بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
ไม่อนุญาตให้อัลกุรอานแปลไทย หนังสือฮะดิษแปลไทย หรือหนังสือฟิกห์ ให้แก่คนกาเฟรและคนตกมัรตัดนะครับ
ท่านอิมามคอฏีบ อัชชัรบีนีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ มุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ ของท่านว่า
"ถือว่าใช้ไม่ได้ในการที่คนกาเฟรซื้อมัศฮับ(เล่ม)อัลกุรอาน ไม่ว่าทั้งอัลกุรอานทั้งหมดหรือว่าบางส่วนก็ตาม และไม่อนุญาตให้กาเฟรครอบครองอัลกุรอาน ในรูปแบบของการขายฝาก การมอบให้ การสั่งเสีย(จะมอบให้) และไม่อนุญาตให้เขาครอบครองหนังสือฮะดิษ หนังสือที่บันทึกถ้อยคำพูดต่าง ๆ ของสะลัฟ หนังสือฟิกห์ที่มีอัลกุรอาน ฮะดิษ และคำพูดของสะลัฟ เพราะสิ่งดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการทำเบาความหรือหมิ่นเกียรติได้(เช่นนำไปตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น)" ดู หนังสือมุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ 2/357
ท่านอิบนุอุมัร ได้รายงานจาก ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى أَنْ يُسَافَرَ بِالْقُرْآنِ إِلَى أَرْضِ الْعَدُوِّ
"แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามการเดินทางโดยนำอัลกุรอานติดไปด้วยยังแผ่นดินศัตรู" รายงานโดยบุคอรี (2990) และมุสลิม (1869)
ท่านมุสลิมได้รายงานเพิ่มเติมว่า
مَخَافَةَ أَنْ يَنَالَهُ الْعَدُوُّ
"เพราะเกรงว่าศัตรูจะล่วงเกินอัลกุรอาน" (1869)
ดังนั้น เล่มของอัลกุรอานและอัลกุรอานที่มีแปลไทยอยู่ด้วยนั้น ต้องได้รับการให้เกียรติเช่นเดียวกัน แม้ระดับจากต่างกันก็ตาม เพราะอัลกุรอานแปลไทยก็ต้องให้เกียรติโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอัลกุรอานอยู่ด้วย ดังนั้น อัลกุรอานแปลไทย หากเรามอบหรือให้ยืมแก่คนกาเฟร ก็ไม่ทราบได้ว่าเขาจะนำไปตั้งวางไว้ที่ใหน วางบนพื้นหรือเดินข้ามไปข้ามมาหรือเปล่าเราก็ไม่ทราบได้
ฉะนั้น กฏนิติศาสตร์อิสลามระบุ ความว่า
دفع المفاسد مقدم على جلب المصالح
"การป้องกันผลเสีย ย่อมอยู่ก่อน การได้มาซึ่งผลประโยชน์"
ข้อแนะนำ
ให้คุณทำการแนะนำพี่น้องต่างศาสนิก ทำการศึกษาอัลกุรอานแปลไทยทางเว็บไซต์ครับ เพราะสะดวกเช่นเดียวกัน
والله تعالى أعلى وأعلم