salamครับ ที่นี่ผมจะนำเสนอ เกี่ยวกับการเฝ้ากุโบร์เพื่ออ่านอัลกรุอ่านฮาดียะแก่ผู้ตายช่วง7วัน ของบรรดาอุลามะและลูกศิษย์ของทั้ง4มัสหับ
เป็นที่รู้ว่าอุลามะทั้ง4มัสหับไม่มีใครฮุกมว่าเป็นบิดอะและฮารอม เพราะด้วยหลักฐานที่ไม่มีการห้ามจากกีตาบุลลอฮ์และซุนนะนบีรวมทั้งการกระทำของซอฮาบะ ตาบีอีน ตาบีอีตตาบีอีนด้วยสาเหตุดังกล่าวเขาเหล่านั้นจึงมีการปฏิบัติต่อๆกันมา ซึ่งยังคงมีแค่ทัศนะของชาววาฮาบีบางกลุ่มเท่านั้นที่ คัดค้านในเรื่องนี้
ทัศนะของมัซฮับทั้ง 4 มีรายละเอียดตามหนังสือแหล่งอ้างอิงของแต่ละทัศะดังนี้
1. มัซฮับหะนะฟียะฮ์
ได้กล่าวระบุไว้ใน อัลฟะตาวา อัลฮินดียะฮ์ ว่า "เมื่อมัยยิดถูกฝังเรียบร้อยแล้ว สุนัตให้บรรดามุสลิมทำการนั่งที่กุโบรสักช่วงเวลาหนึ่งหลังจากฝังเสร็จ ด้วยขนาดเวลาที่อูฐถูกเชื่อดและเนื้อของมันได้แจกจ่ายไป โดยที่ให้พวกเขาทำการอ่านอัลกุรอานและขอดุอาอ์ให้แก่มัยยิด....การอ่านอัลกุรอานตามทัศนะของ ท่านมุหัมมัด (ร.ฮ.)นั้น ไม่ถือว่ามักโระฮ์ และบรรดาคณาจารย์ของเรา ได้ยึดเอาทัศนะคำกล่าวของเขา" ดู เล่ม 1 หน้า 166
ท่านอิบนุอาบิดีนได้กล่าวระบุไว้ในหนังสือ ร๊อดดุลมั๊วะหฺตาร ว่า "การนั่งอ่านอัลกุรอานที่กุโบรไม่เป็นมักโระฮ์ ตามทัศนะที่ถูกเลือกเฟ้นแล้ว" ดู เล่ม 2 หน้า 246
ได้มีการกล่าวระบุไว้ในหนังสือ อันนิยาบะฮ์ ชัรหฺ อัลฮิดายะฮ์ ว่า " การอ่านอัลกุรอานที่กุบูรนั้น ไม่เป็นไร แต่อย่านั่งบนกุโบร และอย่าเข้าไปในกุบูรแล้วอ่านอัลกุรอาน" ดู เล่ม 3 หน้า 306
2. มัซฮับมาลิกียะฮ์
อุลามาอ์มัซฮับมาลิกียะฮ์มีทัศนะว่า มักโระฮ์กับการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร แต่บรรดาอุลามาอ์มัซฮับมาลิกียะฮ์ยุคหลังนั้น มีมติที่แน่นอนแล้วว่าให้กระทำได้ บ้างก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ หลังจากที่พวกเขาพบหลักฐานว่ามีซอฮาบะฮ์บางท่านได้สั่งเสียให้กระทำ
ท่านอัลลามะฮ์(ปรมจารย์) ชัยค์ อัดดัรเดร กล่าวว่า "บรรดาอุลามาอ์(มัซฮับมาลิกีย์)ยุคหลัง มีทัศนะว่า การอ่านอัลกุรอานที่กุบูร การซิกิร และฮะดียะฮ์ผลบุญให้แก่มัยยิดนั้น ถือว่าไม่เป็นไร และผู้ที่กระทำดังกล่าว ย่อมได้รับผลตอบแทนด้วย อินชาอัลเลาะฮ์" ดู อัชชัรหฺ อัลกะบีร ตีพิมพ์พร้อมกับ หาชียะฮ์ อัดดุซูกีย์ เล่ม 1 หน้า 423
ข้อควรระวัง
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อิกติฏออ์ อัสซิรอต๊อลมุสตะกีม ว่า " อิมามมาลิกกล่าวว่า ฉันไม่รู้เลยว่ามีคนใดได้กระทำสิ่งดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นที่ทราบว่า ซอฮาบะฮ์ และตาบีอีนนั้น พวกเขาไม่ได้กระทำมัน" ดู เล่ม 2 หน้า 744
