بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
ประเด็นที่หนึ่ง
ท่าน อัลหาฟิซฺ อิสมาอีล มุฮัมมัด อัลอัจญฺลูนีย์ กล่าวว่า
หะดิษ ความว่า
تفكُّرُ ساعةٍ خيرٌ من عبادةِ سَنَةً - وفي لفظ ستين سنة
"การคิดใคร่ครวญช่วงเวลาหนึ่งนั้น ดีกว่าอิบาดะฮ์หนึ่งปี - และในบางถ้อยคำรายงานกล่าวว่า 60 ปี"
ท่านอัลฟากิฮานีย์ได้กล่าวหะดิษนี้ ด้วยถ้อยคำที่ว่า "คิดใครครวญช่วงเวลาหนึ่ง" และเขากล่าวว่า ถ้อยคำนี้เป็นคำพูดของ ท่านอัซซะรีย์ อัซซักฏีย์ และถ้อยคำที่ว่า " 60 ปี" นั้น ท่านอิมามอัสสะยูฏีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลญาเมียะอฺ อัซซ่อฆีร ด้วยถ้อยคำที่ว่า "การคิดใคร่ครวญช่วงเวลาหนึ่งนั้น ดีกว่าอิบาดะฮ์ 60 ปี" ดู หนังสือ กัชฟุลค่อฟาอ์ ของท่านอัลอัจญ์ลูนีย์ หะดิษ ที่ 1004
ดังนั้น หะดิษดังกล่าว ไม่ใช่เป็นคำพูดของท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่เป็นคำพูดของท่าน อัซซะรีย์ อัซซักฏีย์ ส่วนหะดิษที่กล่าวว่า "การคิดใคร่ครวญช่วงเวลาหนึ่งนั้น ดีกว่าอิบาดะฮ์ 60 ปี" เป็นหะดิษที่ไม่ซอฮิหฺ
ส่วนเนื้อหาของตัวบท มีความหมายถูกต้อง กล่าวคือ การคิดใคร่ครวญบรรดามัคโลคทั้งหลายเพื่อเชื่อถึงความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ย่อมดีกว่าการทำอิบาดะฮ์สุนัต ด้วยสาเหตุดังนี้
1. ทำให้ฟื้นฟูและเพิ่มพูนอีหม่าน การคิดใคร่ครวญทำให้ทราบถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ และแยกแยะระดับของความดีและชั่ว รู้จักถึงสิ่งที่ดีกว่าจากสิ่งที่มีความดีน้อยกว่า และการคิดใคร่ครวญที่ทำให้เพิ่มอีหม่านมากกว่าการสิ่งที่ทำให้เพิ่มเพียงแค่อะมัล
2. การคิดใคร่ครวญเป็นการปฏิบัติของหัวใจ และการปฏิบัติด้วยหัวใจนั้นย่อมดีกว่าการปฏิบัติด้วยอวัยวะของร่างกายภายนอกโดยมติของนักปราชญ์
3. การคิดใคร่ครวญทำให้เรามีความน้อบน้อมต่ออัลเลาะฮ์ และมีวิสัยทัศน์ในแง่ดีต่อพระองค์เสอมอ
4. ทำให้เปิดกว้างกับความรู้และการปฏิบัติ จากสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เนื่องจากการคิดใคร่ครวญนั้นทำให้เกิดการคิดใคร่ครวญเพิ่มขึ้นมาอีก
5. การคิดใคร่ครวญ ทำให้เราปฏิบัติตามบรรดาอายะฮ์ต่าง ๆ มากมาย และตามบรรดาซุนนะฮ์ของท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช่น
อัลเลาะฮ์ทรงตรัส ความว่า
إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ
"แท้จริงในสิ่งดังกล่าวนั้น เป็นบรรดาสัญลักษณ์แก่กลุ่มชนที่ทำการใคร่ครวญ" อัรเราะอ์ 3
إِنَّ فِي ذَلِكَ لآيَةً لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ
"แท้จริงในสิ่งดังกล่าวนั้น ทำเป็นสัญลักษณ์หนึ่งแก่กลุ่มชนที่ทำการใคร่ครวญ" อันนะหฺลิ 11
إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ
"แท้จริงในสิ่งดังกล่าวนั้น เป็นบรรดาสัญลักษณ์แก่กลุ่มชนที่ทำการใคร่ครวญ" อัซซุมัร 42
إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ
"แท้จริงในสิ่งดังกล่าวนั้น เป็นบรรดาสัญลักษณ์แก่กลุ่มชนที่ทำการใคร่ครวญ" อัลญะษียะฮ์ 13
