กำเนิดเตาะบะรีย์และประวัติการศึกษา1.1 ชื่อ และวงศ์ตระกูล ท่านมีชื่อว่า มุฮัมมัด บิน ญะรีร บิน ยะซีด บิน กะซีร อัลอามุลีย์ อบูญะอ์ฟัร อัลเตาะบะรีย์ พาดพิงยังเมืองเตาะบะรีสถานไม่ใช่เตาะบะริยะห์
เป็นที่น่าสังเกตว่า เตาะบะรีย์ นั้นเป็นการพาดพิงยังเมือง เตาะบะรีสถาน ส่วน เตาะบะรอนีย์ นั้นเป็นการพาดพิงยังเมืองเตาะบะรียะห์
1.2 การกำเนิดของเตาะบะรีย์ เตาะบะรีย์ได้ถือกำเนิด ณ แคว้น อามูล แห่งนครเตาะบะรีสถาน ในปลายปี 224 ฮ.ศ. ตรงกับปี 838 ค.ศ. และเสียชีวิต
ณ กรุง แบกแดดในปี 311 ค.ศ. ตรงกับปี 925 ค.ศ. รวมอายุทั้งสิ้น 87 ปี
1.3 ประวัติการศึกษา เตาะบะรีย์ได้ถูกอบรมดูแลโดยครอบครัวที่มีความรู้ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสริมและเปิดทางให้บุตรชายได้
ขวานขวายตักตวงหาความรู้จากบรรดาอุลามาอ์ที่มีอยู่ในละแวกนั้น ภายหลังจากที่ได้สัมผัสถึงความกลิ่นไอแห่งเฉลียวฉลาดของเตาะบะรีย์ตั้งแต่ยังเยาว์
ดังนั้นผู้เป็นบิดาจึงได้พาเตาะบะรีย์ไปนั่งเรียนฮะลาเกาะห์กับบรรดาผู้ทรงความรู้ที่มีอยู่ในนครเตาะบะรีสถานในขณะนั้น และด้วยสติปัญญา
และความเฉลียวฉลาดที่มีอยู่ของเตาะบะรีย์ หลังจากการเตาฟีก(การชี้ทางนำ)ของอัลลอฮ เตาะบะรีย์สามารถท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่ม
ในขณะที่ท่านมีอายุได้เพียง 7 ขวบ และเริ่มบันทึกฮะดีษเมื่ออายุได้ประมาณ 9 ขวบเท่านั้น.
เตาะบะรีย์ได้ใช้ชีวีตในการแสวงหาความรู้ในช่วงวัยเด็กของท่านด้วยการเดินทางไปยังแคว้นต่างๆในเขตนครเตาะบาริสถาน
เพื่อตักตวงความรู้จากอุลามาอ์ผู้รู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้นอย่างกระหายและจดจ่อได้เพียงไม่กี่ปี แต่ทว่าความเหือดกระหายต่อวิชาความรู้
อย่างแรงกล้าและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆของท่านได้รวดร้าวและผลักดันให้ท่านต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนออกพเนจรไปยังหัวเมืองต่างๆตั้งแต่
ท่านอายุยังน้อยนิด ท่านได้เริ่มทิ้งบ้านเกิดเพื่อเดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเมื่อท่านอายุได้เพียง 12 ขวบ ซึ่งท่านเริ่มเดินทางในปี 236 ฮ.ศ.
ท่านได้เดินทางไปยังกรุงแบกแดด และได้พบกับอัลหะซัน อัลญะอ์ฟะรอนีย์ และอบีสะอีด อัลอิสต๊อครีย์ ซึ่งทั้งสองเป็นอุลามาอ์ที่โด่งดัง
สังกัดมัวฮับชาฟิอีย์ในตอนนั้น เตาะบะรีย์ได้ตักตวงวิชาฟิกฮ์มัซฮับชาฟิอีย์จากทั้งสองอยู่พักหนึ่ง ต่อมาเตาะบะรีย์ก็ได้พบกับ
อะหมัด บิน ยูซุฟ อัลตัฆละบีย์ และได้เรียนวิชากิรออาต(การอ่านอัลกุลอาน)จากท่าน
หลังจากนั้นเตาะบะรีย์ก็มุ่งหน้าไปยังนครมักกะห์และได้เรียนฮะดีษจากมุฮัมมัด บิน มูซา อัลฮัรซีย์ อิมรอน บิน มูซา อัลก๊อซซ๊าซ มัฮัมมัด
บิน อับดุลอะลา อบูอับดุลลอฮ อัลซอนอานีย์ อบุลอัชอัต และอื่นๆ[3] ต่อมาเตาะบะรีย์ก็ได้เดินทางมุ่งหน้าไปยังนครกูฟะห์ ซึ่งที่นั่นเตาะบะรีย์
ได้เรียนเชเอร (กลอนอรับ) จากซะอ์ลับ.
