salam
ดาวเคราะห์เดือนสิงหาคม 2553
1 สิงหาคม 2553 วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวเคราะห์
ท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำของเดือนนี้จะพบกับดาวเคราะห์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่ามากถึง 4 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ ส่วนดาวพฤหัสบดีจะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าตะวันออกในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม และเป็นดาวเคราะห์สว่างดวงเดียวที่ปรากฏเหนือขอบฟ้าในเวลาเช้ามืดก่อนฟ้าสาง
ดาวพุธกำลังเคลื่อนอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต สังเกตเห็นได้บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำต่อเนื่องมาจากเดือนกรกฎาคม มันอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ 4 ดวงที่ปรากฏในเวลาหัวค่ำ วันที่ 7 สิงหาคม ดาวพุธอยู่ห่างดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยมุมห่างมากถึง 27.4 องศา ซึ่งปกติค่านี้สามารถแปรผันได้ระหว่าง 18 ถึง 28 องศา ที่ห่างได้มากเช่นนี้เนื่องจากเดือนนี้ตรงกับช่วงที่มันผ่านบริเวณจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด (aphelion) ในวงโคจรของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นเพียงวันเดียว
หากฟ้าเปิดเราจะสามารถสังเกตดาวพุธได้ทุกวันไปจนถึงราวปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เมื่อถึงเวลานั้นดาวพุธจะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นและอยู่ต่ำจนสังเกตได้ยาก วันที่ 12 สิงหาคม มองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ห่างไปทางซ้ายมือของดาวพุธด้วยระยะเชิงมุม 7 องศา โดยสูงกว่าดาวพุธเล็กน้อย ช่วงวันที่ 1-21 สิงหาคม ดาวพุธจางลงจากโชติมาตร +0.1 ไปที่ +1.3 เวลาส่วนใหญ่ดาวพุธจึงสว่างดาวเสาร์และดาวอังคาร อย่างไรก็ตาม มุมเงยที่ไม่สูงนักจะทำให้ดาวพุธแลดูสว่างน้อยกว่านี้ได้ ช่วงดังกล่าวดาวพุธมีขนาดเชิงมุมเพิ่มขึ้นจาก 7.0 พิลิปดา เป็น 9.7 พิลิปดา พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 57% ไปที่ 21% โดยสว่างครึ่งดวงในช่วงวันที่ 5 และ 6 สิงหาคม
เยื้องขึ้นไปทางซ้ายมือเหนือดาวพุธจะเห็นดาวเคราะห์เกาะกลุ่มกันอีก 3 ดวงบริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว ดาวศุกร์สว่างที่สุดในสามดวงนี้ ดาวเสาร์สว่างกว่าดาวอังคารเล็กน้อยแต่ก็เทียบไม่ได้กับความสว่างของดาวศุกร์ เราเรียกดาวศุกร์ขณะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำว่า "ดาวประจำเมือง" ตลอดเดือนสิงหาคมดาวศุกร์มีขนาดปรากฏเพิ่มขึ้นจาก 20.0 ไปที่ 28.1 พิลิปดา พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 58% เป็น 42% โดยสว่างครึ่งดวงในค่ำวันที่ 17 สิงหาคม นับเป็นเวลา 3 วันก่อนที่ดาวศุกร์จะทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด แม้ว่าดาวศุกร์จะมีสัดส่วนของพื้นผิวด้านสว่างลดลงเรื่อย ๆ คือเปลี่ยนจากสว่างมากกว่าครึ่งดวงไปเป็นเสี้ยว แต่การที่มันเคลื่อนเข้าใกล้โลกมากขึ้น ทำให้เดือนนี้ดาวศุกร์มีขนาดที่เห็นในกล้องโทรทรรศน์ใหญ่ขึ้นและยังคงมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร -4.3 ไปที่ -4.6 ค่ำวันที่ 31 สิงหาคม และ 1 กันยายน จะเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว
ดาวเสาร์กับดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์อีก 2 ดวงที่อยู่ใกล้ดาวศุกร์ เดือนนี้ขนาดปรากฏตามแนวเส้นศูนย์สูตรของดาวเสาร์ลดลงจาก 16.4 ไปเป็น 15.9 พิลิปดา ความสว่างลดลงจากโชติมาตร +1.1 ไปที่ +1.0 ส่วนดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่ามาก เดือนนี้ขนาดดาวอังคารลดลงจาก 4.7 เป็น 4.3 พิลิปดา ความสว่างเกือบไม่เปลี่ยนแปลงที่โชติมาตร +1.5 เมื่อเทียบตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้งสามกับดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง ดาวศุกร์เปลี่ยนตำแหน่งเร็วที่สุดด้วยอัตราประมาณ 1 องศาต่อวัน ดาวอังคารอยู่ที่ 0.6 องศาต่อวัน ส่วนดาวเสาร์ช้าที่สุดด้วยอัตรา 0.1 องศาต่อวัน ดาวเคราะห์ 3 ดวงนี้เข้าใกล้กันที่สุดในคืนวันที่ 8 สิงหาคม 2553 ด้วยระยะห่าง 5 องศา ซึ่งทำให้สามารถส่องเห็นดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงได้พร้อมกันผ่านกล้องสองตาขนาด 7x50 โดยมีดาวพุธอยู่ไกลออกไปทางขวามือด้านล่างด้วยระยะเชิงมุมประมาณ 20 องศา
ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวปลา ต้นเดือนสิงหาคมดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 4 ทุ่มหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย มันขึ้นเร็วกว่าเดิมทุกวันราววันละประมาณ 4 นาที ปลายเดือนจึงเห็นได้ตั้งแต่เวลา 2 ทุ่ม หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง ดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนสูงขึ้นไปอยู่สูงกลางฟ้าเหนือศีรษะ และคล้อยลงไปทางทิศตะวันตกในเวลาเช้ามืด ตลอดเดือนนี้ขนาดเชิงมุมตามแนวเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดีเพิ่มขึ้นจาก 45.8 เป็น 49.1 พิลิปดา ความสว่างเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร -2.7 ไปที่ -2.9 ดาวพฤหัสบดีจะใกล้โลกที่สุดในเดือนหน้า ลักษณะปรากฏในบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีดูแปลกไปจากที่เคยเห็นมาหลายปี เนื่องจากขณะนี้แถบเมฆคล้ำที่พาดทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรบริเวณละติจูดใกล้เคียงกับจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ได้จางหายไป คืนวันที่ 27 สิงหาคม เวลา 22:49 - 23:15 น. กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงจะส่องเห็นเงาของดาวบริวาร 2 ดวง คือ เงาของไอโอและแกนิมีด ปรากฏพร้อมกันบนบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี
ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.

อยู่ในกลุ่มดาวปลา ไม่ห่างจากดาวพฤหัสบดีมากนัก เวลาที่สังเกตดาวยูเรนัสได้ดีคือตั้งแต่ราว 5 ทุ่มไปจนถึงช่วงก่อนที่ท้องฟ้าจะสว่างในเวลาเช้ามืด ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.

อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เดือนนี้ดาวเนปจูนซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุดจะเคลื่อนมาอยู่ตรงตำแหน่งที่ทำมุม 180 องศากับดวงอาทิตย์ จึงเป็นช่วงที่ดาวเนปจูนสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี สามารถสังเกตดาวเนปจูนได้ตั้งแต่เวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิทไปจนถึงก่อนฟ้าสาง โดยจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจากสถานที่ที่ฟ้ามืด ไม่มีแสงไฟและแสงจันทร์รบกวน แผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนแสดงไว้ในวารสารทางช้างเผือกฉบับคู่มือดูดาวประจำปี 2553 ข้อมูลดวงจันทร์ขึ้น-ตก ดูที่ เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
ดวงจันทร์
ช่วงแรกของเดือนเป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดโดยสว่างครึ่งดวงในวันที่ 3 สิงหาคม สองวันถัดมามองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ต่ำกว่ากระจุกดาวลูกไก่ด้วยระยะห่าง 3 องศา วันที่ 9 สิงหาคม เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะเห็นดวงจันทร์เหลือส่วนสว่างเป็นเสี้ยวอยู่เหนือขอบฟ้าขณะท้องฟ้าเริ่มสว่างในเวลาเช้ามืด หลังวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งดวงจันทร์จะอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ จากนั้นดวงจันทร์จะย้ายไปปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันที่ 11 สิงหาคม หากฟ้าเปิดอาจเห็นจันทร์เสี้ยวบาง ๆ อยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกโดยอยู่ต่ำกว่าดาวพุธขณะท้องฟ้าเริ่มมืด
ค่ำวันที่ 12 และ 13 สิงหาคม ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ท่ามกลางดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ นับเป็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่น่าสนใจครั้งหนึ่งของปี เพราะตรงกับช่วงที่ดาวเคราะห์ 3 ดวงมาอยู่ใกล้กันด้วย วันที่ 17 สิงหาคม ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงขณะอยู่ใกล้ดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมงป่อง เดือนนี้ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงในเวลา 5 นาทีหลังเที่ยงคืนของคืนวันที่ 24 สิงหาคม (เข้าสู่วันที่ 25) เป็นดวงจันทร์เต็มดวงที่มีขนาดเล็กที่สุดในรอบปี เนื่องจากใกล้เคียงกับช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุด แต่ด้วยตาเปล่าอาจสังเกตไม่พบความแตกต่างนี้ เช้ามืดวันที่ 27 สิงหาคม ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี หลังจากนั้นอีกหลายชั่วโมงจะมองเห็นดวงจันทร์อยู่ทางซ้ายมือของดาวพฤหัสบดีในค่ำคืนวันเดียวกัน เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน ดวงจันทร์ผ่านใกล้กระจุกดาวลูกไก่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใกล้กว่าครั้งก่อนด้วยระยะห่างจากกระจุกดาวลูกไก่เพียง 1 องศา
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/img/2010-08chart.gifดูเพิ่ม
ดาวเคราะห์ในปี 2553
อุปราคาในปี 2553
ฝนดาวตกในปี 2553
เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก
สารพันคำถามเกี่ยวกับดาราศาสตร์ : หมวดระบบสุริยะ
อ้างอิงจาก สมาคม ดาราศาสตร์ไทยhttp://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/
http://www.hilalthailand.com/oursky/modules/newbb/viewtopic.php?topic_id=125&forum=2&post_id=416#forumpost416