เนื้อแท้ของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ (1)
อบูอัชบาล แปลและเรียบเรียง
เนื่องจากสมญา "อะฮฺลุสสุนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ" ที่ถูกเรียกขานต่อชาวมุสลิมที่ยืนหยัดอยู่บนสัจธรรมแห่งอิสลามหรือสุนนะฮฺรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นับตั้งแต่สมัยบรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นต้นมา ได้กลายเป็นคำกล่าวขานที่โจ่งครึ่มในหมู่พี่น้องที่ใฝ่ฝันต่อหลักการอิสลามที่มาจากอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์อย่างแท้จริงในสมัยหลังนี้ ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งสำหรับชาวมุสลิมที่จะต้องทำความรู้จักกับ "เนื้อแท้ของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ" บนพื้นฐานของอัลกุรอ่านและอัสสุนนะฮฺ พร้อมกับคำอธิบายและจุดยืนของบรรดาอุละมาอ์สะลัฟผู้เป็นทายาทของเหล่านบี เพื่อที่จะได้ยึดปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคมรอบข้าง และประเทศชาติ พร้อมกับหลีกห่างจากความหลงผิดและความเบี่ยงเบนทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในหมู่ชาวมุสลิม ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ประสาของพวกเขาต่อ "เนื้อแท้ของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายศตวรรษนี้ เพราะไม่เป็นที่สงสัยในหมู่ชาวมุสลิมว่า "อะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ" เท่านั้นที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่รอดพ้นจากไฟนรกในหมู่ประชาชาติของนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (อัลฟิรเกาะฮฺ อันนาญิยะฮฺ)
ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนอย่างยิ่งว่า ความพยายามเพื่อทำความเข้าใจกับ "เนื้อแท้ของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ" ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความอิคลาส เปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมัซฮับใดมัซฮับหนึ่ง นอกจากสัจธรรมที่มาจากอัลกุรอ่านและการชี้นำของหะดีษรสูลุลลอฮฺ และการอธิบายของบรรดาอุละมาอ์สะลัฟเท่านั้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และจงวิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺตลอดอยู่เวลา เพื่อให้พระองค์ทรงชี้ทางเราสู่เส้นทางที่เที่ยงตรง
((اهدنا الصراط المستقيم صراط الذين أنعمت عليهم غير المغضوب عليهم ولا الضالين))
"ขอพระองค์ทรงนำทางพวกข้าพระองค์ซึ่งเส้นทางอันเที่ยงตรง (คือ) เส้นทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปราณแก่พวกเขา จากบรรดานบี รสูล ซิดดีกีน ชุฮะดาอ์ และศอลิหีน มิใช่เส้นทางของชาวยิวที่ถูกกริ้ว และมิใช่เส้นทางของชาวนัซรอนีที่หลงผิด"[1] ขอพระองค์ทรงตอบรับด้วยเถิด. อามีน...ความหมายของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ
เพื่อให้เข้าใจถึง "เนื้อแท้ของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ" อย่างถ่องแท้ เราจึงจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของ "อัสสุนนะฮฺ" และ "อัลญะมาอะฮฺ" อย่างละเอียดเสียก่อน ดังต่อไปนี้
1- ความหมายของ อัสสุนนะฮฺ
1.1 ความหมายด้านภาษา
อัสสุนนะฮฺในด้านภาษา หมายถึง เส้นทาง และวิธีการ[2]
1.2 ความหมายของ อัสสุนนะฮฺจากหะดีษและอุละมาอ์สะลัฟ
อัสสุนนะฮฺตามที่มีระบุในหะดีษรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม และตามความเข้าใจของอุละมาอ์สะลัฟมีดังต่อไปนี้
ความหมายที่หนึ่ง : อัสสุนนะฮฺ หมายถึง วะหฺยู (วิวรณ์) ของอัลลอฮฺที่ไม่ใช่อัลกุรอ่าน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิสัลลัมนำมาเผยแผ่ที่ไม่ใช่อัลกุรอ่าน ดังเช่นคำพูดของท่านที่ว่า
((تَرَكْتُ فِيكُمْ أَمْرَيْنِ لَنْ تَضِلُّوا مَا تَمَسَّكْتُمْ بِهِمَا: كِتَابَ اللَّهِ وَسُنَّةَ نَبِيِّهِ))[3]
"ฉันได้ทิ้งสองสิ่งไว้(เป็นมรดก)แก่พวกเจ้า ซึ่งพวกเจ้าจะไม่หลงทางตราบใดที่พวกเจ้ายังคงยึดมั่นอยู่กับสองสิ่งนี้ (คือ) คัมภีร์ของอัลลอฮฺ (อัลกุรอ่าน) และสุนนะฮฺ(แนวทางการดำเนินชีวิตของ)ศาสนทูตของพระองค์".
