หนังในโลกมุสลิม และ "อิรัก เรียลิตี้" (1)
คอลัมน์ อาทิตย์เธียเตอร์
โดย พล พะยาบ
www.aloneagain.bloggang.comช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญจากร้านหนังสือ "ขอความสันติสุขประสบแด่...เธอ" ย่านลาดพร้าว 112 ให้ไปร่วมกิจกรรมฉายหนังและเสวนาพูดคุยเรื่อง "หนังมุสลิม" ร่วมกับคุณภาณุ อารี นักทำหนังสั้นซึ่งเป็นอิสลามิกชน เนื่องเพราะเห็นจากคอลัมน์นี้ว่าเขียนถึงหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวมุสลิมหรือศาสนาอิสลามบ่อยครั้ง
พูดถึงคำว่า "หนังมุสลิม" แล้ว ในวงการหนังโลกยังไม่เคยใช้คำนี้เรียกชี้ชัดเจาะจง หรือใช้จัดกลุ่มภายใต้นิยามที่เข้าใจร่วมกัน รวมไปถึงถ้ามองในแง่ลักษณะเฉพาะหรืออัตลักษณ์แล้ว หนังจากคนทำหนังชาวมุสลิมยังมีความหลากหลายทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบเกินกว่าจะจำกัดและจัดกลุ่ม ต่างจากศิลปะแขนงอื่นของชาวมุสลิมอย่างสถาปัตยกรรม ดนตรี หรือจิตรกรรม ซึ่งมีลักษณะร่วมที่เด่นชัด
อย่างไรก็ตาม หากมองว่าแต่ไหนแต่ไรวงการหนังถูกครอบครองด้วยชาวตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป หรือไม่เราก็คุ้นเคยกับหนังจีน หนังอินเดีย หรือหนังญี่ปุ่น การปรากฏภาพของชาวมุสลิมในหนังให้คนทั่วโลกได้สัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน สามารถเริ่มนับได้จากกระแสหนังอิหร่านช่วงทศวรรษ 90 ซึ่งผลงานของคนทำหนังแดนเปอร์เซียจำนวนมากเรียงแถวกันอวดโฉมและได้รับการยอมรับสูงยิ่งในระดับนานาชาติ
อับบาส เคียรอสตามี กับ Where Is the Friend"s Home? (1987) ไปจนถึงเรื่อง Ten (2002) จาฟาร์ ปานาฮี กับ The White Balloon (1995) The Mirror (1997) และ The Circle (2000) โมห์เซน มัคมัลบาฟ กับ Gabbeh (1996) และ Kandahar (2001) เหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ
เมื่อความซ้ำในแก่นสารซึ่งมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องสิทธิสตรีและเสรีภาพในการแสดงออกทำให้กระแสหนังอิหร่านเริ่มอ่อนแรงลงช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ต่อเนื่องถึงสงครามต่อต้านก่อการร้ายและสงครามปลดปล่อยอิรักจึงเปรียบเหมือนคลื่นระลอกที่สอง ที่ทำให้เรื่องราวของชาวมุสลิมกลับมาได้รับความสนใจในจอภาพยนตร์อีกครั้ง
กระแสของหนังว่าด้วยเรื่องราวของชาวมุสลิมในช่วงนี้แม้เนื้อหาโดยส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นประเด็นความขัดแย้งและความรุนแรงจากสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ที่มาของหนังกลับมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะหนังอิหร่านหรือเรื่องราวของคนอิหร่านอีกแล้ว
เช่นเรามีโอกาสได้ชมหนังจากชาติบ้านใกล้เรือนเคียงของอิหร่านอย่างอัฟกานิสถานและทาจิกิสถาน อาทิ Osama (2003) และ Angel on the Right (2002) ตามลำดับ ซึ่งสามารถเรียกรวมกันได้ว่า "หนังเปอร์เซีย" มีหนังว่าด้วยชะตากรรมคนอิรักท่ามกลางไฟสงครามโดยฝีมือคนอิรักเองเรื่อง Ahlaam (2005)
หนังเกี่ยวกับชาวเคิร์ด (ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) จากคนทำหนังทั้งที่มีสัญชาติอิรัก อิหร่าน และตุรกี เช่น บาห์มัน กอบาดี ผู้กำกับฯอิหร่าน-เคิร์ด กับ Marooned in Iraq (2002) และ Turtles Can Fly (2004) ฮันดัน อิเพคซี กับ Hejar (2001) ซึ่งโดนแบนในตุรกีในข้อหาเข้าข้างชาวเคิร์ด ไฮเนอร์ ซาลีม ผู้กำกับฯชาวอิรัก-เคิร์ดอพยพ กับเรื่อง Kilometre Zero ใช้ฉากเคอร์ดิสถานระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน เข้าชิงปาล์มทองเมื่อปี 2005
ยังมีปาเลสไตน์กับหนังดังเรื่อง Paradise Now (2005) หรือแม้แต่อิสราเอลก็มีเรื่อง The Syrian Bride (2004) เล่าถึงชุมชนผู้นับถืออิสลามนิกายดรูซบนที่ราบสูงโกลาน และล่าสุดกับเรื่อง The Band"s Visit (2007) เกี่ยวกับวงดนตรีตำรวจอียิปต์หลงทางในอิสราเอล