เราขอกล่าวว่า การที่ท่านอิมามมาลิก(ร.ฮ.)ไม่รู้นั้น ไม่ได้หมายความถึงการปฏิเสธการกระทำของบรรดาซอฮาบะฮ์และตาบิอีนทั้งหมด และการสรุปความเห็นของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ที่ว่า บรรดาซอฮาบะฮ์และตาบิอีนไม่เคยทำนั้น เป็นการขัดกับบรรดาตัวบทที่ได้มีการระบุไว้ ดังนี้ คือ
ท่าน อัลค๊อลลาล ได้นำเสนอรายงาน ว่า ได้เล่าให้ฉันทราบ โดยอบูยะหฺยา อันนากิด เขากล่าวว่า ได้เล่ากับเรา โดยซุฟยาน บิน มะเกี๊ยะอฺ เขากล่าวว่า ได้เล่ากับเรา โดยหัฟซฺ(บินฆอยยาษ) , จากมุญาลิด , จากท่านอัชชะอฺบีย์ เขากล่าวว่า " บรรดาชาวอันซอรนั้น เมื่อมีผู้ตายคนหนึ่งของพวกเขาได้เสียชีวิต พวกเขาก็จะทำการสลับกันไปที่กุบูร เพื่อพวกเขาทำการอ่านอัลกุรอานที่กุบูรของมัยยิดผู้นั้น" ดู หนังสือ อัลอัมรฺ บิลมะอฺรูฟ วันนะฮ์ อะนิลมุงกัร หน้า 126
ท่าน อัลค๊อลลาล ได้กล่าวว่า ได้เล่าให้ฉันทราบ โดยอิบรอฮีม บิน ฮาชิม อัลบะฆอวีย์ ซึ่งเขากล่าวว่า ได้เล่าให้ฉันทราบ โดยอับดุลเลาะฮ์ บิน ซินาน อบูมุหัมมัด ซึ่ง เขากล่าวว่า ได้เล่าให้เราทราบ โดยอัลฟัฏล์ บิน มูซา อัลชัยบานีย์ , จากชารีก , จากมันซูร , จากอัลมัรรีย์ ว่า แท้จริง ท่านอิบรอฮีม(อันนะค่าอีย์) กล่าวว่า "การอ่านอัลกุรอานที่กุบูรต่างๆ นั้น ไม่เป็นไร" ดู หนังสือ อัลอัมรฺ บิลมะอฺรูฟ วันนะฮ์ อะนิลมุงกัร หน้า 127
ดังนั้น คำกล่าวของท่านอัชชะอ์บีย์ ได้ชี้ให้เห็นว่า บรรดาซอฮาบะฮ์ได้กระทำการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร และท่านอิบรอฮีม อันนะค่าอีย์ ก็เป็นอุลามาอ์อัตตาบิอีน ที่มีทัศนะให้กระทำได้
3. มัซฮับชาฟิอียะฮ์
ท่านอิมาม อันนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัล-มัจญฺมั๊วะ ของท่านว่า "บรรดาอุลามาอ์ของเรากล่าวว่า สุนัตให้ผู้ที่ไปเยี่ยมกุบูร ทำการให้สลามแก่ชาวกุบูร , และให้เขาทำการขอดุอาอ์ให้แก่ผู้ที่เขาไปเยี่ยม และแก่ชาวกุโบรทั้งหมด , และถือเป็นการดียิ่ง ที่จะกล่าวให้สลามและขอดุอาอ์ด้วยกับสิ่งที่ได้ระบุไว้ในหะดิษ, และสุนัตให้ผู้ไปเยี่ยมกุบูร ทำการอ่านสิ่งที่ง่าย ๆ จากอัลกุรอานและทำการขอดุอาอ์ให้แก่เขาหลังจากเสร็จสิ้นการอ่าน ซึ่งอิมามอัช-ชาฟิอีย์ได้ระบุมันไว้(ในหนังสืออุมมฺ) และบรรดาสานุศิษย์ก็มีความเห็นพร้องกันต้องกัน" ดู เล่ม 5 หน้า 276
ท่านอิมามรอมลีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ นิฮายะตุลมั๊วะหฺตาจญฺ ว่า " สุนัตให้อ่านอัลกุรอานที่ง่าย ๆ ที่กุบูร" ดู เล่ม 3 หน้า 36 และท่านอิมามรอมลีย์กล่าวอีกว่า "ให้เขาทำการอ่านอัลกุรอานและขอดุอาอ์หลังจากการอ่านอัลกุรอานของเขา และการขอดุอาอ์นั้นเป็นผลประโยชน์แก่มัยยิด โดยที่การขอดุอาอ์ถัดจากการอ่านอัลกุรอานนั้น ทำให้ถูกตอบรับเร็วมากกว่า" ดู เล่ม 3 หน้า 37
