ( الحديث الصحيح لذاته ) "หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ด้วยตัวของมันเอง"

คำว่า ซอเฮี๊ยะห์ ( الصحيح ) "ถูกต้อง" หรือ "แข็งแรง" ในแง่ของภาษานั้น ตรงข้ามกับคำว่า ซ่ากีม ( السقيم ) "อ่อน" หรือ "เจ็บป่วย"

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "ซอเฮี๊ยะห์" นั้น หมายถึง "หะดีษที่สายรายงานของมันติดต่อกัน ด้วยการรายงานของคนที่มีคุณธรรม มีความจำดีเยี่ยม จากบุคคลที่มีสถานะภาพเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มต้นสายรายงานจนกระทั่งสุดท้าย โดยที่หะดีษบทนั้น ไม่ขัดแย้งกับหะดีษบทอื่น หรือ มีเหตุผลที่ตำหนิ" โดยที่เงื่อนไขของหะดีษซอเฮี๊ยะห์นั้น ก็คือ เงื่อนไขทั้ง 5 ข้อ ของหะดีษมักบู้ล นอกจากข้อที่ 6 ก็คือ

1.ต้องมีสายรายงานติดต่อกัน ( إتصال الإسناد ) ก็คือ การที่ผู้รายงานทุกคนได้รับหะดีษมาจากบุคคลที่อยู่ก่อนหน้าเขา

2.ผู้รายงานต้องมีคุณธรรม ( عدالة الراوي ) หมายถึง การที่ผู้รายงานทุกคนมีคุณธรรมในศาสนา

3.ผู้รายงานต้องมีความจำดี หรือ แม่นยำ ( ضبط الراوي ) หมายถึง ไม่พอเพียง(ไม่ถือว่าแม่นยำ) แค่การรายงานของคนที่มีความจำดีเท่านั้น แต่ต้องมีความจำที่ดีเยี่ยมด้วย

4.ปลอดภัยจากการขัดแย้งกับบุคคลที่น่าเชื่อถือมากว่า ( السلامة من الشذوذ ) หมายถึง การรายงานนั้นต้องไม่ขัดแย้งกับการรายงานของบุคคลที่น่าเชื่อถือมากกว่า

5.ปลอดภัยจากเหตุผลที่น่าตำหนิ ( السلامة من العلة القادحة ) หมายถึง หะดีษนั้นต้องไม่มีข้อบกพร่อง หรือ ตำหนิ ที่ห้ามจากการนำมาอิงเป็นหลักฐาน

ทั้ง 5 ข้อนั้น คือ "ชู่รูตุ้ลมุตต้าฟ่ากี้ อ้าลัยฮา บัยนั้ลอุลามาอ์" ( العلماء بين عليها المتفق شروط ) "เงื่อนไขที่บรรดาอุลามาอ์มีความเห็นตรงกัน" แต่ทว่าบางส่วนของอุลามาอ์นั้น ถือว่ายังไม่พอเพียงด้วยเงื่อนไขทั้ง 5 ประการ พวกเขาจึงได้วางเงื่อนไขอื่นๆในการเป็นซอเฮี๊ยะห์เพิ่มเข้าไปบนเงื่อนไขทั้ง 5 นั้นอีก ซึ่งถูกเรียกว่า "ชู่รูตุ้ลมุคต้าลี่ฟี่ ฟีฮา บัยนั้ลอุลามาอ์" ( شروط المختلف فيها بين العلماء ) "เงื่อนไขที่บรรดาอุลามาอ์มีความเห็นต่างกัน" เช่น

1.การที่ผู้รายงานหะดีษนั้น ต้องเป็นที่เลื่องลือทางด้านของการแสงหาความรู้ หรือ การค้นคว้า ก็คือ การที่เขาผู้นั้นต้องเพิ่มพูนการเอาใจใส่ในเรื่องของการรายงาน เพื่อให้เกิดความั่นคงในจิตใจ จนเป็นผู้ที่มีความแม่นยำในการรายงาน ท่านอับดุลเลาะห์ บิน เอาน์ ได้กล่าวว่า

لَا يُؤْخَذُ الْعِلْمُ إلَّا عَمَّنْ شُهِدَ لَهُ بِالطَّلَبِ

ความว่า "วิชาความรู้นั้นจะไม่ถูกยึดเอา นอกจากบุคคลที่เลื่องลือด้วยการแสวงหาค้นคว้า"

2.การที่หะดีษนั้น จะต้องไม่ถูกรู้จักด้วยการรายงานเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการจดจำ มีการสอนกันอย่างเข้าใจ และมีการฟังที่มากมายด้วย สิ่งนี้ เป็นเงื่อนไขของท่านอัลฮาฟิสอิบนุฮาญัร(รฮ.)