ที่ยกมาทั้งหมดเฉพาะหนังของชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง ยังมีหนังจากแอฟริกาซึ่งหลายประเทศมีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก และเริ่มได้รับความสนใจในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น แม้เนื้อหาจะต่างจากหนังตะวันออกกลางโดยสิ้นเชิง เพราะพูดถึงประเด็นเฉพาะของแต่ละพื้นที่ บ้างเกี่ยวกับจารีตดั้งเดิมทางศาสนา หรือปัญหาทางสังคมของชาวแอฟริกัน แต่ก็ถือว่าสะท้อนภาพชาวมุสลิมอีกลักษณะหนึ่งให้เราได้รู้จักและเรียนรู้ ยังไม่นับหนังจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวกับชาวมุสลิม โดยหาชมได้ตามเทศกาลหนังนานาชาติ
ความน่าสนใจของหนังในโลกมุสลิมปัจจุบันไม่ได้ผูกติดกับเสียงตอบรับบนเวทีหนังนานาชาติหรือรางวัลความสำเร็จเท่านั้น สำหรับผู้เขียนเองรู้จักหนังหลายเรื่องผ่านข่าวซึ่งเล็กเกินกว่าที่โทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์จะให้ความสำคัญ แต่มีให้ได้รับรู้ทางอินเตอร์เน็ต
เช่นได้รู้จักหนังสารคดีเรื่อง The Imam and the Pastor (2006) เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวคริสต์ในไนจีเรีย จากข่าวที่บอกว่าหนังได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ รู้จักหนังอียิปต์เรื่อง Yacoubian Building (2006) ซึ่งกลายเป็นประเด็นอื้อฉาวในประเทศเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล รู้จัก โอมาร์ อมิราเลย์ นักทำหนังสารคดีวิพากษ์การเมืองชาวซีเรีย ที่โดนทางการจับกุมและห้ามเดินทางออกนอกประเทศหลังจากไปถ่ายหนังในจอร์แดน
เห็นได้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวมุสลิมหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน อยู่ในความสนใจของผู้คน ทั้งในลักษณะของการเรียนรู้และการตั้งคำถาม รวมไปถึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องจากเหตุที่ชาวมุสลิมตกเป็นผู้ร้ายแบบเหมารวม และชะตากรรมของผู้คนในประเทศที่กลายเป็นเหยื่อของสงครามต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐ
เพราะเหตุนี้เราจึงได้เห็นหนังฮอลลีวู้ดและหนังยุโรปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวมุสลิม (โดยเฉพาะชาวอาหรับ) อย่างต่อเนื่อง เช่นหนังรางวัลออสการ์เรื่อง Crash (2004) หนังวิพากษ์ความสกปรกของธุรกิจน้ำมันข้ามชาติเรื่อง Syriana (2005) หนังแอ๊คชั่นเรื่อง The Kingdom (2007) หนังออสเตรีย-ฝรั่งเศสเรื่อง Hidden (2005) ของ ไมเคิล ฮาเนเก้ อ้างถึงบาดแผลจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวแอลจีเรีย (ชาวอาหรับ) ในปารีสปี 1961 หนังอิตาลีเรื่อง Private (2004) ของ ซาเวริโอ คอสแตนโซ เกี่ยวกับครอบครัวชาวปาเลสไตน์ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์
อีกลักษณะหนึ่งที่จะมีให้เห็นเพิ่มมากขึ้น คือการใส่แทรกเรื่องราวของชาวมุสลิมลงไปในหนังโดยเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่ง ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของเรื่องราว เช่นเนื้อหาที่ใช้ฉากโมร็อคโคใน Babel (2006) ของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตูร์ หนังสั้นของกูรินเดอร์ ชาดา เกี่ยวกับหญิงสาววัยรุ่นสวมฮิญาบ (เชื่อมโยงกับกฎหมายห้ามสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนรัฐของฝรั่งเศส) ซึ่งเป็น 1 ใน 18 หนังสั้นชุด Paris, I love you (2006)
นอกจากนี้ ยังมีขบวนแถวของหนังสารคดีสะท้อนสงครามปลดปล่อยอิรักและผลอันสืบเนื่องตามมาจากสงครามครั้งนี้ โดยเฉพาะชะตากรรมเลวร้ายของชาวอิรักผ่านมุมมองของคนทำหนังต่างชาติ เรื่องที่มาก่อนใครและดังที่สุดเห็นจะเป็น Fahrenheit 9/11 (2004) ของ ไมเคิล มัวร์ แม้เป้าหมายหลักของหนังจะเพื่อโจมตี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็ตาม
อีก 2 เรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้ชมในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องหนึ่งคือ Iraq in Fragments (2006) ของ เจมส์ ลองลีย์ อีกหนึ่งคือ The Blood of My Brother : A Story of Death in Iraq (2005) ของ แอนดรูว์ เบอเรนด์ส ทั้ง 2 เรื่อง มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีส่วนที่น่าจะหยิบมาพูดถึงแตกต่างกันไป
เอาไว้มาว่ากันโดยละเอียดอีกที
หน้า 22