ข้อควรระวัง
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อิกติฏออ์ อัลซิรอต๊อลมุสตะกีม ว่า" ไม่ได้ถูก(รายงาน)มาสักคำกล่าวเดียวจากอิมามอัช-ชาฟิอีย์ เกี่ยวกับปัญหาประเด็นนี้(คือการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร) และดังกล่าวนั้น เพราะว่ามันเป็นบิดอะฮ์ตามทัศนะของอิมามชาฟิอีย์" ดู เล่ม 2 หน้า 734
เราขอกล่าวว่า ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ กล่าวอย่างผิดพลาดต่อทัศนะของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) และทำการปฏิเสธสายรายงานที่ถูกรับรองจากอิมามชาฟิอีย์ และทำการกล่าวพาดพิงทัศนะถึงอิมามชาฟิอีย์ โดยที่ท่านอิมามชาฟิอีย์ไม่ได้เคยกล่าวไว้เช่นนั้นเลย(คือกล่าวว่าบิดอะฮ์)
สำหรับสิ่งที่ได้มีการยืนยันระบุจากอิมามชาฟิอีย์(ร.ฏ.) นั้น คือ ท่าน อัลค๊อลลาล ได้กล่าวรายงานว่า
أخبرنى رَوح بن الفرج قال : سمعت الحسن بن الصبّاح الزعفرانى يقول : سألت الشافعى عن القراءة عند القبور، فقال : لا بأس به
" ได้บอกเล่าให้ฉันทราบ โดยท่าน เร๊าห์ บิน อัลฟะร๊อจ ซึ่งได้กล่าวว่า ฉันได้ยินท่าน อัลหุซัยน์ บิน อัศศ๊อบบาหฺ อัซซะฟะรอนีย์ กล่าวว่า ฉันได้ถามอิมามอัช-ชาฟิอีย์เกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร ดังนั้น ท่านอัช-ชาฟิอีย์ตอบว่า "การอ่านอัลกุรอานที่กุบูรนั้น ไม่เป็นไร" ดู หนังสือ อัลอัมรฺ บิลมะอฺรูฟ วันนะฮ์ อะนิลมุงกัร หน้า 126
และบรรดาอุลามาอ์ชั้นนำในมัซฮัลอัช-ชาฟิอีย์ ได้กล่าวยืนยันว่า มีตัวบทระบุอย่างชัดเจน จากอิมามชาฟิอีย์ ว่า อนุญาติให้อ่านอัลกุรอานที่กุบูรได้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งอิมาม อันนะวาวีย์ได้กล่าวยืนยันไว้ว่า อิมามอัชชาฟิอีย์ได้กล่าวระบุ(การอนุญาติอ่านอัลกุรอานที่กุบูร)ไว้ในหนังสืออุมมฺ" (ดู หนังสือมัจญฺมั๊วะ เล่ม 5 หน้า 286) และอิมามอิบนุหะญัรอัลฮัยตะมีย์ (ดู อัลฟาตาวา อัลกุบรอ เล่ม 2 หน้า 27)
และหากเรากลับไปดูหนังสืออัลอุมมฺของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ จากเรื่อง "อัลญะนาอิซฺ" ในบทย่อยเกี่ยวกับเรื่อง "จำนวนการห่อมัยยิด" ซึ่งท่านอิมามอัช-ชาฟิอีย์กล่าวระบุไว้ว่า
وَأُحِبُّ لَوْ قُرِئَ عِنْدَ الْقَبْرِ، وَدُعِيَ لِلْمَيِّتِ وَلَيْسَ فِي ذَلِكَ دُعَاءٌ مُؤَقَّتٌ
