salam
พอดีผมไปค้นจอหนังสือเล่มหนึ่งในตู้หนังสือ ได้เจอบทความที่เขียนโดยอาจารย์ อาลี เสือสมิง เลยเอามาแบ่งกันอ่านน่ะครับ
(อาจารย์เขียนบทความลงหนังสือน้อยมาก ค้นดูมีเล่มนี้เล่มเดียว ถ้าใครเจอบทความของท่านเอามาแบ่งกันอ่านบ้างน่ะครับ)
บิสมิลลาฮิรเราะฮ์มานิรร่อฮีม
ชาวสยามเรียกขานประชาคมมุสลิมกลุ่มต่างๆ อย่างรวมๆ ว่า แขก โดยจำกัดความให้ใช้เรียกชนชาติต่างๆ
ทางทิศตะวันตกของสยามประเทศที่เป็นชาวอินเดีย อิหร่าน อาหรับ หรือกลุ่มที่มาจากเอเซียกลาง ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ส่วนชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ทางตะวันตกที่ไม่ใช่พวกฝรั่ง หรือพวกแขกที่นับถือศาสนาอิสลามก็เรียกว่า แขก ได้โดยอนุโลม เช่น แขกฮินดู
ภายหลังชนชาติมลายูก็ถูกเรียกขานว่า แขก ไปด้วย (เอกสารประกอบการสัมนา ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา โดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
สถาบันราชภัฎธนบุรี หน้า 3 )
เมื่อกล่าวถึง แขก ท่านกาญจนาคพันธุ์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา
ซึ่งก็คงถือเอารูปร่างหน้าตาและศาสนาที่นับถือต่างกันกับชาวสยาม ส่วนใหญ่การเรียกคนแปลกหน้าว่า แขก อาจมองได้ในแง่ที่ว่า
แขกเป็นชาวต่างชาติพวกแรกที่เข้ามาติดต่อพบปะคนไทย (ย่านเก่าในกรุงเทพ , ปราณี กล่ำส้ม (2545) หน้า 52,53)
แต่ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำนิยมของคนแขกไว้เป็น 2 นัย คือ ผู้มาหา,
ผู้มาแต่อื่น นอกจากนี้ แขก ยังใช้เป็นคำเรียกชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เนปาล มลายู
ชาวเอเซียตะวันออกกลางและตะวันออกใต้ ยกเว้นยิว ชาว แอฟริกาเหนือและนิโกร .... หากจะว่าไปแล้ว คำแขกทั้ง 2 นัย นั้น
จะนำมาใช้เรียกชาวมลายู อย่างที่ใช้กันว่า แขกมลายู ก็คงเพียงได้แค่อนุโลมและอ้างอิงถึงศาสนาอิสลาม ที่ชาวมลายูนับถือเมื่อร่วมพันปีที่ผ่านมา
ซึ่งต่างจากชาวสยามส่วนใหญ่ที่นับถือในนคนแปลกหน้าไม่ใช่พวกเดียวกัน และการถูกเรียกว่าเป็นแขกมลายูก็คงมาเรียกกันเมื่อชาวมลายูหันมานับถือศาสนาอิสลามแล้วนั่นเอง ส่อเค้าว่าก่อนหน้านั้นชาวมลายูไม่ได้ถูกเรียกขานว่าเป็นคนแปลกหน้า เพราะรูปร่างหน้าตาก็มิได้ผิดเพี้ยนกับชาวสยามมากนัก โดยเฉพาะชาวสยามในหัวเมืองปักษ์ใต้อย่างแคว้นนครราชศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) แคว้นสทิงพระและแคว้นไชยา เป็นต้น ความเชื่อของมลายูและชาวสยามเมื่อครั้งโบราณก็ผ่านการปรับเปลี่ยนและวิวัฒนาการมาจากความเชื่อในภูตผีปีศาจ แล้วก็เริ่มรับเอาอารยธรรมของอินเดีย (ชมพูทวีป) อันได้แก่พราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธ ซึ่งมีทั้งพุทธแบบมหายานและหินยาน (เถวาท)
ในยุคที่ศาสนาอิสลามยังไม่ได้แผ่เข้ามายังภูมิภาคอุษาคเนย์ ความเป็นคนแปลกหน้าอย่างแขกสำหรับชาวมลายู จึงยังไม่ถูกนำมาใช้
เรียกแบ่งแยกในช่วงเวลานั้น ต่อเมื่อพลเมืองในมาลัยทวีปและแหลมมลายูเริ่มรับ นับถือศาสนาอิสลามนี่เอง ชาวมลายูจึงถูกเหมารวมว่าเป็นแขกนับแต่บัดนั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ชาวมลายูอยู่ในคาบสมุทรมลายูอันเป็นส่วนปลายสุดของสุวรรณภูมิ (คืออุษาคเนย์ หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้) มาแต่เก่าก่อน และเป็นพลเมืองของรัฐศรีวิชัย ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับรัฐทวารดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
