
ผมไปเจอมาครับเลยเอามาฝาก
วิจารณ์อิบานะฮฺที่ตะหฺกีกโดย ดร. เฟากิยะฮฺ
หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่หนังสืออิบานะฮฺฉบับที่ตะหฺกีกโดย ดร.เฟากิยะฮฺ และได้มีการเปรียบเทียบเนื้อหากับฉบับที่ตีพิมพ์อื่นๆ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาจากสายอะชาอิเราะฮฺ โดยเฉพาะฉบับที่พิมพ์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยกล่าวหาว่ากลุ่มวะฮาบีย์ ทำการบิดเบือนเนื้อหาเดิมของหนังสืออัลอิบานะฮฺ ด้วยการแก้ไขและตัดทอนเนื้อหาสำคัญของหนังสือบางส่วนออก เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของตน เพราะมีเนื้อหาสำคัญหลายส่วนที่มีระบุในฉบับที่ตะหฺกีกโดย ดร.เฟากิยะฮฺ แต่กลับไม่มีระบุในฉบับที่ตะหฺกีกและตีพิมพ์ที่ซาอุดีอาระเบีย
การกล่าวหาดังกล่าวน่าจะมีน้ำหนัก ถ้าปรากฏว่าเนื้อหาฉบับที่จัดพิมพ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาในเมนูสคริปต์ที่มีอยู่ทั้งสามฉบับ (เลข 2,3,4) และแตกต่างจากฉบับที่จัดพิมพ์นอกประเทศซาอุดีอาระเบีย เช่นฉบับที่พิมพ์ที่อินเดีย อียิปต์ และเลบานอน เป็นต้น แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะฉบับที่จัดพิมพ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียก็ยึดต้นฉบับจากมนูสคริปต์ทั้งสามหรือสองในสามดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเป็นบรรดาเมนูสคริปต์ที่มีความแตกต่างจากเมนูสคริปต์ฉบับที่ ดร.เฟากิยะฮฺได้ยึดไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การกล่าวหาว่าผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศซาอุดีอาระเบียไม่มีอะมานะฮฺและทำการเบี่ยงเบนและตัดทอนเนื้อหาหนังสืออิบานะฮฺ จึงไม่ถูกต้อง
ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตและการวิจารณ์บางประการเกี่ยวกับความผิดพลาดของหนังสืออัลอิบานะฮฺฉบับที่ตะหฺกีกโดย ดร.เฟากิยะฮฺ
1. ความผิดพลาดและเบี่ยงเบนด้านการสะกดคำอย่างมากมาย ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดด้านการพิมพ์และไม่มีความประณีตด้านการตรวจทานต้นฉบับ หรือเกิดจากความผิดพลาดในการสะกดคำในเมนูสคริปต์ (ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในข้อสองต่อไป) และบางครั้งผู้ตะหฺกีกได้วางคำที่ผิดอย่างชัดแจ้งไว้บนหน้าหลัก แล้ววางคำที่ถูกต้องที่มาจากเมนูสคริปต์ฉบับอื่นไว้ที่เชิงอรรถ จากข้อสังเกตข้างต้น ทำให้เกิดความยุ่งยากและเหน็ดเหนื่อยในการอ่านเนื้อหา และบางครั้งจำเป็นต้องมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งมาวางขนาบไว้
2. การยึดเอาเมนูสคริปต์ที่มีการเขียนอย่างชัดเจน (เหมือนกับเมนูสคริปต์ที่เพิ่งเขียนขึ้นมาใหม่) ไม่มีระบุวันที่คัดลอก และมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่มีระบุในเมนูสคริปต์ฉบับอื่นๆอีกสามฉบับมาเป็นต้นฉบับหลักในการคัดลอกและทำการตะหฺกีก เป็นสิ่งที่น่าทบทวนอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง ดร.เฟากิยะฮฺซึ่งเป็นผู้ตะหฺกีกเองก็ยังกล่าวให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเมนูสคริปต์ฉบับดังกล่าวว่า
