ผู้เขียน หัวข้อ: ถ้าขาดบวชหรือขาดละหมาดแล้วตายไปโดยยังมิได้ชดใช้ต้องทำอย่างไรครับ  (อ่าน 2926 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ jihad

  • เพื่อนใหม่ (O_0)
  • *
  • กระทู้: 17
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด

อัสลามมูอาลัยกุม
ขออนุญาติเรียนถามนะครับคือในกรณีที่คนๆหนึ่งตายไป
โดยที่เขาขาดละหมาดและขาดการถือศีลอดจำนวนมากจนจำไม่ได้
ว่าขาดไปเท่าไหร่ ขาดเพราะป่วยและหลงลืม จะต้องทำอย่างไรครับ

เห็นแถวบ้านเขามีการลากข้าวสารหรือลากทองเพื่อเป็นการชดใช้หนี้
ทำแบบนี้มีหลักฐานที่ศอฮี่อฺมารองรับบ้างมั้ย

ผมไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องชารีอะฮฺนักก็ขอให้ช่วยตอบด้วยนะครับ

ญซากัลลอฮุค็อยรอน
วัสลาม

ออฟไลน์ al-azhary

  • ผู้มีอิทธิพล (~_-)
  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 6202
  • เพศ: ชาย
  • อัลเลาะฮ์เท่านั้นที่มีอยู่จริง
  • Respect: +272
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.sunnahstudents.com
بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم

اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ ،،، وَبعْدُ ؛

การเสียฟิดยะฮ์(เปอร์เดี๊ยะห์) กรณีของการละหมาดและศีลอดนั้น  กล่าวคือ  เรื่องการถือศีลอดถือว่ามาจากตัวบท  แต่เรื่องการละหมาดมาจากการอิจญ์ฮาดวินิจฉัยของปวงปราชญ์

กรณีการถือศีลอด ถ้าหากเขาเสียชีวิตไปโดยยังไม่ได้ชดใช้การถือศิลอดที่ขาด ซึ่งในเรื่องนี้มีสองกรณีคือ

1.บางทีเขาเสียชีวิตไปก่อนที่จะมีความสามารถชดใช้การถือศิลอดได้

2.หรือเสียชีวิตไปภายหลังจากมีความสามารถจะชดใช้ได้แล้ว แต่เขาละเลยยังไม่ชดใช้

สำหรับกรณีแรกไม่มีบาปในเรื่องนี้ติดตัวเขา เพราะเขาไม่ใช้เป็นผู้ละเลย

ส่วนในกรณีที่สอง เขามีบาป เพราะเขาเป็นผู้ละเลย และสุนัตให้วะลี ของเขาถือศิลอดแทนวันที่เขาขาดการถือศิลอด

คำว่าวะลีในที่นี้หมายถึงญาติของเขาคนใดก็ได้ หลักฐานในเรื่องนี้ ได้แก่ฮาดิษที่บุคอรี ( 1851 ) และมุสลิม ( 1174 ) ได้รายงานจากอะอีชะห์ ( ร.ด ) ว่าท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ ( ซ.ล ) ได้กล่าวว่า :

"ผู้ใดเสียชีวิตไปในสภาพที่มีการถือศิลอดติดอยู่เหนือเขา ให้วะลีของเขาทำการถือศิลอดแทน"

 บุคอรี ( 1852 ) และมุสลิม ( 1148 ) รายงานจาก อิบนิอับบาส ( ร.ด ) ได้กล่าวว่า ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านนบี ( ซ.ล ) แล้วกล่าวว่า :
 
"โอ้ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ มารดาของข้าพเจ้าเสียชีวิตโดยมีการถือศิลอดหนึ่งเดือนติดตัวอยู่ ข้าพเจ้าจะถือศิลอดชดใช้แทนได้ไหม ? ท่านตอบว่า ได้ หนี้ที่ติดอัลเลาะห์อยู่สมควรต้องชดใช้ยิ่ง"

บุคคลที่ไม่ได้เป็นญาติของผู้ตายจะถือศิลอดแทนผู้ตายไม่ได้ เว้นแต่เมื่อได้ขออนุญาตถือศิลอด แทนจากญาตคนใดคนหนึ่งของผู้ตายเสียก่อน ถ้าหากถือศิลอดแทนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโดยผู้ตายไม่ได้สั่งเอาไว้ การถือศิลอดแทนผู้ตายมีผลใช้ไม่ได้

ในกรณีที่ไมมีผู้ใดถือศิลอดแทนผู้ตาย ให้จ่ายเป็นอาหารแทนวันละหนึ่งมุด ส่วนที่จ่ายเป็นอาหารนี้ให้เอามาจากกองมรดกเหมือนการชดใช้หนี้สินที่ต้องเอามาจากกองมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกัน ถ้าหากผู้ตายไม่มีมรดก อนุญาตให้จ่ายแทนได้ และถือว่าพ้นตัวผู้ตาย

ติรมีซี ( 817 ) ได้รายงานจาก อิบนุอุมัร ( ร.ด ) ว่า :

"ผู้ใดตายโดยมีการถือศิลอดติดตัวอยู่หนึ่งเดือน ให้มีผู้จ่ายอาหารแทนเขาทุกวันต่อทุกหนึ่งคนยากจน"

และอะบูอาวุด ( 2401 ) ได้รายงานจาก อิบนิอับบาส ( ร.ด ) ว่า :

"เมื่อชายคนหนึ่งป่วยในเดือนรอมาดอน แล้วเขาเสียชีวิต โดยไม่ได้ถือศิลอดให้จ่ายอาหารแทนเขา" (หนังสือ อัลฟิกห์ อัลมันฮะญี 2/ 19 - 20 แปลโดยท่าน อาจารย์ อรุณ  บุญชม)

ส่วนกรณีเรื่องการละหมาด ท่านซัยนุดดีน อัลฟะนานีย์  กล่าวไว้ในหนังสือ  กุรร่อตุลอีน บิมุฮิมมาติดดีนว่า

"ผู้ใดเสียชีวิต  โดยบนเขามีละหมาดฟัรดูติดค้างอยู่  ก็ไม่ต้องกอฏอและไม่ต้องเสียฟิตยะฮ์(จ่ายอาหารที่ใช้บริโภคเป็นส่วนมากในเมืองนั้นเป็นค่าปรับวันละหนึ่งมุดให้แก่คนยากจน)ให้แก่เขา  และในทัศนะคำกล่าวหนึ่ง(ที่ฏออีฟ) ระบุว่า  การละหมาดฟัรดูนั้นถูกกอฏอแทนแก่เขา  ไม่ว่าเขาจะสั่งเสียหรือไม่ก็ตาม  ท่านอัลอุบาดีย์ ได้รายงานทัศนะนี้จากอิมามอัชชาฟิอีย์  เพราะมีฮะดิษระบุไว้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว  และท่านอิมามอัสสุบกีย์ได้กระทำให้กับญาติของท่านบางคน"

ท่านอิมาม อัซซัยยิด  บักรี่  ได้กล่าวอธิบายความว่า

"ผู้ใดที่เสียชีวิต  โดยบนเขายังมีละหมาดติดค้างอยู่  ก็ไม่ต้องมีการกอฏอ(ชดใช้) และเสียฟิตยะฮ์ (เสียค่าชดเชยด้วยการบริจาคข้าว เป็นต้น) ให้แก่เขา  และในทัศนะที่ฏออีฟ(อ่อน) จากปราชญ์มุจญ์ฮิดกลุ่มหนึ่ง  กล่าวว่า  การละหมาดนั้นถูกกอฏอ(ชดใช้)ทดแทนให้แก่เขาได้  และยังมีปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้เลือกทัศนะนี้  และท่านอิมามอัซซุบกีย์  ได้กระทำให้กับเครือญาติบางส่วนของท่าน  และท่านอิบนุบุรฮาน  ได้ถ่ายทอดคำกล่าวของอิมามชาฟิอีย์ทัศนะกอดีม(คือทัศนะที่ท่านได้แสดงไว้ที่อีรัก) ว่า  หากผู้ตายได้ทิ้งมรดกไว้ให้  ก็จำเป็นต่อวาลี(ผู้ปกครอง) ทำการละหมาดทดแทนเขา  เพราะเทียบเคียงกับการถือศีลอด  และยังมีอีกแนวทางหนึ่ง(ที่ฏออีฟ) - ซึ่งนักปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์หลายท่านได้ดำเนินทัศนะนี้ - ให้ทำการบริจาคอาหารจากทุก ๆ ละหมาด 1 เวลานั้น  1 ลิตร  และท่านอัลมุฮิบ อัฏฏ๊อบรีย์  ได้กล่าวว่า  "ทุก ๆ อิบาดะฮ์ที่กระทำนั้น  ไม่ว่าจะเป็นอิบาดะฮ์วายิบหรือสุนัต  ผลบุญย่อมถึงแก่ผู้ตาย"  และได้กล่าวไว้ในหนังสือ  ชัรหุลมุคตาร  ความว่า"มัซฮับอะฮ์ลิสซุนนะฮ์นั้น  คือ  อนุญาตให้บุคคลหนึ่งมอบผลบุญการปฏิบัติของเขาและการละหมาดของเขาให้แก่ผู้อื่นได้ และผลบุญก็ถึงเขาด้วย"

ส่วนตามทัศนะของอิมามอบูหะนีฟะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ  คือ  ให้ทำการเสียฟิตยะฮ์แทนผู้ตายได้  เมื่อเขาได้สั่งเสียให้เสียฟิตยะฮ์  แต่ไม่ต้องละหมาดกอฏอแทนเขา  และสำนวนระบุในหนังสือ  อัดดัรรุลมุคตาร  (จากตำรามัซฮับหะนะฟีย์)  ได้ระบุว่า  หากคนหนึ่งได้เสียชีวิต  และบนเขายังมีบรรดาละหมาดติดค้างอยู่  และเขาก็ได้สั่งเสียให้ทำการเสียกัฟฟาเราะฮ์  ก็ทำการจ่ายข้าวสาลีครึ่งทนานแก่เขาในทุก ๆ ละหมาด  เหมือนกับซะกาตฟิตเราะฮ์   และฮุกุ่มของการละหมาดวิติร(เพราะฮะนะฟีย์ถือว่าวายิบ)และการถือศีลอดก็เช่นเดียวกัน  และผู้ตายจะสามารถถูกเสียกัฟฟาเราะฮ์จากทรัพย์สินเศษหนึ่งส่วนสามของเขาเท่านั้น   และหากเขาไม่ได้ทิ้งทรัพย์สินไว้เลย  ก็ให้ทายาทกู้ยืมมาสักครึ่งทนาน  หรือตีเป็นราคาครึ่งทนานเป็นเงินหรือทอง  เป็นต้น  แล้วนำมาแจกจ่ายให้กับคนจน  แล้วคนจนก็แจกจ่ายคืนให้กับทายาท  แล้วหลังจากนั้นทายาทก็มอบให้กับคนจน  แล้วหลังจากนั้นคนจนก็มอบให้แก่ทายาท  จนกระทั่งครบสมบูรณ์ (ซึ่งเมืองไทยบ้านเราเรียกว่าลากข้าวสารหรือลากทอง) และถ้าหากทายาททำการกอฏอชดใช้ละหมาดแก่ผู้ตายตามคำสั่งใช้ของเขา  ถือว่าไม่อนุญาต  เพราะการละหมาดเป็นอิบาดะฮ์ทางร่างกาย(ไม่ใช่ทรัพย์สิน) "  หนังสืออิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน 1/41 ตีพิมพ์ ดารุลฟิกร์

ท่านอิมาม มุจญ์ฮิด อิบนุ อาบิดีน  ปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์  ได้กล่าวอธิบายหนังสือ อัดดุรรุลมุคตารไว้ในหนังสือของท่านว่า

فيستقرض قيمتها ويدفعها للفقير ثم يستوهبها منه ويتسلمها منه لتتم الهبة ثم يدفعها لذلك الفقير أو لفقير آخر وهكذا

"ดังนั้น  ก็ให้ทายาทกู้เป็นราคาของฟิดยะฮ์  และทำการจ่ายให้กับคนยากจน  หลังจากนั้นก็ให้เขาขอให้คนจนมอบฟิดยะฮ์แก่เขา แล้วคนจนก็มอบกลับคืนให้เพื่อให้สมบูรณ์หลักการฮิบะฮ์(การมอบให้) หลังจากนั้นเขาก็มอบให้กับคนจนดังกล่าวอีกหรือคนจนคนอื่นก็ได้  แล้วก็ให้กระทำเช่นนี้เรื่อยไป(จนเสร็จ)" จากหนังสือ อัรร๊อดดุลมั๊วะห์ตารอะลัดดุรริลมุคตาร

