อ.มุรีด ระบุในบทความเฉพาะกิจต่อมาว่า : “ประการที่สอง วันอีดิลอัฎฮาต้องเป็นวันเดียวกัน เนื่องจากมีหะดีษระบุชัดเจนว่า วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันสำคัญของมุสลิมทั่วโลก ดังหลักฐานต่อไปนี้
ท่านอุกบะฮฺ บุตรของอามิรฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า يوم عرفة ويوم النحروأيام التشريق عيدنااهل الاسلام وهى أيا م أكل و شرب ความว่า “วันอะเราะฟะฮฺ และวันนะหฺริและวันตัชรีก คือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม คือวันแห่งการกินและการดื่ม” (ตัครีจ หะดีษ)
หะดีษข้างต้นท่านรสูลุลลอฮฺพูดไม่คลุมเครือ ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “วันอะเราะฟะฮฺ” ซึ่งท่านรสูล มิได้กล่าวว่าวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ หากท่านรสูลกล่าวว่าวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ เราอาจจะอ้างได้ว่า 9 ซุลหิจญะฮฺของประเทศใครประเทศมัน แต่นี้ท่านรสูลกล่าวชัดเจนว่า วันอะเราะฟะฮฺ ซึ่งวันอะเราะฟะฮฺ บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะไปรวมตัวกันที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ... เมื่อท่านนบีบอกว่าวันอะเราะฟะฮฺ คำถามต่อมาคือ วันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟหรอกนะครับ มีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียวเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อวันอะเราะฟะฮฺมีที่เดียวจึงไม่ต้องแปลกใจ เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องฟังการประกาศวันวุกุฟที่ประเทศซาอุฯเท่านั้น ...”
วิภาษ
เห็นด้วยที่ อ.มุรีด ระบุว่า วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันสำคัญของมุสลิมทั่วโลก แต่ไม่เห็นด้วยที่ระบุว่า วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันเดียวกันทั้งโลก เพราะค้านกับหลักของความเป็นจริง (خلاف الواقعية) กล่าวคือ วันอีดิลอัฎฮานั้นจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺเสียก่อนและการกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺนั้นก็จำต้องอาศัยผลการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลัก เมื่ออาศัยผลการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลักก็จะมีความแตกต่างกันในการกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺ ตลอดจนผูกพันอยู่กับทัศนะหลักของนักวิชาการที่มีความเห็นต่างกันในเรื่องการพิจารณาการดูจันทร์เสี้ยวสากลและท้องถิ่นอีกด้วย
ทำไมต้องอาศัยผลการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลัก? เพราะพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสว่า : (يسـٔلونك عن الأهلة قل هى مواقيت للناس والحج البقرة ١٨٩) “พวกเขาจะถามท่าน (มุฮำหมัด) ถึงจันทร์เสี้ยว จงกล่าวเถิด จันทร์เสี้ยวนั้นคือกำหนดเวลาต่าง ๆ สำหรับผู้คนทั้งหลายและการประกอบพิธีฮัจญ์” (อัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺ 189)
