بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛
ผู้ที่ญุนุบหรือสตรีที่ยังไม่อาบน้ำยกฮะดัษอันเนื่องจากมีประจำเดือนหรือนิฟาสนั้น วายิบต้องถือศีลอด แม้ว่าจะยังไม่อาบน้ำหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้วก็ตาม
เพราะท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุฮันฮา ได้รายงานว่า
قَدْ كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُدْرِكُهُ الْفَجْرُ فِي رَمَضَانَ وَهُوَ جُنُبٌ مِنْ غَيْرِ حُلُمٍ فَيَغْتَسِلُ وَيَصُومُ
“ปรากฏว่าตอนซุบฮิท่านนบีอยู่ในสภาพมีญุนุบที่ไม่ใช่มาจากความฝัน หลังจากนั้นท่านได้อาบน้ำและทำการถือศีลอด” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1109.
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ กล่าวว่า
وَيُسْتَحَبُّ أَنْ يَغْتَسِلَ عَنْ الْجَنَابَةِ وَالْحَيْضِ وَالنِّفَاسِ قَبْلَ الْفَجْرِ لِئَلَّا يَصِلَ الْمَاءُ إلَى بَاطِنِ نَحْوِ أُذُنِهِ أَوْ دُبُرِهِ
“มุสตะฮับ(ส่งเสริมให้กระทำ)การอาบน้ำญุนุบ อาบน้ำ(หลังเกลี้ยง)ประจำเดือนและนิฟาส(เลือดหลังจากการคลอดบุตร) ก่อนแสงอรุณขึ้น เพื่อมิให้น้ำเข้าไปถึงภายในของหูและทวารหลัง” อิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์, ตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ เล่ม 3 หน้า 424.
ท่านอิมามอัลค่อฏีบอัชชัรบีนีย์กล่าวว่า
“หากสตรีผู้มีเลือดประจำเดือน(เฮด)หรือเลือดหลังจากการคลอดบุตร(นิฟาส)ได้เกลี้ยงในยามกลางคืนและนางได้ทำการเหนียตถือศีลอดแล้วก็ทำการถือศีลอดหรือผู้มีญุนุบได้ทำการถือศีลอดในสภาพที่ยังมิได้อาบน้ำ(ยกฮะดัษ)นั้น แน่นอนว่าการถือศีลอดย่อมใช้ได้...เพราะมีหะดีษอัลบุคอรีและมุสลิมระบุว่า “ปรากฏว่าตอนซุบฮิ์ท่านนะบีย์อยู่ในสภาพมีญุนุบที่ไม่ใช่มาจากความฝัน หลังจากนั้นท่านได้อาบน้ำและทำการถือศีลอด” ดังนั้นให้นำผู้ที่มีเฮดและนิฟาสมาเทียบเคียง(กิยาส)กับ(หลักการของ)ผู้ที่มีญุนุบ” หนังสือมุฆนุลมั๊วะห์ตาจญ์ เล่ม 2 หน้า 179 – 180.
การนำหลักการของผู้ที่มีเฮดกับนิฟาสมาเทียบเคียงกับหลักการของผู้มีญุนุบนั้นคือ เมื่อเข้าเวลาถือศีลอดหลังเข้าเวลาซุบฮิ์แล้วนั้น แม้ว่ายังไม่ได้อาบน้ำยกฮะดัษก็ตาม ก็จำเป็นต้องถือศีลอด ดังนั้นผู้ที่เกลี้ยงเฮดและนิฟาสก็มีหลักการเดียวกัน
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