ผู้เขียน หัวข้อ: มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 10  (อ่าน 2283 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Ahlulhadeeth

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 27
  • Respect: +4
    • ดูรายละเอียด

วิชา มุสตอละฮุ้ลหะดีษ (หลักพิจารณาอัลหะดีษ) ตอนที่ 10


โดย รอฟีกี มูฮำหมัด


8.4.หะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮี ( الحديث الحسن لغيره ) "หะดีษที่หะซันด้วยการสนับสนุนของหะดีษอื่น"

เราได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า แท้จริงหะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮีนั้น อยู่ในประเภทของหะดีษที่ได้รับการรับรอง และหะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮีนั้น เดิมทีก็คือ "หะดีษด่ออีฟ" แต่ได้รับการสนับสนุนจากหะดีษอื่น ที่มีความเท่าเทียมกัน หรือ แข็งแรงกว่า ด้วยแนวทางอื่น หรือ สายรายงานอื่น ทำให้หะดีษที่มีความอ่อนแอ(ด่ออีฟ)นั้น ได้รับการเลื่อนขั้นจากด่ออีฟไปเป็นหะซัน

และที่เรียกหะดีษนั้นว่า "หะซันเพราะหะดีษอื่น" ( الحسن لغيره ) ก็เพราะการเป็นหะซันของมัน ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่มันมีเหตุผลอื่นๆภายนอกมาสนับสนุน ซึ่งเราเรียกว่า "มู่ตาเบียะอ์" ( متابع ) หรือ "อาดิ๊ด" ( عاضد ) หมายถึง "หะดีษบทอื่นที่มาสนับสนุน และมีผลทำให้สายรายงานแรกนั้น มีความเเข็งแรงขึ้น"


หะดีษด่ออีฟนั้น สามารถเลื่อนขั้นไปเป็นหะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮี ได้ทั้งหมดหรือไม่ ?

เมื่อได้ชื่อว่าเป็นหะดีษด่ออีฟ ก็มิใช่ว่าทั้งหมดของมัน จะได้รับการสนับสนุน และได้รับการเลื่อนขั้นไปเป็นหะซันลี่ฆอยรี่ฮีได้ เพราะหะดีษด่ออีฟนั้น มีอยู่หลายชนิด ซึ่งบางชนิดนั้น ด้วยความอ่อนแอของมัน ทำให้มันไม่สามารถรับการชดเชย และไม่สามารถรับการเลื่อนขั้นขึ้นไปสู่หะซันได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า หะดีษด่ออีฟในลักษณะใดบ้างที่จะได้รับการสนับสนุน และในลักษณะใดบ้างที่ไม่อาจได้รับการสนับสนุน เราก็ควรได้รับทราบถึงเงื่อนไขต่างๆของมัน ดังต่อไปนี้ :

1.หะดีษด่ออีฟที่สามารถรับการชดเชยด้วยการมีสายรายงานอื่น ได้แก่ :
 
1.1.หะดีษที่มาจากการรายงานของคนที่มีความจำอ่อนแอ(ความจำไม่ดี) "ซูอุ้ลฮิฟศ์" ( سوء الحفظ )

1.2.หะดีษที่มาจากการรายงานของคนที่มีความสับสน "มุคตะลิฎ" ( المختلط ) ซึ่งไม่สามารถแยกแยะหะดีษเดิมที่เขาเคยเล่าไว้ ก่อนที่จะเกิดการสับสน กับหะดีษที่เขาได้เล่าภายหลังจากเกิดความสับสนแล้ว

1.3.หะดีษที่มาจากการรายงานของคนที่ถูกปกปิดสถานะ "มัสตูร" ( المستور )  ได้แก่ หะดีษที่ผู้รายงาน 2 คน ได้รายงานออกมาจากเขา ซึ่งเขาไม่ถูกยืนยันในความน่าเชื่อถือ(ซิเกาะห์) และคำว่า "ถูกปกปิดสถานะ" นั้น หมายถึง "ไม่มีผู้ใดรู้สถานภาพของเขา" ( مجهول الحال ) "มัจฮูลุ้ลฮ้าล" คือ ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนเช่นไร เนื่องจากไม่มีผู้ใดสรรเสริญเยินยอในความอาเด้ล และไม่มีผู้ใดตำหนิว่าเป็นคนฟาซิก(คนชั่ว)