เตาะบะรีย์เป็นนักใฝ่หาความรู้ตัวอย่างคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่น จริงจังอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและย่อท้อ คลั่งใคล้ที่จะพบกับบรรดาอุลามาอ์
ชั้นแนวหน้าในสมัยนั้นไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะอยู่ที่ใหนก็ตาม เตาะบะรีย์จะพยายามติดตามและค้นหาเพียงเพื่อจะได้นั่งคุยพูดคุยและได้ขีดเขียน
ตักตวงเอาความรู้จากท่านเหล่านั้น ดังนั้นทันที่ข่าวเกี่ยวกับอุลามาอ์จาออียิปต์เข้าถึงหูของเตาะบะรีย์ เตาะบะรีย์จึงจัดเตรียมสัมภาระเพื่อจะออก
เดินทางมุ่งหน้าไปยังอียิปต์เพื่อเสาะความรู้ด้วยแรงบันดาลอันเต็มเปี่ยมด้วยความหยากและคลั่งใคล้ต่อวิชาความรู้ ระหว่างเตาะบะรีย์ได้แวะ
ยังเมืองดะมัสกัสและได้รับเอาฮะดีษจากอิบรอฮิม อัลเญาซะญานีย์ หลังจากนั้นเตาะบะรีย์แวะที่นครเบรุตและที่นี่เตาะบะรีย์ได้อ่านอัลกุรอาน
กับอับบาส บิน อัลวะลีด อัลอัซรีย์
ณ นครอียิปต์เตาะบะรีย์อัลเราะบีอ์ บินสุลัยมาน อัลมุรอดีย์ และอบู อิบรอฮีม อัลมุซานีย์ และทำการศึกษาวิชาฟิกฮ์มัซฮับชาฟิอีย์จากทั้งสอง
ขณะเดียวกันเตาะบะรีย์ก็ทันพบกับสะอัด บิน อับดุลหะกัม และยูนุส บิน อับดุลอะอ์ลา อัลเซาะดะฟีย์ และทำการศึกษาวิชาฟิกฮ์มัซฮับมาลิกีย์จากทั้งสอง.
หลังจากที่เตาะบะรีย์ได้ตักตวงวิชาความรู้ในสาขาต่างๆจากบรรดาอุลามาอ์ผู้โด่งดังที่พำนักอยู่ ณ นครอียิปต์ในขณะนั้นจนหนำใจ
สมความปรารถนา และหลังจากที่ได้ใช้เวลาในการเดินทางแสวงหาความรู้อย่างเร้าใจแล้ว ในปี 290 ฮ.ศ. (903 ค.ศ.) เตาะบะรีย์ก็เดินทางกลับ
ยังกรุงแบกแดด และเลยไปยังเมืองเตาะบะรีสถานเพื่อกลับไปเยี่ยมเยียนบ้านเกิดเมืองนอนของตน ทันทีที่กลับมายังบ้านเกิดแคว้นอามูลเตาะบะรีย์
ก็ได้ขังตัวเองจากโลกภายนอกกับการอ่านหนังสือ อิบาดะห์ เขียนตำราต่างๆ พร้อมกับสอนหนังสือ ปลีกตัวเองจากสิ่งที่ซ้ำซากจำเจของโลก
ภายนอกต่างๆที่จะมาสกัดกั้นการภารกิจการผลิตตำราและการประสาทความรู้สู่ชุมชนของตน โดยไม่สนใจถึงการรับราชการหรือตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ
สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ เตาะบะรีย์จะตักตวงความรู้ในช่วงระยะเวลาที่เดินทางรอนแรมอันยาวนานจากบรรดาอุละมาอ์ผู้รู้ที่โด่งดัง
ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้มีส่วนอย่างมากต่อการสร้างบุคลิกภาพด้านวิชาการของท่านจนกลายเป็นหนึ่งในบรรดาแกนนำอุละมาอ์ที่
โดดเด่นในสมัยนั้นอย่างไม่มีใครปฎิเสธหรือคัดค้านได้.
