จุดยืนของอิสลามที่มีต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
1. นับว่าอิสลามเป็นศาสนาแรกที่ประกาศจุดยืนในเรื่องของมนุษยชนและเอาจริงจังในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนดังกล่าว นักศึกษาทุกคนที่ได้ศึกษากฏหมายอิสลาม จะทราบว่า อิสลามนั้นมีเป้าหมายที่เป็นแบบอย่างในการคุ้มครองชีวิตของมนุษย์ ปกป้องไว้ซึ่งศาสนา , สติปัญญา , ทรัพย์สิน , และครอบครัว ประวัติศาสตร์อิสลามได้ถ่ายทอดเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านคอลิฟะฮ์ อุมัร อิบนุ ค๊อฏฏอบ ต่อการเผชิญหน้าที่มายับหยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งท่านอุมัรกล่าวว่า
"เหตุใดที่พวกท่านจับมนุษย์มาเป็นทาส ทั้งที่มารดาของพวกเขาได้ให้กำเนิดพวกเขาโดยเป็นอิสระชน?"
2. บรรดาสิทธิมนุษยชนในอิสลาม อยู่บนหลัก 2 ประการ
(1) หลักแห่งความเสมอภาคที่มีต่อมนุษย์
(2) หลักเสรีภาพที่มีให้กับมนุษย์
อิสลามได้วางพื้นฐานของหลักความเสมอภาค ให้อยู่บน 2 หลักเกนฑ์
(1) จุดกำเนิดเดียวกันของมนุษย์
(2) ทุกคนมีเกียรติในความเป็นมนุษย์
สำหรับจุดกำเนิดเดียวกันของมนุษย์นั้น อิสลามได้สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ได้สร้างมนุษย์ทั้งหมดจากชีวิตเดียว (คืออาดัม) ดังนั้น มนุษย์ทั้งหมดย่อมเป็นพี่น้องในครอบครัวใหญ่ที่ไม่มีแง่มุมใดจะแบ่งแยกระดับชนชั้นได้ ความแตกต่างทางเชื้อชาติไม่มีผลกระทบต่อแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งจากมนุษย์ชาติทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ สมควรเป็นตัวผลักดันให้เกิดการทำความรู้จัก ความสนิทสนม และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างพวกเขา ไม่ใช่นำมาเป็นหนทางของการโต้แย้งและความแตกแยก อัลเลาะฮ์ทรงตรัสความว่า
يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوباً وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ
"โอ้มวลมนษย์! แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และบันดาลพวกเจ้าให้แตกออกเป็นเผ่าพันธ์และเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลเลาะฮ์ คือผู้ที่มีความยำเกรง" อัลหุญุร๊อต 13
ส่วนอีกกฏเกนฑ์หนึ่งที่มีให้กับความเสมอภาค ก็คือ ทุกคนมีเกียรติของความเป็นมนุษย์ อัลกุรอานได้ระบุถึงสิ่งดังกล่าว ความว่า
وَلَقَدْ كَرَّمْنَا بَنِي آدَمَ
"ขอยืนยัน เราได้ให้เกียรติแก่(มนุษย์)ลูกหลานอาดัม" อัลอิสรออ์ 70
ดังนั้น ด้วยเกียรตินี้ อัลเลาะฮ์ได้ทรงทำให้มนุษย์เป็นตัวแทนของพระองค์ในพื้นพิภพนี้ บรรดามะลาอิกะฮ์ได้ให้การสุยูด(ให้เกียรติ)แก่เขา และทรงทำให้เขาเป็นนายแห่งจักรวาล และทรงให้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดินยอมสิโรราบให้แก่เขา ฉะนั้น ด้วยเหตุดังกล่าว มนุษย์จึงมีฐานันดร มีเกียรติภูมิที่เหนือกว่าบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด และอัลเลาะฮ์ทรงมอบเกียรตินี้ให้แก่มนุษย์ทุกคนโดยไม่มีการยกเว้น เพื่อให้เป็นสายใยแห่งการคุ้มครองและปกป้องให้กับมนุษย์ทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนรวย คนจน ชนชั้นผู้นำ และผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งทั้งหมดจะต้องอยู่ต่อหน้าอัลเลาะฮ์และอยู่ต่อหน้ากฏหมายของพระองค์ และไม่ว่าในสิทธิต่าง ๆ โดยรวมนั้น ย่อมมีความเท่าเทียมกัน(ในวันนั้น)
สำหรับหลักการที่สองที่ได้เน้นย้ำถึงสิทธิมนุษยชนนั้น คือหลักอิสระภาพ ที่อัลเลาะฮ์ทรงกำหนดให้มนุษย์มีภาระหน้าที่ในการทำนุบำรุงผืนแผ่นและสรรสร้างอารยะธรรมแห่งมนุษยชาติ ซึ่งไม่มีภาระหน้าที่ใดที่ปราศจากอิสระภาพ แม้กระทั่งเรื่องของการศรัทธาและการปฏิเสธซึ่งอัลเลาะฮ์ทรงกำหนดให้มันผูกพันธ์อยู่กับความปรารถนาของมนุษย์
فَمَن شَاء فَلْيُؤْمِن وَمَن شَاء فَلْيَكْفُرْ
"ดังนั้น ผู้ใดปรารถนา เขาก็จงศรัทธาเถิด และผู้ใดปรารถนา เขาก็จงปฏิเสธเถิด" อัลกะฮ์ฟี 29
เฉกเช่นนี้ ความเสรีภาพย่อมครอบคลุมถึงทุกเสรีภาพของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา การเมือง และทัศนะความคิด
