salamzผมคัดลอกมาจากเขาอีกที่ครับเลยเอามาฝากครับเพราะมีสาระ
เรื่องเล็กประเด็นใหญ่
บทความนี้เป็นเรื่องของการยืน-นั่งดื่มน้ำ ซึ่งก็ตั้งชื่อเป็นบิดอะฮฺสำหรับอะฮฺลุซซุนนะฮฺอยู่เหมือนกัน เพราะใช้คำว่า เรื่องเล็ก ซึ่งจริงๆแล้ว สำหรับอะฮฺลุซซุนนะฮฺ ผู้เจริญรอยตามท่านนบีและซอฮาบะฮฺ จะไม่ถือว่าในศาสนามีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นเรื่องเล็ก ทุกเรื่องถือเป็นเรื่องที่ใหญ่หมด (เพียงแต่มันมีการจัดลำดับความสำคัญอยู่ก็เท่านั้น) ด้วยเหตุนี้ บรรดานักหะดีษ และนักอรรถาธิบายจึงได้ต่างพากันท่องจดท่องจำรวมถึงค้นหาหลักฐานเพื่อที่จะมาอธิบายหะดีษให้สอดคล้องกับเป้าหมายของคำสั่งสอนนั้นๆให้มากที่สุด หากว่ามีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นเรื่องเล็กแล้วล่ะก็ เขาก็คงจะละไว้ไม่เสาะหาขุดคุ้ยนำมาอธิบายอย่างแน่นอน
แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญไปกว่าสิ่งอื่นๆในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็ต้องใช้ชื่อว่า ประเด็นใหญ่ ก็เพราะว่า ได้มีคำพูดที่เกิดจากความเข้าใจผิด และให้ร้ายต่อนักอรรถาธิบายหะดีษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำนองว่าฝ่ายที่ยึดทรรศนะว่า การยืนดื่มน้ำเป็นมักรูฮฺนั้น เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าท่านนบีทำสิ่งมักรูฮฺ (เพราะท่านนบีก็เคยยืนดื่มน้ำ)
ซึ่งความคิดหรือคำพูดแบบนี้ ถือเป็นคำพูดที่รุนแรงในการตอบโต้นักอรรถาธิบายหะดีษ นอกจากนั้นไม่มีบรรดามุจญฺตะฮิดได้เคยตอบโต้ที่รุนแรงเช่นนี้เลย จึงเหมือนกับว่ามุก็อลลิดได้กระทำสิ่งก้าวร้าวล่วงเกินต่อบรรดามุจญฺตะฮิด
สิ่งแรกต้องทราบก่อนว่า เกี่ยวกับเรื่องของการยืนดื่มน้ำนั้น อุละมาอฺได้แบ่งออกเป็น 3 ทรรศนะ คือ 1-หะรอม 2-มักรูฮฺ 3-อนุญาต แต่มุสตะหับให้นั่ง (ซึ่งการเห็นต่างเรื่องการยืนดื่มน้ำมีปรากฏตั้งแต่สมัยซอฮาบะฮฺ)
ก็แน่นอนว่า ทั้ง 3 ทรรศนะนี้สมควรให้เกียรติยกย่อง ไม่ตำหนิซึ่งกัน แต่สำหรับเชค ดร.ยูซุฟ ก็อรฎอวีย์ ได้ใช้คำเรียกฝ่ายที่ยึดทรรศนะที่ว่าหะรอมว่าเป็น พวกสุดโต่ง ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดที่ผิดพลาดและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง (แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่จะกล่าวถึง)