"ฉันรัก หากมีการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร และมีการขอดุอาอ์ให้แก่มัยยิด(ผู้ตาย) และในเรื่องดังกล่าวนั้น ไม่มีการขอดุอาอ์ที่ถูกกำหนดเวลาเอาไว้ตายตัว(คือขอดุอาให้ผู้ตายได้ทุกเวลา)"
มีบางคนที่ไม่ค่อยจะมีความรู้มากนัก ได้พยายามกล่าวอ้างทัศนะของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ที่ว่า ผลบุญการอ่านอัลกุรอานไม่ถึงมัยยิด เพื่อจะแอบอ้างว่าเมื่อผลบุญไม่ถึง การอ่านอัลกุรอานที่กุบูรก็ไร้ความหมาย ซึ่งคำกล่าวนี้ เป็นความเข้าใจที่ปราศจากความเข้าใจในมัซฮับอิมามอัช-ชาฟิอีย์
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ใน หนังสือ อัลอัซฺการของท่านว่า
أجمع العلماء على أن الدعاء للأموات ينفعهم ويَصلُهم......واختلف العلماء في وصول ثواب قراءة القرآن، فالمشهور من مذهب الشافعي وجماعة أنه لا يَصل. وذهب أحمدُ بن حنبل وجماعةٌ من العلماء وجماعة من أصحاب الشافعي إلى أنه يَصل، والاختيار أن يقولَ القارئُ بعد فراغه: "اللهمّ أوصلْ ثوابَ ما قرأته إلى فلان، واللّه أعلم
"บรรดาปวงปราชน์ได้ลงมติเห็นพร้องว่า แท้จริง การขอดุอาอ์ให้แก่บรรดาผู้ตายนั้น มันเป็นผลประโยชน์แก่พวกเขา และถึงพวกเขา.....และบรรดาอุลามาอ์ได้ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่อง ผลบุญการอ่านอัลกุรอานถึงผู้ตาย ดังนั้น คำกล่าวที่เลื่องลือ จากมัซฮับอิมามอัช-ชาฟิอีย์และกลุ่มหนึ่งนั้น คือ ผลบุญไม่ถึงผู้ตาย(หากอ่านอัลกุรอานเพียงอย่างเดียวโดยไม่ขอดุอาตามท้าย) และท่านอิมามอะหฺมัด บิน หัมบัล พร้อมด้วยปวงปราชญ์กลุ่มใหญ่ และกลุ่มหนึ่งจากบรรดาสานุศิษย์ของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ได้ กล่าวว่า แท้จริง ผลบุญดังกล่าวถึงผู้ตาย และทัศนะที่ได้รับการแฟ้นแล้ว คือให้ผู้อ่านกล่าวดุอาอ์หลังจากเสร็จสิ้นจากการอ่านอัลกุรอานว่า "โอ้อัลเลาะฮ์ ขอได้โปรดทำให้ผลบุญของสิ่งที่ฉันได้อ่านมันไปแล้วนั้น ไปถึงคนนั้นๆ (..........) ด้วยเทอญ (ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันเอง วัลลอฮุอะลัม " ดู อัลฟุตูฮาด อัรร๊อบบานียะฮ์ อะลา อัลอัซการอันนะวะวียะฮ์ เล่ม 4 หน้า 194
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า "คำกล่าวที่เลื่องลือ จากมัซฮับอิมามอัช-ชาฟิอีย์.." นั้น ผู้อธิบายหนังสือ ชัรหฺ อัรเราฏ์ กล่าวว่า มัน หมายถึง การเหนียตฮะดียะฮ์ผลบุญการอ่านให้แก่มัยยิดโดยไม่ได้ทำการขอดุอาอ์ให้นั้น" ดู อัลฟุตูฮาด อัรร๊อบบานียะฮ์ อะลา อัลอัซการอันนะวะวียะฮ์ เล่ม 4 หน้า 194