2. สถานภาพด้านวิชาการและคำสรรเสริญ 2.1 สถานภาพด้านวิชาการ ด้วยความมีไหวพริบดีและความเฉลียวฉลาดที่องค์อัลลอฮได้ประทานแก่เตาะบะรีย์ทำให้เตาะบะรีย์สามารถชอนชัยและหยั่งถึงแก่นแท้
ของวิชาความรู้ในสาขาต่างๆ จนกลายเป็นอิมาม(ผู้นำ)แห่งวิชาการอิสลามในสมัยนั้นอย่างไม่มีอุละมาอ์คนใดมาเทียบเคียงได้ ความโด่งดังด้าน
วิชาการและความรอบรู้ของเตาะบะรีย์ทำให้ประชาชนทั่วทุกสารทิศต่างกล่าวขานถึงกิติศัพของท่านและเดินทางมาศึกษาหาความรู้จากท่าน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับยิ่งกระตุ้นให้เตาะบะรีย์ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมมากขึ้นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย.
อิบนุลนะดีมได้กล่าวถึงสถานภาพทางวิชาการของเตาะบะรีย์ว่า ท่านเป็นผู้ที่ทรงความรู้ในเวลานั้น เป็นอิมาม(ผู้นำ)ด้านวิชาการ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชะริอะห์(นิติศาสตร์อิสลาม) และมีความรอบรู้ใน
ทุกแขนงวิชา
วิชาการเกี่ยวกับอัลกุรอาน ไวยากรณ์อาหรับ คำกลอน(ชะอีร) ภาษา และนิติศาสตร์ และเป็นคนที่มากด้วยการจดจำ
อิบนุลเญาซีย์กล่าวว่า แท้จริงท่านได้รวบรวมวิชาแขนงต่างๆไว้จนทำให้ท่านเป็นแกนนำบรรดาอุลามาอ์ในสมัยนั้น
ความรอบรู้ของเตาะบะรีย์พอจะกล่าวสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้คือ
2.1.1 วิชาอรรถาธิบายอัลกุรอานหรือตัฟซีร เป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากเกี่ยวกับความชำนาญและเชี่ยวชาญของเตาะบะรีย์ด้านการอรรถาธิบายอัลกุรอาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน
เขียนชิ้นเอกของท่านที่มีช่อืว่า ญามิอุลบะยานฟีตะวีลิอายิลกุรอาน บรรดาอุลามาอ์ผู้รู้ต่างกล่าวสรรเสริญและขอบคุณเตาะบะรีย์กับผลงาน
ของท่านชิ้นนี้ ซึ่งในจำนวนอุลามาอ์เหล่านั้นได้แก่ อัลเคาะตีบ อัลบัฆดาดีย์ ท่านได้กล่าวว่า :
ไม่มีผู้ใดที่สามารถแต่งตำรา (เกี่ยวกับการอรรถาธิบายอัลกุรอาน) เสมอเหมือนท่าน
อิบนุคุซัยมะห์ยืนยันว่า ฉันไม่ทราบว่ายังมีใครบนพื้นแผ่นดินนี้ที่มีความรอบรู้(ด้านการอรรถาธิบายอัลกุรอาน) มากกว่าอิบนุญะรีร
อบูฮามิด อัลอิสฟิรอยีนีย์ กล่าวว่า หากแม้นว่าชายคนหนึ่งเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเสาะหาหนังสือตัฟซีรของอิบนุญะรีร ก็นับเป็นสิ่งที่คุ้มค่า (ไม่เกินไป)
