بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
รายละเอียดต่าง ๆ ผมขอชี้แจงเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
1. การขายผ่อน คือ ผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยผ่อนราคาจ่ายชำระทั้งหมดงวดเดียวหรือบางส่วนตามงวดต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้และตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้
อาทิเช่น ผู้ขายกล่าวว่า ฉันขายสินค้านี้ในราคา 1000 บาทในราคาสด และฉันขายสินค้านี้ในราคา 1100 บาทในราคาผ่อนโดยผ่อนชำระภายใน 1 เดือน ซึ่งเขาเรียกว่าผ่อนจ่ายชำระทั้งหมดงวดเดียวภายในหนึ่งเดือน หรือผ่อนบางส่วนตามงวดต่าง ๆ เช่น ผู้ขายกล่าวว่า ฉันขายสินค้านี้ในราคา 1000 บาทในราคาสด แต่ฉันจะขายสินค้านี้ราคา 1200 บาทในราคาผ่อนชำระภายใน 3 เดือน โดยผ่อนเดือนละ 400 บาท ซึ่งการขายเช่นนี้เป็นสิ่งอนุญาตให้ประกอบการได้หากผู้ซื้อและผู้ขายพอใจการข้อตกลงค้าขายรูปแบบดังกล่าว
สรุปคือ การขายผ่อน คือการขายโดยการผ่อนชำระตามที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำการตกลงกัน ดังนั้น การขายผ่อนชำระถือว่าอนุญาตให้กระทำได้
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اشْتَرَى طَعَامًا مِنْ يَهُودِيٍّ إِلَى أَجَلٍ وَرَهَنَهُ دِرْعًا مِنْ حَدِيدٍ
"แท้จริงท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ซื้ออาหารจากยาฮูดีโดยราคาผ่อนและท่านนบีได้นำเสื้อเกราะเหล็กมาจำนำ(เพื่อประกันหนี้)กับเขา" รายงานโดยบุคอรี (2068) และมุสลิม (1603)
ฮะดิษนี้ชี้ถึงอนุญาตให้ทำการขายพร้อมผ่อนชำระได้ และการขายผ่อนนั้น ไม่ใช่อื่นใดเลย นอกจากเป็นการขายผ่อนชำระนั่นเอง และหะดิษนี้ให้ความหมายอุมูม(ครอบคลุม)ถึงการขายผ่อนชำระทั้งหมดงวดเดียวและชำระเป็นงวด ๆ
กรณีของผู้คัดค้านการขายผ่อนนั้น คือพวกเขาคิดว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากการขายผ่อนนั้นเป็นดอกเบี้ย ซึ่งเสมือนหลักการให้กู้ยืมเงินหลังจากนั้นเมื่อถึงกำหนดแล้วชำระแต่ทว่าลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายได้ ผู้ให้กู้ยืมจึงผ่อนระยะเวลาการชำระโดยเพิ่มจำนวนเงินมากกว่าเงินต้น ซึ่งความจริงแล้วเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขายผ่อนชำระกับการชดใช้หนี้กู้ยืมแบบผ่อนชำระนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากการให้กู้ยืมเป็นการตกลงในเชิงการเห็นอกเห็นใจต่อพี่น้อง ผลตอบแทนคือผลบุญที่อัลเลาะฮ์จะประทานให้ในทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้น ถ้าหากเราแสวงหาผลประโยชน์ตรงนี้ โดยยื่นระยะเวลาผ่อนชำระและเพิ่มเงินต้น ถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ฮะรอม แต่ทว่าการค้าขายแบบผ่อนชำระนั้นเป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม่เกี่ยวข้องการการเห็นอกเห็นใจหรือหวังผลบุญกับอัลเลาะฮ์ตาอาลา
ดังนั้น ประเด็นคำถามจึงเกิดขึ้นว่า การขายผ่อนโดยเพิ่มราคามากกว่าต้นทุนของสินค้านั้น เป็นที่อนุญาตหรือไม่?
ตอบ : การขายผ่อนโดยเพิ่มราคามากกว่าต้นทุกของสินค้านั้น เป็นที่อนุญาตตามทัศนะของบรรดานักปราชญ์มัซฮับทั้งสี่
มัซฮับหะนะฟีย์
ท่านอัลกาซานีย์ กล่าวว่า
اَلثَّمَنُ قَدْ يُزَادُ لِمَكاَنِ الأَجَلِ
"ราคานั้นบางครั้งจะถูกเพิ่มให้กับสถานที่มีการผ่อนชำระ" หนังสือบะดาเอี๊ยะอฺ อัศศ่อนาเอี๊ยะอฺ ; 5/187
มัซฮับมาลิกีย์
ท่านอิบนุรุชด์ กล่าวว่า
جُعِلَ لِلزَّمَانِ مِقْدَارٌ مِنَ الثَّمَنِ
"การหนดขนาดของราคานั้นมีผลต่อระยะเวลา" หนังสือบิดายะฮ์อัลมุจญ์ตะฮิด : 2/108
มัซฮับชาฟิอีย์
ท่านอิมามอัลฆอซะลีย์ กล่าวว่า
اَلخَمْسَةُ نَقْداً تُسَاوِيْ سِتَّةً نَسِيْئَةً
"เงินสดราคา 5 (ดิรฮัม)นั้น เท่ากับเงินราคา 6 (ดิรฮัม) ในลักษณะที่ผ่อนระยะเวลา" หนังสืออัลวะญีซฺ : 1/85
มัซฮับฮัมบาลีย์
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ กล่าวว่า
اَلأَجَلُ يَأْخُذُ قِسْطاً مِنَ الثَّمَنِ
"การผ่อนระยะเวลานั้นสามารถเอาส่วนหนึ่ง(เพิ่มมา)จากราคาได้" หนังสือมัจญ์มั๊วะอัลฟะตาวา : 29/499
ดังนั้น การขายผ่อนชำระโดยเพิ่มราคาของสินค้ามากกว่าต้นทุนนั้น เป็นการค้าขายที่ขึ้นอยู่ตามความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย
อัลเลาะฮ์ทรงตรัสความว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ إِلا أَنْ تَكُونَ تِجَارَةً عَنْ تَرَاضٍ مِنْكُمْ
"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าบริโภคทรัพย์ในระหว่างพวกท่านโดยมิชอบ นอกจากเป็นการค้าที่มาจากการพึงพอใจซึ่งกันและกันจากพวกท่าน" อันนิซาอฺ 29
อายะฮ์นี้ ตามควาหมายที่ครอบคลุม(อุมูม) บ่งชี้ว่าอนุญาตให้ทำการค้าขายเมื่อเกิดความพึงพอใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขาย ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อพอใจด้วยราคาที่เพิ่มมาจากต้นทุนสินค้าด้วยการผ่อนชำระนั้น การค้าขายถือว่ามีผลบังคับใช้ได้
2. ส่วนการชดใช้หนี้มากกว่าต้นทุนที่ยืมไปเพื่อเป็นสินน้ำใจนั้น อนุญาตให้กระทำได้ ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นซุนนะฮ์อีกด้วย
ท่านญาบิร รายงานว่า
أَتَيْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي المَسْجِدِ فَقَضَانِي وَزَادَنِي
"ฉันได้ไปหาท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในมัสยิด แล้วท่านนบีได้ทำการชดใช้หนี้กับฉันและทำการเพิ่มให้กับฉัน" รายงานโดยบุคอรี (2413) และมุสลิม (1168)
ท่านอบูรอเฟี๊ยะอฺ ได้กล่าวรายงานว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اسْتَسْلَفَ مِنْ رَجُلٍ بَكْرًا فَقَدِمَتْ عَلَيْهِ إِبِلٌ مِنْ إِبِلِ الصَّدَقَةِ فَأَمَرَ أَبَا رَافِعٍ أَنْ يَقْضِيَ الرَّجُلَ بَكْرَهُ فَرَجَعَ إِلَيْهِ أَبُو رَافِعٍ فَقَالَ لَمْ أَجِدْ فِيهَا إِلَّا خِيَارًا رَبَاعِيًا فَقَالَ أَعْطِهِ إِيَّاهُ إِنَّ خِيَارَ النَّاسِ أَحْسَنُهُمْ قَضَاءً
"ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ขอยืนอูฐหนุ่มตัวหนึ่ง แล้วอูฐตัวหนึ่งจากอูฐซะก๊าตได้นำมาที่ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ดังนั้นท่านร่อซูลุลเลาะฮ์จึงใช้ให้ฉันทำการชดใช้หนี้ผู้ชายคนนั้นกับอูฐหนุ่มของเขา แล้วฉันจึงกล่าวขึ้นว่า ฉันไม่พบอูฐใดเลยนอกจากอูฐ(ที่ดีกว่าอูฐของเขา)ซึ่งถูกคัดสรรอย่างดีแล้ว(คืออูฐอายุ 6 ปีย่างเข้าปีที่ 7)มีฟันหน้าขึ้นแล้ว ดังนั้น ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ท่านจะให้อูฐนั้นแก่เขาไปเถิด เพราะมนุษย์ที่ดีเลิศนั้นคือผู้ที่ชดใช้หนี้ที่สวยงามยิ่งกว่า" รายงานโดยอบูดาวูด (2904) และมุสลิม (3002)
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ อธิบายว่า "ในหะดิษนี้นั้น สุนัตให้กับผู้ที่มีหนี้จากการกู้ยืมหรืออื่น ๆ ทำการชดใช้หนี้ให้ดีกว่าหนี้เดิมที่อยู่บนเขาต้องชดใช้ เพราะดังนี้ถือว่าเป็นซุนนะฮ์และเป็นจรรยามารยาทที่ดีงาม และดังกล่าวนี้มิใช่เป็นการกู้ยืมที่แสวงหาซึ่งผลประโยชน์เพราะเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และที่ต้องห้ามนั้นก็คือสิ่งที่เขาได้ทำการวางเงื่อนไขไว้ในขณะทำการตกลงกู้ยืม(ว่าต้องให้เพิ่มตอนชำระหนี้) และมัซฮับของเรานั้น ถือว่าสุนัตให้เพิ่มในการชดใช้หนี้(เพื่อเป็นน้ำใจ)" หนังสือชัรห์ซอฮิห์มุสลิม : 6/42
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