ซึ่งหมายถึงว่า ผลบุญการอ่านอัลกุรอานจะมีประโยชน์และถึงแก่ผู้ตายนั้น ไม่ใช่ด้วยการเหนียตฮะดียะฮ์ให้เท่านั้น เพราะมันจะไม่ถึงตามทัศนะของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ แต่ต้องขอดุอาอ์ให้แก่มัยยิดด้วย ซึ่งในการขอดุอาอ์นั้น เราจะขอต่ออัลเลาะฮ์ให้ผลบุญการอ่านของเราถึงมัยยิดนั้น ย่อมกระทำได้อย่างไม่มีปัญหา เนื่องจากการขอดุอาอ์นั้น เป็นสื่อที่ทำให้ผลบุญไปถึงมัยยิดตามทัศนะของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ ไม่ใช่การเหนียตฮะดียะฮ์ตัวการอ่านอัลกุรอานที่ผู้อ่านได้อ่านเองเพียงอย่างเดียว
ท่านอิบนุกุดามะฮ์กล่าวอีกว่า
وقال الشافعي : ما عدا الواجب والصدقة والدعاء والاستغفار , لا يفعل عن الميت , ولا يصل ثوابه إليه ; لقول الله تعالى : وأن ليس للإنسان إلا ما سعى
"ท่านอิมามชาฟิอีย์กล่าวว่า สิ่งที่อื่นจาก วายิบ(เช่นฮัจญฺ ศีลอด) การทำทาน(คุณอะสันบอกได้ไหมว่าการเลี้ยงอาหารไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งจากการทำทาน) การขอดุอาอ์ และการอิสติฆฟาร นั้น จะไม่ถูกทำแทนให้กับมัยยิด และผลบุญก็จะไม่ไปถึงเขา เพราะอัลเลาะฮ์ทรงตรัสไว้ว่า"ไม่มีให้กับมนุษย์นอกจากสิ่งที่เขาได้กระทำไว้เท่านั้น" ดู หนังสือ อัลมุฆนีย์ เล่ม3 หน้า373
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ อิมามอันนะวาวีย์จึงกล่าวไว้ในหนังสืออัลอัซฺการว่า " และที่ได้เลือกเฟ้นแล้วนั้น คือให้ผู้อ่านกล่าวดุอาอ์หลังจากเสร็จจากการอ่านอัลกุรอานว่า "โอ้อัลเลาะฮ์ โปรดจงทำให้ผลบลสิ่งที่ฉันได้อ่านมันไปแล้วนั้น ไปถึงคนนั้นๆ(..........) วัลลอฮุอะลัม" ดู อัลฟุตูฮาด อัรร๊อบบานียะฮ์ อะลา อัลอัซการอันนะวะวียะฮ์ เล่ม 4 หน้า 194
และอาจารย์ของอิมามอันนะวาวีย์ คือ ท่านอิบนุ อัศศ่อลาหฺ กล่าวว่า " ผู้ขอดุอาควรกล่าวว่า ,โอ้อัลเลาะฮ์ โปรดทรงทำให้ผลบุญของสิ่งที่ฉันได้อ่านมันไปแล้วนั้น ไปถึงผู้ตายคนนั้นๆ (..........) , โดยที่เขาทำให้การอ่านอัลกุรอาน แล้วขอดุอาอ์(ให้ถึงผู้ตาย) ไม่ว่าผู้ตายจะอยู่ใกล้หรือไกลก็ตาม และต้องยาเกนมั่นใจในการที่มัยยิดได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว(จากการขอดุอาอ์)นั้น" ดู หนังสือ มุฆนีย์ อัลมั๊วะตาจญฺ เล่ม 4 หน้า 116 - 117
และเมื่ออิมามอัช-ชาฟิอีย์ได้ระบุไว้ในหนังสืออัลอุมม์ว่า "ฉันรัก หากถูกอ่านอัลกุรอานที่กุบูร และถูกขอดุอาอ์ให้แก่ผู้ตาย และในสิ่งดังกล่าวมานั้น ไม่มีการขอดุอาอ์ที่ถูกกำหนดเวลาเอาไว้" ท่านอิบนุหะญัร อัลฮัยตามีย์ จึงได้กล่าวอธิบายว่า " และให้เขาทำการอ่านอัลกุรอานที่ง่ายๆ แก่เขา(ที่กุบูร)และทำการขอดุอาอ์ถัดจากการอ่านโดยที่หลังจากเขาได้หันหน้าไปทางกิบละฮ์ เพราะการดุอาอ์หลังจากอ่านอัลกุรอานนั้น มีความหวังในการตอบรับมากกว่า " ดู หนังสือ ตั๊วะหฺฟะตุลมั๊วะห์ตาจ เล่ม 1 หน้า 602 ตีพมพ์ที่ อัษษะกอฟะฮ์ อัดดีนียะฮ์
