بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
ในกรณีรอยสักต้องตะยัมมุมหรือไม่นั้น ผมค้นดูแล้ว ไม่มีตัวบทระบุโดยตรง แต่ว่ามีประเด็นที่อยู่ในหลักการเดียวกัน คือ หากผู้ตายมีนะยิสที่มีอุปสรรคในการล้างให้สะอาดตอนอาบน้ำศพ ก็ให้ทำการตะยัมมุมแทน ซึ่งเป็นการกรณีเดียวกันกับรอยสักที่เป็นนะยิสที่มีอุปสรรคในการล้างให้สะอาด
ในหนังสือ บุชรออัลกะรีม بشري الكريم ได้ระบุหลักการดังกล่าวไว้ดังนี้
أو تعذر غسل ما تحت قلفته وحينئذ يجري الخلاف في أنه ييمم عما تحتها عند حج ويصلي عليه أو لا ييمم ويدفن بلا صلاة عند رم
"หรือมีอุปสรรคการล้างสิ่งที่อยู่ภายใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศได้ และขณะที่มีอุปสรรคดังกล่าวนั้น มีการคิลาฟนั้นว่า ให้ทำตะยัมมุมมัยยิดแทนจากสิ่งที่อยู่ภายใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศและทำการละหมาดมัยยิดตามทัศนะของท่านอิบนุหะญัรอัลฮัยษะมีย์ หรือไม่ต้องทำการตะยัมมุมและให้ฝังเลยโดยไม่ต้องละหมาดญะนาซะฮ์ตามทัศนะของท่านอิมามอัรรอมลีย์" ดู หน้า 30 ตีพิมพ์ มุสตอฟาฮะละบีย์ ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ฮ.ศ. 1367 - ค.ศ. 1948
จากหลักการดังกล่าวนั้น คือเมื่อมัยยิดชายมิได้ทำการคิตาน(เ้ข้าสุนัต)จึงมีอุปสรรคในการล้างนิยิสที่อยู่ภายใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ จะทำการคิตานมัยยิดก็ไม่ได้ เพราะส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของมัยยิดนั้นต้องให้เกียรติ ดังนั้น จึงต้องทำการตะยัมมุมแทนตามทัศนะของท่านอิบนุหะญัร เฉกเช่นเดียวกันครับ รอยสักซึ่งเป็นนะยิสที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง จึงมีอุปสรรคในการล้างให้สะอาด จะทำการตัดผิวหนังส่วนที่มีรอยสักออกไปก็ไม่ได้ เนื่องจากส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของมัยยิดเราต้องให้เกียรติ ดังนั้น จึงต้องตะยุมมุมแทนจากส่วนดังกล่าว ตามทัศนะของท่านอิบนุหะญัร ซึ่งเป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก
والله تعالى أعلى وأعلم