3.การที่ผู้รายงานนั้น ต้องมีความรู้ทางด้านภาษาอาหรับ และรู้การอ้างอิงโดยใช้ถ้อยคำ หรือ คำที่มีความคล้ายคลึงกัน เมื่อรายงานด้วยความหมาย จนกระทั่งจะไม่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ จากสิ่งที่อนุมัติกลายไปเป็นสิ่งต้องห้าม และจากสิ่งต้องห้ามกลายไปเป็นสิ่งที่อนุมัติ สิ่งนี้ เป็นเงื่อนไขของท่านอัลฮาฟิสอิบนุฮาญัร(รฮ.)

4.ผู้รายงานต้องเป็นนักฟิกห์(นักปราชญ์ฟิกห์) สิ่งนี้ เป็นเงื่อนไขของท่านอีหม่ามอบูฮานีฟะห์(รฮ.)

5.การที่ผู้รายงานนั้นต้องรับฟังมาจากครูของเขา สิ่งนี้ เป็นเงื่อนไขของท่านอีหม่ามบุคอรีย์(รฮ.) และไม่พอเพียง(ใช้ไม่ได้ในการที่จะเป็นซอเฮี๊ยะห์ตามทัศนะของเขา) ด้วยความเป็นไปได้จากการพบเจอกัน หรือ อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน แต่จำเป็นจาการพบเจอกันจริงๆ ระหว่างตัวผู้รายงานกับครูของเขา และยืนยันถึงการรับฟังมา แม้จะเจอกัน หรือ รับฟังมาแค่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

แต่ท่านอีหม่ามมุสลิม(รฮ.)นั้น มิได้ยืนยันถึงเงื่อนไขดังกล่าว แต่ทว่า ถือว่าพอเพียงแล้ว(ใช้ได้ในการที่จะเป็นซอเฮี๊ยะห์ตามทัศนะของเขา) ด้วยความเป็นไปได้จากการพบเจอกัน หรือ อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน และไม่ถูกวางเงื่อนไขว่า ต้องพบเจอกัน หรือ ต้องรับฟังมา แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ผู้รายงานนั้น ต้องไม่เป็นคนมู่ดั้ลลิส ( مدلس ) "เป็นผู้ที่ปกปิด" หรือ "เป็นผู้ที่ตลบตะแลง"

เงื่อนไขทั้งสองประเภทนั้น มีข้อกฎอยู่ว่า เงื่อนไขที่มุตต้าฟัก(มีความเห็นตรงกัน)นั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นจากผู้รายงานทุกคน และเป็นเงื่อนไขที่อุลามาอ์ทุกท่านได้วางเอาไว้ ดังนั้น เมื่อมีครบทั้ง 5 เงื่อนไข หะดีษนั้น ก็จะกลายเป็นหะดีษซอเฮี๊ยะห์โดยไม่มีข้อกังขา

ส่วนเงื่อนไขที่มุคต้าลิฟ(มีความเห็นต่างกัน)นั้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งเมื่อครบ 5 เงื่อนไขแล้ว ยังถือว่าไม่พอเพียงตามแต่ละบุคคลที่วางเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา จนกว่าจะครบจากเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมานั้นด้วย ถึงจะเป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ ตามเงื่อนไขที่อุลามาอ์ท่านนั้นได้วางเอาไว้

ตัวอย่างของหะดีษซอเฮี๊ยะห์ เช่น หะดีษที่ท่านอีหม่ามบุคอรีย์(รฮ.)ได้กล่าวว่า :

حدثنا عبد الله بن يوسف ، أخبرنا مالك عن ابن شـهاب عن محمد بن جبير بن مطعـم عن أبيه قال : سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقْرَأُ فِي الْمَغْرِبِ بِالطُّورِ