1.4.หะดีษที่มาจาการรายงานของบุคคลที่ไม่มีผู้ใดรู้จักตัวตนของเขา "มัจฮูลุ้ลอัยน์" ( مجهول العين ) คือ ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน

1.5.หะดีษที่มาจากการรายงานของคนที่ชอบอำพราง "มู่ดั้ลลิส" ( المدلس ) หมายถึง "คนที่ชอบปกปิด" หรือ "คนที่ชอบตลบตะแลง"

1.6.หะดีษมุรซั้ล ( الحديث المرسل ) หมายถึง "หะดีษที่ผู้รายงานในระดับชั้นซอฮาบะห์ได้ตกไปจากสายรายงาน" ได้แก่ หะดีษที่ตาบิอีนเท่านั้นได้รายงานมาจากท่านร่อซู้ล(ซล.)
 
ดังนั้น ทุกๆชนิดที่กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อมีมาอีกสายรายงานหนึ่งที่แข็งแรงกว่า หรือ เท่าเทียมกัน หรือ มีมาอีกหลายๆสายรายงานที่มีสถานะอ่อนแอกว่า(แต่มีการรายงานที่มากมาย) ก็จะได้รับการชดเชยความเป็นด่ออีฟนั้น และจะถูกเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็นหะดีษหะซันด้วยการสนับสนุนของหะดีษอื่น หรือ ที่เรียกว่า "หะซันลี่ฆอยรี่ฮี" ( الحسن لغيره ) นั่นเอง

2.หะดีษด่ออีฟที่ไม่สามารถรับการชดเชยด้วยการมีสายรายงานอื่น ได้แก่ :


2.1.หะดีษเมาดัวะอ์ คือ หะดีษที่ในสายรายงานมีผู้รายงานที่ปรากฏแน่นอนว่า เป็นคนที่โกหกในคำพูดของท่านร่อซู้ล(ซล.) เมื่อมีผู้รายงานที่โกหกอีกคนหนึ่งมารายงานสนับสนุนสายรายงานของหะดีษนั้น

2.2.หะดีษมัตรูก คือ หะดีษที่ในสายรายงานมีผู้รายงานที่ปรากฏแน่นอนว่า เป็นคนที่โกหกในคำพูดของมนุษย์ แต่ไม่เคยปรากฏว่าเขาโกหกในคำพูดของท่านร่อซู้ล(ซล.) เมื่อมีผู้รายงานที่โกหกอีกคนหนึ่งมารายงานสนับสนุนสายรายงานของหะดีษนั้น

2.3.หะดีษชาซ คือ หะดีษที่ผู้รายงานที่เชื่อถือได้ ได้รายงายขัดแย้งกับผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า และไม่สามารถรวมหะดีษทั้งสองเข้าด้วยกันได้ ต่อไปจะได้กล่าวถึง อินชาอัลเลาะห์

2.4.หะดีษที่อ่อนจัด(ด่ออีฟญิดดัน) เพราะสาเหตุอื่น ที่ไม่ใช่สาเหตุต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้ว

นี่คือ ชนิดต่างๆของหะดีษด่ออีฟ ที่ไม่สามารถชดเชยให้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ด้วยการสนับสนุนรายงานจากสายรายงานอื่นๆ เมื่อสายรายงานนั้นเป็นสายรายงานที่มีความอ่อนจัดเท่ากัน...วัลลอฮู่อะอ์ลัม.

ตัวอย่างของหะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮี เช่น หะดีษที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์(รฮ.) ได้รายงานไว้ในสุนันของท่าน จากแนวทางของท่านชัวอ์บะห์ โดยนำมาจากท่านอาซิม บิน อู่บัยดิ้ลลาฮ์ :

 حدثنا محمد بن بشار قال : حدثنا يحي بن سعيد وعبد الرحمن إبن مهدي ومحمد بن جعفر قالوا : أخبرنا شعبة عن عاصم بن عبيد الله قال :  سمعت عبد الله بن عامر بن ربيعة عن أبيه أن امرأة من بني فزارة تزوجت على نعلين ، فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم : (( أرضيتِ من نفسك ومالك بنعلين ؟ )) قالت : نعم ، فأجاز