คำจำกัดความของ "อัสสุนนะฮฺ" ตามความหมายของหะดีษนี้เหมือนกับความหมายของคำว่า "อัลหิกมะฮฺ" ที่ระบุในอัลกุรอ่านควบคู่กับคำว่า "อัลกิตาบ" ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
((ويعلمهم الكتاب والحكمة))[4]
"และเขา(นบีมุหัมมัด)ได้สอนคัมภีร์อัลกุรอ่านและอัสสุนนะฮฺแก่พวกเขา(บรรดาชาวอมมีย์ที่ไม่รู้จักอ่านเขียน)"
นั่นแหละคือความหมายของ "อัลหิกมะฮฺ" ในอายะฮฺนี้ตามทัศนะของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์[5].
และอัสสุนนะฮฺยังมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "อัลหะดีษ" อีกด้วย เพราะบรรดาสะลัฟจำนวนไม่น้อยที่ใช้คำว่า "อัลกุรอ่านและอัสสุนะฮฺ" ที่หมายถึง "อัลกุรอ่านและอัลหะดีษ" วัลลอฮุอะอ์ลัม
อัสสุนนะฮฺตามความหมายนี้เหมือนกับคำจำกัดความของบรรดาอุละมาอ์หะดีษ และส่วนหนึ่งของอุละมาอ์อุศูลและภาษา[6]
นี่คือสองสิ่งที่เป็นแหล่งที่มาของศาสนาอิสลาม ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นวะหฺยูของอัลลอฮฺ โดยอัลกุรอ่านจะเป็นฐานหลักและแม่บทของศาสนา ส่วนอัสสุนนะฮฺทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงและอธิบายความหมายของอัลกุรอ่าน (และเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียด)
หัสสาน บิน อะฏียะฮฺ[7] กล่าวว่า
[ كَانَ جِبْرِيْلُ يَنْزِلُ عَلى رَسُوْلِ اللهِ e بِالسُّنَّةِ كَمَا يَنْزِلُ بِالْقُرْآنِ ]
"ญีบรีลจะประทานอัสสุนนะฮฺแก่รสูลุลลอฮฺเช่นเดียวกับที่เขาประทานอัลกุรอ่านมาแก่ท่าน"[8].
อิหม่ามอัชชาฟิอีย์[9]กล่าวว่า"แท้จริง อัสสุนนะฮฺ เป็นคำอธิบายต่อความหมายของอัลกุรอ่านที่ถูกประทานลงมาอย่างรวบรัด[10]"
ความหมายที่สอง : อัสสุนนะฮฺหมายถึง ทุกวิถีการดำเนินชีวิตหรือของรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจ จริยธรรม อิริยาบถ การเป็นผู้นำ และทุกๆสิ่งที่ท่านนำมาเผยแผ่
อัสสุนนะฮฺในความหมายนี้จะตรงข้ามกับคำว่า "บิดอะฮฺ" หรือการอุตริกรรม ดังเช่นคำพูดของรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า
((... وَاللهِ إِنِّي لَأَخْشَاكُمْ للهِ وَأَتْقَاكُمْ لَهُ،...فَمَنْ رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي))[11]
"...ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ แท้จริงฉันเป็นคนที่ยำเกรงอัลลอฮฺมากกว่าพวกเจ้า ดังนั้นผู้ใดที่ผินหลัง(ละทิ้ง/ไม่ชอบ)ให้กับสุนนะฮฺของฉัน เขาก็ไม่ใช่ประชาชาติของฉัน"
ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวอีกว่า
((أُوصِيكُمْ بِتَقْوَى اللهِ وَالسَّمْعِ وَالطَّاعَةِ وَإِنْ عَبْدًا حَبَشِيًّا فَإِنَّهُ مَنْ يَعِشْ مِنْكُمْ بَعْدِي فَسَيَرَى اخْتِلاَفًا كَثِيرًا فَعَلَيْكُمْ بِسُنَّتِي وَسُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الْمَهْدِيِّينَ الرَّاشِدِينَ تَمَسَّكُوا بِهَا وَعَضُّوا عَلَيْهَا بِالنَّوَاجِذِ...))[12]
"ฉันขอสั่งเสียแก่พวกเจ้าด้วยการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง(ของผู้นำของพวกเจ้า) ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเพียงทาสชาวเอธิโอเปียก็ตาม เพราะแท้จริงผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่ยังมีชีวิตหลังจากฉัน เขาจะได้พบกับความขัดแย้งที่มากมาย(ในหมู่ประชาชาติของฉัน) ดังนั้นพวกเจ้าจงยึดมั่นในสุนนะฮฺของฉัน"และสุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ปราดเปรื่องและอยู่ในทางนำ จงยึดมั่นกับมันไว้ และจงขบมัน(ให้แน่น)ด้วยฟันกราม..."