“แท้จริงฉันได้ยึดเอาเมนูสคริปต์ฉบับ (อิสกันดะริยะฮฺ) นี้เป็นต้นฉบับแม่ เพราะมันเป็นเมนูสคริปต์ที่ให้ความหมายที่สมบูรณ์ และไม่มีการฉีกขาดหรือลบเลือนที่เสียหาย ซึ่งตรงข้ามกับเมนูสคริปต์ฉบับอื่นๆ...เพียงแต่ว่า จำเป็นต้องสังเกต เพราะในเมนูสคริปต์ฉบับนี้มีการเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องทำการศึกษาทบทวนโดยละเอียด เพื่อหลีกห่างจากสิ่งที่ถูกผูกติดไว้จากสำนวนที่แฝงตัวเข้าไป (ในเนื้อหาเดิม) แท้จริงได้เป็นที่ประจักษ์ – ถึงแม้ว่าจะมีสำนวนเพิ่มเติม (แอบแฝงอยู่) ดังกล่าว- และยืนยันโดยรวมถึงการดำเนินไปตามแนวทางสะลัฟที่ ประกาศอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ค้านกับแนวทางของสำนวนที่แฝงตัวดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การอธิบายความหมายของ al-istiwa’ ในหน้า 81 ด้วยคำว่า al-qahr wa al-qudrah “มีอำนาจ และมีอิทธิพล” สิ่งนี้จำเป็นต้องประกาศให้ทราบ...เป็นที่สังเกตคือ เราไม่พบเจอการระบุวันที่คัดลอกจากต้นฉบับเดิมของเมนูสคริปต์ชุดดังกล่าว เนื่องเพราะไมโครฟิลม์ที่เก็บเมนูสคริปต์ดังกล่าวสิ้นสุดลงทันทีหลังจากที่เนื้อหาของหนังสือสิ้นสุดลง” (บทนำอัลอิบานะฮฺ ตะหฺกีก ดร.เฟากิยะฮฺ หน้า 188)
และในเชิงอรรถที่ 12 หน้า 107 มุหักกิกระบุว่า ในเมนูสคริปต์ฉบับอิสกนัดะริยะฮฺ มีสำนวนเพิ่มเติมในการอิธิบายความหมายอง "อิสติวาอ์" ว่า istiwa' bima'na alqahr wa alghalabah "อิสติวาอ์ด้วยความหมายของ การใช้กำลังครอบครองและมีชัยชนะ
ในกระบวนการวิพากษ์หลักฐาน (naqd nusus) เพื่อกลั่นกรอง และแยกแยะหลักฐานเท็จออกจากหลักฐานจริง เพื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือระหว่างหลักฐานต่างๆที่มีมากกว่าหนึ่งและมีความเหลื่อมล้ำและแตกต่างกัน และคัดเลือกหลักฐานที่เห็นว่ามีน้ำหนักที่สุด โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Maktubat/Written Records) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเมนูสคริปต์ หรืออักษรจารึกต่างๆ การวิจารณ์ภายนอก (al-Naqd al-Khariji) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปของชื่อผู้แต่ง สถานที่ และปีที่แต่ง วัสดุที่ใช้ ภาษาและอักษรที่ใช้ เป็นต้น หลังจากนั้น เราจึงหาข้อสรุปว่า เป็นข้อมูลชั้นต้น/ปฐมภูมิ (Primary Records) หรือว่าชั้นสอง/ทุติยภูมิ (Secondary Records) หรือชั้นสาม/ตติยภูมิ (Tertiary Records)
ผู้ตะหฺกีกเองก็ยอมรับว่าเมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺที่ตนยึดเป็นต้นฉบับแม่นั้น
1.เป็นเมนูสคริปต์ที่ถูกคัดลอกด้วยอักษรธรรมดา (ซึ่งแสดงถึงความใหม่ของต้นฉบับ)
2.ไม่มีระบุวันที่คัดลอก (ทำให้ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาของการคัดลอกว่าเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากเมนูสคริปต์อีกสามฉบับ)
3.มีการสอดแทรกเนื้อหาเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมที่ไม่สอดคล้องหรือค้านกับเป้าหมายของเนื้อหาเดิม (ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเป็นการเพิ่มเติมของอะชาอิเราะฮฺรุ่นหลังเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่ตนยึดถืออยู่ ถึงแม้ว่าผู้ตะหฺกีกจะให้น้ำหนักไปทางมุอฺตะซิละฮฺก็ตาม การเพิ่มเติมดังกล่าวทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของเนื้อหาในเมนูสคริปต์ดังกล่าวตกไปโดยปริยาย เมื่อเทียบกับความสอดคล้องของเมนูสคริปต์ฉบับอื่นๆทั้งสามฉบับ)