ท่านท่านอิมาม มุจญ์ฮิด อิบนุ อาบิดีน  ปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์  ได้กล่าวอธิบายหนังสือ อัดดุรรุลมุคตารไว้ในหนังสือของท่านอีกว่า

إذا أوصى بفدية الصلاة لأنهم ألحقوها بالصوم احتياطا لاحتمال كون النص فيه معلولا بالعجز فتشمل العلة الصلاة وإن لم يكن معلولا تكون الفدية برا مبتدأ يصلح ماحيا للسيئات

"เมื่อเขาได้สั่งเสียให้ทำฟิดยะฮ์(เปอร์เดี๊ยะห์) เพราะอุลามาอ์ฮะนะฟีย์ได้ทำการกิยาสละหมาดกับการถือศีลอด  เพื่อเป็นการเผื่อป้องกันเอาไว้  เพราะตีความว่าตัวบทเกี่ยวกับถือศีลอดนั้น  ให้เหตุผลที่ว่ามีความอ่อน(มีอุปสรรค์ไม่สามารถถือศีลอดได้)  ดังนั้นเหตุผลนี้ย่อมครอบคลุมถึงเรื่องละหมาดด้วย  แต่ทว่าหากการถือศีลอดไม่มีเหตุผลดังกล่าวจริง  แน่นอนว่า  การเสียฟิดยะฮ์ให้ก็เป็นเรื่องของการทำความดีตั้งแรกเริ่มแล้วซึ่งเหมาะสมสำหรับการลบล้างบาปทั้งหลาย" จากหนังสือ อัรร๊อดดุลมั๊วะห์ตารอะลัดดุรริลมุคตาร

จากหลักการที่ผมได้นำเสนอมาแล้วข้างต้น  สรุปได้ดังนี้

การจ่ายฟิดยะฮ์(หรือกัฟฟาเราะฮ์) ผู้ที่ทิ้งละหมาดนั้น  ด้วยการเสียฟิดยะฮ์  ซึ่งเป็นทัศนะที่อ่อน(ฏออีฟ)จากคำกล่าวของท่านอิมามอัชชาฟิอีย์  ส่วนทัศนะของท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ที่มีน้ำหนักนั้น  คือไม่มีการเสียฟิดยะฮ์เกี่ยวกับเรื่องละหมาด   แต่การที่พี่น้องบางกลุ่มได้กระทำการนั้นพวกเขาบอกว่าตักลีดตามมัซฮับอบูหะนีฟะฮ์ (หะนะฟีย์) ส่วนกรณีที่บ้านเราเรียกว่าลากข้าวสารกันไปมา  ผมเห็นว่าเป็นรูปแบบที่มัซฮับหะนะฟีย์ได้แนะนำไว้สำหรับผู้ที่ยากจนไม่มีทรัพย์ทิ้งไว้ให้เลย  แต่บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า  หากมีหลักการอย่างนี้จริง  ก็จะทำให้บางคนขาดละหมาดแล้วไปพึ่งพาการเสียฟิดยะฮ์ตอนที่เสียชีวิตไปแล้ว  ผมขอกล่าวว่า  ผู้ที่ขาดละหมาดแบบเจตนาแล้วค่อยชดใช้ด้วยการที่ลูกหลานเสียฟิดยะฮ์ให้  ถือว่าเป็นความการกระทำและความตั้งใจที่ผิดและอันตรายอย่างยิ่งยวด  และไม่ได้อยู่ในประเด็นของการเสียฟิดยะฮ์ด้วยซ้ำไป  เพราะกรณีการเสียฟิดยะฮ์ในเรื่องการละหมาดของมัซฮับหะนะฟีย์นั้น  ในกรณีที่ขาดละหมาดโดยมีอุปสรรค  ไม่สามารถกอฏอชดใช้ได้หมดก่อนเสียชีวิต  ดังนั้นจึงอย่าไปเสี่ยงกับการสั่งให้ลูกหลานทำการเสียฟิดยะฮ์ให้หลังเสียชีวิต  เพราะมันไม่คุ้มและมีผลในทางลบมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย         

وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พ.ย. 29, 2008, 01:22 AM โดย al-azhary »
أُحِبُّ الصَّالِحِيْنَ وَلَسْتُ مِنْهُمْ     لَعَلَّ اللهَ يَرْزُقُنِيْ صَلاَحاً

 

GoogleTagged