เมื่อพี่น้องมุสลิม ได้มีหนังสือเชิญหรือเชิญด้วยวาจาในงานต่างๆ อันดับแรกของความเป็นพี่น้องกัน ก็คือต้องตอบรับคำเชิญ
เป็นการรักษาไว้ซึ่งความต้องการของพี่น้อง ซึ่งงานนั้นต้องไม่มีสิ่งผิดหลักการศาสนาหรือไม่มีข้อขัดข้องที่ไม่อาจไปร่วมงานได้
งานที่มักจะมีการจัดกันเท่าที่กอฎีอิยาฏ และอิหม่ามนะวะวี ได้แถลงไว้ที่สำคัญมี 8 งานคือ งานคอตั่น (เข้าสุนัต) งานอะกีเกาะห์
(อาจมีการโกนผมไฟด้วย) งานที่หญิงปลอดภัยจากการคลอดบุตร งานเกี่ยวกับคนตาย งานธรรมดาที่ไม่มีเหตุใดๆ และงานพิธีนิกาห์ (มงคลสมรส)
งานทั้งหมดดังกล่าวนั้นท่านหะซัน อัยยูบ ได้กล่าวว่า " เป็นงานที่ถูกกำหนดโดยศาสนา (อัซรู๊อ์) ไม่มีงานใดที่จำเป็นต้องกระทำและต้องรับเชิญ
ยกเว้นงานพิธีนิกาห์ ตามทัศนะของนักวิชาการบางคน
ฮุก่ม(หลักการ)ในการตอบรับคำเชิญงานต่างๆ สำหรับงานพิธีนิกาห์ (มงคลสมรส) นั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าจำเป็น (วายิบ) ต้องรับเชิญ นักวิชาการดังกล่าวบางท่านให้ทัศนะว่า
เป็นฟัรดูอีน (จำเป็นแต่ละบุคคล) บางท่านก็ว่าเป็นฟัรดูกิฟายะห์ (จำเป็นโดยส่วนรวม) ทัศนะที่น่ายึดถือได้มากที่สุดคือ งานนั้นหากมีการเชิญ
โดยทั่วไปมิได้มีการเจาะจง ถือว่าการตอบรับคำเชิญเป็นฟัรดูกิฟายะห์ คือไปเพียงจำนวนหนึ่งก็พ้นภาระแล้ว แต่ถ้ามีการเชิญแบบเจาะจงเป็นรายบุคคล
การตอบรับคำเชิญถือเป็นฟัรดูอีน
สำหรับงานวะลีมะห์ (พิธีนิกาห์หรือมงคลสมรส) บางท่านจากมัซฮับฮำบาลี มัซฮับชาฟิอี และท่านลุคอมีย์ จากมัซฮับมาลิกีบอกว่า
"การตอบรับงานเชิญมงคลสมรสถือเป็นสุนัต" ท่านเชากานีได้กล่าวในหนังสือของท่านชื่อ "นัยลุ้ลเอาฎ๊อร" เล่มที่ 6 หน้า 202 ว่า "ที่เชื่อได้มากที่สุด
การตอบรับคำเชิญงานพิธีนิกาห์นั้นเป็นวายิบ เพราะคำสั่งมีมาจากหะดีษถือเป็นวายิบตามหลักการเดิมของคำสั่งใช้และยังไม่มีหลักฐานใดมาจำกัด
ให้คำสั่งใช้ดังกล่าวเป็นอย่างอื่น นอกจากจำเป็น และในคำสั่งนั้นยังมีต่ออีกว่า ผู้ที่ไม่ตอบรับคำเชิญจะถือเป็นการทำชั่ว หะดีษดังกล่าวคือหะดีษ
ของท่านอิบนิอุมัร ความว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงตอบรับการเชิญเมื่อพวกท่านได้รับการเชิญนั้น" และท่านอิบนิอุมัร
ได้ไปงานเชิญ ทั้งในงานสมรสและมิใช่งานสมรส และท่านได้ไปงานทั้งที่ท่านถือศีลอดอยู่
ส่วนงานอื่นนอกจากงานสมรส (พิธีนิกาห์) ถือว่าการตอบรับการเชิญเป็นสุนัต ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ เช่น มัซฮับมาลิกี หะนะฟี