ท่านอับดุลลอฮ์ บิน ยูซุฟ ได้เล่าให้เราฟังว่า ท่านอีหม่ามมาลิกได้บอกเรา ซึ่งนำมาจากท่านอินบุชิฮาบ จากท่านมูฮำหมัด บิน ญู่บัยร์ บิน มุฎอิม จากพ่อของเขา ได้กล่าวว่า "ฉันได้ยินท่านร่อซู้ล(ซล.)อ่านซูเราะห์ตูร ในการละหมาดมักริบ" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามบุคอรีย์ 2/247)

วิจารณ์สายรายงาน : โดยแต่ละคนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ท่านอับดุลเลาะห์ บิน ยูซุฟ
นั้น เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์" และเป็นผู้ที่ละมีความละเอียดถี่ถ้วน ( متقن ) "มุตกิน"

2.ท่านอีหม่ามมาลิก บิน อะนัส เป็นหนึ่งในผู้นำทั้ง 4 และเป็นผู้นำแห่งเมืองมาดีนะห์ ( إمام دار الهجرة ) "อี่มามู่ด้าริ้ลฮิจญ์เราะห์" และเป็นนักปราชญ์ฟิกห์ ( الفقيه ) "ฟ่ากีห์" และเป็นผู้นำทางด้านหะดีษ ( أمير المؤمنين في الحديث ) "อะมีรุ้ลมุอ์มี่นีน ฟิ้ล หะดีษ"

3.ท่านอิบนุชิฮาบ อัซซุฮ์รีย์ เป็นนักท่องจำหะดีษ ( الحافظ ) "อัลฮาฟิส" และเป็นนักปราชญ์ฟิกห์ ( الفقيه ) "ฟ่ากีห์" และเป็นผู้ที่ละมีความละเอียดถี่ถ้วน ( متقن ) "มุตกิน"

4.ท่านมูฮำหมัด บิน ญู่บัยร์ เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์"

5.ท่านญุบัยร์ บุตร มุตอิม นั้น เป็นซอฮาบะห์ของท่านร่อซู้ล ( صحابِي ) "ซอฮาบีย์" และเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์"

หะดีษบทนี้ จึงเป็นหะดีษ "ซอเฮี๊ยะห์" เพราะมีคุณสมบัติครบทั้ง 5 ประการ คือ มีสายรายงานติดต่อกัน , นักรายงานทุกคนเป็นที่เชื่อถือได้ , นักรายงานทุกคนมีความจำดีเยี่ยม , ไม่เป็นฮะดีษ "ชาซ" เนื่องจากไม่มีหะดีษที่เหนือกว่ามาขัดแย้ง , และเพราะเป็นหะดีษที่ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ

ดังนั้น ไม่ว่าหะดีษใดที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 5 ประการนี้ ก็จะเป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์โดยมติของปรวงปราชญ์ นอกจากบางท่านที่วางเงื่อนไขที่เป็นมุคต้าลิฟไว้เท่านั้น

ข้อกำหนดของหะดีษซอเฮี๊ยะฮ์

ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม เมื่อหะดีษนั้น เป็นหะดีษซอเฮียะฮ์ โดยมติเอกฉันท์ของปรวงปราชญ์ และถือเป็นหลักฐานหนึ่งจากบรรดาหลักฐานของศาสนาที่มุสลิมไม่อาจละเลยได้ และสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งในด้านของหลักศรัทธา หลักปฎิบัติ และหลักคุณธรรม-จริยธรรม

ระดับขั้นของหะดีษซอเฮี๊ยะห์

แท้จริงหะดีษซอเฮี๊ยะห์นั้น หากว่าได้ครบเงื่อนไขของมันทั้งหมด ก็วายิบที่จะต้องปฎิบัติตามด้วยกับหะดีษบทนั้น แต่ทว่า หะดีษซอเฮี๊ยะห์นั้น มิได้มีมาในระดับเดียว ความจริง บางส่วนของมัน ซอเฮี๊ยะห์กว่าบางส่วน โดยพิจารณาถึงจุดสิ้นสุดจากการประจำอยู่ของหะดีษด้วยบรรดาเงื่อนไขของความถูกต้อง ดังได้กล่าวมาแล้ว