อัสสุนนะฮฺ ในความหมายของหะดีษต่างๆข้างต้น จะครอบคลุมสิ่งต่างๆที่รสูลุลลอฮฺได้นำมาเผยแผ่จากวะหฺยูของอัลลอฮฺ บัญญัติศาสนาของพระองค์ แบบอย่างการปฏิบัติศาสนกิจชองท่านรสูลและคำอบรมสั่งสอนของท่าน รวมทั้งแบบอย่างการปฏิบัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบอย่างที่มาจากบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ได้รับทางนำทั้งสี่ท่านที่ได้รับการยอมรับจากรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ "อัสสุนนะฮฺ" ในที่นี้ก็คือ "อัลอิสลาม" ที่ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้นำมาเผยแผ่ ทั้งโดยความหมายรวมและโดยรายละเอียด
นี่แหละคือความหมายของอัสสุนนะฮฺ ตามที่มีรายงาน(ยืนยัน) จากอัลหะสัน อัลบัศรีย์[13] อัลเอาซาอีย์[14] และอัลฟุฎอยล์[15] ขออัลลอฮฺทรงประทานความเมตตาแก่พวกเขา[16]
นี่แหละคือเส้นทางที่เที่ยงตรง นี่แหละคือศาสนาที่แท้จริง และนี่แหละคือวิถีชีวิตของชาวมุอ์มีนผู้ศรัทธามั่น
บิชรฺ บิน อัลหาริษ[17] กล่าวว่า
((الإِسْلاَمُ هُوَ السُّنَّةُ، وَالسُّنَّةُ هِيَ الإِسْلاَمُ))
"อัลอิสลามคืออัสสุนนะฮฺ และอัสสุนนะฮฺคืออัลอิสลาม"[18]
ข้อเท็จจริงข้างต้นได้รับการชี้แจงโดยอัลบัรบะฮารีย์[19] ว่า
"อัลอิสลามคืออัสสุนนะฮฺ และอัสสุนนะฮฺคืออัลอิสลาม และในระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ จะไม่มีสิ่งใดสามารถยืนหยัดอยู่ได้(อย่างโดดเดี่ยว) เว้นแต่ต้องมีอีกสิ่งหนึ่งยืนหยัดอยู่เคียงคู่"[20].
หมายความว่า อิสลามจะไม่สามารถผงาดและยืนหยัดอยู่ได้หากปราศจากสุนนะฮฺ และในทางกลับกัน สุนนะฮฺก็ไม่สามารถผงาดและยืนหยัดอยู่ได้ หากปราศจากอิสลาม เพราะสุนนะฮฺคือตัวบทและรายละเอียดของการปฏิบัติตามของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมต่อทุกๆคำสอนของอัลลอฮฺที่มีระบุในอัลกุรอ่าน ที่มีนาม "อัลอิสลาม"
บางที นี่แหละคือความหมายคำพูดของ อบูบะกัร อัศศิดดีกที่ว่า
[ السُّنَّةُ حَبْلُ اللهِ الْمَتِيْنُ ]
"สุนนะฮฺ คือเส้นไย(ศาสนา)ที่เหนียวแน่นและมั่นคงของอัลลอฮฺ"[21]
มักหูล[22] กล่าวว่า
[السُّنَّةُ سُنَّتَانِ: سُنَّةٌ الأَخْذُ بِهَا فَرِيْضَةٌ وَتَرْكُهَا كُفْرٌ، وَسُنَّةٌ الأَخْذُ بِهَا فَضِيْلَةٌ وَتَرْكُهَا إِلَى غَيْرِهَا حَرَجٌ ]
" สุนนะฮฺมีอยู่สองประเภท
- ประเภทที่หนึ่ง คือสุนนะฮฺที่การยึดมั่นกับมันเป็นสิ่งที่จำเป็น(วาญิบ) และการละทิ้งมันจะกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
- ประเภทที่สอง คือสุนนะฮฺที่การยึดมั่นกับมันเป็นสิ่งที่ประเสริฐ และการละทิ้งมันและหันไปยึดกับสิ่งอื่นเป็นสิ่งที่อึกอักและวิกฤตที่ล่อแหลม(ไม่ดี)"[23].