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ได้ระบุว่า : พระองค์อัลลอฮฺทรงบอกให้รู้ว่า จันทร์เสี้ยวนั้นเป็นกำหนดเวลาสำหรับมนุษย์ และสิ่งนี้ก็ครอบคลุมในกิจการงานของพวกเขาทั้งหมดและพระองค์ทรงระบุถึงการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นกรณีพิเศษเพื่อจำแนกการประกอบพิธีฮัจญ์นั้นให้โดดเด่น ทั้งนี้เพราะฮัจญ์จะมีบรรดามะลาอิกะฮฺและผู้อื่นเข้าร่วมในพิธีฮัจญ์... และตามนี้การถือศีลอด , การประกอบพิธีฮัจญ์ , ระยะเวลาของการอีลาอฺ, การครองตนของสตรี (อิดดะฮฺ) และการถือศีลอดกัฟฟาเราะฮฺจะเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ (คือการดูจันทร์เสี้ยว) (ดูมัจมูอะฮฺ อัลฟะตาวา 25/76)
ดังนั้น การกำหนดวันเวลาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์และศาสนกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ , การออกอีดอีดิลอัฎฮา และการเชือดอุฎฮียะฮฺ เป็นต้น ก็ยังคงต้องใช้การดูจันทร์เสี้ยวเป็นตัวกำหนด ท่านชัยคุลอิสลามยังได้ระบุอีกว่า : เมื่อนั้น จึงมีเงื่อนไขว่าการมีจันทร์เสี้ยวและเดือนนั้นต้องเป็นที่รู้กันในระหว่างผู้คน และการส่งเสียงดังของผู้คนต่อจันทร์เสี้ยว (เมื่อมีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว) กระทั่งว่าหากมีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว 10 คน แต่การเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นไม่เป็นที่ทราบและรู้กัน ณ ชาวเมืองทั่วไป จะเนื่องด้วยการเป็นพยานของพวกเขาถูกปฏิเสธ หรือพวกเขามิได้ยืนยันเป็นพยานว่าเห็นจันทร์เสี้ยว ก็ให้ถือว่า ฮุก่มของพวกเขาเหมือนกับฮุก่มของชาวมุสลิมทั่วไป (ที่ไม่ได้รับทราบว่ามีการเห็นจันทร์เสี้ยว) ดังนั้นเฉกเช่นที่พวกเขาจะไม่วุกุฟ ไม่เชือดสัตว์พลี และไม่ละหมาดอีดนอกจากพร้อมกับบรรดามุสลิม ทำนองเดียวกัน พวกเขาก็จะไม่ถือศีลอดนอกจากพร้อมกับบรรดามุสลิม (ที่ไม่เห็นจันทร์เสี้ยว) นั้นแล
และนี่คือความหมายของหะดีษที่ว่า “การถือศีลอดของพวกท่าน ก็คือวันที่พวกท่านถือศีลอดและฟิฏริของพวกท่านก็คือวันที่พวกท่านออกอีดฟิฏริ และอัฎฮาของพวกท่านก็คือวันที่พวกท่านออกอีดอัฎฮากัน (มัจมูอะฮฺ อัลฟะตาวา 25/68) ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ยังได้สรุปอย่างชัดเจนอีกว่า : หลักมูลฐานของประเด็นปัญหานี้ก็คือ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงผูกพันบรรดาหลักการทางศาสนบัญญัติ (الأحكام الشرعية) กับสิ่งที่ถูกเรียกว่า จันทร์เสี้ยว (الهلال) และเดือน (الشهر) เช่นการถือศีลอด การออกอีดฟิฏริ และการเชือด ...” (เล่มเดียวกัน 25/68) ... และการมีทัศนะที่ขัดแย้งกันนี้ ย่อมบ่งชี้ว่าทัศนะที่ถูกต้องก็คือเหมือนกับกรณีดังกล่าวในเดือนซุลฮิจญะฮฺ (25/68) กล่าวคือ การกำหนดเดือนซุลฮิจญะฮฺและวันที่เกี่ยวเนื่องก็ให้ใช้หลักในการดูจันทร์เสี้ยวเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ การระบุว่าวันอีดิลอัฎฮาต้องเป็นวันเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่ามุ่งหมายถึงอะไร? หากมุ่งหมายว่า ทั่วโลกมีวันอีดิลอัฎฮาเพียงวันเดียว และต้องตรงกันทั้งโลก ก็ถือว่าค้านกับหลักของความเป็นจริงเพราะไม่เคยปรากฏว่าตลอดระยะเวลา 1400 กว่าปีที่ผ่านมา มีการออกอีดพร้อมกันทั้งโลกในวันเดียวกัน ถ้าหากอ.มุรีดมีหลักฐานยืนยันว่าทั้งโลกเคยออกอีดพร้อมกัน ก็ขอความกรุณาช่วยนำเสนอด้วยจะขอบคุณเป็นอย่างมาก
และสิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ตลอดเวลาในอดีตที่ผ่านมานั้นได้มีนักวิชาการระดับมุจฺตะฮิดท่านใด หรือตำรับตำราที่เป็นมรดกทางวิชาการเล่มใดบ้างที่ระบุว่าประชาชาติมุสลิมจะต้องกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺ , วันอะเราะฟะฮฺ และวันอีดอีดิลอัฎฮาตามนครมักกะฮฺ (ซึ่งในอดีตยังไม่มีประเทศซาอุดิอาระเบีย) โดยไม่ต้องมีการดูจันทร์เสี้ยวในส่วนอื่นหรือดินแดนอื่นของโลก หรือว่านักวิชาการรุ่นหลังเพิ่งมาค้นพบสัจธรรมในเรื่องนี้จากตัวบทของหะดีษที่ อ.มุรีด อ้างมา ทั้ง ๆ ที่หะดีษบทนี้มีมาตั้งแต่ครั้งที่ท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่และผ่านการจดบันทึกและการวิเคราะห์ของบรรดานักปราชญ์ในรุ่นก่อนนับแต่ยุคสะลัฟ ซอลิฮฺเป็นต้นมา พวกท่านเหล่านั้นมิได้ฉุกคิดเลยกระนั้นหรือ และเป็นไปได้อย่างไร? ที่หลักการของหะดีษบทนี้ซึ่งเพิ่งค้นพบหลังจากผ่านมานมนานเป็นเวลานับพันปีพลาดจากสายตาและการวิเคราะห์ของนักปราชญ์รุ่นก่อน โปรดอย่าลืมว่า หะดีษของอุกบะฮฺ อิบนุ อามิรเป็นหะดีษที่มีการจดบันทึกในตำรับตำราทางหะดีษและฟิกฮฺเป็นจำนวนมาก แต่ทำไมหนอ? จึงไม่มีนักวิชาการท่านใดเลยในอดีตนึกถึงเรื่องนี้!
ผู้เขียนเห็นด้วยที่ว่า ท่านร่อซู้ลพูดไม่คลุมเครืออย่างที่ อ.มุรีด ระบุแต่ปัญหาอยู่ที่ความคลุมเครือของ อ.มุรีด เอง จริงอยู่ท่านร่อซู้ลกล่าวว่า ”วันอะเราะฟะฮฺ” (يوم عرفة) และท่านไม่ได้กล่าวว่าวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺ! แต่ถามว่า แล้ววันอะเราะฟะฮฺคือวันที่เท่าไหร่ของเดือนซุลฮิจญะฮฺเล่า? ช่วยตอบทีเถอะ! หากตอบว่า วันอะเราะฟะฮฺก็คือวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ แล้วจะเถียงเอาอะไร? แต่ถ้าเลี่ยงตอบเป็นอย่างอื่นซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร? ก็ต้องถือว่าเล่นลิ้นและเฉไฉ เพราะ อ.มุรีด เองก็ระบุว่า “ประการต่อมา ท่านรสูลุลลอฮฺพูดต่อว่า ”วันนะหฺริ” คือวันเชือด วันเชือดคือวันอีดิลอัฎฮา หรือวันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺนั่นเอง” ก็ไหนล่ะ! ท่านรสูลุลลอฮฺท่านพูดว่า “วันนะหฺริ” ท่านไม่ได้พูดว่าวันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺเสียหน่อย คนที่พูดว่าวันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺนั่นเองก็คือ อ.มุรีดเอง
พอมาถึง วันตัชรีก อ.มุรีดก็ระบุอีกว่า “คือวันที่ 11,12 และ 13 ซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นวันที่ศาสนายังอนุญาตให้เชือดเนื้อกุรบ่านได้” ท่านรสูลุลลอฮฺ ท่านพูดว่า บรรดาวันตัชรีก (ايام التشريق) ในหะดีษท่านไม่ได้พูดเสียหน่อยว่าวันที่ 11, 12 และ 13 ซุลหิจญะฮฺ ทำไม? อ.มุรีด จึงสับสนในความเข้าใจของตนเองเช่นนี้ ในเมื่อท่านระบุว่า ในหะดีษใช้คำว่า “วันอะเราะฟะฮฺ” ไม่ใช้วันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺซึ่งถ้าวันอีดอัลอัฎฮา คือวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ และบรรดาวันตัชรีก คือวันที่ 11, 12 และ 13 แล้ว (ตามที่ อ.มุรีด ระบุ) แล้ววันอะเราะฟะฮฺ คือวันที่เท่าไหร่เล่า? ช่วยตอบที!