ระดับขั้นของหะดีษซอเฮี๊ยะห์ ที่จะถูกพิจารณา เมื่อบางส่วนของมันขัดแย้งกับบางส่วน เช่น เมื่อหะดีษของท่านอีหม่ามบุคอรีย์(รฮ.) ที่บันทึกอยู่ในซอเฮี๊ยะห์ของท่าน ได้ขัดแย้งกับหะดีษของท่านอีหม่ามมุสลิม(รฮ.) และไม่สามารถรวมกันได้ระหว่าหะดีษทั้งสองบทนั้น จากแนวทางของการรวมหะดีษ หรือ นำไปสู่การนาซิค(หะดีษที่มายกเลิก) และมันซูค(หะดีษที่ถูกยกเลิก) ดังนั้น จะต้องนำหะดีษของท่านอีหม่ามบุคอรีย์ไว้ก่อนหะดีษของท่านอีหม่ามมุสลิม และหะดีษของท่านอีหม่ามมุสลิม ก็จะถูกนำมาไว้ก่อนหะดีษของอีหม่ามท่านอื่นๆเช่นเดียวกัน

และนี่คือ ระดับขั้นของหะดีษซอเฮี๊ยะห์

1.หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ที่สุด ก็คือ "หะดีษที่รายงานตรงกัน" ซึ่งถูกเรียกว่า "มุตต้าฟ่ากุน อ้าลัยฮ์" ( متفق عليه ) หมายถึง หะดีษที่ท่านอีหม่ามบุคอรีย์และท่านอีหม่ามมุสลิมได้รายงานไว้ตรงกันในซอเฮี๊ยะห์ของท่านทั้งสอง ซึ่งเป้าหมายของมันก็คือ หะดีษที่ท่านอีหม่ามทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่า "เป็นหะดีษซอเฮี๊ยะฮ์" ซึ่งการเป็นซอเฮี๊ยะห์ของมันนั้น ไม่ใช่เป็นการเห็นพร้องกันของประชาชาติอิสลาม แต่ทว่า การเห็นพ้องกันของประชาชาติอิสลามนั้น เป็นผลมาจากคำพูดดังกล่าวนั้น ดังที่ท่านอิบนุสซ่อลาห์ ได้กล่าวว่า

لكن اتفاق الأمة عليه لازم من ذلك وحاصل معه لاتفاق الأمة على تلقى ما اتفاقا عليه بالقبول

ความว่า "แต่ทว่า ความเห็นพ้องกันของประชาชาติอิสลามนั้น เป็นผลที่ตามมาจากคำพูดดังกล่าว และได้เกิดขึ้นพร้อมกับคำพูดดังกล่าวนั้น ทั้งนี้เพราะประชาชาติอิสลาม ได้มีมติให้การยอมรับหะดีษที่รายงานตรงกันโดยท่านอีหม่ามบุคอรีย์และอีหม่ามมุสลิม"

2.หะดีษที่ท่านอีหม่ามบุคอรีย์ได้รายงานไว้เพียงผู้เดียวในซอเฮี๊ยะห์ของท่าน

3.หะดีษที่ท่านอีหม่ามมุสลิมได้รายงานไว้เพียงผู้เดียวในซอเฮี๊ยะห์ของท่าน

4.หะดีษที่อยู่ในเงื่อนไขของท่านอีหม่ามบุคอรีย์และอีหม่ามมุสลิม แต่ท่านทั้งสองมิได้นำออกมารายงานไว้

5.หะดีษที่อยู่ในเงื่อนไขของท่านอีหม่ามบุคอรีย์ และท่านมิได้นำออกรายงานไว้

6.หะดีษที่อยู่ในเงื่อนไขของท่านอีหม่ามมุสลิม และท่านมิได้นำออกรายงานไว้

7.หะดีษที่ซอเฮียะฮ์โดยทรรศนะของผู้นำคนอื่นๆจากนักวิชาการหะดีษ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ได้มีอยู่ในซอเฮี๊ยะห์ของท่านทั้งสอง เช่น ท่านอิบนุคู่ซัยมะห์ และท่านอิบนุฮิบบาน เป็นต้น

ความเข้าใจที่มีต่อหะดีษทั้งสอง

1.ระหว่างหนังสือสองเล่มนั้น เล่มใดซอเฮี๊ยะห์กว่ากัน ?