แน่นอนอย่างยิ่งว่า "อัสสุนนะฮฺ" ในความหมายนี้จะครอบคลุมอุศูล(หลักมูลฐาน)ของศาสนาและฟุรูอฺ(แขนงย่อย) ต่างๆ ที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งอัลกุรอานและอัลหะดีษ และความหมายของ "อัสสุนนะฮิ" เช่นนี้มีความมายที่ครอบคลุมและกว้างขวางกว่าความหมายของ "อัลหะดีษ" . วัลลอฮุอะอฺลัม
"อัสสุนนะฮฺ" ในความหมายนี้ตรงข้ามกับคำว่า "บิดอะฮฺ" อันหมายถึงสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ที่อิสลามปฏิเสธและกล่าวตำหนิ
รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
[ مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ ]
"ผู้ใดปฏิบัติกิจการ(ทางศาสนา)ใดๆที่ไม่มีระบุอยู่ในกิจการ(ศาสนา)ของเรา กิจการนั้นจะถูกปฏิเสธ"[24].
[ مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ]
"ผู้ใดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาในกิจการศาสนาของฉันอันนี้ ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่มีระบุอยู่เดิม ดังนั้นกิจการนั้นจะถูกปฏิเสธและไม่ถูกยอมรับ"[25]
เพราะสิ่งดังกล่าวถือว่าเป็นอุตริกรรม(บิดอะฮฺ)ที่ถูกประดิษฐ์และเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในทัศนะของอิสลาม
รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
[ ?فَإِنَّ خَيْرَ الْحَدِيْثِ كِتَابُ اللهِ، وَخَيْرَ الْهَدْيِ هَدْيُ مُحَمَّدٍ e، وَشَرَّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا، وَكُلَّ بِدْعَةٍ ضَلاَلَةٌ]
"... ดังนั้น (พึงทราบเถิดว่า) แท้จริง คำพูดที่ประเสริฐที่สุด คือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และการชี้นำที่ประเสริฐที่สุดคือการชี้นำของนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และกิจการศาสนาที่เลวทรามที่สุด คือการอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และทุกๆการอุตริกรรมล้วนเป็นสิ่งที่หลงผิด".[26]
รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
[ مَا أَحْدَثَ قَوْمٌ بِدْعَةً إِلاَّ رُفِعَ مِثْلُهَا مِنَ السُّنَّةِ ]
"ไม่มีการสร้างสิ่งอุตริกรรมโดยชนกลุ่มใดๆแม้เพียงสิ่งเดียว นอกจากว่าสุนนะฮฺที่มีความคล้ายคลึงกันจะถูกยกเลิกหรือสูญหายตามไปด้วย"[27]
อุบัยย์ บิน กะอับ[28] อิบนุ มัสอูด[29] และคนอื่นๆ กล่าวว่า
[ اَلْقَصْدُ فِي السُّنَّةِ خَيْرٌ مِنَ الاِجْتِهَادِ فِي الْبِدْعَةِ ]
"ความพอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่ในสุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะเป็นการดีกว่าความพยายามที่จะปฏิบัติในบิดอะฮฺ"[30]
(หมายถึง สิ่งอุตริกรรมที่ถูกเพิ่มหรือสร้างขึ้นมาใหม่ และไม่มีแบบอย่างที่ถูกต้องจากสุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมแต่อย่างใด)
สุฟยาน บิน สะอีด อัษเษารีย์[31] กล่าวว่า
[ اِتَّبِعِ السُّنَّةَ وَدَعِ الْبِدْعَةَ ]
"เจ้าจงปฏิบัติตามสุนนะฮฺ และจงละทิ้งสิ่งอุตริกรรม"[32]
นิยามของบิดอะฮฺ
