เรื่องของภาษา
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ซึ่งมีประชากรชาวมลายูเป็นส่วนใหญ่และพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของชาวตานี. "ความเป็นมาเลย์" ถูกบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ อินโดนีเซีย บรูไน และมาเลเซีย ใช้ภาษามาเลย์มาตรฐาน อินโดนีเซียรับการใช้อักษรโรมันมาเป็นตัวเขียน [Bahasa Indonesia] เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑, มาเลเซียใช้ภาษามาเลเซีย [Bahasa Malaysia] เป็นภาษาราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ โดยเปลี่ยนการใช้อักษรยาวีมาเป็นอักษรรูมี (6)
การปรับเปลี่ยนในมาเลเซียก็เพื่อมุ่งพัฒนาด้านภาษาและหนังสือ สร้างคำศัพท์มลายูด้านต่างๆ เพื่อการศึกษาในระดับสูง เป็นส่วนสำคัญทำให้ชาวมลายูมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ภาษากลายเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิตของคนมลายูในมาเลเซีย (7)
สิ่งเหล่านี้คนตานีในสามจังหวัดไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ในขณะที่การสื่อสารระหว่างคนมลายูในโลกของมาเลย์ สามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษามาเลย์มาตรฐานและอักษรรูมี เอกสารตำราและหนังสือจำนวนมากพิมพ์เผยแพร่ความรู้สู่ชาวมลายูในประเทศเหล่านั้น แต่คนตานียังคงใช้อักษรยาวี ซึ่งเคยใช้กันอยู่ในโลกมาเลย์ยุคก่อน ยังพูดภาษายาวีแบบปาตานี
มีนักวิชาการสมัครเล่นที่เป็นคนตานี ได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาขั้นสูงแบบไทย ใช้ภาษายาวีท้องถิ่นเมื่ออยู่บ้าน แต่รู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องไปประชุมในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาวมลายูในมาเลเซีย ทั้งที่ทราบข้อมูลเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถสื่อสารได้ดั่งใจ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า "คนตานี" ขาดโอกาสในการสื่อสารและการศึกษาที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในโลกของมาเลย์ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลเพื่อปรับตัวเองให้ทันโลกและวิทยาการสมัยใหม่แบบมาเลเซีย
การศึกษาในทางศาสนาคงไม่เพียงพอ ความภาคภูมิใจใน กีตาบยาวี [Kitab Jawi] ซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นโดยอุลามะห์ชาวปาตานี และกลายเป็นหนังสือพื้นฐานความรู้ของศาสนาอิสลามที่สำคัญในอดีตที่โด่งดังและแพร่หลายในหมู่ชาวมลายูที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ (

คงไม่เพียงพอสำหรับการนำพาคนตานีไปสู่โลกแห่งการศึกษาที่เท่าทันโลกการศึกษาของชาวมลายู
คนอาหรับที่เมกกะจะเรียกคนมุสลิมที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า "คนยาวี" และในอดีต คนมาเลย์มุสลิมเรียกตัวเองว่า "คนยาวี" แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องพ้นสมัยไป ก่อนปัจจุบันราวสักยี่สิบปี "คนยาวี" (9) เป็นที่รู้กันว่าคือคนจากปัตตานี ประเทศไทยและได้กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นเรียกตนเองว่า "คนนายู" ในทุกวันนี้
คนตานี คนยาวี คนนายู