3. การพิพากษาตามคำสอนของอิสลาม จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและการปรึกษาหารือ อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาให้มนุษย์ให้มีความยุติธรรมและให้พวกเขานำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อัลเลาะฮ์ทรงตรัส ความว่า
إِنَّ اللّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإِحْسَانِ
"แท้จริง อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาให้มีความยุติธรรมและมีคุณธรรม" อัลนะห์ลิ 90
وَإِذَا حَكَمْتُم بَيْنَ النَّاسِ أَن تَحْكُمُواْ بِالْعَدْلِ
"และเมื่อพวกเจ้าทำการตัดสินในระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม" อันนิซาอ์ 58
และยังมีอายะฮ์ต่าง ๆ อีกมากมายที่ได้ยืนยันเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว สำหรับการปรึกษาหารือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ขอคำปรึกษาหารือกับบรรดาซอฮาบะฮ์และท่านยึดทัศนะความเห็นส่วนมาก หากแม้นว่าจะขัดกับความเห็นของท่านก็ตาม เช่นบรรดามุสลิมีนต้องการทำสงครามอุหุด ทั้งที่ท่านนบีมีความเห็นว่าไม่ทำสงคราม แต่ความเห็นส่วนใหญ่ให้ออกทำสงคราม ดังนั้น ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยอมตกลงตามความเห็นของพวกเขาและออกทำสงคราม ความพ่ายแพ้ได้ประสบแก่บรรดามุสลิมีน แต่พร้อมกับสิ่งดังกล่าว อัลกุรอานก็ยังคงตอกย้ำให้มีความจำเป็นต้องปรึกษาหารือ ฉะนั้น อัลเลาะฮ์ได้ทรงตรัสกับท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า
فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الأَمْرِ
"ดังนั้น เจ้าจงอภัยให้พวกเขา เจ้าจงขออภัยให้พวกเขา และจงปรึกษาพวกเขาในการงาน(ต่าง ๆ ที่คิดกระทำ)"
และจุดมุ่งหมายนี้ จึงไม่รับพิจารณาความเห็นส่วนน้อยของนักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามที่อ้างว่าการปรึกษาหารือไม่มีความจำเป็น เพราะการอ้างนี้ขัดกับบรรดาตัวบทของศาสนาที่ชัดเจน
อิสลามได้มอบให้บรรดามุสลิมีนมีความอิสระภาพในการเลือกสรรรูปของการปรึกษาหารือเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยรวม ดังนั้น เมื่อผลประโยชน์ได้เรียกร้องให้ระบบการปรึกษาหารืออยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน(เช่นระบบรัฐสภา)ที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ แน่นอนว่า อิสลามจะไม่คัดค้านสิ่งดังกล่าว เพราะทั้งหมดย่อมเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องพร้อมกับมีความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าของแต่ละประเทศ
จากสิ่งดังกล่าว ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า อิสลามให้ความสำคัญและปกป้องสิทธิมนุษยชน มีความปรารถนาให้นำมาปฏิบัติอย่างถูกต้องกับหลักการปรึกษาหารือหรือประชาธิปไตยในรูปแบบปัจจุบัน
4. อิสลามได้เปิดโอกาสให้แสดงทัศนะหลากหลายความคิด อนุญาตให้มีการวินิจฉัย วิเคราะห์ แม้กระทั้งประเด็นเรื่องของศาสนา ตราบใดที่เขามีคุณสมบัติและเงื่อนไขพร้อมในการเป็นนักวินิจฉัย ซึ่งหากเขาทำการวินิจฉัยผิดย่อมได้รับหนึ่งการตอบแทนและหากเขาทำการวินิจฉัยถูกต้องย่อมได้รับสองการตอบแทน
ผู้ศึกษาบรรดาแนวทาง(มัซฮับ)ต่าง ๆ ของนิติศาสตร์อิสลาม เขาจะพบว่าในแนวทาง(มัซฮับ)เหล่านั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องของแนวคิดในหลาย ๆ ประเด็นปัญหาด้วยกัน โดยไม่มีผู้ใดกล่าวว่า สิ่งดังกล่าวไม่เป็นที่อนุญาติ
จากตรงนี้ เราจะพบว่า อิสลามได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เพื่อที่สะท้อนแนวคิดต่อผู้คนทั้งหลาย โดยมีเป้าหมายให้เกิดความดีงามแต่สังคมและรักษาไว้ซึ่งความสงบและเสถียรภาพ
-----------------------------------------
อ้างอิง จากหนังสือ حقائق إسلامية فى مواجهة حملات التشكيك "ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอิสลาม ในการเผชิญต่อการสร้างความสงสัย" ของท่าน ศาสตราจารย์ มะหฺมูด หัมดีย์ ซักซูก หน้า 81 - 85 ตีพิมพ์โดย สภาสูง เกี่ยวกับกิจการอิสลาม ประเทศอียิปต์ ปี ฮ.ศ. 1422 - ค.ศ. 2001