ส่วนที่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ใช้สำนวนว่า “วันอะเราะฟะฮฺ” นั้นก็ไม่แปลกและไม่คลุมเครือ เพราะท่านมิได้ใช้สำนวนในหะดีษนั้นว่า วันวุกุฟ (يوم الوقوف) แต่ใช้ว่า “วันอะเราะฟะฮฺ” ซึ่งมีนัยครอบคลุมมิได้เจาะจงเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์ โดยเฉพาะการวุกุฟเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ วันอะเราะฟะฮฺมี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นวันอะเราะฟะฮฺในสิทธิของบรรดาฮุจญ๊าจที่ประกอบพิธีฮัจญ์ (يوم عرفة فى حق الحجاج) ซึ่งมีซุนนะฮฺให้บรรดาฮุจญ๊าจกล่าวตัลบียะฮฺมาๆ และมีซุนนะฮฺ (ตามทัศนะที่มีน้ำหนัก) ให้บรรดาฮุจญ๊าจงดถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ
ส่วนที่ 2 คือวันอะเราะฟะฮฺในสิทธิของผู้อื่นที่มิได้ประกอบพิธีฮัจญ์ (يوم عرفة فى حق غيرالحجاج) ซึ่งมีซุนนะฮฺให้กล่าวตักบีรตั้งแต่หลังซุบฮิของวันอะเราะฟะฮฺ ไม่มีซุนนะฮฺให้กล่าวตัลบียะฮฺแต่อย่างใด และยังมีซุนนะฮฺให้ผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ทำการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺอีกด้วย ดังนั้นวันอะเราะฟะฮฺที่หมายถึงวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺย่อมไม่จำเป็นว่าต้องตรงกับการวุกุฟของบรรดาฮุจญ๊าจเสมอไป
หากเรายึดหลักการวุกุฟในวันอะเราะฟะฮฺเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ใช้ต่างกันระหว่างผู้ประกอบพิธีฮัจญ์กับผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ เรื่องมันก็จะสับสน อีกทั้งการวุกุฟเป็นกิจสำคัญของบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่จะขาดไม่ได้ แต่วันอะเราะฟะฮฺมีศาสนกิจให้กระทำมากกว่าการวุกุฟ เพราะครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ด้วยเราคงไม่เถียงหรอกว่า การวุกุฟมีที่เดียวที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
แต่การระบุของ อ.มุรีด ที่ว่า “วันอะเราะฟะฮฺ หรือวันวุกุฟนั้นมีที่ไหนบ้าง? คำตอบคือ เมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟหรอกนะครับ มีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียวเท่านั้น ...” ออกจะ เป็นการด่วนสรุปมากไปเสียหน่อย เพราะจำต้องแยกกันระหว่างการวุกุฟ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการประกอบพิธีฮัจญ์และเป็นเรื่องเฉพาะของบรรดาฮุจญ๊าจที่โน่น กับเรื่องของวันเวลาคือวันอะเราะฟะฮฺที่มีศาสนกิจให้กระทำสำหรับประชาชาติมุสลิมทั่วโลก
กล่าวคือ ต้องแยกระหว่างการวุกุฟซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งเดียว (فعلى - مكانى) และวันเวลา (زمانى) เพราะวันเวลาที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำเฉพาะที่อาจจะไม่ตรงกันก็ได้ การระบุว่า ! เมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟเป็นการระบุที่ผิดพลาด เพราะเมืองไทยหรือเมืองไหน ๆ ในโลกที่มีมุสลิมก็ต้องมีวันอะเราะฟะฮฺเช่นกัน ถ้าหากเมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺแล้วจะถือศีลอดซุนนะฮฺกันอย่างไร? และหากมีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียว มุสลิมในเมืองไทยก็คงไม่ต้องถือศีลอดซุนนะฮฺกัน หากใครต้องการถือศีลอดซุนนะฮฺในวันอะเราะฟะฮฺก็จะต้องเดินทางไปซาอุดิอาระเบียกระนั้นหรือ? เพราะวันอะเราะฟะฮฺมีวันเดียวที่ประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างที่ อ.มุรีด ระบุ