และในรัฐศรีวิชัยก็เป็นนครรัฐทางการค้าที่เก่าแก่กว่าสุโขทัยเกือบ 1000 ปี และน่าจะเป็นบรรพชนแท้จริงของสยามประเทศในทุกวันนี้ (มติชนฉบับวันพุธที่ 10 มีนาคม 2547) ตามตำราประวัติศาสตร์ที่ใช้เรียน สอนกันในโรงเรียนทั่วประเทศมาช้านานบอกว่าคนไทย อพยพ มาจากที่อื่นทางทิศเหนือ แล้วตั้งสุโขทัยเป็นราชานีแห่งแรกเมื่อราว พ.ศ. 1800 ซึ่งถ้าเชื่อตามนี้ก็แสดงว่า คนไทย ไม่ใช่เจ้าของดินแดนประเทศไทยทุกวันนี้ แต่เป็น แขก แปลกหน้าเพิ่งอพยพเข้ามาราว พ.ศ. 1800
เขียนอย่างนี้คนคลั่งชาติบางกลุ่มก็คงคัดค้านเสียงแข็งว่าไม่จริง! แต่อย่างน้อยคนพวกนี้ก็คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่ามีรัฐอิสระอยู่เก่าก่อนในสุวรรณภูมิก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชานี และส่วนหนึ่งจากรับอิสระที่ถูกกล่าวถึงคือ รัฐของพลเมืองมลายูในมาลัยทวีปและแหลมมลายู ว่าจะมีชื่อว่าศรีวิชัย หรือลังกาสุกะ หรืออะไรก็ตาม ดังนั้นถ้าคนไทยไม่ถือว่าตนเป็นแขกแปลกหน้าที่เข้ามาทีหลังในแหลมสุวรรณภูมินี้ คนไทยก็ต้องเปิดอกยอมรับว่า พลเมืองหรือรัฐในอุดมคติมากนัก (สยามประเทศไทย , มติชน ฉบับวันอังคาร ที่ 9 มีนาคม 2547)
ความจริงการที่คนไทยแบ่งแยกคนกันเองว่า เป็นแขกแปลกหน้านั้นเคยมีตัวอย่างมาก่อนแล้วในกรณีของชาวหุยหุ้ย ซึ่งท่าน
กาญจนาคพันธุ์ (สง่า กาญจนาคพันธุ์ หรือขุนวิจิตรมาตรา ) อธิบายใน คอคิดขอเขียน ตอนหนึ่งว่า ทางเหนือของเปอร์เซีย เป็นทะเลสาบแคสเปียน
แถวนั้นเป็นดินแดนที่เรียกว่า ตุรกีสถาน เป็นที่อยู่ของพวกเร่ร่อน ซึ่งแตกแขนงออกมาจากภูเขาอาลไตหลายต่อหลายพวก ล้วนเป็นวงศ์วานเครือเดียวกับพวกใหญ่ที่อยู่แถวตุรกีสถาน เรียกอย่างฝรั่งว่า เตอรืก จีนเรียก เขียก (คือคำที่ไทยเรียก แขก แล้วเลยเหมาหมด) ในชั้นหลังเรียก หุ้ยหุย (ดู ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ , มติชน 2545 หน้า 8 ) พวกหุ้ยหุยนี้เป็นพลเมืองในอาณาจักรนางเจียวหรือน่านเจ้านั่นเอง
ซึ่งส่วนมากของชาวเมืองหรือคนไตล้วนเป็นมุสลิม (Islam in china p. 30) ในนครหลวงตาลีฟู หรือหนองแส หรือม่งเส ซึ่งพระเจ้าโก๊ะล่อฝง (พีเหลอเกอ หรือ พีหลอโก๊ะ) ทรงสร้างราว พ.ศ. 1300 (ค.ศ. 757) จนได้เสียแก่พระจักรพรรดิกุบไลข่าน นั้นก็ปรากฏว่ามีพลเมืองส่วนมากเป็นมุสลิม (อ้างแล้ว p.124)
แสดงว่าคนไตแต่ก่อนนั้นเป็นหุ้ยหุยเจี่ยวหรือฮ่วยฮ่วยกว่าจำนวนไม่น้อย แม้จนกระทั่งบัดนี้
พวกน่านเจ้าหรือยุนนาน ซึ่งเราเรียกว่า ฮ่อ นั้นก็เป็นมุสลิม และฮ่อนั้นที่จริงก็เป็นชาติไทยมิใช่จีน (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาคต้น หน้า 150 ) หรือไทยเดิมที่คงตกค้างอยู่ในเมืองจีน เราเรียก ฮ่อ นี่เอง (พงศาวดารไทยใหญ่ เล่ม 1 หน้า ก ) หากเป็นจริงดังว่าก้แสดงว่าคนไทยมักถือเอาคนกันเองที่มีเถือกเถาเหล่ากอเดียวกันกับตนว่าเป็น แขก แปลกหน้าเป็นคนอื่นด้วยเหตุของการถือศาสนานี่เอง ซ้ำร้ายยังถือว่าแขกเป็นพวกมิจฉาทิฐิอีกด้วย ดังปรากฏในโคลงภาพคนต่างภาษา วัดพระเชตุฯ กล่าวถึง แขกปะถ่าน (แขกปาทาน) ว่าเป็นพวกมฤจฉาทิฏฐิ (หลวงชายภูเบศร์ / แต่ง)