ผู้เขียน หัวข้อ: คุณสมบัติและระดับขั้นของมุจญตะฮิดีน(นักวินิจฉัยปัญหาศาสนา) !!  (อ่าน 2191 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Muftee

  • เพื่อนรัก (6_6)
  • *****
  • กระทู้: 1899
  • เพศ: ชาย
  • ตั้งใจเข้าไว้นะ มุฟตีย์น้อย
  • Respect: +190
    • ดูรายละเอียด

คุณสมบัติและระดับขั้นของนักวินิจฉัยบทบัญญัติอิสลาม (المجتهد)




          ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ผู้มีสติปัญหาให้การยอมรับก็คือ  บรรดานักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามนั้นไม่ได้อยู่ระดับเดียวกัน  แต่พวกเขามีหลายระดับและหลายฐานะ  และจากสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง   สำหรับผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้  ก็คือ  ต้องทราบถึงตำแหน่งและระดับของนักปราชญ์นิติศาสตร์  จนกระทั่งเขาสามารถนำมาอยู่ในลำดับแรกกับทัศนะของนักปราชญ์ที่เขาควรนำมาอยู่ก่อนและสามารถนำมาไว้ลำดับหลังกับทัศนะของนักปราชญ์ที่ควรนำมาอยู่หลัง

        ด้วยเหตุนี้  ท่านอิมามอัลค่อฏีบ อัลบุฆดาดีย์  ได้กล่าวว่า “การตระหนักถึงระดับความรู้ของนักปราชญ์นิติศาสตร์  การกล่าวถึงความประเสริฐ  และอธิบายถึงความเลื่อมล้ำของพวกเขานั้น  ถือว่าเป็นสุนัตสำหรับนักนิติศาสตร์อิสลาม(ฟะกีฮ์) เพื่อให้มนุษย์พึ่งพาพวกเขาในเจริญรอยตามประเด็นที่มีปัญหาต่างๆ  เกิดขึ้น  และก็ทำการยึดทัศนะของพวกเขา”  ดู  หนังสืออัลฟะกีฮ์ วะ อัลมุตะฟักกีฮ์ เล่ม 2 หน้า 139

ท่านอัลค่อฏีบ  ได้อ้างหลักฐานจากสิ่งดังกล่าวด้วยหะดิษมากมาย  เช่นท่านร่อซูลุลเลาะฮ์(ซ.ล.) กล่าวว่า

إنى لا أدرى ما قدر بقائى فيكم فأقتدوا بالذين من بعدى وأشار إلى أبى بكروعمر

“แท้จริง  ฉันไม่รู้ว่าจะคงอยู่กับพวกท่านได้นานขนาดใหน  ดังนั้น  พวกท่านจงเจิรญรอยตาม 2 คนหลังจากฉัน  แล้วท่านนบี(ซ.ล.) ก็ชี้ไปยังท่านอบูบักรและท่านอุมัร”  รายงานโดย  ท่านอัฏฏ๊อบรอนีย์และอิบนุอบีชัยบะฮ์

           ปวงปราชญ์ได้ทำการอธิบายถึงระดับขั้นต่างๆ  ของนักปราชญ์นิติศาสตร์ไว้ในหนังสืออุซูลุลฟิกฮฺและหนังสือฟิกฮฺ  ซึ่งส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์ที่ทำการอธิบายถึงขั้นระดับต่างๆ  ของนักปราชญ์นิติศาสตร์ คือ ท่านอิมาม มุหัดดิษ  อบูอัมร์ อิบนุ เศาะลาห์  , ท่านอิมามอันนะวาวีย์ , ท่านอิบนุ หัมดาน อัลหัมบาลีย์ , ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ (ของอัลเลาะฮ์ทรงเมตตาต่อพวกเขา) และท่านอื่นๆ 


บทสรุปคำอธิบายของนักปราชญ์

นักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

ประเภทที่ 1 . مجتهد مستقل   นักปราชญ์ผู้วินิจฉัยเอกเทศน์ เหตุที่เรียกดังกล่าวนี้  เพราะเขาได้มีความเป็นเอกเทศน์ในการรอบรู้ถึงฮุกุ่มต่างๆ ของศาสนา  ที่ได้รับมาจากหลักฐานต่างๆ  โดยไม่ได้ทำการตักลีดนักปราชญ์คนใด  และไม่จำกัดอยู่ในหลักพื้นฐานของการวินิจฉัยจากนักปราชญ์ที่อยู่ก่อนจากเขา  ดังนั้น  นักปราชญ์นิติศาสตร์ประเภทนี้  ต้องมีบรรดาคุณลักษณะที่ทำให้เขามีคุณสมบัติในระดับสูงนี้

ด้วยเหตุนี้  บรรดานักปราชญ์ของเรากล่าวว่า  นักปราชญ์นิติศาสตร์ประเภทดังกล่าว  ต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้

1.   เขาจะต้องเที่ยงตรงในการรอบรู้ถึงบรรดาหลักฐานต่างๆ  ของศาสนา  จากอัลกุรอาน  ซุนนะฮ์  อิจญฺมาอ์  และกิยาส (เทียบเคียง) และสิ่งที่เกี่ยวข้องในเชิงรายละเอียด

