สัยยิด สาบิก ปราชญ์ชาวอิยิปต์ เกิดในปี ค.ศ. 1915 ท่านเป็นหนึ่งในอุละมาอ์ชั้นนำของอัล-อัซฮัร จบการศึกษาด้านชะรีอะฮฺ จากมหาวิทยลัย
อัล-อัซฮัร ท่านเป็นสมาชิกของญะมาอะฮฺอิควานฯ ตั้งแต่เป็นนักศึกษา
สัยยิด สาบิก ได้เริ่มต้นชีวิตการงานที่กระทรวงเอากอฟ ท่านได้ทำงานที่กระทรวงนี้เป็นเวลานานโดยเริ่มจากตำแหน่งเล็กๆจนกระทั่งท่าน
ได้กลายเป็นผู้บริหารด้านกิจการมัสยิดและวัฒนธรรมอิสลาม จากนั้นท่านได้เป็นผู้ตรวจราชการของกระทรวงเอากอฟ และในขณะเดียวกันท่านก็
เป็นอาจารย์สอนที่อัล-อัซฮัรด้วย ตลอดชีวิตการทำงานของท่านนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้รู้ที่ไม่เคยละเมิดสิทธิของผู้ใดและไม่เคยประจบสอพลอผู้ใด...
สัยยิด สาบิก ไม่เพียงแต่ทำงานด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังได้ใช้เวลาในช่วงวัยหนุ่มด้วยการเป็นนักรบในแผ่นดินฟิลัสฏีน(ปาเลสไตน์) และ
เคยถูกจำคุกสองปี หลังจากที่ได้รับอิสระภาพท่านได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพื่อรับใช้แนวทางของอัลลอฮฺ(ซ.บ.)ทั้งในสนามของความรู้ด้านฟิกฮฺและ
การทำงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัฉริยะภาพของอัส-สัยยิด สาบิกในด้านฟิกฮฺนั้นท่านได้บรรลุถึงขอบเขตที่กว้างไกลของความรู้สาขานี้
จนท่านก็ถูกยืมตัวไปสอนที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกการศึกษาชั้นสูงของคณะกฏหมายอิสลาม แห่งมหาวิทยาลัย
อุมมุล กุรอ
ในตอนนี้เองที่สัยยิด สาบิกได้เริ่มเดินทางไปยังประเทศต่างๆเพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนหนุ่มสาวมุสลิม เมื่อย่างเข้าสู่
วัยชราท่านก็ยังคงปักหลักสอนวิชาฟิกฮฺให้แก่ลูกศิษย์ของท่านที่มัสยิดในเมืองนัศรฺ(อิยิปต์)ต่อไปจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
สัยยิด สาบิก เริ่มต้นเขียนบทความให้กับวารสารอัล-อิควาน รายสัปดาห์เกี่ยวกับฟิกฮฺ โดยอิงอยู่กับตำราฟิกฮฺที่อาศัยหะดีษนำทาง
เช่น สุบุลุส สลาม ของอิหม่ามอัศ-ศอนอานียฺ , บุลูฆุล มะรอม ของอิหม่ามอิบนุ หะญัร , นัยลุล เอาฏอร ของอิหม่ามอัช-เชากานีย เป็นต้น
ผลงานทางวิชาการที่มีอิทธิพลอย่างปฏิเสธไม่ได้ของสัยยิด สาบิก คือหนังสือ ฟิกฮุสสุนนะฮฺ ซึ่งถูกจัดเป็นหนังสือฟิกฮฺที่ทรงคุณค่า
และง่ายดายในการทำความเข้าใจเล่มสำคัญเล่มหนึ่งของวงการฟิกฮฺอิสลาม เบื้องหลังการเขียนหนังสือเล่มนี้เกิดจากการคำขอของเชค หะสัน อัล-บันนา
ผู้ก่อตั้งญะมาอะฮฺอิควานฯ
ตำราฟิกฮฺที่เขียนขึ้นจากหลักฐานที่ชัดเจนจากอัล-กุรอานและอัลซุนนะฮฺ ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรต 40 ในคริสต์ศวรรษที่ 20 พร้อม
เขียนคำนำให้โดยอิหม่ามหะซัน อัล-บันนา โดยขณะที่เขียนตำราเล่มนี้สัยยิด สาบิก อายุเพียง 30 ปี ตำราชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์อีกหลาย ๆ ครั้ง
และถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนังสือฟิกฮฺที่แพร่หลายและมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางมากที่สุดใน
ประวัติศาสตร์อิสลาม อย่างที่หาตำราฟิกฮฺเล่มอื่นเปรียบได้ยากมาก
มุศฏอฟา มัชฮูร ได้กล่าวว่า สัยยิด สาบิก มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อญะมาอะฮฺ อิควานนุลมุสลิมูน และหนังสือของท่านนั้นมีอิทธิพล
และมีประโยชน์มหาศาลต่อสมาชิกของญะมาอะฮฺโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ ฟิกฮุส สุนนะฮ.ที่ถูกจัดเป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญและอิหม่าม
หะซัน อัลบันนาได้เจาะจงให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือหลักในการอ้างอิงด้านสุนนะฮ
ดร. ศอลาหฺ อับดุลมุตาอาล สมาชิกแกนนำพรรคแรงงานของอียิปต์กล่าวว่า ...บทบาทที่เหนือธรรมดาของท่านคือการทำให้ฟิกฮฺเป็น
เรื่องง่ายสำหรับทุกคนหลังจากที่ก่อนหน้านั้นฟิกฮฺก็คือป้อมปราการอันสูงตระหง่านที่ใครก็ไม่อาจเข้าโจมตีได้ยกเว้นแต่บรรดาฟุกอฮาอฺ
(นักวิชาการฟิกฮฺ)เท่านั้น ... ตอนที่ท่านถูกจับเข้าคุก ห้องขังของท่านอยู่ตรงข้ามกับห้องขังของฉันในคุกของอียิปต์เมื่อปีค.ศ.1949 จำได้ว่า
ในเวลานั้นท่านยืนยันที่จะเอาถังวางซ้อนกันเพื่อให้ร่างกายที่ผ่ายผอมของท่านสูงกว่าหน้าต่างห้องขังด้วยการยืนอยู่บนถัง และทำการสอนวิชาฟิกฮฺ
ให้แก่ผู้ถูกคุมขังทั้งหมดที่พากันมารวมตัวกันหลังประตูห้องขังเพื่อติดตามบทเรียนของท่าน โดยมีพวกผู้คุมเข้าร่วมรับฟังด้วย และท่านยังเปิดโอกาส
ให้มีการซักถามอีกด้วย แล้วทุกอย่างในคุกก็ดำเนินไปเช่นนั้นจนกระทั่งท่านได้สอนหนังสือของท่านจนจบเล่ม ...