แน่นอนว่า ฝ่ายที่ยึดทรรศนะว่าหะรอม เขาก็ได้รับตัวบทหลักฐานที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามและตำหนิไว้ และไม่พบหลักฐานอื่น กรณีนี้เกิดขึ้นในสมัยซอฮาบะฮฺเช่นกัน และท่านอะลีย์ก็ได้แสดงตัวอย่างโดยการยืนดื่มให้เห็นว่า ตัวท่านอะลีย์เองได้เคยเห็นนบียืนดื่มน้ำเช่นกัน แต่ทีนี้สำหรับคนที่ยึดทรรศนะว่าหะรอม เมื่อมีหลักฐานที่แข็งมายืนยันแล้ว เขาต้องละทิ้งทรรศนะเดิม แล้วหันไปรวมหะดีษให้ได้ ซึ่งหากไม่มีความสามารถ คือเป็นมุก็อลลิด ก็ให้ยึดปฏิบัติตามการอรรถาธิบายของปราชญ์ท่านหนึ่งท่านใดก็ได้
ส่วนสำหรับทรรศนะที่ว่ามักรูฮฺ นี่คือประเด็นของบทความนี้
จากหะดีษสายรายงานถูกต้องที่ห้ามเรื่องการยืนดื่มน้ำ เท่าที่พบมี 7 หะดีษ ส่วนหะดีษที่สายรายงานถูกต้องที่มีตัวอย่างของการยืนดื่มน้ำ เท่าที่พบมี 10 หะดีษ (ทั้งหมดสำนวนคล้ายกัน ซึ่งอาจมีมากกว่านี้ อัลลอฮุอะลัม)
ในสำนวนที่ห้ามเรื่องการยืนดื่มน้ำนั้น ได้มีคำพูดที่นบีตำหนิรุนแรงที่ขั้นใช้คำว่า หากยืนดื่มน้ำ ให้อ้วกออกมาเสียดีกว่า
ข้อแตกต่างระหว่าง อูซูลุลฟิกฮฺ กับ ตรรกวิทยา
อุซูลุลฟิกฮฺ เป็นศาสตร์ในการหาเหตุผลและหาความหมายที่ถูกต้องของตัวบทหลักฐาน กล่าวคือเป็นศาสตร์พื้นฐานในการใช้ตีความหรือทำความเข้าใจตัวบท ส่วนตรรกวิทยา เป็นศาสตร์ของตะวันตกที่ใช้ระบบการคิดแบบหัวคณิตศาสตร์ ในการหาเหตุผลและความถูกต้องของข้อมูลเช่นกัน หากแต่ต่างกันตรงที่ อูซูลุลฟิกฮฺ มีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมากกว่า มีการให้ความหมายเชิงความรู้สึก หรือการให้ความหมายในมุมกลับ
ยกตัวอย่างเช่น หะดีษที่ว่า ฉันได้ทิ้งไว้ให้พวกท่าน 2 สิ่งด้วยกัน ท่านยึดไว้จะไม่มีวันหลงทางโดยเด็ดขาด คือกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของฉัน
หากตีความเชิงตรรกวิทยา จะให้ความหมายว่า ถ้ายึด 2 สิ่ง (กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ) จะไม่มีวันหลงทาง แต่ถ้าหากไม่ยึดแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจจะหลงทาง หรือไม่หลงก็ได้ เพราะหะดีษไม่ได้มีบอกว่า ถ้าไม่ยึดแล้วผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในทางตรรกะมันก็เป็นไปได้ทั้งสิ้นตราบที่ยังอยู่ในหลักการคิดแบบตัวอักษรและคณิตศาสตร์
แต่หากตีความเชิงอูซูลุลฟิกฮฺ หะดีษนี้จะให้ความหมายมุมกลับในตัวโดยปริยายว่า ถ้ายึด 2 สิ่งนี้จะไม่หลงทาง แต่ถ้าไม่ยึดล่ะก็หลงทางแน่นอน
วกกลับเข้ามาเรื่องของทรรศนะที่ว่า การยืนดื่มน้ำเป็นมักรูฮฺ แน่นอนว่าหากจะทำความเข้าใจเชิงตรรกวิทยา ก็จะใช้การคิดแบบนี้ว่า ยืนดื่มน้ำเป็นมักรูฮฺ นบียืนน้ำดื่ม เพราะฉะนั้นนบีทำสิ่งมักรูฮฺ ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้เกิดคำพูดรุนแรงซึ่งไปก้าวร้าวต่ออิหม่ามอิบนุ หะญัรฺ และบรรดามุจญฺตะฮิดใหญ่ๆโดยปริยายว่าท่านเหล่านี้ไม่รู้อากีดะฮฺขั้นพื้นฐานหรอกหรือว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นเป็นแบบอย่างที่ดีงาม
ในความเป็นจริงแล้ว ชาวอาหรับมีหัวด้านคณิตศาสตร์มานาน และเรื่องตรรกวิทยานั้น เขาได้รับมาจากแต่ยุคสลัฟแล้ว เพียงแต่เขาใช้ในเรื่องอื่น เรื่องฟิกฮฺเขาไม่ใช้ (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอากีดะฮฺที่เหนือกรอบสติปัญญาก็ห้ามใช้โดยเด็ดขาด)
ซึ่งหากใช้หลักอูซูลุลฟิกฮฺทำความเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถค้นพบคำตอบดังนี้
ประการแรก การยืนดื่มน้ำเป็นสิ่งที่ท่านนบีห้ามหรือตำหนิ ด้วยสำนวนที่รุนแรงว่า ให้อ้วกเสียดีกว่า ซึ่งหากใคร่ครวญดูแล้วจะมโนภาพได้ว่า การอ้วกนั้นก็ถือว่าน่ารังเกียจอยู่แล้ว แต่การยืนดื่มน้ำนั้นน่ารังเกียจเสียยิ่งกว่า
แล้วเหตุไฉนเลย ท่านนบีจึงยืนดื่มให้ดู ?
นี่แหละที่เรียกว่า ซุนนะฮฺอธิบายซุนนะฮฺ นบีได้ยืนให้ดู (ซุนนะฮฺฟีอฺลียะฮฺ) เพื่ออธิบายว่าที่ได้ห้าม (ซุนนะฮฺเกาลียะฮฺ) นั้น เป็นการห้ามที่ไม่ถึงขั้นหะรอม หากแต่ควรละทิ้งก็เท่านั้น ซึ่งเราอย่าไปนึกภาพโดยพ่วง 5 หุก่มไปด้วย (วาญิบ มุสตะหับ มุบาฮฺ มักรูฮฺ หะรอม) เพราะสมัยนั้นไม่มีกล่าวถึงหุก่มเหล่านี้ การแบ่งหุก่มลักษณะนี้เป็นการแบ่งโดยอุละมาอฺนักฟิกฮฺในรุ่นต่อๆมา เพื่อที่จะให้ผู้คนยึดปฏิบัติกันได้ง่าย แต่ในสมัยนบีและยุคแรกๆนั้น เขาจะใช้คำว่า -หะลาล -หะรอม ชอบให้กระทำ ไม่ชอบให้กระทำ ก็เท่านั้น และบางครั้งการที่คนยุคแรกกล่าวว่าสิ่งนั้นมักรูฮฺ เขาหมายถึงว่าสิ่งนั้นน่ารังเกียจ เป็นสิ่งหะรอม แต่คนรุ่นต่อมามักเผอเรอไปเข้าใจผิดว่าสิ่งเหล่านั้นพอที่จะกระทำได้ เพราะแค่มักรูฮฺ (แต่ถ้าหุก่มมักรูฮฺจริงๆ ยุคแรกเขานิยมใช้คำว่า ไม่ชอบให้กระทำ)