ข้อตำหนิต่างๆข้างต้น ทำให้เมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺ อย่างดีที่สุดเป็นได้แค่ข้อมูลชั้นรองหรือชั้นสามเท่านั้น ไม่สามารถนำมาเป็นข้อมูลชั้นต้นหรือชั้นปฐมภูมิได้ ดังนั้น การที่มุหักกิกยึดเอาเมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺที่มีข้อตำหนิและบกพร่องดังกล่าวมาเป็นต้นฉบับแม่ เพียงเพราะข้ออ้างที่ว่า “มีการเรียบเรียงสำนวนได้ดีกว่าฉบับอื่นๆ” จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องกับระเบียบวิธีการวิพากษ์หลักฐานอย่างสิ้นเชิง วัลลอฮุอะอฺลัม
ลองพิจารณาดูตัวอย่างความแตกต่างต่อไปนี้ ระหว่างเมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺที่ผู้ตะหฺกีกใช้เป็นต้นฉบับแม่กับเมนูสคริปต์อีกสามฉบับว่ามันเหลื่อล้ำขนาดไหน
ในหนังสือ อัลอิบานะฮฺ หน้า 21 ตามเมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺระบุว่า
وأن الله تعالى استوى على العرش على الوجه الذى قاله وبالمعني الذي أراده، استواء منزها عن الممارسة، والاستقرار والتمكن والحلول والانتقال، لا يحمله العرش، وحملته محمولون بلطف قدرته، ومقهورون في قبضته، وهو فوق العرش، وفوق كل شيء الى تخوم الثرى ، فوقية لا تزيده قربا إلي العرش والسماء، بل هو رفيع الدرجات عن العرش،كما أنه رفيع الدرجات عن الثرى وهو مع ذلك قريب من كل موجود، وهو أقرب إلى العبد من حبل الوريد، وهو علي كل شيء شهيد
ในขณะที่ผู้ตะหฺกีกได้ระบุที่เชิงอรรถว่าในเมนูสคริปต์ของอีกสามฉบับมีข้อความเพียงแค่
ك، ز، د : ((وأن الله مستو علي عرشه)): كما قال: الرحمن على العرش استوى
ซึ่งจากการสืบหาที่มาของประโยคและสำนวนดังกล่าวปรากฏว่า มีระบุในหนังสือ “อัลอัรบะอีน ฟีอุศุลิดดีน” หน้า 7-8 ของอิมามอบู หามิดอัลเฆาะซาลีย์ ชนิดคำต่อคำเลยทีเดียว ! ทำให้เรายิ่งโน้มเอียงไปทางสมมุติฐานที่ว่า “สำนวนดังกล่าวและอื่นๆ ที่มีเพิ่มเติมในเมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺ และไม่มีในเมนูสคริปต์อีกสามฉบับ เป็นการเพิ่มเติมของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺรุ่นหลัง” เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตนยึดถืออยู่ วัลลอฮุลมุสตะอาน
ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ
เพื่อให้ได้ประจักษ์ถึงความแตกต่างระหว่างอะกีดะฮฺที่อบู หะสัน อัลอัชอะรีย์ดำเนินอยู่ในห้วงสุดท้ายของชีวิตท่านกับอะกีดะฮฺที่ชาวอะชาอิเราะฮฺรุ่นหลังดำเนินอยู่และอ้างว่าเป็นแนวทางของอบู หะสัน ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนของอะกีดะฮฺอบูหะสันที่มีบรรจุอยู่ในหนังสือ อัลอิบานะฮฺของท่าน ในส่วนเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ผู้เขียนจะยึดเอาตามหนังสืออิบานะฮฺที่ตะหฺกีกโดย ดร.เฟากียะฮฺเป็นหลัก เพราะเป็นเล่มที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ส่วนเนื้อหาที่มีเพิ่มเติมจากเมนูสคริปต์ฉบับอิสกันดะริยะฮฺนั้น ผู้เขียนจะเตือนไว้ในวงเล็บพร้อมกับกำกับอักษร (ส) ไว้ในตอนท้าย
ส่วนเนื้อหาที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้ ผู้เขียนขออนุญาตยกประเด็นที่เป็นปัญหาโลกแตกที่มีการโต้แย้งกันอย่างไม่สิ้นสุดมานำเสนอ นั่นคือ
1. อิสตะวา (อยู่เหนือ) ซึ่งอะชาอิเราะฮฺรุ่นหลังจะตีความว่า “อิสเตาลา” (เข้าครอบครอง หรือ อำนาจปกครอง)
2. ยะดน/ยะดาน (พระหัตถ์) ซึ่งอะชาอิเราะฮฺรุ่นหลังจะตีความว่า “นิอฺมะฮฺ, กุววะฮฺ, กุดเราะฮฺ” (ความโปรดปราน, พลัง และอำนาจ)
วัสสลาม