4. มัซฮับ อัลหะนาบิละฮ์
ท่าน อัลมัรดาวีย์ ได้กล่าวระบุไว้ในหนังสือ อัลอินซอฟ กล่าวว่า "การอ่านอัลกุรอานที่กุบูรไม่เป็นมักโระฮ์ ตามในสายรายงานซอฮิหฺที่สุด(ซึ่งมาจากอิมามอะหฺมัด) และ นี้ก็คือ มัซฮับ ที่(ท่านอิบนุมุฟลิหฺ) ได้กล่าวไว้ใน หนังสืออัลฟุรั๊วะอ์ และได้ระบุเรื่องนี้ไว้ในมัซฮับ , ผู้อธิบายได้กล่าวว่า นี้คือคำกล่าวที่เลื่องลือจากอิมามอะหฺมัด" ดู เล่ม 2 หน้า 532
ท่านอิบนุมุฟลิหฺ กล่าวไว้ในหนังสือ อัลมุบเดี๊ยะอ์ ชัรหฺ อัลมุกเนี๊ยะอ์ ว่า " การอ่านอัลกุรอานที่กุบูร ไม่เป็นมักโระฮ์ ตามสองสายรายงานที่ซอฮิหฺยิ่งที่รายงานจากท่านอิมามอะหฺมัด และ นี้ก็คือ มัซฮับ(ของอิมามอะหฺมัด)" ดู เล่ม 2 หน้า 281
คำพูดต่างๆที่ถูกรายงานเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร
ท่าน อัซฺซ่ะฮ่ะบีย์ ได้กล่าว ประวัติท่าน อบูญะฟัร อัลฮาชิมีย์ อัลหัมบาลีย์ ชัยค์มัซฮับอัลหะนาบิละฮ์ (เสียชีวิตปี 470) ว่า " และเขาได้ถูกฝังเคียงข้างกุบูรของท่านอิมามอะหฺมัด , และบรรดาผู้คนได้ประจำอยู่ที่กุบูรของเขาเป็นเวลานาน จนกระทั้งกล่าวกันว่า อัลกุรอานได้ถูกอ่านจบ ที่กุบูรของเขา ถึง 10000 จบด้วยกัน" ดู หนังสือ ซิยัร อะลาม อัลนะบะลาอ์ เล่ม 18 หน้า 547
ท่าน อัซฺซะฮะบีย์ ได้กล่าว ถึงท่าน อัลค่อฏีบ อัลบุฆดาดีย์ ว่า " ท่านอัลคอฏีบ เป็น อิมามที่โดดเด่น เป็นอัลลามะฮ์ เป็นมุฟตี เป็นนักจำหะดิษที่เชี่ยวชาญ เป็นนักหะดิษแห่งสมัยนั้น.....ท่านอิบนุ ค๊อยรูน กล่าวว่า ท่านอัลคอฏีบได้เสียชีวิตในช่วงสาย....ได้มีบรรดานักปราชญ์ฟิกห์และบรรดาผู้คนมากมาย ได้ทำการติดตามส่งญะนาซะฮ์ท่านอัลค่อฏีบ และแบกไปยัง ญาเมี๊ยะอ์ อัลมันซูร โดยที่มีผู้คนกล่าวประกาศก้องว่า นี้คือผู้ที่ปกป้องการโกหกต่อท่านนบี(ซ.ล.) และนี้คือผู้ที่จำหะดิษของท่านร่อซูลุลเลาะฮ์(ซ.ล.) และได้ถูกอ่านอัลกุรอานหลายจบด้วยกันที่กุบูรของเขา" ดู หนังสือ ซิยัร อะลาม อัลนะบะลาอ์ เล่ม 13 หน้า 584
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าการอ่านอัลกุรอานให้แก่มัยยิดนั้น ก็ไม่มีระบุห้ามจากอัลกุรอาน จากซุนนะฮ์ และจากคำกล่าวห้ามหะรอมจากบรรดาอุลามาอ์มัซฮับทั้ง 4 เลย
ดังนั้น ก็ยังคงมีแก่ทัศนะของวาฮาบีหรือคณะใหม่เท่านั้นของพวกเขาบางกลุ่มได้อาจหาญทำการหุกุ่มพี่น้องมุสลิมด้วยกันว่า การอ่านอัลกุรอานให้กับผู้ตายนั้นเป็นสิ่งที่หะรอมบิดอะฮ์
ทั้งๆที่ในเมื่อไม่มีอุลามาอ์ท่านใดเคยกล่าวอย่างนั้น มาก่อนเลย
วัลลอฮูอะลัม