เช่นเดียวกับสุยูตีย์ซึ่งท่านได้จัดอันดับตัฟซีรต่างๆ โดยมีตัฟซีรเตาะบะรีย์อยู่ในอันดับแรกของหนังสือตัฟซีรทั้งหลายอย่างไม่มีเงื่อนไข
และท่านกล่าวว่าเป็นหนังสือตัฟซีรที่ดีที่สุดและประเสริฐที่สุด ยังไม่มีผู้ใดสามารถแต่งได้เสมอเหมือนท่าน
2.1.2 วิชาฮะดีษ ความโด่งดังของเตาะบะรีย์ด้านวิชาการฮะดีษหรือวัจนศาสตรืเป็นที่รู้จักกันในบรรดาอุลามาอ์ในสมัยนั้นไม่แพ้ด้านการอรรถาธิบาย
อัลกุรอานเช่นกัน เตาะบะรีย์ได้ร่ำเรียนและศึกษาฮะะดีษจากอุลามาอ์ผู้โด่งดังในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชคของบุคอรีย์และมุสลิม และอื่นๆ
ในบรรดาตำราหรือหนังสือฮะดีษที่เตาะบะรีย์ได้แต่งขึ้นได้แก่ หนังสือ ตะห์ซีบุลอาซาร ซึ่งเตาะบะรีย์ได้เริ่มต้นหนังสือของท่านด้วยการรายงาน
ฮะดีษจากอบูบักรและสิบเซาะฮาบะห์ที่ถูกรับรองว่าเป็นชาวสวรรค์ด้วยสายรายงานของตน พร้อมกับวิจารณ์ถึงความถูกต้องของสายรายงานและฮะดีษ
และสาธยายเกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์ที่ครอบคลุมอยู่ในฮะดีษดังกล่าว ทัศนะของอุลามาอ์ต่างๆพร้อมหลักฐานของแต่ละฝ่าย และอธิบายถึง
ความหมายของประโยคและคำต่างๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เตาะบะรีย์ไม่สามารถเขียนหนังสือดังกล่าวให้เสร็จสมบูรณ์ได้ เนื่องจาก
ความตายได้มาเยือนเตาะบะรีย์เสียก่อน ซึ่งเตาะบะรีย์สามารถเขียนได้แค่สายรายงานของ 10 เซาะฮะบะห์ที่ถูกรับรองว่าเป็นชาวสวรรค์
และสายรายงานจากครอบครัวของท่านรซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้นเอง
เกี่ยวกับความเก่งกาจและจัดเจนของเตาะบะรีย์ด้านฮะดีษนี้
เคาะตีบบัฆดาดีย์กล่าวว่า ท่านเป็นผู้ที่ชำนาญด้านฮะดีษและสายสืบของมันคนหนึ่ง ที่รอบรู้ว่าฮะดีษใดเป็นฮะดีษที่ถูกต้องหรือซอเฮียะห์ และฮะดีษใดเป็นฮะดีษที่
ไม่ถูกต้องหรือเฏาะอีฟ หยั่งรู้ถึงฮะดีษที่ถูกยกเลิกและฮะดีษที่มายกเลิก
ส่วนอิมามอัลนะวะวีย์ท่านได้จัดระดับความเก่งกล้าด้านวิชาการฮะดีษของเตาะบะรีย์อยู่ในอัดับเดียวกับอัลนะซาอีย์และอัลติรมิซีย์.
อิบนุคอลลิกานกล่าวว่า :แท้จริงท่านเป็นอิมาม(ผู้นำ)ด้านฮะดีษ
ฮุเซ็น บิน อลี อัลตะมีมีย์เล่าว่า : หลังจากที่ฉันได้เดินทางกลับจากกรุงแบกแดดสู่นครนัยซาบูรมุฮัมมัด บินคุซัยมะห์ได้ถามฉันว่า เจ้าได้เรียนฮะดีษจากใครบ้างที่แบกแดด ?
ดังนั้นฉันจึงบอกแก่ท่านถึงบรรดาอุลามาอ์ต่างๆที่ฉันได้เรียนฮะดีษจากเขามา. ท่านถามฉัน(อย่างแปลกใจ)ว่า เจ้าไม่ได้รเยนกับมุฮัมมัด บินญะรีรเลยหรือ ?