ตอบ คือ ซอเฮียะฮ์บุคอรีย์ ถือว่า เป็นหนังสือที่ซอเฮี๊ยะฮ์ที่สุด และมีประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้เพราะหะดีษของท่านอีหม่ามบุคอรีย์นั้น มีสายรายงานที่ติดต่อกันยิ่งกว่า และนักรายงานแต่ละคนไว้ใจได้มากกว่า และเพราะซอเฮี๊ยะห์บุคอรีย์นั้น มีข้อวินิจฉัยทางด้านนิติศาสตร์ และหัวข้อเรื่องที่เร้าความอยากรู้มากกว่า ซึ่งไม่มีอยู่ในซอเฮียะฮ์มุสลิม อันนี้เป็นทัศนะของอุลามาอ์ส่วนมาก

และที่ว่าซอเฮียะฮ์ของท่านอีหม่ามบุคอรีย์เหนือกว่าซอเฮียะฮ์ของท่านอีหม่ามมุสลิมนั้น หมายถึง การพิจารณาโดยภาพรวม เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น เราก็จะพบว่า หะดีษบางบทที่บันทึกโดยท่านอีหม่ามมุสลิมนั้น มีความแข็งแรงกว่าหะดีษที่บันทึกโดยท่านอีหม่ามบุคอรีย์

และมีบางทัศนะกล่าวว่า ซอเฮี๊ยะห์ของท่านอีหม่ามมุสลิมนั้นเหนือกว่าซอเฮี๊ยะห์ของท่านอีหม่ามบุคอรีย์ เช่น ท่านอัลฮาฟิส อบูอาลีย์ อันนัยซาบูรีย์ และอุลามาอ์บางส่วนจากเมืองมอร๊อคโค ( المغرب ) แต่อุลามาอ์ส่วนมากให้การปฎิเสธทัศนะนี้ และถือว่าซอเฮี๊ยะห์ของท่านอีหม่ามบุคอรีย์นั้นเหนือกว่า และเป็นทัศนะนี้ เป็นทัศนะที่ถูกเลือก

2.หนังสือทั้งสองเล่มนั้น ได้รวบรวมฮะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ไว้ทั้งหมดหรือไม่ ?


ตอบ คือ ไม่ใช่เช่นนั้น หมายความว่า ยังมีหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์อื่นๆอีกที่ท่านทั้งสองมิได้รวบรวมไว้ในซอเฮี๊ยะห์ของเขา ดังที่ท่านอีหม่ามบุคอรีย์ได้กล่าวว่า

 مَا أَدْخَلْتُ فِي كِتَابِي الْجَامِعِ إِلَّا مَا صَحَّ ، وَتَرَكْتُ مِنَ الصِّحَاحِ لِحَالِ الطُّولِ

ความว่า "ข้าพเจ้ามิได้บรรจุไว้ในหนังสือของข้าพเจ้า(อัลญาเมียะอ์)นี้ นอกจากฮะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์เท่านั้น และข้าพเจ้าได้ทิ้งหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์อีกเป็นจำนวนมาก เพราะกลัวจะยาว"

ในบางรายงานกล่าวว่า "ความยาวทำให้เกิดความเบื่อหน่าย" หมายความว่า ท่านอีหม่ามบุคอรีย์ได้ทิ้งหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ไว้อีกเป็นจำนวนมาก โดยมิได้นำมาบรรจุไว้ในหนังสือของท่าน เพระเกรงว่าจะทำให้หนังสือของท่านยืดยาว และทำให้ผู้คนเกิดความเบื่อหน่าย

และท่านอีหม่ามมุสลิมได้กล่าวไว้เช่นกัน ว่า

لَيْسَ كُلُّ شَيْءٍ عِنْدِي صَحِيحٍ وَضَعْتُه هَاهُنَا ، إنَّمَا وَضَعْتُ هَاهُنَا مَا أَجْمَعُوا عَلَيْهِ

ความว่า "ไม่ใช่ทุกหะดีษซอเฮี๊ยะห์ที่ข้าพเจ้ามี จะบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด แต่ที่ข้าพเจ้าบรรจุไว้นั้น เป็นหะดีษที่นักวิชาการได้ลงมติกันไว้แล้ว"

หมายความว่า หะดีษที่ท่านอีหม่ามมุสลิมมีอยู่นั้น เป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์โดยมติของนักวิชาการ และท่านก็นำมาบรรจุไว้ในซอเฮี๊ยะห์ของท่าน แต่ก็ยังมีหะดีษซอเฮี๊ยะห์บทอื่นๆอีก ที่นักวิชาการไม่ได้ลงมติไว้ ซึ่งกระจายอยู่ในหนังสือหะดีษของอีหม่ามท่านอื่นๆ

3.มีหะดีษจำนวนเท่าไหร่ ในหนังสือแต่ละเล่มจากหนังสือซอเฮี๊ยะห์ทั้งสองนั้น ?
 