สำหรับทรรศนะที่ 3 ที่ว่าอนุญาตให้ยืนดื่มได้ ก็มีแยกย่อยไปหลายทรรศนะย่อยด้วยกัน แต่สิ่งหนึ่งต้องอย่าลืมว่า จะต้องไม่ขุดคุ้ยยกหลักฐานมาเยอะแยะ แต่ทำเมินเฉยต่อบางหะดีษที่ขัดกันอยู่ไม่ยอมรวมให้มันสอดคล้องรองรับกัน
ในการให้เหตุผลในทรรศนะย่อยที่หนึ่งที่ว่าอนุญาตให้ยืนดื่มได้คือ กรณีที่มีคนนั่งกันอยู่แล้วเรายืนดื่มอยู่เดียว อันนี้ถือว่าไม่ได้ ต้องนั่งลง แต่ถ้าเรายืนดื่มโดยไม่มีคนรอบข้างนั่งอยู่ ถือว่ากระทำได้ นี่คือการให้เหตุผลในข้อนี้ถือว่าอ่อนน้ำหนัก จนกว่าจะมีหลักฐานมาขยายว่า ที่ท่านนบีตำหนิการยืนดื่มน้ำนั้น มีรายงานว่ามีซอฮาบะฮฺอื่นๆนั่งล้อมรอบอยู่และชายคนนั้นยืนดื่มอยู่คนเดียว
เหตุผลในทรรศนะย่อยที่สอง ให้คำสรุปว่า ข้อห้ามเรื่องการยืนดื่มน้ำนั้นได้ถูกยกเลิก ซึ่งทรรศนะนี้ก็ถือว่ามีน้ำหนัก หากพบว่าหะดีษที่รายงานว่าท่านนบียืนดื่มน้ำนั้นได้ถูกกระทำภายหลัง จากเดิมที่ท่านนบีเคยห้ามก่อนหน้านั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถฟันธงได้ เพราะหลักฐานที่ปรากฏภายหลัง ไม่จำเป็นต้องยกเลิกหลักฐานเก่าเสมอไป เพราะสามารถนำมารวมหรือขยายกันได้ แต่ก็ถือว่ามีพอจะมีเหตุผล แล้วแต่จะเลือกยึดถือ (ซึ่งเชค ดร.ยูซุฟ อัลก็อรฎอวีย์ ก็ได้ยกทรรศนะนี้มาเป็นตัวอย่างเช่นกัน หากแต่ท่านผิดพลาดตรงที่ไปตำหนิฝ่ายที่ยึดทรรศนะว่าหะรอมว่าเป็นพวกสุดโต่ง ซึ่งขัดกับสิ่งที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่าควรใจกว้าง และไม่ตำหนิใครว่าสุดโต่งง่ายๆ)
เหตุผลในทรรศนะย่อยที่สาม ให้ข้อสรุปเหมือนทรรศนะข้างต้นว่าสมควรจะนั่งดื่ม แต่หากยืนดื่มก็อนุญาต โดยที่ไม่ได้อธิบายถึงการยกเลิกหรือการรวมหะดีษใดๆ หากแต่ยกหลักฐานจำนวนเยอะแยะมากมายทั้งจากนบีและบรรดาคอลิฟะฮฺว่าท่านเหล่านั้นได้เคยยืนดื่มน้ำ แต่ก็เมินเฉยไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมนบีถึงกล่าวว่า ให้อ้วกเสียดีกว่า ??
**สำหรับข้าพเจ้า (เป็นทรรศนะส่วนตัวไม่เกี่ยวกับสมาชิกในกลุ่มแต่อย่างใด) ยึดถือทรรศนะที่ว่า
ยืนดื่มน้ำเป็นมักรูฮฺ (มักรูฮฺในความหมายที่คนยุคแรกเรียกว่า ไม่ชอบให้กระทำ)
แต่จะเปลี่ยนทรรศนะทันทีเมื่อได้รับคำตอบที่ว่าทำไมถึงต้อง ให้อ้วกเสียดีกว่า ??**
ขาดตกบกพร่องใดๆ หรือมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนใดๆ ข้าพเจ้ายินดีแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติม