ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 9  (อ่าน 2594 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 9


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด


8.3.หะดีษหะซันลี่ซาตี่ฮี ( الحديث الحسن لذاته ) "หะดีษที่หะซันด้วยตัวของมันเอง"

คำว่า หะซัน ( الحسن ) "ดี" หรือ "สวย" ในแง่ของภาษานั้น ตรงข้ามกับคำว่า ก่อเบี๊ยะห์ ( القبيح ) "น่าเกลียด" หรือ ซัยยิอ์ ( السيء ) "เลวทราม"

และในแง่ของวิชาการนั้น คำว่า "หะซัน" นั้น หมายถึง "หะดีษที่สายรายงานของมันติดต่อกัน ด้วยการรายงานของคนที่มีคุณธรรม มีความจำดี(แต่ไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม) โดยที่หะดีษบทนั้น ไม่ขัดแย้งกับหะดีษบทอื่น หรือ มีเหตุผลที่ตำหนิ" โดยที่เงื่อนไขของหะดีษหะซันห์นั้น ก็คือ เงื่อนไขทั้ง 5 ข้อ ของหะดีษมักบู้ล นอกเสียจากเงื่อนไขในเรื่องของความจำเท่านั้น ที่ "ไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม"

ดังนั้น หากว่าในสายรายงานทั้งหมดนั้น มีแค่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีแค่ความจำดี(แต่ไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม) หรือ มีสถานะเป็นคน "ซ่อดู๊ก" ( صدوق ) "ผู้ที่เลื่องลือในการมีสัจจะ" เท่านั้น โดยไม่ได้รับการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์" ก็ถือว่า เพียงพอแล้วที่จะทำให้หะดีษนั้น ตกสถานะจากหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ไปเป็นหะดีษที่หะซันได้

ตัวอย่างของหะดีษหะซันลี่ซาตี่ฮี เช่น หะดีษที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์(รฮ.)ได้รายงานว่า

حدثنا قتيبة قال : حدثنا جعفر بن سليمان الضبعي ، عن أبي عمران الجوني ، عن أبي بكر بن أبي موسى الأشعري قال : سمعت أبي بحضرة العدو يقول : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم 

(( إِنَّ أَبْوَابَ الْجَنَّةِ تَحْتَ ظِلَالِ السُّيُوفِ ))


ท่านกู่ตัยบะห์ได้เล่าให้เราฟัง โดยกล่าวว่า ท่านญะอ์ฟัร บิน สุลัยมาน อัฎดุบะอีย์ ได้เล่าให้เราฟังจากท่าน อบูอิมรอน อัลเญานีย์ จากท่าน อบูบักร์ บิน อบีมูซา อัลอัชอารีย์ ได้กล่าวว่า ฉันได้ยินบิดาของฉันกล่าวในขณะที่เพชิญหน้ากับศรัตรูว่า ท่านร่อซู้ล(ซล.)ทรงกล่าวว่า "แท้จริงแล้วประตูทั้งหลายของสวรรค์นั้น อยู่ภายใต้เงาของดาบ" (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ ดูในอัลญาเมี๊ยะห์ อัลก่าบีร ดารุ้ลฆอรบ์ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 3 บทที่ว่าด้วย إن أبواب الجنة تحت ظلال السيوف หะดีษที่ 1659 / และมีบรรทึกในตัวะห์ฟ่าตุ้ลอะห์วาซีย์ ช่าเราะห์สุนันติรมีซีย์ ดารุ้ลฟิกร์ เล่มที่ 5 หะดีษที่ 1710 / และซอเฮี๊ยะห์อิบนุฮิบบาน บี่ตัรตีบ อิบนุบัลบาน มักตับ มู่อัสซ่าซะห์ อัรรี่ซาละห์ หะดีษที่ 4617 ) และท่านอบูอีซา(อีหม่ามติรมีซีย์) ได้กล่าวว่า หะดีษนี้ "เป็นหะดีษหะซันฆ่อรี๊บ"

วิจารณ์สายรายงาน : โดยแต่ละคนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ท่านกู่ตัยบะห์ เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์"

2.ท่านญะอ์ฟัร บิน สุลัยมาน อัฎดุบะอีย์ เป็นผู้ที่มีความเลื่องลือในด้านของความมีสัจจะ ( صدوق ) "ซ่อดู๊ก"

3.ท่านอบูอิมรอน อัลเญานีย์ เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์"

4.ท่าน อบูบักร์ บิน อบีมูซา อัลอัชอารีย์ เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์"

5.ท่านอบูมูซา อัลอัชอารีย์ เป็นซอฮาบะห์ของท่านร่อซู้ล ( صحابِي ) "ซอฮาบีย์" และเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ( ثقة ) "ซิเกาะห์"

หะดีษนี้ เป็นหะดีษหะซันด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากนักรายงานทุกคนเป็นคนที่เชื่อถือได้ เว้นแต่ ท่านญะอ์ฟัร บิน สุลัยมาน อัฎดุบะอีย์ เท่านั้น ที่มีสถานะภาพเป็นคน "ซ่อดู๊ก" หะดีษบทนี้ จึงเป็นหะดีษที่หะซันด้วยตัวของมันเอง (ดู ตัยซีร มุสตอละฮุ้ลหะดีษ ของเชคมะห์มูด เตาะห์ฮาน หน้า 47 มักตะบะห์ อัลมะอาริฟ ริยาด)

และท่านอีหม่าม อัลฮาฟิส อิบนุฮาญัร ได้กล่าวไว่เช่นกันว่า ท่านญะอ์ฟัร บิน สุลัยมาน อัฎดุบะอีย์ นั้น มีสถานะภาพเป็นคน "ซ่อดู๊ก" (ดูใน อัต-ตักรีบ เล่ม 1 หน้า 140)

ข้อกำหนดของฮะดีษหะซัน

ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม เมื่อหะดีษนั้น เป็นหะดีษหะซัน โดยมติเอกฉันท์ของปรวงปราชญ์ และถือเป็นหลักฐานหนึ่งจากบรรดาหลักฐานของศาสนาที่มุสลิมไม่อาจละเลยได้ และสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งในด้านของหลักศรัทธา หลักปฎิบัติ และหลักคุณธรรม-จริยธรรม

ระดับของขั้นของหะดีษหะซัน

เมื่อได้ชื่อว่าหะดีษหะซันแล้วนั้น ก็มิใช่ว่าทั้งหมดจะอยู่ในระดับเดียวกัน หะดีษหะซันที่นักวิชาการหะดีษมีการขัดแย้งกันในการตัดสินว่า "เป็นหะดีษซอเฮียะห์" หรือ "เป็นฮะดีษหะซัน" นั้น ย่อมมีความแข็งแรงกว่าหะดีษที่นักวิชาการหะดีษเห็นพ้องกันว่าเป็นหะดีษหะซัน ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพิจารณาถึงเงื่อนไขที่มีอยู่ในหะดีษหะซันว่า มีความเข้มแข็งเพียงใด ดังนั้น หะดีษที่หะซันเพราะตัวเอง เนื่องจากในสายรายงานของหะดีษนั้น มีนักรายงานหนึ่งคนที่เป็นผู้มีสัจจะ จึงไม่เหมือนกับหะดีษหะซันเพราตัวเอง เนื่องจากในสายรายงาน มีนักรายงานที่เป็นผู้มีมีสัจจะมากกว่าหนึ่งคน เป็นต้น

อะไรคือจุดมุ่งหมายในคำกล่าวของท่านอีหม่ามติรมีซีย์และบรรดาอุลามาอ์ท่านอื่นๆที่ว่า ( هذا حديث حسن صحيح ) "นี่คือ หะดีษหะซันซอเฮี๊ยะห์" ?

เราได้ทราบมาก่อนแล้วว่า หะดีษซอเฮี๊ยะห์ และหะดีษหะซัน นั้น มีความแตกต่างกันเพียงข้อเดียว คือ ในเรื่องของความจำในตัวผู้รายงาน ดังนั้น หะดีษใดที่นักรายงานมีความจำที่แม่นยำ หะดีษนั้น ก็จะเป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ และหะดีษใดที่นักรายงานมีความจำที่ดี แต่ไม่ถึงขั้นดีเยี่ยม หะดีษนั้น ก็จะเป็นหะดีษที่หะซัน โดยที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ได้กล่าวคำนี้ไว้ในสุนันของท่านมากมาย และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะลักษณะของหะดีษทั้งสองนั้นมีความเหลื่อมล้ำกัน

และเมื่อหะดีษทั้งสองมีความเหลื่อมล้ำกัน ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่หะดีษทั้งสองจะถูกรวมเข้าด้วยกัน ทั้งๆที่มันมีความแตกต่างทางด้านของระดับขั้น ? โดยที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ได้รวมลักษณะของหะดีษทั้งสองนั้นเข้าไว้ด้วยกันในหะดีษบทเดียว โดยกล่าวว่า "นี่คือ หะดีษหะซันซอเฮี๊ยะห์" ( هذا حديث حسن صحيح ) ?

ตอบ คือ แท้จริงแล้วบรรดาอุลามาอ์ได้ตอบจากคำกล่าวของท่านอีหม่ามติรมีซีย์ไว้หลายทัศนะด้วยกัน แต่ทัศนะที่ดีที่สุด ก็คือ สิ่งที่ท่านอัลฮาฟิสอิบนุฮาญัร(รฮ.)ได้ชี้แจงไว้ และท่านอีหม่ามซู่ยูตีย์(รฮ.)ก็เห็นชอบด้วย ซึ่งพอที่จะสรุปได้ดังต่อๆไปนี้

1.เมื่อหะดีษนั้นมี 2 สายรายงาน คำกล่าวนี้ ก็จะหมายถึง หะดีษที่สายรายงานหนึ่งของมัน เป็นสายรายงานที่หะซัน และอีกสายรายงานนึง เป็นสายรายงานที่ซอเฮี๊ยะห์

และที่กล่าวว่า "หะซันซอเฮียะห์" ( حسن صحيح ) นั้น เมื่อมีมากกว่าหนึ่งสายรายงาน ก็จะมีระดับที่สูงกว่า หะดีษที่กล่าวว่า "ซอเฮียะห์" เท่านั้น เมื่อหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์นั้น มีเพียงสายรายงานเดียว เพราะหะดีษที่มีหลายสารายงานนั้น จะเพิ่มความแข็งแรงให้แก่หะดีษนั้นขึ้นไปอีก ผู้ที่กล่าวทัศนะนี้ ได้ชี้แจงว่า ความจริงแล้วหะดีษนี้ เป็นหะดีษที่ตัวเชื่อมประโยคถูกตัดทิ้งไป นั้นคือ อักษร "วาว" ซึ่งเป้าหมายของคำกล่าวนี้ ก็คือ ( حسن و صحيح ) หมายถึง "เป็นทั้งหะดีษหะซันและหะดีษซอเฮี๊ยะห์" 

2.เมื่อหะดีษนั้นมีสายรายงานเดียว คำกล่าวนี้ ก็จะหมายถึง หะดีษที่อุลามาอ์กลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นหะซัน และอุลามาอ์อีกกลุ่มมองว่าเป็นซอเฮี๊ยะห์ ซึ่งท่านอีหม่ามติรมีซีย์จะใช้คำกล่าวในหะดีษที่มีลักษณะอย่างนี้ว่า "นี่คือ หะดีษหะซันซอเฮี๊ยะห์ฆ่อรีบ" ( هذا حديث حسن صحيح غريب )

การกล่าวด้วยคำว่า หะซันซอเฮี๊ยะห์ ( حسن صحيح ) นั้น เป็นการกล่าวคล้ายๆกับว่า ผู้ที่พูดต้องการชี้แจงว่า มีการขัดแย้งกันระหว่างนักวิชาการในข้อกำหนดของหะดีษบทนี้ หรือ มิอาจหาข้อยุติของหะดีษบทนี้ได้ ระหว่างการเป็นหะซัน กับ การเป็นซอเฮี๊ยะห์ ว่า อันใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งผู้ที่กล่าวทัศนะนี้ ได้ชี้แจงว่า ความจริงแล้วหะดีษนี้ เป็นหะดีษที่ตัวเชื่อมประโยคถูกตัดทิ้งไป นั้นคือ ฮู่รูฟ "เอา" ซึ่งเป้าหมายของคำกล่าวนี้ ชี้ถึงการลังเลในการตัดสิน ก็คือ ( حسن أو صحيح ) หมายถึง "เป็นหะดีษหะซัน หรือ ไม่ก็ เป็นหะดีษซอเฮี๊ยะห์"

ข้อสรุปจากคำกล่าวนี้ คือ :

1.แท้จริงลักษณะของหะดีษที่สูงกว่าจะไม่ปฎิเสธลักษณะหะดีษที่ต่ำกว่า ดังนั้น ทุกๆหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ ก็คือ หะซัน แต่มิใช่ว่าทุกๆหะซันจะเป็นซอเฮี๊ยะห์

2.แท้จริงแล้วการรวมกันระหว่างซอเฮี๊ยะห์กับหะซันนั้น จะอยู่ในระดับกลาง ระหว่าง หะดีษหะซัน กับ หะดีษซอเฮี๊ยะห์ ดังนั้น หะดีษที่ถูกกล่าวว่า "หะซันซอเฮี๊ยะห์" ก็คือ "หะดีษที่มีระดับสูงกว่าหะดีษหะซัน แต่ต่ำกว่าหะดีษซอเฮี๊ยะห์"

การฮู่ก่มว่าซอเฮี๊ยะห์ และหะซัน ของอุลามาอ์ในยุคหลังนั้นกระทำได้หรือไม่ ?

เมื่อปรากฎว่า การฮู่ก่มหะดีษ ไม่ว่าจะซอเฮี๊ยะห์ หรือ หะซันก็ตาม ขึ้นอยู่บนการพิจารณาถึงเงื่อนไขความสมบูรณ์ของหะดีษ ในการเป็นซอเฮี๊ยะห์ และหะซัน ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึง บางส่วนของเงื่อนไขที่นักค้นคว้าวิจัยหะดีษในยุคหลัง จะใช้ในการฮู่ก่มหะดีษ และสามารถรับรู้ถึงจุดสิ้นสุดในการพิจารณาหะดีษ จากข้อเท็จจริงของมันว่า หะดีษบทนั้นมีสถานภาพเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเงื่อนไขดังต่อไปนี้ :

1.1.การมีสายรายงานที่ต่อเนื่องกัน ( إتصال الإسناد )

1.2.พิจารณาจากคุณธรรมของผู้รายงานหะดีษ ( عدالة الراوي )

1.3.พิจารณาจากความแม่นยำของผู้รายงานหะดีษ ( ضبط الراوي )

เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นเงื่อนไขที่นักวิชาการหะดีษในยุคหลังสามารถนำมาตรวจสอบได้ว่า มีขึ้นจริงในหะดีษบทนั้นหรือไหม่ เพื่อหาจุดสิ้นสุดในการพิจารณาหะดีษ และรับรู้ว่าหะดีษบทนั้นมีสถานภาพเป็นอย่างไร

แต่ทว่า ยังมีอีกหลายเงื่อนไขของหะดีษซอเฮียะห์ และหะดีษหะซัน ที่นักค้นคว้าวิจัยหะดีษในยุคหลังไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ หรือ รับรู้ว่ามีอยู่จริงในหะดีษ นอกจากผู้ที่มีความชำนาญจากบรรดาผู้นำทางด้านหะดีษเท่านั้น และเงื่อนไขเหล่านี้ ก็คือ :

1.1.ความปลอดภัยจากการเป็นหะดีษชาซ ( السلامة من الشذوذ )

1.2.ความปลอดภัยจากข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหาย  ( السلامة من العلة القادحة )

ดังนั้น มิใช่ว่านักวิชาการหะดีษทุกท่านที่ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับหะดีษ ที่ไม่ถึงขั้นของการเป็นผู้นำ จะสามารถรับรู้ได้ว่า หะดีษที่เขากำลังตรวจสอบความเป็นซอเฮี๊ยะห์อยู่นั้น ปลอดภัยจากการเป็นหะดีษชาซ และปลอดภัยจากข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเปล่า ? ดังนั้น เราจึงพบว่า แท้จริงบรรดานักวิชาการหะดีษ ได้มีทรรศนะที่แตกต่างกันในการอนุญาตให้มีการตัดสินหะดีษว่าเป็นซอเฮียะห์ หรือ หะซัน โดยพาดพิงถึงนักวิชาการในยุคหลัง จากทัศนะที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ :

1.แนวทางของท่านอิบนุสซ่อลาฮ์ :

ท่านอิบนุสซ่อลาฮ์ และผู้ที่มีความเห็นตรงกันกับท่าน ได้มีทัศนะว่า : "ไม่อนุญาตให้นักวิชาการในยุคหลังตัดสินหะดีษใดว่าซอเฮี๊ยะห์ หรือ หะซัน หากพวกเขาพบหะดีษบทหนึ่งที่ผู้นำคนใดหนึ่งในยุคก่อนยังไม่ได้ตัดสินไว้ ดังนั้น จำเป็นแก่นักวิชาการในยุคหลัง จะต้องยึดถือคำตัดสินของบรรดาผู้นำในยุคก่อนว่าเป็นหะดีษซอเฮี๊ยะห์ หรือ หะซัน ตามที่บรรดาผู้นำในยุคก่อนได้ระบุไว้ในตำราของพวกเขาเท่านั้น" โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้ :

1.1.นักวิชาการในยุคหลัง ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการที่จะตัดสินหะดีษ เมื่อเทียบกับนักวิชาการในยุคก่อน เพราะการเป็นหะดีษซอเฮี๊ยะห์ หรือ หะซันนั้น มิได้หยุดอยู่แค่เพียงการศึกษาสายรายงาน หรือ แค่เพียงรู้จักว่าเป็นสายรายงานที่ติดต่อ และรู้ว่าผู้รายงานมีคุณธรรม หรือ มีความแม่นยำเท่านั้น แต่หะดีษนั้น จะต้องไม่ใช่เป็นหะดีษชาซ และไม่มีข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายในการอ้างอิง และการรู้จักเรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการยุคหลังไม่สามารถล่วงรู้ได้ และไม่สามารถตรวจสอบได้

1.2.หากว่ามีหะดีษใดที่ซอเฮี๊ยะห์ หรือ หะซัน แน่นอนว่า บรรดาผู้นำในยุคก่อนก็คงไม่เพิกเฉย หรือ ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการตัดสินเป็นแน่ เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่คอยตรวจสอบ ค้นคว้า และเป็นผู้ที่มีความมุมานะในการค้นหาความถูกต้องของหะดีษอยู่แล้ว

2.แนวทางของท่านอีหม่ามนะวะวีย์ :


ท่านอีหม่ามนะวะวีย์ และผู้ที่มีความเห็นตรงกันกับท่าน ได้มีทัศนะว่า : "อนุญาตให้นักวิชาการหะดีษในยุคหลังตัดสินหะดีษว่าซอเฮี๊ยะห์ หรือ หะซัน ได้ สำหรับบุคคลที่มีความสามารถ(ถึงขั้น)ที่จะกระทำเช่นนั้นได้ และเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้มแข็ง และการตัดสินนี้ มิได้จำกัดเฉพาะนักวิชาการในยุคก่อนเท่านั้น" โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้ :

2.1.เพราะมีนักวิชาการหลายท่าน ที่อยู่ในยุคเดียวกันกับท่านอิบนุสซ่อลาฮ์ และนักวิชาการที่อยู่ในยุคหลังจากเขา ได้ทำการตัดสินหะดีษหลายบทว่าเป็นหะดีษที่ซอเฮียะห์ ซึ่งเป็นหะดีษที่นักวิชาการในยุคก่อนยังไม่ได้ตัดสินไว้ เช่น 

- ท่านอบุ้ลหะซัน อะลีย์ บิน มูฮำหมัด บิน อับดุลมาลิก อัลกอตตอน(เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 628) เจ้าของหนังสือ "อัลวะห์มู่ วัลอีฮาม" ( الوهم والإيهام ) เขาได้ตัดสินหะดีษของท่านอิบนุอุมัร(รด.)ว่าเป็นหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ จากหะดีษที่ว่า

أَنَّهُ كَانَ يَتَوَضَّأُ وَنَعْلاَهُ فِي رِجْلَيْهِ وَيَمْسَحُ عَلَيْهِمَا وَيَقُوْلُ : كَذَلِكَ كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلى اللهُ عليه وسلم يَفْعَلُ

แท้จริงเขาได้อาบน้ำละหมาดโดยมีรองเท้าสองข้างอยู่ในเท้าทั้งสองของเขา และเขาได้เช็ดไปบนมันทั้งสองพร้อมกับกล่าวว่า : "เช่นนี้แหละที่ท่านร่อซู้ล(ซล.)ได้กระทำ"

- ท่านอัลฮาฟิส ดิยาอุดดีน มูฮำหมัด บิน อับดุลวาฮิด อัลมักดิซีย์(เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 643) ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ท่านอิบนุสซ่อลาห์ เสียชีวิต และเขาได้รวบรวมหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ "อัลอะฮาดีษ อัลมุคตาเราะห์ มิมมา ลัยซะฟิสซ่อฮีฮัยนี่ เอาอ้าฮ่าดี่ฮี่มา" ( الأحاديث المختارة مماليس في الصحيحين أو أحدهم ) และได้เรียบเรียงหนังสือของเขาตามสายรายงานแบบตัวอักษ แต่ก็ไม่สมบูณ์ และเขาได้(กล่าว)ผูกมัดที่จะรวบรวมแต่หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ และได้กล่าวถึงหะดีษหลายบทที่ยังไม่เคยมีการตัดสินว่าเป็นหะดีษซอเฮียะห์มาก่อน

- จากนั้นรุ่นที่ถัดจากรุ่นนี้ ก็ได้ตัดสินหะดีษของท่านญาบิร(รด.)ว่าเป็นฮะดีษซอเฮียะห์ จากหะดีษที่ว่า

 مَاءُ زَمْزَمَ لِمَا شُرِبَ لَهُ

ความว่า "น้ำซัมซัมจะเป็นตามที่ตั้งใจดื่ม"

ท่านอีหม่ามนะวะวีย์(รฮ.)ได้กล่าวว่า : "และเรื่องเช่นนี้ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนักวิชาการยุคหลังที่มีคุณสมบัติ แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนจากพวกเขาที่ไม่ยอมรับการตัดสินของนักวิชาการบางท่าน ก็เช่นเดียวกับนักวิชาการในยุคก่อน ที่บางท่านได้ตัดสินหะดีษหนึ่งว่าซอเฮี๊ยะห์ และก็มีบางท่านที่ไม่ยอมรับการตัดสินหะดีษซอเฮี๊ยะห์ดังกล่าวนั้น"

ท่านอัลฮาฟิซ  อัลอิรอกีย์  ได้กล่าวหลังจากคำพูดของท่านอีหม่ามนะวะวีย์ ว่า : "ฉันเห็นว่า อนุญาต(ให้ตัดสินหะดีษว่าซอเฮียะห์ได้) สำหรับบุคคลที่มีความสามารถและมีความรู้ที่มั่นคง"

2.2.คำพูดของท่านอิบนุสซ่อลาฮ์  ทำให้มีความจำเป็นต้องปฏิเสธหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ และทำให้ยอมรับกับหะดีษที่ไม่ซอเฮี๊ยะห์แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต

- ท่านอัลฮาฟิซ  อิบนุฮาญัร ได้กล่าวว่า : "คำกล่าวของอิบนุสซ่อลาฮ์ ที่ให้การยอมรับในเรื่องของการตัดสินหะดีษของนักวิชาการในยุคก่อน และปฏิเสธการตัดสินหะดีษของนักวิชาการในยุคหลัง อาจทำให้ต้องปฏิเสธหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ และทำให้ยอมรับกับหะดีษที่ไม่ซอเฮี๊ยะห์ได้ เพราะมีหะดีษหลายบทที่ผู้นำยุคก่อนได้ตัดสินแล้วว่าเป็นหะดีษที่ซอเฮียะห์ ต่อมาก็มีนักวิชาการในยุคหลังทำการตรวจสอบและพบว่า มีข้อบกพร่องที่ทำให้เสียหายและห้ามที่จะตัดสินว่าเป็นหะดีษซอเฮี๊ยะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักวิชาการยุคก่อนเป็นผู้ที่เห็นว่า ไม่มีข้อแตกต่างกันระหว่างหะดีษซอเฮี๊ยะห์กับหะดีษหะซัน เช่น ท่านอิบนุคู่ซัยมะห์ และท่านอิบนุฮิบบาน เป็นต้น"   

- ท่านอีหม่ามซู่ยูตีย์ ได้กล่าวว่า : "หะดีษที่มีสายรายงานซอเฮี๊ยะห์นั้น ไม่ใช่เป็นการตัดสิน(ตัวบท)หะดีษว่าซอเฮี๊ยะห์ เพราะเป็นไปได้ที่จะมีข้อบกพร่องซุ่มซ่อนอยู่ในตัวบทของหะดีษ และแท้จริงข้าพเจ้าเคยเห็นผู้ที่ใช้สำนวนว่า ซอเฮี๊ยะห์ อินชาอัลเลาะห์ ( صحيح إن شاء الله ) เพราะกลัวว่าจะเป็นเช่นนั้น(กลัวว่าตัวบทของหะดีษจะมีข้อบกพร่อง)"


มีคำอื่นๆอีกหรือไม่ ที่นักวิชาการหะดีษใช้ในการตัดสินหะดีษที่ได้รับการยอมรับแล้วว่า ไม่ใช่หะดีษซอเฮี๊ยะห์ และไม่ใช่หะดีษหะซัน ?

ยังมีคำอื่นๆอีก ซึ่งบางครั้งได้มีการตัดสินหะดีษที่ได้รับการยอมรับแล้วว่า ไม่ใช่หะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ และไม่ใช่หะดีที่หะซัน โดยมีอยู่หลายคำที่นักวิชาการหะดีษได้นำมาใช้ เมื่อพบว่า หะดีษต่างๆที่ได้รับการยอมรับนั้น ไม่ใช่หะดีษซอเฮี๊ยะห์ และไม่ใช่หะดีษหะซัน ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบ และทำความรู้จักกับความหมายของคำเหล่านั้น เช่น

1.คำว่า "อัลญัยญิด" ( الجيِد ) แปลว่า "ดี"

ท่านอินนุสซ่อลาฮ์มีทรรศนะว่า "ญัยญิด" กับ "ซอเฮียะห์" นั้น มีความเท่าเทียมกัน ดังนั้น หะดีษที่ถูกเรียกว่า "ญัยญิด" จะมีตำแหน่งเท่ากับหะดีษที่ถูกเรียกว่า "ซอเฮี๊ยะห์"  แต่คำพูดนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะผู้นำในด้านวิชาหะดีษ จะไม่เปลี่ยนแปลงคำว่า "ซอเฮี๊ยะห์" ไปเป็นคำว่า "ญัยญิด" นอกจากต้องมีจุดต่าง เช่น หะดีษบทนั้นสำหรับเขา สูงกว่าหะดีษที่หะซันด้วยตัวเอง แต่เขากำลังลังเลว่า หะดีษบทนั้นจะถึงขั้นซอเฮี๊ยะห์หรือไม่ ดังนั้นการใช้คำว่า "ญัยญิด" จึงมีระดับต่ำกว่าหะดีษที่ใช้คำว่า "ซอเฮี๊ยะห์"

