โดย อัลอัค
เหมือนเช่นทุกปี ใกล้วันอีดุล อัฎฮา หรือเรียกว่าวันอีดใหญ่ ต้องได้ลุ้นว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งทราบผลก่อนวันอีดุล ฟิฏรฺ กว่าหลายวัน ก็เลยกลายเป็นประเด็นร้อนกว่า ... แล้วปีนี้ก็เกิดเรื่องธรรมดาอีกเช่นเคย คือมีสองทัศนะความเห็นที่ไม่ตรงอีกเป็นปกติ
ที่สำคัญมักมีคนอยากรู้ว่า ใครเป็นสายไหน ด้วยการไล่ถามว่าออกวันไหน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเช่นกัน ...(ก็คนมันอยากรู้)
ผมเน้นคำว่า “ปกติธรรมดา” ในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในโลกของนิติศาสตร์อิสลามสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นความธรรมดา ๆ ที่ไม่ต้องถึงกับไปโต้แย้ง ถกเถียงกันให้ตกเก้าอี้กันไปข้างหนึ่ง เป็นความธรรมดาที่สามารถแลกเปลี่ยนทางวิชาการกันด้วยความสบายใจ ไม่ต้องคำรามใส่กัน …
แต่แล้วความปกติธรรมดาเช่นนี้ก็กลายมาเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” ไป เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มขยับทัศนะของตนให้กลายเป็นสัจธรรมที่ละเมิดมิได้ ดังเช่นในวันอีฎิล ฟิฏรียฺที่ผ่านมา บางคนที่ออกอีดทีหลัง(ตามสำนักจุฬา) ได้ทุบโต๊ะฟันธงว่า ฝ่ายที่ออกก่อนต้องถือศีลอดชดใช้ อีกฝ่ายก็โต้กลับว่า พวกแกถือศีลอดในวันอีด(ของฉัน)มันหะรอมนะรู้มั้ย... เช่นเดียวกันบางคนที่ออกอีดอัฏฮาตามการประกาศของสอูดียฺ ก็กล้าที่จะตัดสินว่า คนที่ถือศิลอดไม่ตรงวันอะเราะฟะฮฺ อัลลอฮฺจะไม่รับผลบุญ อีกฝ่ายก็โต้กลับว่าเป็นอัลลอฮฺหรือไง ถึงรู้ขนาดนั้น ... (ยิ่งเถียงยิ่งพากันเข้ารกเข้าพง !!!)
การออกอีดอัฏฮา(รวมทั้งอีดฟิฏรียฺ) ก็เหมือนกับกรณีฟิกฮฺจำนวนมากที่มีความแตกต่างทางทัศนะในหมู่อุละมาอ์ชั้นนำหลายท่าน แน่นอนว่า เราก็เลือกตามทัศนะหนึ่งที่เราเห็นด้วยและให้น้ำหนัก ยิ่งกรณีอย่างนี้ไม่มีทางที่จะไปเห็นด้วยกับทุกความเห็นได้ แต่เหตุใดเล่าเราจำนวนมากถึงกับรุนแรงและก้าวร้าวเสียเหลือเกิน
จริง ๆ แล้วคำว่า “ทัศนะ” มันมิได้เป็นเรื่องซีเรียสจนตายตัว อุละมาอ์ในอดีตก็เปลี่ยนทัศนะกันบ่อย ๆ มันเป็นมุมมองที่สามารถเปลี่ยนไปได้ หรือเป็นผลจากการศึกษาและตีความหลักฐานที่อาจะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากข้อมูลบางอย่าง ... แต่สิ่งที่จะต้องไม่เปลี่ยนคือจุดยืนที่มีต่อทัศนะที่หลากหลาย ซึ่งดำเนินการบนกระบวนการทางนิติศาสตร์นั้นจะไม่ถูกนำไปเปลี่ยนเป็นความก้าวร้าวรุนแรงเป็นอันขาด
เรื่องวันออกอีด ผมเคยเห็นทั้งคนมีความรู้เปลี่ยนทัศนะจากตามท้องถิ่นมาตามสอูดียฺ และเปลี่ยนจากตามสอูดียฺมาตามท้องถิ่น และผมยังเคยเห็นสภานิติศาสตร์บางแห่ง เคยเปลี่ยนกลับไปกลับมามากกว่าสองครั้งเสียด้วยซ้ำไป
ตรงนี้ผมอยากจะบอกว่า ให้เรานั้นหัด “เผื่อ ๆ” เอาไว้บ้างก็ดี แม้แต่ผู้รู้ที่เรามั่นใจก็อย่าไปปักใจพันเปอร์เซ็นต์ ดังที่ผมเคยได้ยินหลายคนกล่าวประกาศว่า ไม่ไว้ใจผู้รู้คนไหนอีกแล้ว นอกจากท่านผู้รู้คนนี้คนเดียวเท่านั้น
ผมได้ยินแล้วใจหาย เพราะความจริงผู้รู้ที่ปราดเปรื่องชั้นนำของประวัติศาสตร์อิสลามก็ยังพลาดได้เช่นกัน ใครเล่าจะมีเวลาไปศึกษาได้ละเอียดลออในประเด็นปัญหานับพันนับหมื่นประเด็นได้ ความจริงแค่เด็กหนุ่มที่เพิ่งอ่านภาษาอาหรับได้นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไปค้นประเด็นที่เขาสนใจเพียงประเด็นเดียวอย่างละเอียด ก็สามารถคว่ำอาจารย์ระดับใหญ่ ๆ ที่ไม่มีเวลาค้นเรื่องนั้น ๆ ได้ไม่ยาก ดังที่เคยเห็นเด็กหนุ่มที่วางตัวเป็นผู้รู้อวดเก่งบางคนกระทำอยู่บ่อย ๆ ...