ตอบ คือ

1.หนังสือซอเฮี๊ยะห์บุคอรีย์ : ได้มีการกล่าวถึงจำนวนของมันจากหลายๆแนวทาง คือ

(1.) ท่านอีหม่ามนะวะวีย์และท่านอิบนุสซ่อลาฮ์ ได้กล่าวว่า มีหะดีษทั้งสิ้น 7,275 หะดีษ ถ้าไม่นับรวมหะดีษที่ซ้ำกัน และที่ซ้ำมีประมาณ 4000 หะดีษ

(2.) ท่านอิบนุฮาญัร อัลอัสกอลานีย์ กล่าวไว้ว่ามี 7,397 หะดีษ

(3.) ท่านมูฮำหมัด ฟูอ๊าด อับดุลบากีย์ ถูกรายงานการนับของท่านถึงสองแนวทาง คือ 7,563 และ 7,593 หะดีษ

แต่จำนวนที่ตรงกันกับที่ถูกบันทึกไว้ใน อัลญาเมียะอ์ อัสซอเฮี๊ยะห์ ตะห์กีกโดย ท่านมูฮำหมัด ฟูอ๊าด อับดุลบากีย์ มักตับ อัสซาลาฟีย์ , และในหนังสือ อัลกะวากิบ อัดดะรอรีย์ ช่าเราะห์ซอเฮี๊ยะห์บุคอรีย์ มักตับ ดารุ้ลฮ่ายาฮ์ อัตตุรอส อัลอารอบีย์ เบรูต ของท่านอัลกัรมานีย์ , และหนังสือ อุมดะตุ้ลกอรีย์ ช่าเราะห์ซอเฮี๊ยะห์บุคอรีย์ ของท่านอัลอีหม่าม อัลลามะห์ บัดรุดดีน อบูมูฮำหมัด มะห์มู๊ด บิน อะห์หมัด อัลอัยนีย์ , และหนังสือฟัตฮุ้ลบารีย์ของท่านอิบนุฮาญัร อัลอัสกอลานีย์ ตะห์กีกโดย อับกุลกอดิร ชัยบะห์ อัลฮำดี้ , และหนังสือฟัตฮุ้ลบารีย์ของท่านอิบนุฮาญัร อัลอัสกอลานีย์ ตะห์กีกโดย อับดุลเลาะห์บินบาส และมู่ฮิบบุดดีน อัลค่อตีบ ระบุตรงกันว่ามีทั้งสิน 7,563 หะดีษ

2.หนังสือซอเฮียะฮ์มุสลิม : ได้มีการกล่าวถึงจำนวนของมัน จากหลายแนวทางเช่นกัน คือ

(1.) ท่านอีหม่ามซู่ยูตีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ตัดรีบุรรอวีย์ ช่าเราะห์ ตักรีบ อันนะวะวีย์ ว่า มีผู้ที่กล่าวถึงจำนวนหะดีษของท่านอีหม่ามมุสลิมว่า มีทั้งสิ้นมี 12,000 หะดีษ

(2.) ท่านอีหม่ามอัลอีรอกีย์ ได้กล่าวไว้ จากอบุ้ลฟัดฎ์ อะห์หมัด บิน มู่ซัลล่ามะห์ ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หะดีษ

(3.) ท่านอีหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวไว้ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,275 หะดีษ ถ้าไม่นับรวมหะดีษที่ซ้ำกัน และที่ซ้ำกันจะมีจำนวน 3,033 หะดีษ

(4.) ท่านมูฮำหมัด ฟูอ๊าด อับดุลบากีย์ ได้กล่าวว่า จำนวนหะดีษทั้งสิ้นมี 5,781 หะดีษ

หมายเหตุ : จำนวนของตัวเลขที่ต่างกันนั้น เกิดขึ้นจากการนับของบรรดาอุลามาอ์ โดยที่อุลามาอ์บางท่านไม่นับตัวบทหะดีษที่ซ้ำกัน ก็จะมีจำนวนการนับที่น้อยกว่า บางอุลามาอ์นับหะดีษที่มีตัวบทซ้ำกัน(แต่สายงานต่างกัน)ก็จะมีจำนวนการนับที่มากกว่า บางอุลามาอ์นับรวมตัวบทหะดีษ(เมากูฟ)ที่เป็นคำพูดของศอฮาบะฮ์ด้วย ก็จะมีจำนวนการนับที่มากขึ้นไปอีก...วัลลอฮู่อะอ์ลัม

4.เราจะพบหะดีษซอเฮี๊ยะห์บทอื่นๆที่ไม่มีในซอเฮี๊ยะห์ของอีหม่ามทั้งสองท่านได้จากที่ใด ?
 
ตอบ คือ เราสามารถพบหะดีษซอเฮี๊ยะห์บทอื่นๆที่ไม่มีในซอเฮี๊ยะห์ของอีหม่ามทั้งสองท่าน ได้จากหนังสือต่างๆที่ถูกยอมรับอย่างแพร่หลาย เช่น ซอเฮี๊ยะห์อิบนุฮิบบาน ( صحيح ابن حبان ) , ซอเฮี๊ยะห์อิบนุคู่ซัยมะห์ ( صحيح ابن خزيمة ) , อัลมุสตัดร๊อกของท่านอีหม่ามฮากิม ( المستدرك ) , และหนังสือสุนันทั้ง 4 เล่ม อันได้แก่ สุนันอบูดาวูด สุนันติรมีซีย์ สุนันนะซาอีย์ และสุนันอิบนุมาญะห์ , และหนังสือสุนันอื่นๆอีก เช่น สุนันอัดดารุกุตนีย์ และสุนันอัลบัยหะกีย์ เป็นต้น

ระดับขั้น ของซอเฮี๊ยะห์ทั้ง 3 คือ

1.อัลมุสตัดร๊อกของท่านอีหม่ามฮากิม ( المستدرك ) : เป็นหนังสือขนาดใหญ่เล่มหนึ่งจากบรรดาหนังสือหะดีษ โดยผู้เรียบเรียงได้นำมาบรรจุไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ ตามเงื่อนไขของท่านอีหม่ามบุคอรีย์และอีหม่ามมุสลิม หรือ บางครั้ง ก็นำมาลงไว้ตามเงื่อนไขของคนใดคนหนึ่งจากทั้งสองท่าน โดยที่ทั้งสองท่านไม่ได้นำออกมารายงาน หรือ บันทึกไว้ในหนังสือของท่านทั้งสอง และเช่นเดียวกัน ท่านฮากิมก็ได้นำเอาฮะดีษที่ถือว่าซอเฮี๊ยะห์สำหรับท่าน มาบรรจุไว้อีกด้วย แม้ว่าหะดีษบทนั้นจะไม่ได้มาตฐานตามเงื่อนไขของคนใดคนหนึ่งจากทั้งสองท่านก็ตาม โดยท่านจะใช้สำนวนว่าเป็นหะดีษที่มีสายรายงานซอเฮี๊ยะห์

แต่บางคราวท่านก็กล่าวถึงหะดีษบางบทที่ไม่ใช่หะดีษซอเฮี๊ยะห์ โดยได้กล่าวเตือนเอาไว้ แต่ท่านมักหละหลวมในการตัดสินหะดีษที่ซอเฮียะฮ์ ซึ่งที่ดีแล้วควรต้องติดตามและชี้ชัดลงไปตามสภาพที่เหมาะสมของแต่ละหะดีษด้วย ซึ่งท่านอีหม่ามอัสซะหะบีย์ได้ติดตามดูหะดีษของท่านฮากิม และได้ชี้ชัดลงไปที่หะดีษจำนวนมากตามความเหมาะสมแก่สภาพของมัน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ จึงถือว่า เป็นหนังสือที่ยังต้องตจรวจสอบและเอาใจใส่เรื่องของสายงานและตัวบบ ก่อนที่ผู้ใดจะนำออกมารายงาน แต่โดยภาพรวมแล้ว ถือเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่ง

2.ซอเฮียะฮ์ของท่านอิบนุฮิบบาน ( صحيح ابن حبان ) : หนังสือเล่มนี้ มีการเรียบเรียงที่น่าฉงนยิ่ง คือ มิใช่เป็นการเรียบเรียงตามลำดับบท และไม่ใช่เป็นการเรียบเรียงตามสายรายงาน ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ( التقاسيم والأنواع ) "แบ่งเป็นแผนกๆและแบ่งเป็นประเภทๆ" การค้นหาหะดีษในหนังสือเล่มนี้ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังทำการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาใหม่ และจัดเรียงไว้ตามลำดับบท ซึ่งผู้ที่ทำการการเรียบเรียงและจัดหมวดหมู่ขึ้นไหม่ ก็คือ ท่านอะมีร อะลาอุดดีน อบุ้ลหะซัน อะลีย์ บิน บัลบาน(เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 739) และตั้งชื่อหนังสือว่า "อัลเอียะฮ์ซาน ฟี ตักรีบ อิบนิฮิบบาน" ( الإحسان في تقريب صحيح ابن حبان )
 
และแม้ว่าท่านอิบนุฮิบบานจะเป็นผู้ที่หละหลวมในการตัดสินฮะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ แต่ก็ยังมีความหละหลวมน้อยกว่าท่านฮากิม (ดูหนังสือ ตัดรีบุรรอวีย์ เล่ม 1 หน้า 109)

3.ซอเฮียะฮ์ของท่านอิบนุคู่ซัยมะห์ ( صحيح ابن خزيمة ) : เป็นหนังสือที่อยู่ในระดับขั้นที่สูงกว่าซอเฮี๊ยะห์อิบนุฮิบบาน เพราะมีความรอบคอบมากกว่า ถึงขั้นที่ว่า เขาจะไม่ชี้ชัดลงไปว่าเป็นหะดีษซอเฮี๊ยะห์ หากมีคำวิจารณ์ แม้จะเพียงเล็กน้อยในสายรายงานก็ตาม (ดูหนังสือ ตัดรีบุรรอวีย์ เล่ม 1 หน้า 109) 


5.เราสามารถฮู่ก่มหะดีษซอเฮี๊ยะห์ที่มีอยู่ในหนังสืออื่นๆจากซอเฮี๊ยะห์ทั้งสองนั้นว่าเป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ได้เลยหรือไม่ ?


ตอบ คือ ถือว่าไม่พอเพียงในการฮู่ก่มหะดีษเหล่านั้นว่าซอเฮี๊ยะห์ แต่ทว่าจำเป็นที่จะต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นหะดีษที่ซอเฮียะห์ด้วย นอกจากจะพบในหนังสือที่ตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า จะนำเอาเฉพาะหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์เท่านั้นมาบรรจุไว้ เช่น หนังสือซอเฮี๊ยะฮ์อิบนุคุซัยมะห์ ( صحيح ابن خزيمة ) เป็นต้น

6.อะไรคือจุดมุ่งหมายในคำพูดนักวิชาการที่ว่า ( هذا حديث صحيح ) "นี่เป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์"  หรือ ( هذا حديث غير صحيح ) "นี่ไม่ใช่หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์" ?

ตอบ คือ :

1.ความมุ่งหมายของนักวิชาการที่กล่าวว่า ( هذا حديث صحيح ) "นี่เป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์" ก็คือ หะดีษบทนั้น เป็นหะดีษที่มีเงื่อนไขครบทั้งห้าประการของหะดีษที่ถูกยอมรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หะดีษบทนั้น จะเป็นที่ซอเฮี๊ยะห์โดยเด็ดขาด เพราะเป็นไปได้เช่นกันว่า จะเกิดการผิดพลาดและการหลงลืมขึ้นกับบรรดานักรายงานที่มีความน่าเชื่อถือเหล่านั้น

2.ความมุ่งหมายของนักวิชาการที่ว่า ( هذا حديث غير صحيح ) "นี่ไม่ใช่หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์" ก็คือ หะดีษบทนั้น เป็นหะดีษที่ขาดไป 1 เงื่อนไข หรือ มากกว่า จากเงื่อนไขทั้งห้าประการของหะดีษที่ถูกยอมรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หะดีษบทนั้นจะเป็นหะดีษที่ถูกกุขึ้น เพราะเป็นไปได้เช่นกันว่า นักรายงานที่มีข้อผิดพลาดบางท่านอาจจะพูดถูกก็ได้ (ดูหนังสือ ตัดรีบุดรอวีย์ เล่ม 1 หน้าที่ 75-76 )


_______________________________________________________________________________________________

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.พ. 08, 2014, 10:18 PM โดย Ahlulhadeeth »

 

GoogleTagged