ความตาย...
จุดวัดความฉลาดของมนุษย์
'ความตาย' เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมิอาจหลีกหนีได้ เป็นสัจธรรมแม้แต่คนซึ่งยังไม่เคยตายก็เชื่ออย่างเด็ดขาดว่า ต้องเกิดกับตนเช่นกัน นี่เป็นสัจธรรมที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ไม่ว่าราชาหรือขอทานต่างก็ต้องพบกับความตาย
'ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าปรากฏอยู่ ความตายก็ย่อมมาถึงพวกเจ้า และแม้ว่าพวกเจ้าจะอยู่ในป้อมปราการอันสูงตระหง่านก็ตาม' (อัล กุรอาน 4:78)
'เมื่อกำหนดวาระแห่งความตายของพวกเขาได้มาถึง พวกเขาไม่สามารถเลื่อนเวลาออกไปให้ช้า แม้เพียงสักชั่วโมงเดียว หรือรีบเร่งให้มาถึงก่อนก็ตาม' (อัล กุรอาน 10:49)
'ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย' (อัล กุรอาน 21: 35)
แม้ 'ความตาย' จะเป็นสัจธรรมที่เด็ดขาดปานใดก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่ชอบพูดถึงความตาย ความตายจึงไม่ใช่หัวข้อที่มนุษย์นำมาพูดคุยกัน ยิ่งกว่านั้นหากใครยกมาพูดคุยก็ถูกมองว่าทำในสิ่งที่เป็นอัปมงคล
ถามว่า การไม่ยอมใคร่ครวญเรื่องความตายและชีวิตหลังความตาย มันจะช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับความจริงเรื่องนี้อย่างนั้นหรือ? แน่นอน ทุกคนจะต้องตอบคำถามนี้ว่า ไม่อย่างแน่นอน
ดังนั้นคงไม่มีใครคิดหยุดยั้งความตายด้วยการปิด'ป่าช้า'เป็นแน่ แต่แล้วคนจำนวนมากให้ความสนใจต่อความตายผิดประเด็นไป พวกเขาจำกัดความสนใจของตัวเองเพื่อให้ตายอย่างสบายหรือพยายามยืดเวลาการตายไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แนวโน้มเช่นนี้ปรากฏรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นธุรกิจสุขภาพที่ทำรายได้มหาศาล
ทำไมคนเราสนใจความตายในประเด็นแค่ตายให้สบาย ชนิดเหมือนสับสวิทช์ แต่ใครเล่าจะรู้ความจริงในแก่นแท้ของความตายว่า จริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า 'ความตาย' จนถึง'ชีวิตหลังความตาย'
มนุษย์มีความรู้แค่ไหนกัน ถึงกับสามารถให้ความหมายต่อความตายเอาเองได้
ชายคนหนึ่งได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ว่า 'ผู้ศรัทธาคนใดฉลาดที่สุด? ' ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ตอบว่า 'คนที่นึกถึงความตายมากที่สุด และเตรียมตัวอย่างดีที่สุดเพื่อชีวิตหลังความตาย พวกเหล่านี้แหละคือคนฉลาด'(อ้างจากเศาะฮีฮฺ อิบนุ มาญะฮฺ 3435 โดยอัล อัลบานียฺ)
อุละมาอ์(ปราชญ์อิสลาม)บางท่านได้ชี้ให้เห็นถึงผลของการรำลึกถึงความตายว่า 'ใครก็ตามที่รำลึกถึงความตายบ่อยๆ จะได้ประโยชน์ 3 ประการ (1) เขาจะรีบเตาบะฮฺ(กลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ) (2)หัวใจรู้สึกพอเพียง(ไม่ละโมภ) (3)ทำอิบาดะฮฺอย่างกระฉับกระเฉง ใครก็ตามที่หลงลืมความตาย เขาจะได้รับโทษ 3 ประการ (1) ล่าช้าในการเตาบะฮฺ (2)ไม่พึงพอใจและพอเพียงในสิ่งที่มีอยู่ (3)เกียจคร้านการทำอิบาดะฮฺ '
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในโลกยุคใหม่ก็คือ การมีชีวิตอยู่โดยห่างไกลจากความตาย สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อทำให้ลืมความตาย ในบางแห่งเราได้พบว่า แม้ในการนำศพไปฝังก็เต็มไปด้วยบรรยากาศเฮฮา สนุกสนาน จริงอยู่อิสลามห้ามการรำพึงรำพัน แต่อิสลามก็ปฏิเสธบรรยากาศที่หลงลืมความตาย
เมื่อความตายกลายเป็นสัจธรรมที่ผู้คนแกล้งพากันลืม ผู้คนก็อาศัยอยู่ในโลกนี้ด้วยการหลอกตัวเองไปวันๆหนึ่งว่า โลกนี้คือสถานที่ที่สามารถหาความสุขที่แท้จริงได้
แม้รู้ว่านี่เป็นความเท็จ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยินยอมที่จะอยู่ในโลกที่หลอกลวงเช่นนี้
การให้มวลชนมุสลิมสัมผัสกับบรรยากาศแห่งความตาย จึงเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสังคมที่อิสลามสร้างขึ้น เช่น การส่งเสริมให้เข้าร่วมการจัดการญะนาซะฮฺ(ศพ), การส่งเสริมให้เยี่ยมผู้ป่วยหรือคนเจ็บหนัก, หรือแม้กระทั่งการเยี่ยมกุบูร(สุสาน) เป็นต้น
อิสลามสร้างบรรยากาศเช่นนี้ด้วยการปฏิบัติจริง ก็เพราะต้องการขจัดภาพลวงตาของผู้คนส่วนใหญ่ที่แสร้งไม่รู้ความจริงในเรื่องความตาย เพื่อเรียกร้องให้มนุษย์กล้าเผชิญหน้ากับความจริงนี้ เพื่อมันจะได้เป็นเครื่องเตือนสติพวกเขา ดังที่ท่านฟุฎอยลฺ บิน อิยาฎ ผู้เป็นตะบีอีนที่มีชื่อเสียงกล่าวไว้ว่า 'ความตายเป็นผู้เตือนที่เพียงพอแล้ว'
หากความตายไม่อาจเป็นคำเตือนได้ โลกนี้จึงเต็มไปด้วยมนุษย์ที่โง่เขลา รู้จักแต่บำเรออารมณ์ปรารถนาของตนเองอย่างละโมบ ราวกับฝูงวัวควายที่ถูกต้อนไปยังโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งทั้งที่เพื่อนของพวกมันบางตัวเพิ่งจะถูกเชือดไปต่อหน้าต่อตา พวกมันกลับสาละวนอยู่กับการแย่งกันกินหญ้าข้างๆโรงฆ่าสัตว์ และบางตัวยังคงสมสู่กับตัวเมียอยู่นั่นเอง
ช่างน่าสมเพชยิ่งนักสำหรับมนุษย์ที่ใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากฝูงปศุสัตว์อัล อัค ... เรียบเรียง