2.   เขาจะต้องรอบรู้ในเงื่อนไขของบรรดาหลักฐานต่างๆ  , ข้อบ่งชี้ของมัน  , และรู้ถึงวิธีการดึงหลักการต่างๆ  จากหลักฐานเหล่านั้น  ซึ่งกรณีนี้ศึกษาได้จากวิชามูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม

3.   รอบรู้ถึงหลักการต่างๆ  ของอัลกุรอาน  หะดิษ  ตัวบทที่มายกเลิก  ตัวบทที่ถูกยกเลิก  หลักไวยากรณ์  หลักภาษาอาหรับ  หลักนิรุกศาสตร์ (ซ่อร๊อฟ)  ทัศนะขัดแย้งและเห็นพ้องของปวงปราชญ์  ด้วยขนาดที่เขาสามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการอ้างหลักฐานและดึงหลักการออกมา

4.   เขาต้องเป็นผู้มีความชำนาญและมีคุณสมบัติในการนำหลักการดังกล่าวมาใช้

5.   เขาต้องรอบรู้ถึงหลักนิติศาสตร์  และจดจำประเด็นปัญหาและข้อปลีกย่อยต่างๆ  ที่สำคัญ

         ดังนั้น  ผู้ใดที่มีคุณสมบัติเหล่านี้  เขาก็สามารถเป็นมุฟตี  มุจญฮิดมุฏลัก(ผู้ไม่จำกัดอยู่ในหลักมูลฐานการวินิจฉัยของปราชญ์ท่านอื่น) หรือมุจญฮิดมุสตะกิล(ผู้เป็นเอกเทศน์ในการวินิจฉัย)  ซึ่งถือว่าเป็นฟัรดูกิฟายะฮ์

        ส่วนหนึ่งจากผู้บรรดานักปราชญ์ได้มีมติสอดคล้องกันว่า  บุคคลที่เป็นผู้ถึงขั้นระดับมุจญฮิดมุฏลักหรือมุสตะกิลนั้น  อาทิเช่น ....

       ระดับซอฮาบะฮ์  คือ  ท่านอบูบักร , ท่านอุมัร , ท่านอุษมาน , ท่านอาลี , ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ มัสอูด , ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบาส , ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อุมัร , ท่านมุอาซฺ , และท่านอื่นๆ  (ขออัลเลาะฮ์ทรงพึงพอพระทัยแก่พวกเขาด้วยเทอญ)

       ตาบิอีน  จากนักปราชญ์ทั้ง 7 แห่งนครมะดีนะฮ์  คือ ท่าน สะอีด อิบนุ อัลมุซัยยับ , ท่านอุรวะฮ์ บิน ซุบัยร์ , ท่านอัลกอซิม บิน มุหัมมัด ,  ท่านอบูบักร บิน อับดุรเราะหฺมาน , ท่านอับดุลเลาะฮ์ บิน อับดิลเลาะฮ์ บิน อุตบะฮ์ บิน มุสอูด , ท่านสุไลมาน บิน ยะซาร , ท่านคอริญะฮ์ บิน ซัยด์

      ระดับตาบิอิตตาบิอีน  เช่น  ท่านซุฟยาน บิน อุยัยนะฮ์ , ท่านซุฟยาน อัษเษารีย์ , ท่านอบูหะนีฟะฮ์ , ท่านอิมามมาลิก , ท่าน อัลลัยษ์ บิน สะอัด , ท่านอัชชาฟิอีย์ , ท่านอัลเอาซะอีย์ , ท่านอะหฺมัด บิน หัมบัล , และท่านอื่นๆ อีกมากมาย


ประเภทที่ 2 . มุฟตี(มุจญฮิด) ที่ไม่เป็นเอกเทศน์ แต่เขาได้ตามอิมามคนหนึ่งที่เป็นมุจญฮิดมุสตะกิล(นักวินิจฉัยที่เป็นเอกเทศน์) และทำการพาดพิงมัซฮับของเขาไปยังมัซฮับของอิมามท่านนั้น

นักปราชญ์ประเภทนี้  มีอยู่หลายระดับด้วยกัน

ระดับที่ 1 .  المجتهد المطلق المنتسب  ปราชญ์ผู้วินิจฉัยที่เป็นเอกเทศน์อีกทั้งพาดพิงไปยังมัซฮับอิมามท่านใดท่านหนึ่ง 