อบู มุหัมมัด อัลมุรตะอิช[33] กล่าวว่า
((سُئِلَ أَبُوْ حَفْصٍ: مَا الْبِدْعَةُ؟. قَالَ:"التَّعَدِّي فِي الأَحْكَامِ، وَالتَّهَاوُنُ بِالسُّنَنِ، وَاتِّبَاعُ الآرَاءِ وَالأَهْوَاءِ، وَتَرْكُ الاِقْتِدَاءِ وَالاِتِّبَاعِ"))
"อบู หัฟศฺ[34] ถูกถามว่า "บิดอะฮฺคืออะไร? " ท่านตอบว่า "บิดอะฮฺ คือ การบุกรุกและคุกคาม[35] ทางบัญญัติศาสนา การมักง่ายต่อสุนนะฮฺของท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และการปฏิบัติตามทัศนะของผู้คนและอารมณ์ความรู้สึก พร้อมกับละทิ้งการเจริญรอยตามและการปฏิบัติตามสุนนะฮฺ (อันเป็นหลักชัยและแบบอย่างสำหรับการดำเนินชีวิต)"
อิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า "ความหมายของคำว่า "ทุกๆสิ่งอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) คือความหลงผิด" คือทุกๆสิ่งที่ถูกสร้างและเพิ่มขึ้นมาใหม่กิจการศาสนาโดยปราศจากหลักฐานจากบัญญัติอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่เฉพาะเจาะจง หรือหลักฐานที่มีนัยยะรวม"[36]. วัลลอฮุอะอฺลัม
อะกีดะฮฺคือรากฐานของอัสสุนนะฮฺ
"อัสสุนนะฮฺ" ในความหมายนี้ จะครอบคลุมรูปแบบการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆทั้งหมด ทั้งด้านการศรัทธา(อะกีดะฮฺ) ด้านการภักดี(อิบาดะฮฺ) ด้านการสังคมและการซื้อขาย (มุอามะลาต) ด้านการเชิญชวน (ดะวะฮฺ) ด้านการอบรม (ตัรบิยะฮฺ) และด้านการเมืองการปกครอง (สิยาสะฮฺ)
เพียงแต่ ในบางโอกาส "อัสสุนนะฮฺ" มักจะถูกใช้เรียกในสิ่งที่เกี่ยวกับอุศูลุดดีน และอะกีดะฮฺ เท่านั้น การเรียก อัสสุนนะฮฺ ในความหมายเฉพาะนี้ เริ่มมีการใช้กันในสมัยศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราช เพราะในช่วงศตวรรษดังกล่าวได้กำเนิดกลุ่มอิสลามต่างๆ (ฟิร็อก) ที่มีความเบี่ยงเบนทางด้านอะกีดะฮฺ อาทิเช่น กลุ่มอัลมุอฺตะซิละฮฺ อัลรอฟิเฎาะฮฺ และอะฮฺลุลกะลาม เป็นต้น
อิบนุเราะญับ[37] กล่าวว่า "และมีอุละมาอฺในยุคหลังมากมายที่ได้เรียก "อัสสุนนะฮฺ" สำหรับสิ่งที่มีความเกี่ยวพันธ์กับอะกีดะฮฺเป็นการเฉพาะ เพราะโดยแท้จริงแล้ว อะกีดะฮฺคือรากฐานของศาสนา ซึ่งบรรดาผู้ที่เบี่ยงเบนออกจากมันจะตกอยู่ในบ่วงของอันตรายและความหายนะที่ใหญ่หลวง"[38]
ด้วยเหตุนี้ เชคซัยนุลอาบิดีน บิน มุหัมมัด อัลฟฟาฏอนีย์ จึงกล่าวว่า "และความชั่วร้ายทั้งหลายเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะการชอบสร้าง (สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ) โดยพวกเคาะลัฟ (ด้านอะกีดะฮฺ) หมายถึงพวกหลังจากศตวรรษที่สามแห่งฮิจญ์เราะฮิศักราช"[39]
--------------------------------------------------------------------------------
[1] สูเราะฮฺ อัลฟาติหะฮฺ (6-7)
[2] ลิสานุล อะร็อบ ของ อิบนุมันซูร 13/220-228, อัศศิหาหฺ ของ อัลเญาฮะรีย์ 5/2139
[3] เศาะหีหฺ : บันทึกโดย มาลิก ใน อัลมุวัฏเฏาะ (899), อัลหากิม ในอัลมุสตัดร็อก 1/93 (ดู เศาะหีหฮ อัลญามิอ์ อัศเศาะฆีร ของ อัลบานีย์ 3/39)
[4] ซูเราะฮฺ อัลญุมุอะฮฺ (2)
[5] อัรริซาละฮฺ หน้า 106
[6] ดู ฟัตหุลบารีย์ ของอัลอัสเกาะลานีย์ 13/245, อัลมุวาฟะกอต ของ อัชชาฏิบีย์ 4/3, ลิสานุลอะร็อบ ของ อิบนุมันซูร 13/225
[7] ท่านคือ อิหม่ามหุจญะฮฺ หัสสาน บิน อะฏียะฮฺ อัลมุหาริบีย์ อบูบักร เป็นชาวดะมัสกัส เป็นอุละมาอ์ที่น่าเชื่อถือและชอบอิบาดะฮฺ เป็นอุละมาอ์ชั้นแนวหน้าท่านหนึ่ง เสียชีวิตหลังจากปี ฮ.ศ. ที่ 120 -130 (ดู หิลยะฮฺ อัลเอาลิยาอ์ 6/70-79, ซิยัรอะอฺลาม อันนุบะลาอ์ 5/466-467, ตัฮซีบอัตตัฮซีบ 2/219-220
[8] อัลชัรหฺ วัลอิบานะฮฺ ของ อิบนุบัตเฏาะฮฺ หน้า 128
[9] ท่านคืออิหม่ามมุจญ์ตะฮิดผู้ค้ำจุนสุนนะฮฺและผู้นำแห่งเหล่าฟุกอฮาอ์ อบูอับดุลลอฮฺ มุหัมมัด บิน อิดรีส บิน อัลอับบาส บิน อุษมาน บินชาฟิอ์ อัลกุรอชีย์ อัลมุตเฏาะลิบีย์ เป็นที่รู้จักในกันในฐานะผู้ฟื้นฟูอิสลาม(มุญัดดิด)แห่งต้นศตวรรษที่สาม และเป็นที่พาดพิงของมัซฮับชาฟิอีย์ เสียชีวิตที่อียิปต์เมื่อปี ฮ.ศ. 204 (อัลอะอ์ลาม 6/26)
[10] อัรริสาละฮฺ ของ อัชชาฟิอีย์ หน้า106
[11] มุตตะฟัก อะลัยฮฺ: อัลบุคอรีย์ (5063), มุสลิม (1041)
[12] เศาะหีห : อบูดาวูด (4607), อัตติรมิซีย์ (2828), อิบนุมาญะฮฺ (4443) (ดู อิรวาอ์ อัลเฆาะลีล ของ อัลบานีย์ 8/107)
[13] ท่านคือ อัลหะสัน บิน อบู อัลหะสัน ยะสารฺ เมาลาเซด บิน ษาบิต อัลอันศอรีย์ อบูสะอีด อัลบัศรีย์ อุละมาอ์ในยุคตาบิอีย์คนหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือ ประเสริฐ และฟะกีฮฺ (ปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลาม) เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 110 (สิยัรอะอฺลาม อันนุบะลาอ์ 4/563-588, ตะฮฺซีบ อัตตะฮฺซีบ 2/231-236)
[14] ท่านคือ ชัยคุลอิสลาม ปราชญ์ผู้รอบรู้ของชาวชาม ฟะกีฮฺผู้มีความน่าเชื่อถือ อับดุลเราะหฺมาน บิน อัมรู บินยะหฺมิด อบูอับดุลเราหฺมาน อัลเอาซาอีย์ อัชชามีย์ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 157 อิสหาก บิน รอฮาวายฮ์ กล่าวว่า "เมื่อมีทัศนะที่เห็นพ้องกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างสุฟยาน อัษเษารีย์ อัลเอาซาอีย์ และมาลิก ดังนั้นนั่นแหละคือสุนนะฮฺ" (สิยัรอะอฺลาม อันนุบะลาอ์ 7/107-133, ตะฮฺซีบ อัตตะฮฺซีบ6/216-219)
[15] ท่านคือ ฟุฎอยล์ บิน อิยาฎ บิน มัสอูด อัตตะมีมีย์ อัลยัรบูอีย์ อบูอาลี เชคประจำมัสยิดหะรอมมักกะฮฺ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นหนึ่งในบรรดาคณาจารย์ของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ ถือกำเนิดที่เมืองสะมัรกันด์ เมื่อปี ฮ.ศ. 105 และเสียชีวิตที่มหานครมักกะฮฺ เมื่อปี ฮ.ศ. 187 (อับอะอ์ลาม 5/153)
[16] ดู ญามิอ์ อัลอุลูม วัลหิกัม ของอิลนุเราะญับ หน้า 320
[17] ท่านคือ บิชรฺ บิน อัลหาริษ บิน อาลี บิน อับดุลเราะหฺมาน อัลมัรวะซีย์ อบูนัศรฺ เป็นที่รู้จักกันในนามของ บิชรฺ อัลหาฟีย์ อิหม่ามที่น่าเชื่อถือ สมถะ และยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 227 (หิลยะตุลเอาลิยาอ์ 8/338 สิยัรอะอฺลาม อันนุบะลาอ์ 10/469)