ฮำบะลี และส่วนใหญ่ของมัซฮับซชาฟิอี ท่าซัรค่อซี่ย์พูดยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ บอกว่าเรื่องนี้เป็นมติของปวงปราชญ์ ซึ่งที่จริงยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่ายัง
มีทัศนะของนักวิชาการบางท่านในมัซฮับชาฟิอีบอกว่าถือเป็นวายิบ ในเรื่องนี้ท่านอิบนุอับดิลบั๊ริ์ จากอุบัยดิลลาห์ บิน อัลหะซัน อัลอัมบะรี
กอฎีเมืองบัสเราะห์ และอิบนุ หัซมิน อ้างว่าดังที่ว่านี้ (การรับเชิญเป็นวายิบ) นั้นเป็นทัศนะส่วนใหญ่ของเหล่าสาวก และท่าเชากานีย์ พร้อมกับ
บรรดาที่มีทัศนะเหมือนกันกล่าวว่า การตอบรับคำเชิญยังทุกงานทั้งงานพิธีมงคลสมรสและงานอื่นๆ ถือเป็นวายิบโดยอ้างหลักฐานจากหะดีษที่
กล่าวแล้วทั้งสอง และหะดีษอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งจะกล่าวต่อไป
และการตอบรับการเชิญที่เป็นวายิบนั้น มีเงื่อนไขอยู่ว่า ผู้เชิญต้องบรรลุศาสนภาวะ มีเสรีภาพ และรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับงานนั้นดี
และงานนั้นต้องไม่เลือกเชิญเฉพาะคนรวย และเป็นงานวันแรก ที่สำคัญผู้ร่วมงานต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน เพราะมีสิ่งอันผิดต่อหลักการของ
ศาสนาในงานนั้น และต้องไม่มีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจไปร่วมงานได้
งานเชิญที่ชั่ว งานเชิญที่ศาสนาถือว่าเป็นบาป คืองานที่เลือกเชิญเฉพาะคนรวยแต่ไม่ยอมเชิญคนยากจน แต่ยิ่งชั่วมากกว่านั้นก็คือ เมื่อคนจนหรือ
เด็กกำพร้าต้องการจะเข้าร่วมงานแต่เจ้าภาพไม่ยอมให้เข้าร่วมงาน โดยการพูดจาให้พวกเขาอับอายและเสียใจ
สาวกอะบูฮุรอยเราะห์ฯ ได้รายงานหะดีษในบันทึกของบุคอรีและมุสลิม ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
" งานเลี้ยงที่ชั่วคืองานที่มีการเชิญแต่เฉพาะคนรวยและละทิ้งคนยากจน และผู้ที่ไม่ตอบรับการเชิญ ถือว่าทรยศต่ออัลเลาะห์และศาสนทูตของพระองค์ "
ความจากสาวกญาบิรฯ ในบันทึของอาหมัดและมุสลิม ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
" เมื่อคนหนึ่งในพวกท่านถูกเชิญ เขาจำเป็นต้องตอบรับ หากเขาถือศีลอดก็จงขอพร (ให้เจ้าภาพ) และหากเขาไม่ได้ถือศีลอด ก็จงทานอาหาร"
และหะดีษที่รายงานในบันทึกของนักหะดีษหลายท่านยกเว้นบุคอรีและนะซาอีความว่า
"เมื่อคนหนึ่งในพวกท่านถูกเชิญไปสู่งานเลี้ยงอาหารขณะที่เขาถือศีลอด เขาก็จงกล่าว (แก่เจ้าภาพ) ว่า ฉันถือศีลอด "
จากบรรดาหะดีษดังกล่าว ให้นัยด้านหลักการ (ฮุก่ม) ที่สำคัญๆ ดังนี้ วายิบ (จำเป็น) ต้องตอบรับการเชิญไปงานเลี้ยง ส่วนการรับประทานในงานเชิญนั้นไม่ถือเป็นการจำเป็นต้องรับประทาน ไม่ว่าจะเป็น
งานนิกาห์หรืองานอื่นๆ ก็ตาม และท่านอิหม่ามนะวะวีบอกทัศนะที่ซอเฮี๊ยะห์คือ จำเป็นต้องรับประทาน ฝ่ายอะฮลุ้ซซอฮิรให้น้ำหนักทัศนะนี้
(คือจำเป็นต้องรับประทาน) มากกว่า หวังว่าบรรดาเหล่านั้นยึดถือเอาหะดีษที่ว่า "หากเขาไม่ได้ถือศีลอดก็จงรับประทาน "
ผู้ที่ถูกเชิญไปยังงานเลี้ยง และเขาถือศีลอดอยู่ ให้เขาแจ้งแก่เจ้าภาพผู้เชิญว่า ตนถือศีลอด หากเขาอนุญาตว่าไม้ต้องไปงานได้
ก็สามารถไม่ต้องไปได้ แต่ถ้าเจ้าภาพไม่ยอม เขาต้องไปงานและขอดุอาให้เจ้าภาพและไม่จำเป็นต้องมีการรับประทาน ยกเว้นเมื่อว่า หากเขา
ไม่รับประทานจะทำให้เจ้าภาพเดือดร้อนหรือเสียใจ และถ้าศีลอดของเขานั้นเป็นศีลอดสุนัต นักวิชาการบอกว่า ที่ดีแล้วให้ละศีลอดและ
ให้รับประทานอาหารในงานนั้น
จากหะดีษดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความเป็นพี่น้องกันในอิสลามนั้น ต้องทำให้พี่น้องได้รับความพอใจ ควรคบกันด้วยดีและต้อง
ไม่ทำให้เกิดการเสียใจ และเดือดร้อนไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ
ฮุก่ม (หลักการ) ตอบรับงานเชิญที่มีสิ่งผิดศาสนา มุสลิมได้รายงานหะดีษของสาวกอะบีสะอีดอัลคุฎรีย์ฯ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า
"ผู้ใดจากพวกเจ้าเห็นสิ่งผิดศาสนา ก็จงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นด้วยมือของเขา ดังนั้นหากเขาไม่สามารถก็ให้เปลี่ยนแปลงด้วยลิ้นของเขา
และถ้าเขาไม่สามารถอีกก็ให้เปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจการเช่นนั้น (การเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ) ถือเป็นความอ่อนแอแห่งศรัทธา"
ความในหะดีษจากสาวกอะลี ฯ ว่า "ฉันได้จัดเตรียมอาหารแล้วเรียนเชิญท่านศาสนทูต ท่านก็มา ครั้นท่านเห็นรูปภาพในบ้านท่านจึงกลับ"
บันทึกโดยอิบนุมาญะห์
อิหม่ามอาหมัด นะซาอี ติรมิซี่ย์ และฮากิม ได้บันทึกรายงานหะดีษมัรฟู๊อฺของสาวกญาบิรฯ ท่านศาสดาฯ กล่าวว่า
"ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลเลาะห์และวันสุดท้าย เขาต้องไม่นั่งร่วมวงสำรับที่มีการเสิร์ฟเหล้า"
นัยแห่งหะดีษดังกล่าวนั้น ชี้ให้ทราบโดยรวมว่า งานเชิญใดที่มีสิ่งผิดหลักการศาสนา ไม่อนุญาตให้ไปร่วมงานนั้น เพราะเท่ากับ
เป็นการประกาศด้วยกับการดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดทัศนะของมัซฮับต่างๆ ท่านอิบนุหะญัรได้นำเสนอไว้ในหนังสือ "อัลฟัตห์" เล่มที่ 9 หน้า 216 ดังนี้
หากในงานนั้นมีสิ่งต้องห้าม และเขาสามารถที่จะห้ามปรามได้ แล้วเขาก็ทำการห้ามปรามให้หมดไปได้ การไปงานนั้นก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าเขาไม่สามารถจะห้ามปรามหรือทำให้มันหายไปได้ ก็จงกลับออกจากงานเสีย และถ้าในงานนั้นมีสิ่งที่เป็นเพียงมักรู๊ห์ (ที่น่าเกลียด)
ไม่ถึงกับเป็นสิ่งที่ต้องห้ามทางศาสนา กรณีนี้ เขาประสงค์จะไปร่วมหรือไม่ไปก็ได้ และหากมีการละเล่นที่ยังมีข้อขัดแย้งกันในนักวิชาการศาสนาว่า
การละเล่นนั้นต้องห้ามหรือไม่ ? งานนี้อนุญาตให้ไปร่วมงานได้ แต่ที่ดีไม่ควรไปร่วมดีกว่า มัซฮับฮะนาฟีและทัศนะหนึ่งจากชาฟิอีว่า หากที่งานนั้น
มีสิ่งผิดศาสนาเช่น การเลี้ยงสุรายาเมา และผู้รับเชิญเป็นคนธรรมดามิได้เป็นต้นแบบของคนอื่น ( เช่นไม่ได้เป็นอิหม่าม เป็นครูบาอาจารย์ เป็นกรรมการ
อิสลามหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคนนับหน้าถือตา และการกระทำของเขาเป็นที่เอาอย่างของคนทั่วไป) ก็อนุญาตให้ไปในงานและรับประทานสิ่งฮาล้าล
ในงานนั้นได้ แต่ถ้าเป็นคนที่เป็นต้นแบบของคนอื่นๆ ไม่อนุญาตให้ไปร่วมงานดังกล่าว เพราะจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ เอาอย่างตาม และเป็น
การเปิดประตูแห่งความชั่วได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หมายถึงเมื่อไปถึงงานแล้วพบสิ่งอันผิดศาสนา แต่ถ้ารู้ก่อนจะเข้าร่วมงานว่างานนี้มีสิ่ง
ผิดศาสนาแน่ ไม่อนุญาตให้เข้าไปร่วมงาน และไม่ต้องตอบรับการเชิญ
สรุป ที่สอดคล้องกับหลักฐานก็คือ ผู้ถูกเชิญนั้นหากเขารู้ว่ามีสิ่งผิดศาสนาอย่างชัดเจนในงานนั้นแน่นอน ก่อนจะไปร่วมงาน เขาไม่ต้องไปร่วมงาน
แต่หากเขาไม่รู้มาก่อน มารู้ว่ามีสิ่งผิดศาสนาก็ต่อเมื่อเข้ามาในงานแล้ว และเขาก็ไม่อาจจะห้ามปรามหรือทำให้มันหายไปได้ เขาจำเป็นต้อง
ออกจากงานนั้นทันทีด้วยความสมัครใจ โดยมีเงื่อนไขว่าการออกจากงานของเขานั้นเขาไม่ต้องกลัวความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของเขา
อิบนุลเญาซีย์กล่าวว่า หากในงานมีอาหารที่ต้องห้ามต้องไม่มีการตอบรับการเชิญ ทำนองเดียวกันก็คือ กรณีมีสิ่งไม่ชอบด้วยศาสนาในงาน
หรือผู้เชิญเป็นคนอธรรม เป็นคนเลวหรือเป็นคนเชิญที่ต้องการความอวดโต อวดรวย หรือในงานนั้น มีการกระทำหรือพูดในหมู่ผู้รับเชิญด้วยเรื่องที่
ไม่ชอบด้วยศาสนา ก็ไม่ต้องไปในงานนั้น ยกเว้นตนจะสามารถห้ามปรามได้
ท่านอิบนุตัยมียะห์ ได้แถลงไว้ในฟัตวาของเขาว่า " ไม่สมควรที่จะให้สลามกับคนที่ไม่ละหมาด และไม่ต้องตอบรับการเชิญของเขา"
ส่วนท่านอาหมัดอิบนุฮัมบัลกล่าวว่า "ที่จำเป็นต้องตอบรับคำเชิญนั้นคือ เมื่อผู้เชิญทำงานที่ดี และไม่เห็นมีสิ่งผิดศาสนา"