ท่านมูฮำหมัด บิน บัชชาร ได้เล่าให้เราฟัง โดยกล่าวว่า ท่านยะห์ยา บิน สอี๊ด และท่านอับดุลเราะห์มาน อิบนุ มะห์ดีย์ และท่านมูฮำหมัด บิน ญะอ์ฟัร พวกเขาได้กล่าวว่า ท่านชัวอ์บะห์ ได้เล่าให้เราฟัง จากท่านอาซิม บิน อู่บัยดิ้ลลาฮ์ โดยเขากล่าวว่า ฉันได้ยิน ท่านอับดุลเลาะห์ บิน อามิร บิน ร่อบีอะห์ ได้รายงานมาจากพ่อของเขาว่า แท้จริงผู้หญิงคนหนึ่งจากตระกูล ฟะซาเราะห์ ได้แต่งงานโดยมีรองเท้าแตะสองข้างเป็นค่าสมรส(ม่าฮัร) ดังนั้น ท่านร่อซู้ล(ซล.)จึงได้ถามว่า "เธอพอใจที่จะมอบตัวของเธอและทรัพย์ของเธอด้วยรองเท้าแตะสองข้างหรือไม่ ?" นางก็ตอบว่า ค่ะ(ฉันพอใจ) ดังนั้น ท่านร่อซู้ลจึงอนุญาตให้ (บันทึกโดย ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ ในสุนันติรมีซีย์ เล่ม 3 บทที่ว่าด้วย ما جاء في مهور النساء หะดีษที่ 1113)

หะดีษบทนี้ เดิมทีแล้ว เป็นหะดีษ "ด่ออีฟ" เนื่องจากในสายรายงานมี ท่านอาซิม บิน อู่บัยดิ้ลลาฮ์ ซึ่งเป็นคนที่ด่ออีฟ เพราะความจำไม่ดี (ดู ตัยซีร มุสตอละฮุ้ลหะดีษ ของเชคมะห์มูด เตาะห์ฮาน หน้า 53 มักตะบะห์ อัลมะอาริฟ ริยาด) และท่านอิบนุ้ลเญาซีย์ ได้กล่าวว่า ท่านอิบนุม่าอีน ได้กล่าวว่า อาซิม บิน อู่บัยดิ้ลลาฮ์ นั้น "ด่ออีฟ" (ดู ตัวะห์ฟ่าตุ้ลอะห์วาซีย์ เล่ม 4 หน้า 252 ดารุ้ลฟิกรี่ ตัซเฮี๊ยะห์โดย อับดุลวะห์ฮาบ อับดุลล่าตีฟ เป็นครูผู้สอนในคณะนิติศาสตร์อิสลาม มหาลัยอัลอัซฮัร)

แต่หะดีษบทนี้ ได้รับการสนับสนุนด้วยสายรายงานอื่นๆอีก ทำให้มันได้รับการเลื่อนขั้นจากด่ออีฟ ไปเป็นหะซันลี่ฆอยรี่ฮี ดังที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ ได้กล่าวว่า : "ในเรื่องนี้ (ยัง)มีรายงานจาก ท่านอุมัร ท่านอบูฮู่รอยเราะห์ ท่านซะห์ บิน ซะอ์ด ท่านอบูสอี๊ด ท่านอนัส ท่านหญิงอาอิชะห์ และท่านญาบิร และท่านอบูฮัดรอด อัลอัสลามีย์" (ดู ตัวะห์ฟ่าตุ้ลอะห์วาซีย์ เล่ม 4 หน้า 251 ดารุ้ลฟิกรี่ ตัซเฮี๊ยะห์โดย อับดุลวะห์ฮาบ อับดุลล่าตีฟ เป็นครูผู้สอนในคณะนิติศาสตร์อิสลาม มหาลัยอัลอัซฮัร) หะดีษบทนี้ จึงเป็น "หะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮี" ดังได้กล่าวมาแล้ว