[18] ชัรหุสสุนนะฮฺ ของ อัลบัรบะฮารีย์ หน้า 59
[19] ท่านคือ อัลหะสัน บิน อาลี บิน เคาะลัฟ อัลบัรบะฮารีย์ อัลบัฆดาดีย์ อบู มุหัมมัด เป็นเชค(ผู้ทรงความรู้)ของมัซฮับหันบะลีย์ในสมัยท่าน ท่านเป็นอุละมาอ์คนหนึ่งที่มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อบรรดาอุตริชน ไม่ว่าจะด้วยมือทั้งสองข้างของท่าน หรือคำพูดของท่าน ท่านได้ทิ้งงานเขียนที่ทรงคุณค่าหลายเล่ม อาทิเช่น หนังสือ "ชัรหุสสุนนะฮฺ" ที่เรากำลังอ้างถึง ท่านเสียชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 329 (เฏาะบะกอต อัลหะนาบิละฮฺ หน้า 295, ชะซะรอต อัซซะฮับ 2/319)
[20] ชัรหุสสุนนะฮฺ ของ อัลบัรบะฮารีย์ หน้า 126
[21] อัลอิบานะฮฺ ของ อิบนุ บัฏเฏาะฮฺ หน้า 120
[22] ท่านคือ มักหูล (อัชชามีย์) อัดดิมัชกีย์ อบู อับดุลลอฮฺ อัลฟะกีฮฺ อิหม่ามของชาวเมืองชาม เป็นตาบิอีย์รุ่นเล็กที่น่าเชื่อถือ เสียชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ. ที่ 112-118 (สิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอ์ /155-160, ตะฮฺซีบ อัตตะฮฺซีบ /258-260)
[23] อัดดาริมีย์ ในอัสสุนัน 1/145, อิบนุบัฏเฏาะฮฺ ใน อัลอิบานะฮฺ (101) ด้วยสายรายงานที่หะสัน
[24] มุสลิม, เลขที่ 4468
[25] มุตตะฟัก อะลัยฮฺ : อัลบุคอรีย์, เลขที่ 2550, มุสลิม, เลขที่ 1718
[26] มุตตะฟัก อะลัยฮฺ : อัลบุคอรีย์, เลขที่ 2697, มุสลิม, เลขที่ 4467
[27] อะหมัด, อัลมุสนัด, 4/105, อัลมัรวะซีย์ อัสสุนนะฮฺ, หน้า 27, อัลบัซซารฺ, กัชฟฺ อัลอัสตารฺ, 1/82 : เป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ (ดู อัลอัลบานีย์, เฎาะอีฟ อัลญามิอฺ อัศเศาะฆีรฺ, เลขที่ 4983)
[28] ท่านคือ อุบัยย์ บิน กะอับ บินก็อยส์ บิน อันนัจญารฺ ผู้นำแห่งนักอ่านอัลกุรอาน(กอรีย์) อบู อัลมุนซิร อัลอันศอรีย์ เป็นหนึ่งในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่เข้าร่วมในบัยอะฮฺ อัลอะเกาะบะฮฺ และสงครามบะดัรฺ เป็นผู้ที่รวบรวมอัลกุรอานในสมัยที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมยังมีชีวิตอยู่ และเป็นผู้นำด้านวิชาการและการปฏิบัติศาสนกิจ เสียชีวิตเมื่อปี 32 ฮ.ศ. (อัซซะฮะบีย์, สิยัรอะอฺลามอันนุบะลาอฺ, 1/389-402, อัลอัสเกาะลานีย์, ตะฮฺซีบอัตตัฮซีบ, 1/164)
[29] ท่านคือ อับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด บิน ฆอฟิล บิน หุบัยบฺ อบู อับดุลเราะหฺมาน อัลฮุซะลีย์ อัลมักกีย์ เศาะหาบะฮฺที่ถูกเล่าว่า เป็นคนที่เข้ารับอิสลามคนที่ 23 ก่อนที่นบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจะยึดเอาดารุลอัรกอมเป็นศูนย์กลางการดะวะฮฺ และถูกขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า อิบนุ อมมุอับดิน เสียชีวิต ณ เมืองมะดีนะฮฺ ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน บิน อัฟฟาน เมื่อปี 32 ฮ.ศ. (อัซซะฮะบีย์, สิยัรอะอฺลามอันนุบะลาอฺ, 1/461-500, อัลอัสเกาะลานีย์, ตะฮฺซีบอัตตัฮซีบ, 6/24-25)