การเปลี่ยนการเรียกตนเองจาก "คนยาวี" ซึ่งหมายถึงคนที่พูดภาษายาวี ใช้ตัวอักษรยาวีและเป็นคนจากปัตตานี มาเป็น "คนนายู" หรือคนมลายูในภาษามาเลย์มาตรฐาน มีผู้สังเกตและให้ความเห็นว่า น่าจะเริ่มเมื่อสยามแยกรัฐในปาตานีเดิมบางส่วนให้กับอังกฤษ ในพ.ศ.๒๔๕๒ เป็นต้นมา จนถึงเมื่อราวยี่สิบปีที่ผ่านมา อาจจะพร้อมๆ กับกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามที่ผ่านมาจากมาเลเซีย เริ่มจากคนที่มีฐานะเป็นคนชั้นกลางและมีการศึกษาอาศัยอยู่ในเมือง และพอใจจะเรียกตนเองว่า "คนนายู"มากกวา "คนยาวี" เพราะคำว่าอาแฆยาวีค่อนข้างจะรู้สึกว่าเป็นพวกบ้านนอกหรือคนชนบทคล้ายๆ กับคำว่าชาวเขา (10) ทุกวันนี้ คนนอกจะรู้จัก "คนตานี" ในนาม "คนนายู" มากกว่า "คนยาวี" ที่แทบไม่เคยมีใครอ้างถึงแล้ว เพราะต่างเรียกตนเองว่า "คนนายูหรือออแฆนายู" เพื่อให้ต่างไปจาก "ออแฆซีแยหรือคนสยาม"
ในขณะเดียวกัน "คนตานี" ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นพลเมืองที่กรุงเทพฯ และอาศัยอยู่ในปริมณฑลตามจังหวัดรอบนอก เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา แม้บางส่วนจะกลับไปสู่ปัตตานีในรุ่นต่อมา แต่ชุมชนเหล่านี้ยังคงอยู่เป็นจำนวนมาก ยังคงนับถือศาสนาอิสลามและบางส่วนยังคงพูดภาษายาวีอยู่ (เช่นที่ชุมชนท่าอิฐ) แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีสถานภาพแตกต่างไปจากชาวมลายูมุสลิมที่เป็นคนตานี เพราะสภาพสังคมในเมืองสามารถซ่อนเร้นอัตลักษณ์ของตนเองให้พ้นไปจากสายตาของคนกลุ่มใหญ่ได้ นอกจากในสายตาของผู้คนละแวกใกล้เคียงแล้ว พวกเขาแทบไม่มีตัวตนในสังคมของกรุงเทพมหานคร
การดำรงอยู่ทางศาสนาก็กลายเป็นบุคคลชั้นสอง คือพวกที่ไม่นับถือพุทธ ซึ่งอาจจะถูกกำหนดจากทางรัฐให้แตกต่าง แต่คนเชื้อสายตานีในปัจจุบันถูกมองจากคนในพื้นที่ว่า พวกเขาได้หลงลืมอดีตไปหมดแล้ว มาตุภูมิในปัจจุบันก็คือ หนองจอก, ลาดกระบัง, นนทบุรี, ปทุมธานี, ไม่ใช่ "ปาตานีดารุสลัม" หรืออีกนัยหนึ่ง มุสลิมที่กรุงเทพฯ หรือภาคกลาง ไม่ใช่คนตานีอีกต่อไป แต่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่เป็นมุสลิม
ดังนั้น คนมลายูในมาเลเซีย, คนตานีที่กรุงเทพฯ, และคนตานีที่ปัตตานี, จึงถูกตัดขาดออกจากกันโดยพื้นที่ทางสังคม [Social Space] (11) นับแต่กระบวนการสร้างรัฐชาติเกิดขึ้น ขอบเขตพื้นที่แน่นอนจึงกลายเป็นพื้นที่ทางสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกันอย่างน้อยที่สุด และแน่นอนที่สุด ได้ตัดขาดชีวิตของคนตานีไว้ในโลกของยาวี ซึ่งหมายถึง โลกของมาเลย์ที่พ้นสมัยและแช่นิ่งโดยขาดการพัฒนาและด้อยโอกาส ไม่ทัดเทียมคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่นๆ
ความต้องการแบ่งแยกดินแดน
คนตานีสามจังหวัด ถูกทิ้งไว้กับปัญหาลักษณะเดียวมาตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้งดังกรณี เต็งกู อับดุลกอเดร์ กอมารุดดีน กษัตริย์ปาตานีองค์สุดท้าย ที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่กลันตันเพราะเรียกร้องเอกราชคืนในปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีการสู้รบที่อำภอมายอ โดยถูกจับข้อหาเป็นกบฎ. กรณีหะยีสุหรงและดุซงญอ ใน พ.ศ.๒๔๙๐ และ ๒๔๙๑ โดยมี "ผี" ของการเรียกร้องเอกราชเพื่อปลดแอกจากรัฐไทยและสร้าง "อาณาจักรหรือชาติ" ของตนขึ้นมาใหม่ เป้าหมายเพื่อรวมกับกลุ่ม (ชาติพันธุ์) เดิมของตนเอง เป็นแม่แบบของปัญหา และถูกมองอย่างเป็นภาพนิ่งมาจนถึงปัจจุบัน
เพราะชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้อยู่ภายใต้การจองจำของ การสร้างประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี ที่มักจะนำมาใช้อ้างอิงจนกลายเป็นข้อสรุปสำเร็จรูปสำหรับเหตุผลในการเรียกร้องรัฐอิสระ ทั้งจากกลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ หรือกลุ่มต่อต้าน และนักวิชาการของรัฐที่มองภาพความไม่สงบในพื้นที่นี้ แล้วมักสะท้อนสาเหตุสำคัญว่า มาจากรากเหง้าปัญหาทางประวัติศาสตร์เป็นการอารัมภบทกันอยู่เสมอ
ดังข้อสรุปเรื่อง "ลัทธิการแบ่งแยกดินแดน" ของอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ โดยย่อว่า ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทยเกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยาม ที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน
กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้อง และสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่า เป็นภยันตราย และข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาล จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสถานการณ์ในยุคสงครามเย็น ได้มีการสนับสนุนวาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ซึ่งกลายมาเป็นความชอบทำที่จะจัดการผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง (12)
จนปัจจุบันนี้ การมอง "คนตานี" ยังเป็นการใส่แว่นเดิมนับจากสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕ ที่รู้สึกรำคาญและต้องการ "จัดการ" กับพื้นที่แห่งความแตกต่างอย่างเบ็ดเสร็จ แม้รัฐไทยมีโอกาสเผชิญปัญหาอื่นๆ เช่น ในยุคสงครามเวียดนามหรือต่อมาในยุคสงครามเย็น การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความซับซ้อนของปัญหามากเช่นกัน รัฐไทยมีประสบการณ์จากการเข้าจัดการปัญหาทั้งในเขตอีสานและเหนือที่มีความซับซ้อนของปัญหา แต่การมองปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ก็ยังมีโจทย์อยู่ในประเด็นเดิม คือ "การแบ่งแยกดินแดน" (หมายถึงคนมลายูมุสลิมต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อไปรวมกับมาเลเซีย?) เห็นได้จากการแสดงความคิดของผู้รับผิดชอบในบ้านเมืองและการแสดงความเห็นของประชาชนในเวบบอร์ดต่างๆ รวมทั้งบทความ-หนังสือจากทหารเก่า ผู้เคยรับผิดชอบในการแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มาหลายยุค
ในความเป็นจริงจะมีที่ทาง (พื้นที่) เหลือให้คนตานีปัจจุบันในสังคมของรัฐชาติไทยและสังคมของโลกมลายูสักเท่าใด ในกระบวนการสร้างรัฐชาติให้ความสำคัญกับอาณาเขตหรือพื้นที่ การสูญเสียดินแดนสำหรับคนไทยเท่ากับเสียอธิปไตยและเป็นเรื่องใหญ่ การผนวกดินแดนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเงื่อนไขทำได้ยากอย่างยิ่งในสังคมโลกปัจจุบัน
เงื่อนไขของสาเหตุแห่งความรุนแรงของปัญหาในภาคใต้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เป้าหมายเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอาจจะเป็นรองต่อความคับแค้นที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ปัญหาในเรื่องความรุนแรงของแนวคิดทางศาสนา อาจจะเป็นปัจจัยโดยอ้อมที่กระตุ้นให้การแบ่งแยกเพื่ออุดมการณ์ทางศาสนาด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งไม่ใช่สาเหตุหลักเท่ากับการเปลี่ยนของระบบคุณค่าและโครงสร้างสังคมภายในที่ถูกทำลายไป
ทุกวันนี้การสงครามเปลี่ยนไป เป็นสงครามชนิดพิเศษ [Guerrilla Warfare - สงครามกองโจร, กองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับกองกำลังที่เข้มแข็งกว่าด้วยการลอบทำลาย] ที่กลายเป็นสงครามกลางเมืองแทรกซึมไปทั่วทั้งสังคมในพื้นที่รุนแรงสามจังหวัด ในขณะที่รัฐบาลยังใช้การจัดรบจากกองทัพและประสบการณ์ปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอดีตให้เห็นอย่างชัดเจน
ความโกลาหลครั้งนี้ คือสงครามภายใน สังคมตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวเพราะการสู้รบนั้นเป็นการก่อการร้ายที่ไม่มีรูปแบบและยุทธวิธี ไม่เห็นศัตรูที่ชัดเจนเพราะแฝงเร้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง และชาวบ้านทุกคนอาจถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงนี้ได้ตลอดเวลา คนบริสุทธิ์หลากหลายที่ผ่านมาคือเหยื่อของสถานการณ์ และเมื่อเริ่มก่อรูปเป็นขบวนการเช่นนี้แล้วก็ยากจะยุติ
มีเพียงการเรียนรู้ ประนีประนอม ปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความคับแค้น และทำความเข้าใจต่อสังคมอันหลากหลายภายใต้เอกภาพของชาวมุสลิมในท้องถิ่นท่านั้น จึงจะเป็นวิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้สถานการณ์ก้าวเข้าสู่สงครามแบบที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่เคยมีรัฐแห่งใดในโลกนี้ สามารถยุติปัญหาดังกล่าวโดยวิธีปราบปรามด้วยความรุนแรงได้สำเร็จ
ความเป็นมุสลิมคือปัญหา?
นับวันในโลกของข้อมูลข่าวสารนับแต่เหตุการณ์วินาศกรรมที่ ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา มุสลิมทั่วโลกก็ถูกมองว่าเป็นผู้นิยมความรุนแรง เป็นการติดภาพลักษณ์ทางศาสนา จนทำให้ผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นประชากรชั้นสอง ไม่เว้นแม้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีผู้ให้ความเห็นว่าความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงโดยชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม แต่เหตุการณ์นี้ส่งผลสะเทือนต่อประชากรทุกคนในโลกของเรา
ในโลกทุกวันนี้ "กระแสการฟื้นฟูศาสนา" [Religious Revivalism] คือขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีความสำคัญซึ่งควรนำมาพิจารณา เพื่อทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมและศาสนาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมชาวมุสลิมทุกวันนี้
การฟื้นฟูศาสนาคือ ความพยายามไปสู่โครงสร้างเดิมในอดีตในรูปแบบที่สัมพันธ์กับยุคสมัยปัจจุบัน บางมุมมองว่า เกี่ยวข้องกับการตีความพระคัมภีร์ใหม่ การย่อหย่อนทางศาสนา การเป็นโลกวิสัย [Secularism] ความเป็นเหตุผล และอิสรภาพ สิ่งเหล่านี้ก็คือการปรับความคิดทางศาสนาและการปฏิบัติไปสู่วัฒนธรรมแบบทันสมัยโดยการใช้รูปแบบของความทันสมัยในการปรับตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การไปสู่หลักพื้นฐานเพื่อพลักดันแนวโน้มแบบทันสมัยให้ถูกต้องกับหลักธรรมเนียมประเพณี การฟื้นศาสนาเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อพยายามอยู่เหนือแรงกดดันของความทันสมัย หรือเป็นการต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านผู้มีอิทธิพลเหนือกว่า (13)