อุลามาอ์ในอดีตนั้นเก่งจริง ๆ ครับ แต่ก็ไม่ได้ความว่าจะเข้าถึงความจริงเสียทุกเรื่อง ไม่แปลกที่เราไปพบว่าอุละมาอ์ชั้นนำหลายท่านบรรจุหะดีษเมาฎูอฺไว้หนังสืออย่างไม่ตั้งใจ แม้แต่ในหนังสือของอิบนุ กอยยิม, อัซซะฮาบียฺ ที่ว่าเชี่ยวชาญหะดีษก็ยังหลุดหะดีษเมาฎูอฺ ในหนังสือของอิบนุ ตัยมียะฮฺ, ก็ยังมีหะดีษฎออีฟ ไม่อย่างงั้นหนังสือบางเล่มเชคอัลบานียฺไม่เอาไปตรวจทานใหม่หรอก ... แล้วอย่างนี้เราจะไม่อภัยให้กับเมาลานาซาการียาที่มีหะดีษฏออีฟปรากฏอยู่บ้างเล็กๆน้อยๆบ้างเชียวหรือ?
กรณีหะดีษที่เด็กหนุ่มที่เพิ่งทำรายงานศาสนายังไม่เคยปล่อยหะดีษฏออีฟให้ปรากฏในรายงานเลย(ไม่ต้องกล่าวถึงหะดีษเมาฏูอฺ) ก็เพราะว่าใช้ Search ค้นหาจากโปรแกรมหรือตรวจจากอินเตอร์เน็ตเอา ซึ่งหากได้ไปอยู่ในระบอบการศึกษาแบบอุละมาอ์สมัยก่อนก็คงไม่เหลืออะไรเอาไว้เลย
อุละมาอ์สมัยก่อน แม้แต่จะเป็นผู้คงแก่เรียน แต่ยังพูดเผื่อ ๆ เอาไว้ ดังที่อีหม่านอัช-ชาฟีอียฺ กล่าวว่า “ทัศนะของฉันที่ถูก ก็เป็นไปได้ว่าจะผิด ทัศนะของท่านที่ผิดก็เป็นไปได้ว่าถูก” การวางแนวคิดนี้ไว้ เป็นการไม่ยึดติดกับทัศนะตนเอง ไม่แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวกับทัศนะอื่น
แนวคิด “เผื่อ ๆ ไว้” ที่มีต่อทัศนะความเห็นที่เกิดในบรรดาอุละมาอ์มุจญตะฮิดชั้นนำเป็นเรื่องที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้เป็นสำคัญ นั้นคือให้นึกถึงการค้นคว้าเรียนรู้เสมอ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับทัศนะต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพราะการเรียนรู้ที่เปิดกว้างทำให้เราทราบเหตุผลของแต่ละคน และยังสามารถทำให้เราตัดสินใจได้ว่าแบบใดที่เราควรจะปฏิบัติตามได้ (แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน)
คนที่ไม่รู้จัก “เผื่อ ๆ” ไว้บ้าง บ่อยครั้งที่เมื่อเปลี่ยนทัศนะก็มักทำตัวเป็นเหมือนเตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว)จากบาปใหญ่ ประณามว่ากล่าวทัศนะเก่าของตน ทั้งที่การเปลี่ยนทัศนะเป็นเรื่องปกติธรรมดา มิใช่เรื่องเสียหน้าหรือเสียหายแต่ประการใด
คนที่ไม่รู้จัก “เผื่อ ๆ” ไว้บ้างยังชอบท้าทายทัศนะอื่น ๆ ว่าเป็นเท็จ และทัศนะตนเป็นจริงหนึ่งเดียว ตรงนี้ต้องระวังให้ดีจะหน้าแตก หมอไม่รับเย็บในวันหลัง เพราะมันอาจจะปรากฏความจริงว่า มันเป็นความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างปราชญ์แถวหน้ามานานแล้ว หาใช่เรื่องเด็ดขาดฟันธงไม่
เรื่องที่ควรจะ “เผื่อ ๆ” ไว้ก็ให้เผื่อไว้ แต่เรื่องที่ไม่ต้องเผื่อไว้ ก็ไม่ต้องเผื่อไว้ อย่างเรื่อง “นรก” “สวรรค์” เรื่องแบบนี้หลายคนชอบเผื่อไว้จริง ๆ ... เผื่อจะมีคนมาช่วย เผื่อจะได้ไม่ตกนรก เผื่อว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ ... เผื่อว่าโลกหน้ามีจริง
คิดอย่างนี้นี้เอง มันถึงไปไม่ถึงไหน