[30] ดูคำพูดของอิบนุมัสอูด ใน : (อัดดาริมีย์, อัสสุนัน, 1/72, อัลหากิม, อัลมุสตัดร็อก, 1/103 : อัลหากิมกล่าวว่าเป็นหะดีษที่เศาะหีหฺ และอัซซะฮะบีก็เห็นพ้อง, อัลมัรวะซีย์, อัสสุนนะฮฺ, หน้า 25, อัลลาลิกาอีย์, ชัรหุ อุศูล อิอฺติกอด, 1/55,88, อัฏเฏาะบะรอนีย์, อัลมุอฺญัมอัลกะบีร, เลขที่ 10488) ส่วนคำพูดของอุบัยย์ บิน กะอับ ดูใน (อิบนุอัลมุบารัก, กิตาบอัซซุฮฺดิ, 1/21-22, อบูนุอีม, หิลยะฮฺ อัลเอาลิยาอฺ, 2/252-253)
[31] ท่านคือ สุฟยาน บิน สะอีด บิน มัสรูก อัษเษารีย์ อบู อับดุลลอฮฺ อัลกูฟีย์ เป็นชาวตะบิอีย์ และถูกขนานนามว่าเป็น อะมีรุลมุอฺมินีน (ผู้นำชาวมุสลิม) ด้านการรายงานหะดีษ ชัยคุลอิสลาม และอิหม่ามอัลหุฟฟาซ (ผู้นำของบรรดานักท่องจำ) ผู้นำของปวงปราชญ์ด้านวิชาการและความยำเกรง ท่านได้ทิ้งงานเขียนไว้หลายเล่ม อาทิเช่น อัลญามิอฺอัลกะบีร, อัลญามิอฺอัศเศาะฆีร ฯลฯ อัลเอาซาอีย์กล่าวชมเชยท่านว่า "หากมีคนกล่าวแก่ฉันว่า เจ้าจงคัดเฟ้นชายคนหนึ่งสำหรับประชาชาตินี้ เพื่อธำรงและปกป้องคัมภีร์ของอัลลอฮฺและสุนนะฮฺของท่านนบีไว้ แน่แท้ ฉันย่อมต้องเลือกสุฟยาน อัษเษารีย์ สำหรับพวกเขา" ท่านเสียชีวิต เมื่อปี 161 ฮ.ศ. (อิบนุสะอฺดิ, อัฏเฏาะบะกอต, 6/257, อัซซะฮะบีย์, สิยัรอะอฺลามอันนุบะลาอฺ, 7/229-279, อัลอัสเกาะลานีย์, ตะฮฺซีบอัตตัฮซีบ, 4/99-102, หาญี เคาะลีฟะฮฺ, กัชฟฺ อัซซุนูน, 5/387, อัดดาวูดีย์, เฏาะบะกอต อัลมุฟัสสิรีน, 1/193-196, อัซซิริกลีย์, อัลอะอฺลาม, 3/104)
[32] อัลบะเฆาะวีย์, ชัรหฺ อัสสุนนะฮฺ, 1/217
[33] ท่านคือ อัซซาฮิด อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมมัด อบู มุหัมมัด อัลมุรตะอิช อันนัยสาบูรีย์ อัลหีรีย์ เป็นลูกศิษย์ของอบูหัฟศฺ อันนัยสาบูรีย์ และสหายของอบูอุษมาน อัลหีรีย์ และอัลญุนัยดฺ เสียชีวิตเมื่อปี 328 ฮ.ศ. (อัซซะฮะบีย์, สิยัรอะอฺลามอันนุบะลาอฺ, 15/230-231, อบูนุอีม, หิลยะฮฺ อัลเอาลิยาอฺ, 10/355)
[34] ท่านคือ เชค อัมรู บิน สะลิมะฮฺ อบู หัฟศิน อัลหัดดาด อันนัยสาบูรีย์ เชคคุรอสาน เสียชีวิตเมื่อปี 264 ฮ.ศ. (อัซซะฮะบีย์, สิยัรอะอฺลามอันนุบะลาอฺ, 12/510, อบู นุอีม, หิลยะฮฺ อัลเอาลิยาอฺ, 10/229)
[35] อัลฮะเราะวีย์, ซัมมุ อัลกะลาม, 6/37-38, อัชชาฏิบีย์, อัลอิอฺติศอม, 1/127
[36] อัลอัสเกาะลานีย์, ฟัตหุลบารีย์, 13/254
[37] ท่านคือ อิหม่าม หาฟิซ ฟะกีฮฺ อบู อัลฟิร็อจญ์ อับดุลเราะหฺมาน บิน อะหมัด บิน เราะญับ บิน ชิฮาบุดดีน อัลบัฆดาดีย์ อัดดิมัชกีย์ เป็นที่รู้จักันในนามของ อิบนุ เราะญับ อัลหันบะลีย์ ท่านได้ทิ้งงานเขียนไว้จำนวนมาก อาทิเช่น ชัรหฺอัตติรมิซีย์, ญามิอฺ อัลอุลูม วัลหิกัม และอื่นๆ เสียชีวิตเมื่อปี 795 ฮ.ศ. (อัลอัสเกาะลานีย์, อันบาอฺ อัลฆุมรฺ บิอับนาอฺ อัลอุมรฺ, 3/175-176, อัซิริกลีย์, อัลอะอฺลาม, 3/295, หาญี เคาะลีฟะฮฺ กัชฟุ อัซซุนูน, 5/527)
[38] อิบนุ เราะญับ, ญามิอฺ อัลอุลูม วัลหิกัม, หน้า 230
[39] ซัยนุลอาบิดีน อัลฟะฏอนีย์, อะกีดะฮฺ อันนาญีน ฟี อุศูลิดดีน, หน้า 137