السلام عليكم
วันนี้ขอเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงค์ออตโตมาน...เพิ่มเติมได้นะครับท่านผู้รู้ทั้งหลาย...
สุลต่านอุษมานที่ 1 (Sultan Osman I )
ในเรื่องชีวประวัติและเชื้อสายของผู้ก่อตั้งอาณาจักรออตโตมานค่อนข้างมีความ สับสนพอสมควร ทั้งนี้เพราะว่าเรื่องราวที่สำคัญบางส่วนในยุคต้นของการสถาปนาถูกเขียนขึ้นมาที่หลัง จากการพิสูจน์ทางชาติพันธุ์ ประเพณี และบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่เชื่อว่าผู้ก่อตั้งอาณาจักรออตโตมานสืบเชื้อสายจากเผ่าโอฆุส (Oguz) สายโบซุก (Bozuk) แขนงกาเยอ (Kayi) ซึ่งเป็น 1 ใน 24 แขนงของเผ่าโอฆุส (M. Fuad Koprulu, 1944 : 219) กาเยอหมายถึงผู้มีอำนาจ ผู้มีพลัง ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าชาวกาเยอเข้ามาตั้งรากฐานในแถบเมิร์ฟ (Merw) มาฮัน (Mahan) (ในประเทศเปอร์เซีย) พร้อมๆ กับชาวเซลจูก (Seljuk) ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าชาวกาเยอเข้ามาในอนาโตเลียตั้งแต่เมื่อไร อย่างไรก็ตามหลังจากสงครามมาลาซเกอร์ต (Malazgirt) ในปี ค.ศ.1072 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวเซลจูก ( Great Seljuks ) เรืองอำนาจเหนืออนาโตเลียปรากฏว่ามีเผ่าโอฆุสแขนงต่างๆ เข้ามาพึ่งพิงชาวเซลจูกอาศัยอยู่ในอนาโตเลีย ซึ่งบรรดาเผ่าโอฆุสแขนงต่างๆ เหล่านั้นเข้าใจว่าชาวกาเยอก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่สามารถระบุแน่ชัดว่าชาวกาเยอตั้งรกรากอยู่ที่ไหนในอนาโตเลีย ตามประวัติศาสตร์ของออตโตมานในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวกาเยอปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น แอร์ซูรูม สีวัส อะมัสยา อังการา โบซุก (ปัจจุบันคือเมืองโยซกัต) เกอร์ชาฮีร อักซาราย โจรุม กัสตาโมโน ซัมซุน จันเกอเรอ โบลู แอสกีชาฮีร กุนยา บุรซา จุกุโรวา อิสปาร์ตา บุรดุร เดนิซลี มุฆลา และ ไอดึน จากการค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการอพยพของชาวกาเยอนั้นมาจากทางทิศตะวันออกสู่ทางทิศตะวันตกของอนาโตเลีย
มีหลักฐานหลายเล่มกล่าวถึงเชื้อสายสุลต่านอุษมานผู้ก่อตั้งราชวงค์ออตโตมานว่าสืบเชื้อสายมาจากโอฆุส และจากโอฆุสจนถึงท่านศาสดานูหฺ อะลัยฮิสะลาม แต่หลักฐานเหล่านี้ไม่อาจพิสูจน์ได้ แม้แต่ข้อมูลสำคัญบางอย่างในช่วงเริ่มแรกถึงการมีบทบาททางการเมืองของ ราชวงค์ออตโตมานในอนาโตเลียก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ นักประวัติศาสตร์รู้ชัดเจนคือ บิดาของสุลต่านอุษมานมีชื่อว่า ?แอร์ตุฆรูล เบย์ (Ertugrul Bey)? ส่วนปู่ของพระองค์นั้นไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคือใครกันแน่ แต่ตามหลักฐานชั้นต้นมีการกล่าวถึงปู่ของพระองค์อยู่สองทัศนะ ทัศนะแรกมีความเห็นว่าปู่ของพระองค์มีชื่อว่า ?สุไลมาน ชาห์ (Sulaiman Shah)? ส่วนทัศนะที่สองมีความเห็นว่าปู่ของพระองค์มีชื่อว่า ?กุนดุษ อัลฟ์ (Gunduz Alp)?
สายรายงานที่กล่าวว่าสุไลมาน ชาห์เป็นบิดาของแอร์ตุฆรูล เบย์นั้นจะนำเสนอชีวประวัติที่คล้ายคลึงกับสุไลมาน ชาห์ บุตรของกุตัลมิซ ผู้ก่อตั้งรัฐเซลจูกแห่งอนาโตเลีย ซึ่งเสียทีถูกทหารของสุลต่านมาลิกชาห์ฆ่าเสียชีวิตในปี ค.ศ.1086 ศพของท่านถูกฝังไว้หน้าประตูเมืองฮาเล็ป (Halep) ต่อมาเรื่องราวของท่านมีการเล่ากันมาจนกลายเป็นตำนาน ซึ่งในหลักฐานยุคต้นของประวัติศาสตร์
ออตโตมานจะอิงตำนานเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า สุไลมาน ชาห์เป็นปู่ของสุลต่านอุษมาน โดยจะเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิต จากการเสียชีวิตระหว่างสงครามมาเป็นการจมน้ำตายในแม่น้ำยูเฟรตีส (Euphrates) เรื่องราวดังกล่าวนี้มีการเล่ากันนับศตวรรษจนเป็นตำนานของบรรพบุรุษชาวเติร์ก แม้ว่าไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์แน่ชัดว่าสุไลมาน ชาห์เป็นปู่ของสุลต่านอุษมาน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าท่านเป็นบรรพบุรุษของชาวเติร์กอีกท่านหนึ่ง ตำนานของท่านอาจปะปนและสับสนกับ สุไลมาน ชาห์ บุตรของกุตัลมิซผู้สถาปนาอาณาจักรเซลจูกแห่งอนาโตเลีย สำหรับสายรายงานที่กล่าวว่ากุนดุษ อัลฟ์เป็นปู่ของสุลต่านอุษมานนั้นน่าจะใกล้ความจริงมากที่สุดประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองทัศนะนี้แล้ว ปรากฏว่าสายรายงานที่กล่าวว่า กุนดุษ อัลฟ์เป็นปู่ของสุลต่านอุษมานนั้นส่วนใหญ่มาก่อนสายรายงานที่กล่าวว่าสุไลมาน ชาห์เป็นปู่ของสุลต่านอุษมาน
การขึ้นเป็นผู้นำของแอร์ตุฆรูล เบย์ (Ertugrul Bey)
เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังจากสงครามมาลาซเกอร์ต (Malazgirt) ในปี ค.ศ.1072 เติร์กมันเผ่าต่างๆ ได้อพยพเข้ามาในแถบอนาโตเลียเป็นจำนวนมาก ส่วนเผ่ากาเยอนั้นส่วนใหญ่จะตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณชายแดนทางทิศตะวันตกของอนาโตเลีย ในสมัยสุลต่านอลาอฺอุดดีน ไกกุบาตที่ 1 แห่งอาณาจักรเซลจูกรูมี เผ่ากาเยอซึ่งเป็นเผ่าของสุลต่านอุษมานตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บริเวณการาจาดาฆ (Karacadag) ทางทิศตะวันตกของเมืองอังการา (Ankara) เผ่านี้เข้ามาในบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อไรไม่เป็นที่ทราบแน่นอน สิ่งที่นักประวัติศาสตร์รู้แน่ชัดคือ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 แอร์ตุฆรูล เบย์ บิดาสุลต่านอุษมานขึ้นเป็นผู้นำและปกครองบริเวณโซฆุต (Sogut) และโดมานิช (Domanic) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนทางทิศตะวันตกติดกับโรมและไบแซนทีน โดยเป็นรัฐใต้อาณัติของเซลจูกรูมี เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน แอร์ตุฆรูล เบย์ ต้องเผชิญกับทหารโรมันและไบแซนทีนตลอดเวลา นับว่าเป็นกองหน้ากล้าตาย ทำให้กองกำลังมีความเข้มแข็งและมีบทบาททางการเมืองอย่างโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการสถาปนาอาณาจักรออตโตมานต่อไป
การขึ้นเป็นผู้นำของสุลต่านอุษมาน
แอร์ตุฆรูล เบย์ เสียชีวิตประมาณปี ค.ศ.1280 มีอายุประมาณ 90 ปี สุสานของท่านอยู่ที่โซฆุต (Sogut) หลังจากท่านเสียชีวิตแล้วน้องชายของท่านชื่อว่า ?ดุนดาร (Dundar)? ต้องการเป็นผู้นำแทน แต่อุษมานซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กของแอร์ตุฆรูล เบย์ มีความกล้าหาญและมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับของคนในเผ่ามากกว่าจึงขึ้นมาเป็นผู้นำแทนบิดาของท่าน ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 23 ปี ในช่วงแรกที่อุษมานขึ้นมาเป็นผู้นำนั้น เผ่าของเขาขึ้นอยู่กับเผ่าโจบัน (Coban) ซึ่งเป็นเผ่าหน้าด่านของอาณาจักรเซลจูกแห่งอนาโตเลีย เพื่อปกป้องเขตแดนจากการรุกรานจากรัฐข้างเคียง เช่น การรุกรานของชาวโรมและชาวไบแซนทีน ซึ่งรุกรานบริเวณชายแดนอยู่ตลอดเวลา เผ่าหน้าด่านอื่นๆ ไม่อาจปกป้องชายแดนจากการรุกรานดังกล่าวได้ ในขณะที่เผ่าของอุษมานไม่เพียงสามารถต้านทานการ รุกรานของทหารโรมันและไบแซนทีนในแนวชายแดนได้เท่านั้น แต่พวกเขายังสามารถโจมตีและรุกล้ำเข้าไปยึดพื้นที่ของทหารโรมันและไบแซนทีนในแนวชายแดนได้อีกด้วย ด้วยพระปรีชาสามารถของอุษมานจึงทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปยังเผ่าอื่นๆ จึงมีนักรบที่กล้าหาญจากเผ่าอื่นๆ อาสาเข้ามาอยู่ร่วมภายใต้การนำของอุษมานมากมาย เช่น อับดุรรอมาน กาซี (Abdurraman Gazi) อักจา โกชา (Akca Koca) โกนูร อัลฟ์ (Konur Alp) และตุรฆุต อัลฟ์ (Turgut Alp) เป็นต้น
ด้วยชื่อเสียงที่เต็มไปด้วยความปรีชาสามารถของท่านอุษมานทำให้ท่านใกล้ชิดกับท่านอะฮี ระอีซีย์ เชค แอแดบาเลอ (Ahi Reisi Shaikh Edebali) ซึ่งเป็นผู้นำเติร์กมันเผ่าอะฮีในสมัยนั้นซึ่งพึงพอใจต่อท่านอุษมานเป็นอย่างมาก และได้ยกลูกสาวของท่านให้แก่อุษมานพร้อมกับแต่งตั้งให้อุษมานเป็นหัวหน้าดูแลเมืองหน้าด่านอย่างเป็นทางการ อุษมาน ออกทัพรบชนะทหารโรมันหลายครั้งจึงได้รับสมญานามว่า ?กาซี (Gazi)? จึงมีการเรียกชื่อท่านว่า ?อุษมาน กาซี (Osman Gazi)?
หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าดูแลเมืองหน้าด่านแล้ว ผลงานของอุษมาน กาซีก็ได้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น ชื่อเสียงของท่านนับวันก็ทวีเพิ่มมากขึ้น ท่านได้ดำเนินนโยบายตามบิดาของท่าน ท่านให้ความสัมพันธ์ฉันมิตรกับเพื่อนบ้านชาวโรมันในหัวเมืองต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามชาวโรมันไม่ค่อยสบายใจมากนักในความเข้มแข็งของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าเมืองอินิโกล (Inegol) ซึ่งส่งสาส์นไปยังหัวเมืองเพื่อนบ้านชาวโรมัน เพื่อบ่งบอกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเพราะความเข้มแข็งของอุษมาน กาซี พวกเขาได้รวมตัวกันกดดันชาวเติร์กเผ่าต่างๆที่ภักดีต่ออุษมาน เมื่อเรื่องราวต่างๆ ทราบถึงอุษมาน ท่านจึงตัดสินใจเข้าพิชิตหัวเมืองอินิโกลในปี ค.ศ.1284 แต่ว่าเมืองอินิโกลมีกำแพงเมืองที่แข็งแรงมาก เจ้าเมืองอินิโกลได้ยกทัพมาดักโจมตีกองทัพของอุษมานที่เมืองแอรแมนิเบลี (Ermenibeli) ในระหว่างการสู้รบอย่างดุเดือดที่สมรภูมิแอรแมนิเบลีนั้น อุษมานต้องสูญเสียหลานชายหนึ่งคนชื่อว่า ?เบย์ โฮจา (Bey Hoca)? ทำให้ท่านโศกเศร้ามากและตัดสินใจถอยทัพก่อนเป็นการชั่วคราว ต่อมาอุษมานตัดสินใจยกทัพมาพิชิตเมืองอินิโกลใหม่ การยกทัพของอุษมานในครั้งนี้ท่านสามารถบุกเข้าไปทำลายกำแพงเมืองดังกล่าวได้ และสามารถพิชิตได้สำเร็จในปี ค.ศ.1287 หลังจากนั้นหนึ่งปีอุษมาน กาซีได้กรีฑาทัพยึดหัวเมืองการาจาฮิษาร์ (Karacahisar) ต่อ จากการพิชิตสองหัวเมืองดังกล่าวนี้ทำให้บทบาททางการเมืองของอุษมานในอนาโตเลียเพิ่มความเด่นชัดมากขึ้น และได้รับธงการปกป้องชายแดนจากกษัตริย์เซลจูกแห่งอนาโตเลีย
กองทัพอุษมานนับวันยิ่งทวีความเข้มแข็งมากขึ้นและเริ่มพิชิตดินแดนใหม่ๆ มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งสร้างความหนักใจแก่ชาวโรมันและชาวไบแซนทีนเป็นอย่างมาก พวกเขาได้วางแผนที่จะกำจัดอุษมาน กาซี โดยถือโอกาสเชิญท่านเข้าร่วมงานเลี้ยงแต่งงานของราชธิดาแห่งเมืองยารฮีษาร์ (Yarhisar) และพวกเขาตั้งใจจะกำจัดอุษมานในงานเลี้ยงดังกล่าว เมื่อแผนการณ์อันชั่วร้ายนี้ทราบถึงอุษมาน ท่านไม่เพียงแต่ไม่ไปงานเลี้ยงดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังเตรียมแผนจะพิชิตเมืองดังกล่าวพร้อมกับหัวเมืองบิแลจิก (Bilecik) อีกด้วย ในปี ค.ศ.1293 กองทัพอุษมานสามารถพิชิตและยึดครองหัวเมืองทั้งสองได้ ต่อมาในปี ค.ศ.1300 เมืองกุฟรูฮิษาร์ (Kopruhisar) และเมืองเยนีซาฮีร์ (Yenisehir) ก็ถูกกองทัพอุษมานพิชิตด้วย (Uzuncarsili, 1972 ; 3) หลังจากเมืองเยนีซาฮีร์ตกเป็นเมืองขึ้นของท่านอุษมานแล้ว ชาวเติร์กมันได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองนี้อย่างหนาแน่น จนเมืองนี้กลายเป็นศูนย์เมืองหน้าด่าน ผลจากการพิชิตดินแดนของกองทัพอุษมานทำให้เส้นทางทางบกระหว่างเมืองบุรซา (Bursa) และเมืองอิซนิก (Iznik-Nicea) ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญของไบแซนทีนถูกตัดขาดและควบคุมโดยชาวเติร์ก
มีรายงานว่าหลังจากอุษมานสามารถขยายดินแดนได้มากขึ้นก็ประกาศเป็นรัฐอิสระจากอาณาจักรเซลจูลเติร์กแห่งอนาโตเลียในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่ในความเป็นจริงแล้วในช่วงดังกล่าวนั้นถึงแม้ว่าอาณาจักรเซลจูกถูกควบคุมอยู่ใต้อาณัติของมงโกลก็ตาม แต่อาณาจักรเซลจูกยังไม่ล่มสลายอย่างสิ้นเชิง หลังจากอาณาจักรเซลจูกถูกโค่นล้มในปี ค.ศ.1308 อุษมานก็เหมือนกับเติร์กมันเผ่าอื่นๆ ที่ยอมรับการเป็นรัฐใต้อาณัติของมงโกลโดยการส่งเครื่องบรรณาการเป็นรายปีและบางครั้งก็ต้องส่งทหารไปให้แก่มงโกลอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านอุษมานสามารถประกาศเป็นรัฐอิสระในปลายศริสต์ศตวรรษที่ 13 ได้ อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าในปลายศตวรรษนี้ กองทัพอุษมานสามารถขยายดินแดนไปสู่เขตโรมันและเขตไบแซนทีนได้สำเร็จ ทำให้บทบาททางการเมืองของ อุษมานในอนาโตเลียเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการจุดประกายของการสถาปนาอาณาจักรออตโตมานในเวลาต่อมา
กองทัพอุษมานเผชิญหน้ากับกองทัพไบแซนทีน ณ สมรภูมิโกยุนฮิษาร์
การขยายดินแดนของกองทัพอุษมานไม่เป็นที่พึงพอใจแก่ชาวโรมันและไบแซนทีนเป็นอย่างมาก จักรพรรดิไบแซนทีนทรงมีกระแสรับสั่งให้ปกป้องหัวเมืองอิซนิก (Iznik- Nicea) จากเงื้อมมืออุษมาน เพราะหัวเมืองดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไบแซนทีน
ในปี ค.ศ.1301 พระองค์ได้ส่งกองทัพอันเกรียงไกร เพื่อข่มขู่และปกป้องเมือง ดังกล่าวจากเงื้อมมือกองทัพอุษมาน กองทัพอุษมานได้เผชิญหน้ากับกองทัพแห่งจักรพรรดิไบแซนทีน ณ สมรภูมิโกยุนฮิษาร์ สงครามครั้งนี้นับว่าเป็นสงครามที่สำคัญยิ่งและเป็นครั้งแรกที่กองทัพอุษมานต้องเผชิญหน้าอย่างเต็มกำลังกับกองทัพแห่งจักรพรรดิไบแซนทีน สงครามได้ดำเนินไปอย่างดุเดือด จนสุดท้ายกองกำลังแห่งจักรพรรดิไบแซนทีนไม่สามารถเอาชนะกองทัพอุษมานได้ จนต้องถอยทัพกลับไปในที่สุด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยบางเล่มเริ่มกล่าวถึงอุษมานอย่างเด่นชัดหลังจากมีชัยในสมรภูมิโกยุนฮิษาร์นี้
การปราชัยของกองทัพจักรพรรดิไบแซนทีนในครั้งนี้เป็นการเปิดช่องทางให้กองทัพอุษมานขยายดินแดนไปยังรอบๆ หัวเมืองอิซนิก (Iznik) และหัวเมืองบุรซา (Bursa) และควบคุมเส้นทางสู่สองเมืองทั้งสองถึงสามทิศ พร้อมกับตัดกำลังสนับสนุนจากเมืองหลวงสู่เมืองทั้งสอง อีกทั้งเส้นทางระหว่างเมืองอิซนิก (Iznik) และเมืองอิซมิต (Izmit) ผ่านที่ราบลุ่มสะการียา (Sakariya) ก็ถูกควบคุมโดยกองกำลังของอุษมานด้วยเช่นกัน และในปี ค.ศ.1308 กองทัพอุษมานได้บุกเข้าพิชิตเมืองการาฮิษาร์ (Karahisar) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของเมืองอิซนิก หลังจากนั้นกองทัพอุษมานได้เข้าไปล้อมรอบเมืองอิซนิกและเมืองบุรซา เพื่อตัดกำลังสนับสนุนจากเมืองข้างนอก บุรซาเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรไบแซนทีน ซึ่งมีกำแพงเมืองและป้อมปราการที่แข็งแรงมากยากต่อการพิชิต ถึงแม้ว่าจะถูกตัดขาดการติดต่อกับเมืองอื่นๆ แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนกำลังทหารและเสบียงอาหารจากเมืองหลวงโดยผ่านทางทะเล
ในช่วงดังกล่าวนี้อาณาจักรไบแซนทีนอยู่ในภาวะที่คับขันมาก ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพถึง 2 ด้าน คือด้านหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับกองทัพของอุษมาน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือทางทิศตะวันตกของอนาโตเลียต้องเผชิญหน้ากับชาวเติร์กมัน (Turkman) เผ่าไอดึน (Aydin) และแมนแตแซ (Mentese) ที่พยายามรุกรานอาณาเขตตลอดเวลา เพื่อปกป้องอาณาจักรจากการรุกรานของชาวเติร์กมัน จักรพรรดิแอนโดรนิเคอุสที่ 2 (Andronicaus II) แห่งไบแซนทีนได้พยายามสร้างมิตรภาพกับกษัตริย์อิลฮานิด (Ilhanid) โดยการยกน้องสาวที่ชื่อว่า ?มาเรีย (Maria)? ให้แก่กษัตริย์กาซัน มะฮ์มูด ฮัน (Gazan Mahmud Han) ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกับชาวมงโกล และยุติการรุกรานของชาวเติร์ก แต่ว่ากษัตริย์กาซัน มะฮ์มูด ฮันได้เสียชีวิตก่อนที่มาเรียจะเดินทางมาถึง ต่อมากษัตริย์โอลจัยตู ฮัน (Olcaytu Han) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนกษัตริย์กาซัน มะฮ์มูด ฮัน และกษัตริย์โอลจัยตู ฮันไม่ค่อยสนใจต่อข้อเสนอของจักรพรรดิไบแซนทีนมากนัก ประกอบกับช่วงดังกล่าวอาณาจักรอิลฮานิด (Ilhanid) มีปัญหาภายในต้องเผชิญหน้ากับอาณาจักรมัมลูก (Mumluk) ใน อียิปต์ จึงไม่มีโอกาสที่จะมาช่วยอาณาจักรไบแซนทีนได้
กองทัพอุษมานไม่ยอมปล่อยให้โอกาสทองครั้งนี้หลุดลอยไป จึงสั่งให้กองทัพของเขาพยายามรุกหน้าตลอด และสามารถยึดครองพื้นที่บางส่วนในที่ราบลุ่มสะการียา (Sakariya) และแถบมาร์มารา (Marmara) เป้าหมายของกองทัพอุษมานต้องการพิชิตสามหัวเมืองหลักคือ เมืองอิซนิก เมืองอิซมิต และเมืองบุรซา กองทัพอุษมานเริ่มล้อมเมืองบุรซาตั้งแต่ปี ค.ศ.1314 และดำเนินกว่า 10 ปีก็ไม่อาจบุกผ่านป้อมปราการเมืองดังกล่าวได้ ประกอบกับเมืองดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงอาหารจากเมืองหลวงผ่านเส้นทางทางทะเลได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1321 กองทัพ อุษมานสามารถยึดท่าเรือมูดันยา (Mudanya) ได้ จนทำให้เมืองบุรซาถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง
อุษมานสิ้นพระชนม์
ในระหว่างที่กองทัพอุษมานล้อมเมืองบุรซานั้น ท่านอุษมานเกิดอาการล้มป่วยและได้แต่งตั้งลูกชายของท่านที่ชื่อว่า ?อรฮาน (Orhan)? ดำเนินการล้อมเมืองดังกล่าวต่อไป และท่านได้สั่งเสียอย่างหนักแน่นให้ลูกชายของท่านพยายามพิชิตเมืองบุรซาให้ได้ และในปี ค.ศ.1326 ท่านอุษมานก็สิ้นพระชนม์ลงก่อนที่การพิชิตเมืองบุรซาจะประสบความสำเร็จ ศพของท่านนั้นเดิมฝังไว้ที่เมืองโซฆุต ต่อมาเมื่ออรฮานพิชิตเมืองบุรซาได้ก็ได้ย้ายศพของท่านมาฝังไว้ที่เมืองบุรซาในสุสานที่เรียกว่า ?ฆูมุซลู กุนเบต (Gumuslu Kunbet)?
เดี๋ยวมาต่อกันใหม่ครับ
MJ والسلام