ท่านชัยค ยุซุฟ อัล ก๊อรฏอวีย์ อุลามาออาวุโสท่านหนึ่งของขบวนการภราดรภาพมุสลิม ได้กล่าวไว้ใน หนังสือเล่มหนึ่งของท่านที่ชื่อว่า
ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามกับการท้าท้ายของยุคสมัย ในประเด็นที่เกี่ยวกับความจำเป็นต้องรับเอาแนวความคิด สะลาฟีย์ มาใช้
เนื่องจากลักษณะพิเศษของแนวคิดสลาฟีย์ที่ว่า เป็นแบบวิธีทางปัญญาที่วางอยู่พื้นฐานของการใช้ความเข้าใจในบทบัญญัติของอัล กุรอาน
และข้อแนะนำของซุนนะห์ตามที่เข้าใจโดยชนรุ่นที่ประเสริฐที่สุดของอุมมะฮ ซึ่งได้แก่ บรรดาเศาะฮาบะฮของท่านนบี ศ็อลล๊อลลอฮุ อะ ลัยฮิ วะ ซัลลัม
และบรรดาผู้ดำเนินแนวทางของพวกเขาอย่างถูกต้อง
ผู้ปฏิบัติตามแนวทางนี้จะต้องมีคุณลักษณะที่เหมือนกับชนยุคแรกอย่างแน่นอน นั่นคือมีการส่งเสริมสนับสนุนการยึดมั่นต่อหลักการ
โดยมีการตัดสินอาศัยตัวบท มีการบ่มเพาะอีหม่านที่ถูกต้องและมั่นคงมีความทุ่มเทความสนใจให้กับเรื่องจิตใจและเนื้อหาสาระที่ไม่สนใจเรื่องรูปแบบ
ที่ไม่สนใจเรื่องการโต้แย้งที่ไร้สาระ และให้ความสนใจกับการยึดมั่นต่อกฎเกณฑ์ในเรื่องศาสนา และการสร้างสรรค์ใหม่ของระเบียบกฎเกณฑ์ทางโลก
มีการส่งเสริมการอิจญติฮาด(วินิจฉัย) ประณามความไม่ยืดหยุ่นและการตักลีด(การตามอย่างไร้สติ) ส่งเสริมให้มีความสุภาพอ่อนโยนต่อผู้อื่น และ
รังเกียจผู้ที่มีท่าทีหยาบกระด้าง
นี่คือสารัตถะของเหล่าบรรพชนในยุคแรกได้ปฏิบัติมา นี่คือวิธีทางที่ทำให้พวกเขาได้รับความสูงส่งจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นมนุษย์ที่
เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นต่อมา จนทำให้อัลลอฮ ตะอาลา ทรงยกย่องชมเชยคนยุคนี้เอาไว้ในกุรอานนับไม่ถ้วน
สองกลุ่มที่สร้างภาพเสียหายให้กับแนวคิดสลาฟียฺ กลุ่มแรก คือ เป็นกลุ่มที่ถูกผู้คนอ้างว่าเขาคือผู้ที่สนับสนุนแนวความคิดสะลาฟีย์ กลุ่มพวกนี้มีวิธีคิดที่ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่ออุมมะฮเลย
ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรให้เป็นรูปธรรมได้ พวกเขาใช้เวลาหมดไปกับการโต้เถียงปัญญาหาศาสนาที่เกี่ยวกับประเด็นปลีกย่อยต่างๆที่ดูแล้ว
ไม่มีทางจะลงเอยโดยดีได้
ท่านชัยค ยุซุฟ อัล ก๊อรฎอวีย์กล่าวว่า พวกเขาใช้เวลาช่วงกลางวันและไม่ยอมหลับไม่ยอมนอนตลอดทั้งคืน เพื่อตั้งป้อมโจมตีอย่าง
ไม่ปรานีปราศรัยเล่นงานบุคคลใดก็ตามที่คัดค้านกับความคิดของพวกเขาที่เกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง(ทางฟิกฮ) ประการเช่นนี้สร้าง
ความเสื่อมเสียให้กับแนวความคิดสะลาฟีย์เป็นอย่างมากในปัจจุบัน จนทำให้คนบางคนพูดว่า พวกสะลาฟีย์คือพวกที่ชอบถกเถียงกันเรื่องศาสนาที่
ไม่มีสาระ
กลุ่มที่สอง คือ เป็นกลุ่มที่ต่อต้านแนวความคิดสลาฟีย์ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวก เซ็คคิวล่าร์(ผู้ที่คิดว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล)
ที่ออกมาประณามว่าแนวความคิดนี้ล้าสมัย บ้าคลั่ง มักจะมองย้อนไปข้างหลัง ไม่สามารถนำมาปรับใช้กับโลกแห่งยุคสมัยได้ และยึดติดกับรูปแบบเก่าๆ
และพวกเขายังเชื่ออีกว่าแนวความคิดสะลาฟีย์นั้นสวนทางกับการตัจญ์ดีด(การสร้างใหม่) นี่คือความเลวร้ายที่แนวความคิดสะลาฟีย์ได้รับอย่างอยุติธรรม
ย้อนมองดูผู้นำ สะลาฟีย์ ตัวจริง สัญลักษณ์ของแนวคิดสลาฟียฺ คือท่านชัยคุลอิสลาม อิบน ตัยมียะฮ และท่านอัล อิมาม อิบน อัล กอยยิม ลูกศิษย์ของท่าน
ทั้งสองได้เป็นตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นฟูอิสลามในยุคสมัยของท่านอย่างแท้จริง ท่านได้ ต่อสู้กับความเชื่อต่างๆที่จะสร้างความเสื่อมเสีย
ให้กับแนวความคิดและคำสอนอิสลาม และเผชิญหน้ากับการตักลีด และอุดมการณ์ที่ผิดๆที่จะมาครอบงำศาสนาและท่านทั้งสองมีเป้าหมายเพื่อที่
จะให้ผู้คนนั้นมีความเข้าใจศาสนาเหมือนกับคนยุคแรกเข้าใจทั้งทางด้านแนวคิดและทางด้านภาคปฏิบัติ
มันอาจจะไม่เป็นธรรมแก่ท่านทั้งสองเลยที่จะพาดพิงแต่วิชาการของท่านอย่างเดียวแต่ละเลยรูปแบบที่เคร่งครัดและการยำเกรงต่อ
พระเจ้าของท่านของทั้งสอง และเป็นไปไม่ได้ผู้ที่ชอบอ้างงานวิชาการของท่านแต่ละเลยแง่มุมทางด้านภาคปฏิบัติและการสนับสนุนช่วยเหลืองาน
ดะวะฮและการญิฮาด จนกะทั่งท่าน อิบน ตัยมียะฮกล่าวคำพูดหนึ่งที่เป็นความรู้สึกของท่านว่า บรรดาศัตรูของฉันจะสามารถทำอะไรกับฉันได้?
การถูกกักขังของฉันเป็นการแยกตัวมาอยู่อย่างสันโดษ(เพื่อทำการอิบาดะฮ) การถูกเนรเทศของฉันเป็นการเดินทางเพื่อศาสนา(การแสวงหาความรู้)
และการถูกประหารชีวิตของฉันเป็นการพลีชีพ(ชะฮีด)
ส่วนท่านอิมามมุฮัมหมัด รอชีด ริฎอ ซึ่งเป็นผู้ที่ชูธงสะลาฟียะฮในสมัยของเราท่านเป็นผู้ฟื้นฟูยุคสมัยของเราอย่างแท้จริง มีผลงานทาง
วิชาการออกมาอย่างมากมายและตัฟซีรของท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ ตัฟซีรอัล มะนาร และยังเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งและ
เป็นเจ้าของนิตยสาร อัล มะนาร อีกด้วย และหนังสือวิชาการอีกมากมาย อีกทั้งเป็นผู้เริ่มตั้งกฎทองที่ท่าน อิมามหะสัน อัล บันนา ได้นำไปใช้ในเวลา
ต่อมามีใจความว่า เราจะประสานความร่วมมือกันในสิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกัน และให้อภัยแก่กันและกันสำหรับสิ่งที่เรามีความเห็นที่แตกต่างกัน
ฉะนั้น ผู้ที่อ้างตนเองว่าปฏิบัติตามแนวทางสะลัฟโปรดทบทวนข้อความนี้ด้วย