ความจริงวันอะเราะฟะฮฺมีมานานแล้วนับแต่ยุคอดีตถามว่า ในครั้งอดีตที่ยังไม่มีประเทศซาอุดิอาระเบียถูกสถาปนาขึ้นโดยราชวงศ์อาลสุอูด คนทั่วโลกที่เป็นมุสลิมเขาถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺกันหรือไม่? หากตอบว่า เขาถือกัน ก็ถามว่า เขาถือกันอย่างไร? ในเมื่อยุคอดีตนั้นต้องเดินทางโดยสารเรือสมุทรไปประกอบพิธีฮัจญ์ คนที่ไปทำฮัจญ์ย่อมรู้ว่าวันไหนเป็นวันอะเราะฟะฮฺเพราะเขาอยู่ที่มักกะฮฺ แล้วคนที่อยู่ทางบ้านในยุคสยามประเทศเล่าเขาจะรู้ไหมว่าชะรีฟมักกะฮฺประกาศวันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟวันไหน? แน่นอนคนที่อยู่ทางนี้ซึ่งก็เป็นบรรพชนของ อ.มุรีด ด้วยต้องอาศัยการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลักตามศาสนบัญญัติในการกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺและวันอะเราะฟะฮฺ ตลอดจนวันอีดอีดิลอัฎฮาและบรรดาวันตัชรีก หากรอการประกาศของชะรีฟมักกะฮฺก็คงไม่ได้ประกอบศาสนกิจกันแล้วแหล่ะ
อ.มุรีด อาจจะค้านว่า นั่นเป็นเรื่องของอดีตในยุคที่ยังไม่เจริญเหมือนทุกวันนี้ซึ่งสามารถโทรศัพท์ หรือกดอินเตอร์เน็ตหรือเปิดดาวเทียมได้เพื่อรับรู้ข่าวสารการประกาศของประเทศซาอุดิอาระเบียก็ต้องขอบอกว่า ความเจริญของเทคโนโลยีตามยุคสมัยนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการของศาสนาที่บัญญัติเอาไว้ได้ เพราะหลักการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลักการที่มาจากกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ อีกทั้งยังเป็นหลักการที่ยังคงใช้ได้กับชนทุกหมู่เหล่า ในขณะที่อินเตอร์เน็ตนั้นยังคงเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากเข้าไม่ถึงและ ใช้ไม่เป็น หากยืนกรานว่าสามารถใช้เทคโนโลยีและไอทีในเรื่องนี้ได้ แล้วไฉนเลยนักวิชาการกลุ่มซุนนะฮฺซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับ อ.มุรีด จึงปฏิเสธการใช้การคำนวณทางดาราศาสตร์ซึ่งทุกวันนี้มีความเจริญก้าวหน้าและแม่นยำยิ่งนัก ถ้าหากปฏิเสธการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ทันสมัยแล้ว ทำไมจึงยึดเอาคำประกาศของซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและไอทีเช่นกัน หรือว่าพวกท่านถือ 2 มาตรฐาน (ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด)
ฉะนั้นเมืองไทยย่อมมีวันอะเราะฟะฮฺเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่มีวันอะเราะฟะฮฺ ทั้งๆ ที่ไม่มีการวุกุฟที่เมืองไทยและประเทศอื่นๆ นั่นแหล่ะ เพราะมุสลิมในเมืองไทยและประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ไปทำฮัจญ์ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีเฉพาะที่คือนครมักกะฮฺและเขตปริมณฑล การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นเรื่องเฉพาะของฮุจญ๊าจไม่ว่าจะเป็นการครองเอียะฮฺรอม การกล่าวตัลบียะฮฺ, การวุกุฟ การค้างแรมที่มุซดะลิฟะฮฺ, การขว้างเสาหินที่มินา, การตอว๊าฟอิฟาเฎาะฮฺ การสะแอระหว่างซ่อฟา และมัรวะฮฺ และการตะฮัลลุล ล้วนแล้วแต่มีที่นครมักกะฮฺเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีที่อื่นในโลก แต่วันอะเราะฟะฮฺเป็นเรื่องของวันเวลาที่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีฮัจญ์ในส่วนของประชาชาติมุสลิมที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ด้วย จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกับการประกาศของซาอุดิอาระเบียก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของวันเวลาที่อาจจะต่างกันก็ได้ อันเป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวในการกำหนดวัน
ดังนั้นวันอะเราะฟะฮฺซึ่งตรงกับวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮฺในประเทศไทยจึงเรียกว่า วันอะเราะฟะฮฺสำหรับพวกเรา (يوم عرفة فى حقنا - และวันอะเราะฟะฮฺที่มีการวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺจึงเรียกว่า วันอะเราะฟะฮฺสำหรับบรรดาฮุจญ๊าจ (يوم عرفة فى حق الحجاج) ซึ่งถือเป็นวันอีดสำหรับฮุจญ๊าจเนื่องจากพวกเขาได้มารวมตัวกัน ณ สถานที่วุกุฟ (لأنه يوم عيدلأهل الموقف لاجتماعهم فيه) -ดูฟัตฮุลบารีย์ ชัรฮฺ ซ่อเฮียะฮฺ อัลบุคอรีย์ 4/193-) ในขณะที่วันเชือด (يوم النحر) หรือวันอีดิลอัฎฮา ถือเป็นวันอีดของประชาชาติมุสลิมโดยรวม เหตุนี้ท่านร่อซู้ลจึงกล่าวว่า (يوم عرفة و يوم النحروأيام منى عيدناأهل الاسلام) “วันอะเราะฟะฮฺ, วันเชือด และบรรดาวันของมินา คือ วันอีดของเราชาวอิสลาม” (รายงานโดยอุกบะฮฺ อิบนุ อามิร)
กล่าวคือ วันอะเราะฟะฮฺคือวันอีดสำหรับฮุจญ๊าจที่ร่วมชุมนุมกันอยู่ ณ เมากิฟ (ที่วุกุฟ) ส่วนวันเชือด (อีดิลอัฎฮา) และบรรดาวันตัชรีก ซึ่งถูกเรียกว่า บรรดาวันแห่งมินา ถือเป็นวันอีดของประชาชาติโดยรวม หากเราเจาะจงว่าวันอะเราะฟะฮฺมีที่เดียวในโลก เพราะการวุกุฟมีที่เดียวในโลกคือที่ซาอุดิอาระเบีย แล้ววันเชือดเล่า มีการเชือดสัตว์อุฎฮียะฮฺที่เดียวในโลกเฉพาะที่ซาอุดิอาระเบียกระนั้นหรือ? หรือว่ามีการเชือดอุฎฮียะฮฺในที่อื่น ๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน บรรดาวันแห่งมินา (أيام منى) นั้นแน่นอน เป็นวันเฉพาะสำหรับบรรดาฮุจญ๊าจซึ่งยังคงประกอบพิธีฮัจญ์ในขั้นตอนสุดท้ายคือการขว้างเสาหิน 3 ต้นที่ ต.มินา
ส่วนบรรดาวันตัชรีก (أيام التشريق) นั้นเป็นวันอีดต่อเนื่องสำหรับประชาชาติโดยรวมทั้งหมดนับแต่วันอะเราะฟะฮฺ , วันเชือดและอีก 3 วันหลังล้วนแต่เป็นวันอีด คือวันรื่นเริงสำหรับชาวอิสลามโดยรวม กล่าวโดยสรุปก็คือ วันอีดสำหรับประชาชาติมุสลิมนั้นมีถึง 5 วันด้วยกันคือ วันอะเราะฟะฮฺ , วันอีดิลอัฎฮา และวันตัชรีกอีก 3 วัน มิใช่วันหนึ่งวันใดเป็นการเฉพาะ เพราะคำขยาย (خبر) ของประโยคในหะดีษข้างต้นหมายรวมเอาวันทั้ง 5 นั้นเข้ามาอยู่ในฮู่ก่มเดียวกัน คือ ถือเป็นวันอีดของเราชาวอิสลาม