ข้อกำหนดของหะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮี

หะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮีนั้น เป็นหะดีษที่มีระดับที่ต่ำกว่าหะดีษหะซันลี่ซาตี่ฮี แต่บรรดาอุละมาอ์ได้มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม และถือเป็นหลักฐานหนึ่งจากบรรดาหลักฐานของศาสนาที่มุสลิมไม่อาจละเลยได้ เนื่องจากหะดีษหะซันลี่ฆอยรี่ฮีนั้น เป็นส่วนหนึ่งจากหะดีษมักบู้ล ( الحديث المقبول ) "หะดีษที่ได้รับการรับรอง" ดังนั้น การนำมาใช้เป็นหลักฐาน ก็เหมือนกับหะดีษซอเฮี๊ยะห์และหะดีษหะซันทั่วๆไป ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ ทั้งในด้านของหลักศรัทธา หลักปฎิบัติ และหลักคุณธรรม-จริยธรรม

หนังสือที่เป็นแหล่งของหะดีษหะซัน

ไม่ปรากฎว่ามีนักวิชาการทางด้านหะดีษท่านใด ได้ทำการเรียบเรียงหนังสือที่เกี่ยวกับหะดีษหะซันไว้โดยเฉพาะ เหมือนอย่างที่ได้มีเรียบเรียงหะดีษซอเฮียะฮ์ไว้โดยเฉพาะ แต่ก็มีหนังสือหลายเล่มที่เป็นแหล่งของหะดีษหะซัน และสามารถพบหะดีษหะซันได้เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจากหนังสือที่แพร่หลายเหล่านั้น ก็คือ :

1.อัลญาเมี๊ยะอ์ อัสซ่อเฮี๊ยะห์ ( الجامع الصحيح ) ของ ท่านอีหม่ามติรมีซีย์ ซึ่งเป็นหนังสือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามของ "สุนันติรมีซีย์" ( سنن الترمذي ) ซึ่งถือเป็นต้นตอในการรู้จักหะดีษหะซัน โดยที่ท่านอีหม่ามติรมีซีย์(รฮ.)นั้น เป็นบุคคลที่ได้ทำให้หะดีษหะซันแพร่หลายอยู่ในหนังสือเล่มนี้ และเป็นบุคคลที่กล่าวถึงหะดีษหะซันมากที่สุด

2.สุนันอะบีดาวูด ( سنن أبي داود ) ของ ท่านอีหม่ามอบูดาวูด ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในสาส์นของท่าน ที่ได้เขียนไปถึงชาวมักกะห์ ว่า : "ความจริงในหนังสือเล่มนี้ บรรจุไว้ด้วยหะดีษที่ซอเฮี๊ยะฮ์ หะดีษที่คล้ายคลึงกับหะดีษซอเฮี๊ยะห์ และหะดีษที่ใกล้เคียงกับหะดีษซอเฮี๊ยะฮ์ และหะดีษใดในหนังสือเล่มนี้ที่อ่อนมาก จะได้บรรยายไว้ ส่วนหะดีษที่มิได้กล่าวถึงไว้ด้วยประการใดๆ ก็ถือว่า เป็นหะดีษที่เหมาะสมในการนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐาน" ดังนั้น ถ้าดำเนินไปตามคำกล่าวนี้ เมื่อเราพบหะดีษหนึ่งในสุนันอะบีดาวูด ซึ่งท่านมิได้บรรยายไว้ว่าเป็นหะดีษด่ออีฟ และไม่มีผู้ใดจากบรรดาผู้นำที่เชื่อถือได้ ได้ชี้ชัดว่าเป็นหะดีษซอเฮียะฮ์ ก็ให้ถือว่า หะดีษบทนั้น "เป็นหะดีษหะซัน" ตามทรรศนะของท่านอีหม่ามอบูดาวูด

3.สุนันอัฎดารุกุตนีย์ ( سنن الدارقطني ) ของ ท่านอีหม่าม อัลฮาฟิส อบุ้ลหะซัน อะลีย์ บิน อุมัร บิน อะห์หมัด บิน มะห์ดีย์ บิน มัสอู๊ด บิน อัลนัวะอ์มาน บิน ดีนาร บิน อับดุลเลาะห์ อัลบัฆดาดีย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "อัฎดารุกุตนีย์" (เสียชีวิตในปีฮิจเราะห์ที่ 385) ซึ่งท่านอีหม่ามอัฎดารุกุตนีย์(รฮ.) ได้ระบุชัดเจนในหนังสือของเขาว่า มีหะดีษหะซันเป็นจำนวนมาก

______________________________________________________________________________________________

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พ.ย. 19, 2012, 05:01 PM โดย Al Fatoni »

 

GoogleTagged