ฉันตอบว่า ไม่เลย. ท่านจึงกล่าว(อย่างเสียดาย)ขึ้นมาว่า หากเจ้าเรียนฮะดีษจากเขา แน่นอนย่อมเป็นการดีกว่าบรรดาอุลามาอ์ที่เจ้าได้เรียนมากับเขาทั้ง
หมด
2.1.3 วิชาการอ่านอัลกุรอาน หรือกิรออาต เตาะบะรีย์ยังเป็นหนึ่งในบรรดาอุลามาอ์ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญด้านวิชาการอ่านอัลกุรอาน หรือกิรออาต ท่านได้ร่ำเรียนและศึกษา
กับบรรดาอุลามาอืกิรออาตที่ลือชื่อทั้งจากอิรัก ชาม และอียิปต์ ท่านได้แต่งตำราเล่มหนึ่งเกี่ยวกับกิรออาตมีชื่อว่า อัลกิรออาตวัลตันซีลุลกุอาน
ซึ่งท่านได้กล่าวในหนังสือดังกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างอุลามาอ์กิรออาตเกี่ยวกับพยัญชนะ หรือฮุรูฟของอัลกุรอาน พร้อมทั้งอ้างการอ่านดังกล่าว
ถึงบรรดาอุลามาอ์นักอ่านอัลกุรอานหรือกุรรออ์จากสำนักต่างๆ และอธิบายถึงความแตกต่างของการอ่านของแต่ละสำนัก พร้อมกับยกหลักฐาน
ในการอ่านของสำนักต่างๆเหล่านั้นขึ้นมาวิจารณ์และสนับสนุน และสุดท้ายเตาะบะรีย์ก็จะเลือกเฟ้นเอาวิธีการอ่านที่คิดว่าถูกต้องที่สุดตามหลักฐานที่
ได้ยกมาสนับสนุนสำหรับตัวเอง.
อัลฮะซัน บิน อลี อัลอะห์วาซีย์กล่าวว่า : สำหรับเตาะบะรีย์มีหนังสือเกี่ยวกับกิรออาตอันสูงค่าเล่มหนึ่ง ซึ่งท่านได้กล่าวถึงวิธีการอ่านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอ่านที่โด่งดังเป็นที่
ยอมรับหรือมัชฮูร หรือ การอ่านที่แปลกไม่เป็นที่ยอมรับหรือช๊าซพร้อมกับวิจารณ์แต่ละวิธีการอ่านดังกล่าว และท่านจะเลือกวิธีการอ่านที่คิดว่า
ถูกต้องที่สุดสำหรับตัวเอง ซึ่งวิธีการอ่านดังกล่าวไม่ได้แหวกแนวออกจากวิธีการที่มัชฮูรแต่อย่างใด
2.1.4 วิชานิติศาสตร์อิสลามหรือฟิกฮ์ เตาะบะรีย์เป็นอุลามาอ์อีกคนหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามหรือฟิกฮ์ตั้งแต่ชีวิตยังเยาว์ การเดินทางไปศึกษา
หาความรู้ยังหัวเมืองต่างๆของเตาะบะรีย์ช่วยสร้างสมประสบการให้เตาะบะรีย์สามารถเข้าใจถึงทัศนะของบรรดานักฟุกอฮาอ์หรือนักนิติศาสร์
และนักอิจติฮาดทั้งหลาย ทำให้เตาะบะรีย์ทราบถึงคำตัดสินของบรรดากอฏีหรือผู้พิพากษาคดีต่างๆ ทั้งที่อยู่ในสมัยเดียวกับท่าน และสมัยก่อนหน้าท่าน
จนเตาะบะรีย์กลายเป็นอุลามาอ์ผู้หนึ่งที่เต็มเปี่ยมด้วยครามรอบรู้ด้านนิติศาสตร์อิสลามหรือหลักชะรีอะห์ รอบรู้ถึงสถานที่อิจมาอ์หรือเห็นพ้องกัน
ของอุลามาอ์ สามารถสัมผัสถึงไอแห่งความขัดแย้งต่างๆของอุลามาอือย่างละเอียดอ่อน จนเตาะบะรีย์กลายเป็นดาวประกายแสงดวงหนึ่งที่
ผู้แสวงหาความรู้ในสมัยนั้นต่างทยอยเดินทางมาหาแสงสว่างแห่งความรู้ด้านนิติศาสตร์อิสลามจากท่านอย่างไม่ขาดสาย.
อบูบักร บิน กามิลกล่าวว่า ฉันไม่เคยเห็นอุลามาอ์คนใดหลังจากอบูญะอ์ฟัร(อัลเตาะบะรีย์) ที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ เป็นศูนย์รวมของหนังสือบรรดาอุลามาอ์ต่างๆ
รอบรู้ถึงทัศนะที่ขัดแย้งกันของอุลามาอ์ และมีเชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาสตร์เหล่านั้น
เตาะบะรีย์ได้ทำการศึกษาวิชาหลักชะรีอะห์หรือฟิกฮ์จากบรรดาแกนนำของมัซฮับต่างๆ
อิบนุลนะดีมกล่าวว่า ท่านได้ทำการศึกษาวิชาฟิกฮ์ซอฮิรีย์จาก ดาวุด อัลซอฮิรีย์ ศึกษาฟิกฮ์ชาฟิอีย์จาก อัลฮะซัน บิน มุฮัมมัด อัลซะฮ์ฟะรอนีย์ ศึกษาฟิฮ์มาลิกีย์
จาก ยูนุส บิน อับดุลอะอ์ลา และศึกษาฟิกฮ์ฮะนะฟีย์จากมุฮัมมัด บิน มุกิติล อัลรอซีย์
เพียงแต่ว่าเตาะบะรีย์เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับฟิกฮ์มัซฮับชาฟิอีย์มากกว่าฟิกฮ์ของมัซฮับอื่นๆ เตาะบะรีย์ได้ทำการศึกษาฟิกฮ์
มัซฮับชาฟิอีย์อย่างละเอียดและเจาะลึก และได้เป็นมุฟตีหรือผู้ให้คำฟัตวาตามทัศนะมัซฮับชาฟิอีย์เป็นเวลานานเกือบสิบปี.
เกี่ยวกับเรื่องนี้เตาะบะรีย์ได้กล่าวเกี่ยวกับตัวเองว่า
ฉันได้แสดงจุดยืนของฉันด้านฟิกฮ์ตามมัซฮับชาฟิอีย์ และฉันได้ให้คำฟัตวาตามทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ในช่วงที่ฉันพำนักอยู่ที่อิรักเป็นเวลาถึงสิบปี
แต่เนื่องจากความกว้างขวางของเตาะบะรีย์ด้านวิชาการฟิกฮ์ทำให้เตาะบะรีย์แยกตัวเองเป็นเอกเทศจากทัศนะของอุลามาอ์ที่สังกัด
มัซฮับต่างๆ และทำการอิจติฮาดด้วยตนเอง จนกลายเป็นมัซฮับเฉพาะของท่านที่มีผู้ติดตามและ ซึ่งเป็นที่รู้จกกันในนามของ มัซฮับอัลญะรีรีย์.
เกี่ยวกับเรื่องนี้สุยูตีย์กล่าวว่าเริ่มแรกท่านเป็นคนที่ตามทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ ต่อมาท่านก็ได้แยกตัวเป็นเอกเทศและสร้างมัซฮับขึ้นมาเอง
แต่ทว่าผู้ที่ติดตามทัศนะของเตาะบะรีย์หรือมัซฮับญะรีรีย์มีไม่มาก ดังนั้นมัซฮับญะรีรีย์จึงไม่ค่อยแพร่หลายและมีผู้ตามไม่มากนัก
จนกระทั่งในศตวรรษที่ห้าแห่งฮิจเราะห์ศักราชมัซฮับญะรีรีย์ก็ไม่มีใครกล่าวถึงอีกเลย
เตาะบะรีย์ได้ทิ้งตำราข้อเขียนของท่านเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามหรือฟิกฮ์ไว้หลายเล่ม ซึ่งทั้งหมดบ่งบอกได้อย่างดีถึงความจัดเจน
ของเตาะบัรีย์ด้านนิติศาสตร์ ในจำนวนตำราเหล่านั้นได้แก่หนังสือที่มีชื่อว่า ละตออิฟุลเกาล์ ฟีอะห์กามชะรออิอ์ อัลอิสลาม ซึ่งเป็นหนังสือที่
ประเสริฐและมีค่าที่สุดในบรรดาหนังสือของเตาะบะรีย์ที่เขียนเกี่ยวกับฟิกฮ์และเป็นหนังสือที่ประเสริฐที่สุดเล่มหนึ่งในบรรดาหนังสือแม่บท
หรือมะตันของมัซฮับต่างๆ.
อบูบักร บิน รอมิก กล่าวว่าไม่มีการเขียนหนังสือเกี่ยวกับมัซฮับใดที่ประเสริฐและดีกว่าหนังสือละตออิฟ ของอบูญะอ์ฟัร (อัลเตาะบะรีย์)
เช่นเดียวกับหนังสือที่ชื่อ อิคติลาฟ อัลฟุกอฮาอ์ ซึ่งเตาะบะรีย์ได้กล่าวถึงทัศนะต่างๆของบรรดาอุลามาอ์ฟิกฮ์
เช่น มาลิกีย์ ฮะนะฟีย์ มุฮัมมัด บินฮะซัน และอื่นๆ.
2.1.5 วิชาประวัติศาสตร์ ในด้านประวัติศาสตร์เตาะบะรีย์ก็กลายเป็นบิดาแห่งประวัติศาสต์อิสลามอย่างเป็นเอกฉันท์ นักประวัติศาสตร์อิสลามที่มาหลังจากเตาะบะรีย์
อย่างเช่น อัลมัสอูดีย์ อิบนุลอะซีร และอินุกะซีร เป็นต้น ต่างต้องพึ่งพาเตาะบะรีย์ในการอิงประวัติศาสตร์จากหนังสือของท่าน หนังสือ
ตารีฆ อัลรุซูล วัล มุลูก ที่เตาะบะรีย์เขียนขึ้นมาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อิสลามที่สมบูรณ์และมหึมาเล่มหนึ่งในบรรดาหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม
เตาะบะรีย์ได้รวบรวมรายงานทางประวัติศาสตร์ต่างๆมากมายที่ปัจจุบันนี้รายงานดังกล่าวได้อันตธานหายไป จนหนังสือประวัติศาสตร์ของเตาะบะรีย์
กลายเป็นหนังสืออ้างอิงชั้นปฐมภูมิที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่งนับตั้งแต่สมัยที่เตาะบะรีย์ยังมีชีวิตอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน.
อับดุลลอฮ บิน อะหมัด อัลมุฆอลลัส กล่าวว่าไม่มีผู้ใดที่สามารถเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และบันทึกเหตุการณ์ต่างๆเฉกเช่นที่อบูญะอ์ฟัร (อัลเตาะบะรีย์)ได้เขียนไว้
อิบนุคอลลิกานได้กล่าวชมเชยด้านงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเตาะบะรีย์ว่า
ท่านเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือด้านการรายงาน และหนังสือประวัติศาสตร์ของท่านเป็นหนังสือที่ถูกต้องที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุดด้วย
2.1.6 วิชาภาษาศาสตร์ เตาะบะรีย์เป็นอุลามาอ์อีกผู้หนึ่งที่จัดเจนด้านภาษาศาสตร์ รอบรู้ถึงศาสตร์แขนงต่างๆที่เกี่ยวกับภาษาอาหรับ เช่น ไวยกรณ์อาหรับ
หรือนะห์วู ซอรัฟ บะละเฆาะห์ อะดับ เชเอร และอะรูฏ ซึ่งหนังสือตัฟซีรของเตาะบะรีย์สามารถเป็นพยานได้อย่างดีถึงความจัดเจนของท่านใน
ด้านดังกล่าว และเตาะบะรีย์ยังเป็นนักชะอีรตัวยงอีกผู้หนึ่งด้วย ดังที่อัลกอฟตีย์ได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า อัลมุฮัมมะดูน มินัลชุอารออ์
อบูบักร บิน มุญาฮิด เล่าว่า อบูลอับบาส ซะอ์ลับ ได้ถามฉันในวันหนึ่งว่า มีใครที่ยังหลงเหลืออยู่ในหมู่พวกเจ้า ? หมายถึงอุลามาอ์นะหวูที่ยังมีชีวิตอยู่ใน
เขตตะวันออกของอิรัก ฉันตอบว่า ไม่เหลือเลยสักคน
เหลือเพียงแต่ฟะกีฮ(นักนิติศาสตร์)ที่ชื่อเตาะบะรีย์คนเดียวเท่านั้น ดังนั้นท่านจึงกล่าว
ขึ้นมาว่า อิบนุญะรีร ? ฉันตอบว่า ใช่ ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า ผู้นี้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้เชี่ยวชาญของ อุลามาอ์นะหวู ชาวกูฟะห์เชียวหละ
เตาะบะรีย์ไม่ได้มีความรอบรู้เฉพะแขนงวิชาที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีความรอบรู้ด้านปรัชญา การคำนวน คณิตศาสตร์ และการแพทย์
ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าแขนงวิชาที่ได้กล่าวมาเช่นกัน
2.2 ความน่าเชื่อถือและคำสรรเสริญ บรรดาอุลามาอ์ในสาขาต่างๆเช่น ฮะดีษ ฟิกฮ์ อะดับ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆต่างเชื่อถือ และไว้วางใจเตาะบะรีย์ในเรื่องที่ต่างๆที่เตาะบะรีย์
ได้บันทึกไว้ในตำราที่ท่านแต่งไว้ พร้อมกับสรรเสริญ ชมเชย และยกย่องถึงความเก่งกาจและแก่วิชาของเตาะบะรีย์ หรือสถานภาพอันสูงส่งของ
เตาะบะรีย์ด้านวิชาการในเกือบทุกแขนงวิชา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว.
ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของการชมเชยและการยอมรับของบรรดาอุลามาอ์ในแขนงต่างๆเกี่ยวกับสถานภาพของเตาะบะรีย์ด้านวิชาการและในสายตา
ของอุลามาอ์ทั้งหลาย
1. อบู อัลอับบาส บิน สุรัยจ์ กล่าวว่า มุฮัมมัด บิน ญะรีร คือนักนิติศาสตร์แห่งโลก
2. อิบนุคุซัยมะห์ กล่าวว่า ฉันไม่เคยรู้ว่าทั่วทั้งแผ่นดินนี้ยังมีใครที่รอบรู้มากกว่ามุฮัมมัด บินญะรีร
3. เคาะตีบ บัฆดาดีย์กล่าวว่า เตาะบะรีย์เป็นอุลามาอ์ผู้หนึ่งที่สามารถยึดเอาคำพูดของท่านมาใช้เป็นเครื่องตัดสิน ท่านเป็นศูนย์รวมแห่งศาสตร์ต่างๆที่ไม่มีผู้ใดในสมัยท่าน
เสมอเหมือน ท่านเป็นผู้ที่ท่องจำอัลกุรอาน รอบรู้เกี่ยวกับวิธีการอ่าน (กิรออาต) ปราดเปรื่องด้านความหมายของอัลกุรอาน เชี่ยวชาญในด้านฮะดีษ
และสายรายงาน
4. อิบนุคอลลีกาน กล่าวว่า แท้จริงอิมามอิบนุญะรีรเป็นอิมาม(ผู้นำ)ในด้านวิชาการแขนงต่างๆด้านการอรรถาธิบายอัลกุรอาน ด้านฮะดีษ ด้าน ฟิกฮ์ ด้านประวัติศาสตร์
และศาสตร์อื่นๆ
5. สุบกีย์กล่าวว่า ท่านเป็นอิมามผู้ยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่งในบรรดาอิมามโลก ทั้งในด้านวิชาการและมารยาท
6. ซะฮะบีย์กล่าวว่า ท่านเป็นคนที่น่าเชื่อถือ มีสัจจะ มีความจำที่ดีเลิศ เป็นแกนนำอุลามาอ์ในด้านการตัฟซีรหรืออรรถาธบายอัลกุรอาน เป็นอิมามในด้านฟิกฮ์
หรือนิติศาสตร์อิสลาม เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นผู้ที่รอบรู้ด้านวิธีการอ่านอัลกุรอานหรือกิรออาต และด้านภาษาอาหรับและอื่นๆ
3. บทสรุป จากที่ได้ศึกษามาอย่างเคร่าๆถึงชีวประวัติของเตาะบะรีย์นักประวัติศาสตร์ผู้ลือชื่อท่านนี้ จึงพอจะสรุปได้ดังนี้
1. เตาะบะรีย์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่อบอุ่นและให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้.
2. เตาะบะรีย์เริ่มทำการศึกษาหาความรู้ตั้งแต่ชีวิตยังเยาว์.
3. ชีวิตส่วนใหญ่ของเตาะบะรีย์จะหมดไปกับการศึกษาหาความรู้ ทำการสอนศานุศิษย์ และแต่งตำราวิชาการ
4. เตาะบะรีย์เป็นหนึ่งในบรรดาอุลามาอ์ที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่สรรเสริญของอุลามาอ์ทั่วหล้าถึงความรอบรู้และแก่วิชาของท่าน.
5. หนังสือตำราข้อเขียนของเตาะบะรีย์เป็นสิ่งที่บ่งบอกอย่างไม่ต้องสงสัยถึงความเป็นผู้นำด้านวิชาการของท่านในสาขาวิชาต่างๆดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว