ชีวประวัติ อัลอิหม่าม อัลฆอซาลี
ท่านมีนามว่า มุฮำหมัดบุตรมุฮำมัดบุตรมุฮำมัดบุตรอะห์มัดอะบูฮามิดอัตตูซี อัลฆอซาลี มีสมญานามว่า حجة الإسلام และ محجة الدين
ถือกำเนิด ณ เมือง ตูซ ฮิจเราะห์ศักราชที่ 450 บิดาของท่านประกอบอาชีพช่างทอผ้า โดยจะนำผ้าไปขายที่ตลาดในเมืองตูซเป็นประจำ เมื่อบิดาของท่านใกล้จะเสียชีวิต ท่านก็ได้สั่งเสียให้เพื่อนของท่านอบรมสั่งสอนบุตรชายทั้งสองคือ มุฮำมัดและอะห์มัด ซึ่งเพื่อนของบิดาคนนี้เป็นนักซูฟี ผู้อยู่ในครรลองของศาสนา โดยบิดาของท่านได้กล่าวสั่งเสียแก่ เพื่อนว่า ?ความจริงฉันมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ฉันศึกษาเพียงแค่วิชาการเขียน แต่ฉันอยากจะให้ลูกชายทั้งสองของฉันได้รับในสิ่งที่ฉันไม่มีโอกาสได้รับมัน และฉันได้มอบสิ่งที่ฉันมีอยู่นี้ให้แก่ทั้งสอง เพื่อจะนำไปใช้ ตามสิ่งที่ฉันได้คาดฝันไว้? เมื่อบิดาของทั้งสองเสียชีวิตลง เพื่อนของเขาที่เป็นนักซูฟี ก็นำเด็กน้อยทั้งสองไปอบรมเลี้ยงดู สั่งสอน ต่อมาเมื่อทรัพย์สินที่บิดาของทั้งสองได้ทิ้งไว้นั้นหมดลง จึงทำให้เกิดความยากลำบากที่จะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองต่อไปได้ และในที่สุดเขาจึงกล่าวแก่เด็กทั้งสองว่า ?เธอทั้งสองจงรู้ไว้เถิดว่า ความจริงฉันได้ใช้จ่ายสิ่งที่บิดาของเธอได้ทิ้งไว้หมดลงแล้ว ฉันเองก็เป็นคนยากจน อยู่ตัวคนเดียว ฉันไม่มีปัจจัยพอที่จะเลี้ยงดูเธอทั้งสองได้ ฉันเห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดก็คือ พวกเธอจงไปอาศัยที่โรงเรียน เพื่อแสวงหาความรู้ แล้วพวกเธอก็จะได้รับปัจจัยยังชีพที่พอแก่ความต้องการ? เด็กทั้งสองก็ได้ทำตามที่นักซูฟีผู้นั้นบอก จากสถานที่นั้นเอง ทำให้ทั้งสองนั้นอยู่อย่างสุขสบาย และมีสถานภาพที่ดีขึ้น
ท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีได้เล่าถึงความหลังของท่านให้ฟังว่า ?แต่ก่อนเราเคยไปศึกษาหาความรู้ตามยถากรรม โดยไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออัลลอฮ์ แต่ต่อมาเราก็ได้รับฮิดายะห์ให้ทำการศึกษาสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออัลลอฮ์?
และท่านยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า บิดาของท่านเป็นคนยากจน เป็นคนดี ท่านนั้นบริโภคแต่สิ่งที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเอง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากอาชีพการทอผ้า และท่านมักจะเดินทางไปยังสถานที่ๆมีนักวิชาการฟิกฮ์อยู่ และได้เข้ารับฟังการบรรยายเกี่ยวกับวิชาการฟิกฮ์ ท่านจะคอยรับใช้พวกเขาเป็นอย่างดี บางครั้งท่านก็ให้ปัจจัยแก่พวกเขาเท่าที่ท่านมีความสามารถ ท่านมักจะร้องไห้เมื่อได้ยินคำกล่าวของพวกเขา และจะนอบน้อมถ่อมตน พร้อมทั้งวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ให้พระองค์ทรงประทานบุตรชายคนหนึ่งแก่ท่าน และให้บุตรคนนั้นเป็นนักวิชาการฟิกฮ์ และเมื่อใดที่ท่านเข้าร่วมรับฟังการบรรยายศาสนธรรมของบรรดานักการศาสนา ท่านมักจะร้องไห้พร้อมทั้งวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ให้พระองค์ทรงประทานบุตรชายอีกคนหนึ่งแก่ท่าน และให้เป็นนักวิชาการศาสนาดังเช่นพวกเขา ในที่สุดอัลลอฮ์ก็ทรงรับคำขอดุอาอ์ของบิดาของท่าน โดยที่ท่านอิหม่ามอัลฆอซาลี เป็นนักวิชาการฟิกฮ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น และน้องชายของท่าน อะห์มัด ก็ได้เป็นนักการศาสนาสมตามคำวิงวอนของบิดา