2.คำว่า "อัลก่อวีย์" ( القوي ) แปลว่า "มีความแข็งแรง" คำนี้ มีความหมายเดียวกันกับคำว่า "ญัยญิด"

3.คำว่า "อัสซอเลี๊ยะห์" ( الصالح ) แปลว่า "มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นหลักฐาน" คำนี้ ครอบคลุมถึงหะดีษที่ซอเฮี๊ยะห์ และหะดีษที่หะซัน เพราะมีความเหมาะสมที่จะใช้หะดีษทั้งสองเป็นหลักฐาน และสามารใช้กับหะดีษที่ด่ออีฟด้วยเช่นกัน เมื่อหะดีษบทนั้น เป็นหะดีษที่เหมาะสมในการนำมาพิจารณา

4.คำว่า "อัลมะอ์รูฟ" ( المعروف ) แปลว่า "หะดีษที่ถูกยอมรับว่าให้นำมาปฎิบัติได้" ได้แก่ หะดีษที่ผู้รายงานที่มีความซิเกาะห์(น่าเชื่อถือ) หรือ ซ่อดู๊ก(มีสัจจะ) ได้รายงานขัดแย้งกับผู้รายงานมีความอ่อนแอกว่า และคำที่ตรงข้ามกับมัน คือ คำว่า "อัลมุงกัร" ( المنكر ) "หะดีษที่ผู้รายที่มีความอ่อนแอได้รายงานขัดแย้งกับผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า" ซึ่งเป็นหะดีษที่ถูกปฎิเสธ

5.คำว่า "อัลมะห์ฟูศ" ( المحفوظ ) แปลว่า "หะดีษที่ถูกรักษาไว้" หมายถึง หะดีษที่ผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ได้รายงานขัดกับหะดีษของผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า และไม่สามารถรวมรายงานทั้งสองได้ ไม่ว่าจะด้วยแนวทางใดก็ตามจากแนวทางของการรวมหะดีษ ซึ่งหะดีษของผู้รายงานทีมีความน่าเชื่อถือกว่า ก็จะถูกรักษาไว้ และถูกนำมาปฎิบัติ ส่วนหะดีษของผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่านั้น ก็จะถูกทิ้งไว้ก่อน และคำที่ตรงข้ามกับมัน คือ คำว่า "ชาซ" ( الشاذ ) "แหวกแนว แหกคอก" ซึ่งเป็นหะดีษที่ถูกปฏิเสธ

6.คำว่า "อัลมู่เญาวัด" ( المجود ) แปลว่า "ดี" หรือ "สวยงาม" คำนี้ มีความหมายเดียวกันกับคำว่า "ซอเฮี๊ยะห์"

7.คำว่า "อัสซาบิต" ( الثابت ) แปลว่า "หะดีษที่ได้รับการยืนยัน" หรือ "หะดีษที่ได้รับการยอมรับ" คำนี้ มีความหมายเดียวกันกับคำว่า "ซอเฮี๊ยะห์"

8.คำว่า "อัลมู่ชับบะห์" ( المشبه ) แปลว่า "มีความใกล้เคียง" คำนี้ ถูกนำมาใช้กับหะดีษหะซัน และหะดีษที่ใกล้เคียงกับหะซัน ซึ่งคล้ายๆกับการใกล้เคียงระหว่าง "ญัยญิด" กับ "ซอเฮี๊ยะห์" นั่นเอง

______________________________________________________________________________________________

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ก.ค. 12, 2013, 01:08 AM โดย Ahlulhadeeth »

 

GoogleTagged