وَتِلْكَ الْأَمْثَالُ نَضْرِبُهَا لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمْ يَتَفَكَّرُونَ
"แท้จริงเราได้ยกบรรดาอุทาหรณ์ต่าง ๆ สำหรับมวลมนุษย์ เพื่อพวกเขาจะได้ทำการใคร่ครวญ" อัลหัชร์ 21
قُلِ انظُرُواْ مَاذَا فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ
"เจ้าจงกล่าวเถิด พวกท่านจงพิจารณา สิ่งที่อยู่ในบรรดาฟากฟ้าและแผ่นดิน" ยูนุส 101
ประเด็นที่สอง
ท่านอิมาม อัศศะยูฏีย์ ได้กล่าวหะดิษนี้ไว้ในหนังสือ อัลญาเมี๊ยะอฺอัซซ่อฆีร ว่า
اختلاف أمتي رحمة
"การขัดแย้งของประชาชาติของฉัน เป็นความเมตตา"
ท่านอิมามอัศศะยูฏีย์ อธิบายว่า
نصر المقدسي في الحجة. والبيهقي في الرسالة الأشعرية بغير سند، وأورده الحليمي والقاضي حسين وإمام الحرمين وغيرهم، ولعله خرج في بعض كتب الحفاظ التي لم تصل إلينا
"ท่านนัสริ อัลมุก๊อดดิซีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลหุจญะฮ์ และท่านอัลบัยฮะกีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลริซาละฮ์ อัลอัชอะรียะฮ์โดยไม่มีสายรายงาน และท่านอัลหะลีมีย์ , ท่านอัลกอฏีย์ หุซัยน์ , ท่านอิมามอัลหะรอมัยน์ ฐ และท่านอื่น ๆ ได้นำเสนอหะดิษนี้เช่นกัน และบางครั้งหะดิษนี้ได้ถูกกล่าวรายงานไว้ในหนังสือบางเล่มของบรรดานักปราชญ์หะดิษที่ไม่ได้รับมาถึงเรา" ดู หนังสือ อัลญาเมีญะอฺ อัสซ่อฆีร หะดิษที่ 288
ท่าน อัลหาฟิซฺ อัลมุนาวีย์ กล่าววิจารณ์ว่า
قال السبكي وليس بمعروف عند المحدثين ولم أقف له على سند صحيح ولا ضعيف ولا موضوع
"ท่านอิมามอัศศุบกีย์ กล่าวว่า หะดิษนี้ ไม่เป็นที่รู้จักตามทั้ศนะของบรรดานักหะดิษ และฉันไม่ทราบมันเลยว่า มีสายรายงานที่ถูกต้อง , ฏออีฟ , หรือเมาฏั๊วะ"
(أمتي) أي مجتهدي أمتي في الفروع التي يسوغ الاجتهاد فيها فالكلام في الاجتهاد في الأحكام كما في تفسير القاضي قال: فالنهي مخصوص بالتفرق في الأصول لا الفروع انتهى. قال السبكي: ولا شك أن الاختلاف في الأصول ضلال وسبب كل فساد كما أشار إليه القرآن
"(คำว่าประชาชาติของฉัน) หมายถึง บรรดานักปราชญ์มุจญฮิด(ผู้วินิจฉัยได้) ในเรื่องของฟุรั๊วะ(ข้อปลีกย่อยทางฟิกห์)ที่อนุญาตให้ทำการวินิจฉัย(อิจญฮาด)เกี่ยวกับมันได้ ดังนั้น คำกล่าวของหะดิษนี้ คือในเรื่องของการอิจญฺฮาดในหุกุ่มต่าง ๆ ของฟิกห์ ตามที่ได้รุบะไว้ในหนังสือ ตัฟซีรของท่านอัลกอฏีย์ ซึ่งเขากล่าวว่า การห้าม(ขัดแย้งนี้) ถูกเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการแตกแยกในเรื่องของหลักอุซูล(หลักการศรัทธา)ไม่ใช่หลักฟุรั๊วะ(ข้อปลีกย่อยทางฟิกห์) ท่านอัศศุบกีย์ กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยว่าการขัดแย้งกันในเรื่องอุซูล(หลักการศรัทธา)นั้นเป็นความลุ่มหลงและเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดทุก ๆ ความเสียหายตามที่อัลกุรอานได้บ่งชี้ไว้" ดู หนังสือ ฟัยฏุลก่อดีร ชัรหฺ อัลญาเมี๊ยะอฺอัศศ่อฆีร หะดิษที่ 288
والله أعلى وأعلم