การฟื้นฟูศาสนาเกิดขึ้นได้กับศาสนาต่างๆ ทั่วโลก เช่น การฟื้นศาสนาฮินดูในชุมชนอินเดียทั่วทั้งเอเชีย ความเคลื่อนไหวของการฟื้นศาสนาพุทธที่ทำให้เกิดสภาพุทธศาสนาโลก ส่วนกระแสหรือความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเป็นอิสลาม [Islamization] เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นความเคลื่อนไหวทางศาสนา. ดาวะห์ [Dakwah] เป็นคำศัพท์ที่รับมาจากภาษาอารบิค คือ da'wah หมายถึงการเชิญชวนให้มีศรัทธาต่ออิสลาม และแสดงปฏิกิริยาต่อต้านแนวคิดและการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักศาสนา
ดาวะห์ (da'wah) และวาฮาบี
ดาวะห์ เป็นขบวนปฏิรูปของสุหนี่ เริ่มที่อินเดียแล้วแพร่ไปทั่วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเคลื่อนไหวในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ระหว่าง ค.ศ.๑๙๐๐-๑๙๔๒ สำหรับกลุ่มเพื่อฟื้นอิสลามเกิดขึ้นในช่วงหลังการเรียกร้องเอกราชในมาเลเซีย และแพร่เข้ามาสู่สังคมในสามจังหวัดภาคใต้ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการสร้างอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมอย่างแข็งขัน
วาฮาบีเป็นขบวนการของผู้ปฏิบัติเคร่งครัดทางศาสนาตามแนวทางท่านวาฮาบี แพร่หลายในอาหรับ ปัญญาชนทางศาสนาที่จบจากอาหรับจึงรับอิทธิพลเหล่านี้แล้วแพร่ไปทั่วโลก กลับไปปฏิรูปการศาสนาในบ้านเมืองตนเองให้ถูกต้องตามแนววาฮาบี ในสามจังหวัดก็เช่นกันมีผู้ไปเรียนศาสนาจำนวนมาก
เมื่อได้พูดคุยกับชาวบ้านอยู่ใกล้ๆ ปอเนาะภูมี ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในหมู่โต๊ะปาเกหรือนักเรียนปอเนาะที่ฐานะไม่ดีนัก พบว่าการออกไปดาวะห์ยังอินเดียเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของเด็กหนุ่ม เพื่อที่จะได้เรียนรู้โลกภายนอกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะศูนย์ดาวะห์ยังต่างประเทศจะช่วยเหลือออกค่าใช้จ่ายอยู่กินให้ แต่ต้องหาค่าเดินทางสำหรับตนเองและใช้เวลานานนับปี
Isamization มีผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เริ่มหันมาประพฤติปฏิบัติตามวัฒนธรรมที่เชื่อว่าจะถูกหลักศาสนามากกว่า เคร่งครัดต่อการเป็นอิสลามิกที่แท้มากขึ้น การไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักศาสนา การตีความใหม่ๆ ทำให้เกิดเอกลักษณ์ในหมู่ชาวมลายูมุสลิมแบบใหม่ที่เน้นศรัทธา และความเคร่งครัดมากขึ้นกว่าในอดีตมาก สร้างความรู้สึกแปลกแยกและหวาดระแวงในหมู่คนไทยที่นับถือพุทธศาสนา และมุสลิมที่ไม่มีท่าทีเคร่งครัดหรืออยู่ในกระแสการฟื้นฟูศาสนาแต่อย่างใด เมื่อผสมกับกระแสโลก ทำให้คนไทยและรัฐไทยในปัจจุบันลงความเห็นในใจทันทีว่า ปัญหาของสามจังหวัดภาคใต้คือการเป็นมุสลิมของคนในพื้นที่
นี่อาจเป็นสาเหตุของช่องว่างที่ถ่างออกจากการกันระหว่างชาวมุสลิมต่อชาวมุสลิมในท้องถิ่น หรือชาวพุทธและมุสลิม ที่นับวันจะกลายเป็นความไม่เข้าใจและขยายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้อีกมาก