ชีวิตการศึกษาและการเผยแพร่วิชาความรู้ของท่านอิหม่ามฆ่อซาลี
ท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีได้เริ่มศึกษาในด้านวิชาการฟิกฮ์เพียงเล็กน้อยที่บ้านเกิดของท่านกับอาจารย์อะห์มัดบุตรมุฮำมัดอัรรอซากานี ต่อมาท่านก็ได้เดินทางไปเมืองยัรยานเพื่อทำการศึกษากับท่านอิหม่ามอบูนัสริอัลอิสมาอิลี่ โดยท่านได้ศึกษาแบบเชิงวิเคราะห์รายละเอียดในหนังสือ (التعليقة) จากท่านอิหม่าม ต่อมาท่านก็เดินทางกลับเมืองตูซ
ท่านอิหม่ามอัซอัด อัลมัยฮะนี่ ได้เล่าว่า ฉันเคยได้ยินท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีกล่าวว่า ?ฉันเคยถูกโจรกลุ่มหนึ่งปล้นในระหว่างเดินทาง พวกนั้นเอาข้าวของของฉันไปจนหมด เมื่อพวกเขาจากฉันไป ฉันก็ได้สะกดรอยตามไป จนกระทั่งพวกเขารู้ตัว พวกเขาก็กล่าวกับฉันว่า ?จงกลับไปเสีย ไม่เช่นนั้น เจ้าจะต้องตายแน่? ฉันจึงกล่าวแก่พวกเขาว่า ?ด้วยนามแห่งผู้ซึ่งท่านขอความปลอดภัยต่อพระองค์ โปรดนำหนังสือ التعليقة ที่ท่านได้เอาไป คืนฉันด้วย พวกโจรจึงกล่าวขึ้นว่า ? อัตตะลีเกาะห์ ที่ท่านว่านั้นคืออะไร ? ฉันก็ตอบว่า ?มันเป็นหนังสือที่อยู่ในกระเป๋าใบนั้น ฉันต้องเดินทางไปเพื่อศึกษาและจดบันทึกมันมาอย่างยากเย็น พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับศาสตร์ต่างๆที่มีอยู่ในนั้น ? โจรก็หัวเราะพลางกล่าวว่า ? ท่านอ้างว่าท่านได้เข้าใจหนังสือนี้ได้อย่างไรกัน ทั้งๆที่พวกเราเอาหนังสือเล่มนี้มาจากท่านแล้ว ตอนนี้ท่านยังจะรู้วิชาการในหนังสือเล่มนี้อีกหรือ ? ? และพวกโจรก็ได้ส่งหนังสือ อัตตะลีเกาะห์ พร้อมทั้งกระเป๋าใบนั้นให้แก่ฉัน จากคำกล่าวของโจรนี้เองถือเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ให้ฉันได้ฉุกคิดขึ้นมาเพื่อเป็นการชี้แนะฉันให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เมื่อฉันได้กลับถึงเมืองตูซ ฉันได้ท่องจำทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในหนังสือ อัตตะลีเกาะห์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ถึงขั้นที่ว่าหากเกิดภาวะคับขันเช่นแต่ก่อน ฉันก็ไม่ต้องพะวงกับความรู้ของฉันอีกแล้ว ?
ต่อมาท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีได้เดินทางไปที่กรุงนัยซาบูร نيسابور) ( เพื่อทำการศึกษากับท่านอิหม่ามอัลฮะร่อมัยน์ ท่านได้ใช้ความอุตสาหะ พยายาม จนกระทั่งมีความปราชญ์เปรื่องในวิชาการแขนงต่างๆ อาทิเช่น วิชาที่เกี่ยวกับแนวทางของนักวิชาการ ปัญหาขัดแย้ง รากฐานของวิชาต่างๆ วิภาษศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และวิชาปรัชญา และท่านยังแต่งตำรับตำราในสาขาวิชาการต่างๆ ที่ท่านได้ศึกษามา กอปรกับท่านนั้นมีความเฉลียวฉลาด และมีความรู้อย่างลึกซึ้งในวิชาการแขนงต่างๆ ท่านอิหม่ามอัลฮะร่อมัยน์ได้เคยกล่าวถึงคุณสมบัติของท่านอิหม่ามอัลฆอซาลี ไว้ว่า ? อัลฆอซาลีนั้น มีความปราชญ์เปรื่องในศาสตร์แขนงต่างๆเป็นอย่างดี ?
เมื่อท่านอิหม่ามอัลฮะร่อมัยน์สิ้นชีวิตลง ท่านอิหม่ามอัลฆอซาลี จึงออกเดินทางไปหาท่านเสนาบดี ( نظام الملك ) และได้มีการถกปัญหาเกิดขึ้นในระดับบรรดาผู้นำและนักวิชาการระดับชั้นนำอีกหลายท่านที่สภาเสนาบดี และท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีก็สามารถตอบข้อโต้แย้งได้ จึงชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีอย่างประจักษ์ชัดแก่ทุกคนในที่นั้น ในที่สุดพวกเขาก็ให้การต้อนรับท่านอย่างยกย่องและให้เกียรติ และท่านเสนาบดีมีคำสั่งแต่งตั้ง อิหม่ามอัลฆอซาลีให้เป็นศาสตราจารย์ประจำสำนัก النظامية ณ กรุงแบกแดด โดยท่านได้เริ่มทำการสอนในปีฮิจเราะห์ที่ 484
การมุ่งสู่แนวทางตะเซาวุฟและความสันโดษของท่าน
อิหม่ามอัลฆอซาลีได้ทำการสอนวิชาการต่างๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ท่านนั้นมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ มีผู้คนหลั่งไหลมาศึกษากับท่านเป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดแล้ว ท่านก็สลัดความมีเกียรติ ความสูงส่ง อีกทั้งความรุ่งโรจน์ต่างๆไว้เบื้องหลัง โดยออกเดินทางสู่บัยตุ้ลลอฮ์ นครมักกะห์ เพื่อประกอบพิธีฮัจย์ ต่อมาท่านก็มุ่งหน้าสู่เมืองชาม ในปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 488 โดยขอให้น้องชายของท่านทำการสอนแทนท่าน ต่อมาท่านก็เดินทางไปยังบัยตุ้ลมักดิส แล้วจึงเดินทางกลับมาสู่เมืองชามอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้พำนักอยู่ในมัสยิดอัลอุมาวี่ ซึ่งสถานที่พักของท่านนี้ปัจจุบันเรียกว่า الغزالية ท่านจะสวมเสื้อผ้าธรรมดาเรียบง่าย รับประทานอาหารแต่พอดี ตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆ เช่นไปเยี่ยมเยียนสุสาน และมัสยิดต่างๆ แล้วท่านก็ได้เริ่มทำการแต่งหนังสือ إحياء علوم الدين อีกทั้งยังฝึกฝน โดยการบังคับตนให้ทำอิบาดะห์ แสดงความภักดี และแสดงความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ด้วยการประกอบกุศลกิจต่างๆมากมาย ต่อมาท่านก็เดินทางกลับมาสู่ กรุงแบกแดดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเข้าร่วมรับฟังการบรรยายศาสนธรรม พร้อมทั้งร่วมสนทนากับผู้รู้แจ้งทั้งหลาย
ในช่วงท้ายของชีวิต ท่านได้เดินทางกลับไปยังกรุงคูรอซาน และได้สอนที่สำนัก النظامية ที่เมืองนัยซาบูร نيسابور อยู่ระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาท่านก็เดินทางกลับบ้านเกิดคือเมืองตูซ และได้จัดตั้งสถาบันสำหรับนักนิติศาสตร์อิสลาม ที่ข้างๆบ้านของท่าน โดยตั้งสำนักซูฟีอยู่ใกล้ๆกัน
ท่านอิหม่ามได้ใช้ชีวิตบั้นปลายของท่านทำการสอนอัลกุรอานและวิชาการแขนงต่างๆ ตลอดจนเพียรพยายามประกอบศาสนกิจอาสา เช่น ละหมาด ถือศีลอด และอื่นๆ จนกระทั่งท่านสิ้นชีวิต
ท่านนั้นได้รับสถานภาพที่สูงส่ง คอยแนะนำมนุษย์สู่หนทางที่ถูกต้อง และยังเป็นที่รักยิ่งของบุคคลทั่วไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่อิจฉาริษยาและเกลียดชังท่าน ดังมีรายงานมาว่า มีชายคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ ณ เขตพรมแดนของเมืองอเล็กซานเดรีย เขามีความโกรธและเกลียดชังในตัวท่านอิหม่ามอัลฆ่อซาลีมาก อยู่มาคืนหนึ่ง เขาได้ฝันเห็นท่านนบีมุฮำมัด ศ็อลฯ โดยมีท่านอบูบักร์และท่านอุมัรยืนอยู่ข้างๆ และอิหม่ามอัลฆอซาลีก็ยืนอยู่ต่อหน้าเขา พลางกล่าวว่า ? โอ้ท่านร่อซู้ลฯ ชายคนนี้ได้กล่าวประณาม ให้ร้าย และทำให้ฉันได้รับความเดือดร้อน ท่านนบีศ็อล ฯ จึงกล่าวในฝันนั้นว่า ? จงนำแซ่มา ? แล้วนบีก็มีคำสั่งให้โบยชายคนนั้นด้วยแซ่ (อันเนื่องมาจากการกล่าวประณามท่านอิหม่ามอัลฆ่อซาลี) เมื่อชายคนนั้นตื่นขึ้นมา ก็พบว่า มีรอยแซ่นั้นอยู่ที่หลังของเขา
ท่านอิหม่ามอัลฆ่อซาลี เสียชีวิตที่เมืองตูซ วันจันทร์ที่ 4 เดือนยะมาดิ้ลอาเคร ฮิจเราะห์ศักราชที่ 550
ตำราของท่านอิหม่ามอัลฆ่อซาลี
البسيط الوسيط الوجيز الخلاصة
المستصفي المنحول تحصين الأدلة شفاء العليل
الأسماء الحسنى الردعلى الباطلة منهاج العابدين إحياءعلوم الدين
ขออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดประทานความเมตตาแก่ท่านอิหม่ามอัลฆ่อซาลี
www.miftahcairo.com