แม้จะพบว่ามีเนื้อหาบางที่ในตำรา ฟิกฮุสสุนนะฮฺ ได้วิจารณ์ความคลั่งไคล้มัซฮับ และถึงแม้ว่าสัยยิด สาบิก จะไม่ยึดติดกับมัซฮับใด
มัซฮับหนึ่งในการเรียบเรียงตำรา แต่จะต้องไม่เข้าใจผิดว่า สัยยิด สาบิก กำลังเรียกร้องไปสู่การปฏิเสธมัซฮับ(อัล-ลามัซฮะบียะฮฺ) เพราะท่านไม่เคย
ตำหนิการมีอยู่ของมัซฮับ ท่านไม่เคยปฏิเสธมัน ท่านยังให้เกียรติกับทัศนะส่วนใหญ่ของนักฟิกฮฺ (แม้จะไม่เอกฉันท์)
ตำราฟิกฮุสสุนนะฮฺเป็นความเพียรพยายามในฐานะนักนิติศาสตร์คนหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงฟิกฮฺในแบบที่ง่ายดายและผ่าน
การเปรียบเทียบมัซฮับต่าง ๆ มิใช่การปลดปล่อยผู้คนออกจากมัซฮับ แต่เป็นการให้ผู้คนปฏิบัติตามมัซฮับอย่างถูกต้องและเข้าใจในมัซฮับอื่น ๆ
สัยยิด สาบิก ไม่เพียงมีความรู้ที่ลึกซึ้งในทางฟิกฮฺเท่านั้น แต่ท่านยังมีความเข้าใจที่กระจ่างชัดในอะกีดะฮฺ ดังปรากฏในงานเขียนของท่านชื่อว่า
อัล-อะกออิด อัล-อิสลามียะฮฺ (หลักศรัทธาอิสลาม) และท่านมีความรู้ที่กว้างขวางในด้านการดะอฺวะฮฺอีกด้วย ท่านเป็นหนึ่งในปราชญ์ชั้นนำที่
เรียกร้องไปสู่แนวทางสายกลางท่ามกลางกระแสการตื่นตัวอิสลาม เชคยูซุฟ อัล-เกาะเราะฏอวียฺ ยืนยันว่าการตื่นตัวของกระแสสายกลาง
เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ปราชญ์ชั้นนำหลายท่าน ซึ่งปราชญ์คนสำคัญชั้นแนวหน้าก็คือ เมาลานา อบุล หะสัน อัน-นัดวียฺ , เชค มุฮัมมัด ฆอซาลียฺ
และเชคสัยยิด สาบิก
เชค ฟุอาด มุคัยมิร นายกสมาคมกฏหมายอิสลาม ได้กล่าวว่า ... ท่านเป็นนักวิชาการที่มีแนวคิดสายกลาง และเป็นผู้ที่ทำให้กระแสคลื่น
อิสลามปกคลุมไปทั่วสารทิศด้วยทุกองค์ประกอบของมัน
สัยยิด สาบิก เสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 ในกรุงไคโร สัยยิด สาบิกได้ใช้เวลาในบั้นปลายชีวิตของท่านอยู่กับหนังสือ
ฟิกฮฺและลูกศิษย์ทั้งหลายของท่านที่ได้รวมตัวกันเพื่อตักตวงความรู้จากท่าน ณ มัสยิดในเมืองนัศรฺ กรุงไคโร และในการจัดการศพของท่าน
ลูกชายคนโตของท่านกำชับมิให้จัดพิธีเพื่อแสดงการไว้อาลัยต่อท่านเด็ดขาด ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งเสียของท่านเชคเอง
เชค มุฮัมมัด ฆอซาลียฺ กล่าวว่า เขาเป็นคนที่มีความเข้าใจในวิชาความรู้มากที่สุดในหมู่คนในยุคของเขา ซึ่งประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึง
พวกเขาเหล่านั้นด้วยอักษรแห่งรัศมี