เหตุที่เรียกว่า المطلق (มุฏลัก) เพราะว่า  การวินิจฉัยของเขานั้น  ได้ครอบคลุมถึงประเด็นข้อปลีกย่อยต่างๆ  ทางนิติศาสตร์หรือหลักมูลฐานและกฎต่างๆ ของนิติศาสตร์อิสลาม  และเพราะว่าการวินิจฉัยของเขาได้อยู่ในทุกๆ วิชาการต่างๆ  ที่เป็นมาตราในการวินิจฉัย  และบรรดานักปราชญ์ที่อยู่ในระดับนี้  คือผู้ที่ถึงขั้นรับผู้ที่มีความรู้ขั้นสูง โดยที่พวกเขาก็มีเงื่อนไขและคุณสมบัติต่างๆ เช่นเดียวกับมุจญฮิดมุสตะกิล  แต่เขาได้พาดพิงตนเองไปยังมัซฮับอิมามที่เขาตามอยู่  เพื่อเขาจะได้นำหลักการของอิมามท่านนั้นมาเป็นแนวทางในการวินิจฉัย  ทั้งที่ในความเป็นจริง  เขาไม่ได้เป็นผู้ที่ตักลีดตามอิมามท่านนั้น หรือตามมัซฮับและหลักฐานของอิมามท่านนั้น  และฟัตวาของปราชญ์ที่อยู่ในระดับขั้นนี้  ก็ย่อมเสมือนกับฟัตวาของมุจญตะฮิดมุฏลักซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติได้ และสามารถนับเข้ามามีบทบาทอยู่ในมติหรือการขัดแย้งของปวงปราชญ์ได้

ส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์ที่มีคุณลักษณะถึงระดับขั้นนี้  อาทิเช่น  อิมามอบูยูซุฟ , อิมามมุหัมมัด บิน หะซัน อัชชัยบานีย์  จากนักปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์  , อิมามอิบนุ อัลกิซิม , อิมามอิบนุ วะฮฺบ์ , อิมามอัชฮับ  จากนักปราชญ์มัซฮับมาลิกีย์ , อิมามอัลมุซะนีย์ ,อิมามอัลบุวัยฏีย์ , อิมามอิบนุ มุนซิร , อิมามอิบนุ ญะรีร  อัฏฏ๊อบรีย์  จากนักปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์


ระดับที่ 2 . أصحاب الوجوه  (อัศฮาบ อัลวุญูฮ์) หรือ المجتهد المقيد(มุจญฮิดมุก๊อยยัด)

นักปราชญ์ระดับนี้  ย่อมมีระดับที่ต่ำกว่านักปราชญ์ระดับแรก  เพราะฉะนั้น  การวินิจฉัยของพวกเขาได้ถูกจำกัดอยู่ในมัซฮับอิมามของพวกเขา  ดังนั้น  นักปราชญ์ที่ถึงระดับนี้  จึงมีสามารถวิเคราะห์มัซฮับอิมามของพวกเขาด้วยกับหลักฐานได้  แต่เขาจะไม่วินิจฉัยหลักฐานต่างๆ  ให้เกินเลยไปจากหลักมูลฐาน(อุซูล)และกฎเกณฑ์นิติศาสตร์(ก่อวาอิด)ต่างๆ ของมัซฮับอิมามของเขา

นักปราชญ์ระดับนี้  ต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้

1.   เขาต้องรอบรู้หลักนิติศาสตร์อิสลาม(ฟิกห์)

2.   เขาต้องชำนาญในหลักวิชามูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม

3.   เขาต้องรอบรู้บรรดาหลักฐาน ของฮุกุ่มต่างๆ  แบบรายละเอียด

4.   มีความรู้แจ้งในหลักการต่างๆ ของการกิยาส(เทียบเคียง) และความหมายภาษาอาหรับ

5.   มีความชำนาญอย่างยิ่งในการดึงและวิเคราะห์ฮุกุ่มออกมา

6.   เขาต้องมีความสามารถต้องการเทียบเคียงฮุกุ่มที่ไม่มีตัวบทมาระบุในมัซฮับอิมามของเขา  ด้วยกับหลักมูลฐานและกฎเกณฑ์ต่างๆ  ทางด้านนิติศาสตร์ของอิมาม

นักปราชญ์ที่อยู่ในระดับนี้  จะไม่พ้นจากการตักลีดตามอิมาม   สาเหตุดังกล่าว  ก็คือ  เขาไม่มีความถนัดในบางสาขาวิชาและหลักการต่างๆ  ที่เป็นคุณลักษณะอยู่ในมุจญฮิดมุสตะกิล  เช่น  เขาไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ
ในวิชาหะดิษและหลักวิชาภาษาอาหรับ

ท่านอิมามอิบนุ ศ่อลาห์ , ท่านอิมามอันนะวาวีย์ และท่านอื่นๆ ได้กล่าวอธิบายถึงคุณลักษณะของนักปราชญ์ระดับนี้ว่า  “ส่วนมากแล้ว  จะเกิดความบกพร่องด้วยกับสองวิชานี้ – คือหะดิษและหลักภาษาอาหรับ – จะเกิดขึ้นในตัวของนักปราชญ์มุจญฮิดมุก๊อยยัด

ท่านอิมามอิบนุศ่อลาห์ , ท่านอิมามนะวาวีย์ , ท่านอิมามอิบนุ หัมดาน อัลหัมบาลีย์ , และท่านอิมามอัชชาฏิบีย์   ได้กล่าวว่า “นักปราชญ์ระดับนี้ได้เอาตัวบทต่างๆ ของอิมามของเขามาเป็นหลักมูลฐานในการวินิจฉัย 
เฉกเช่นกับนักมุจญฮิดมุสตะกิลได้เอาตัวบทของอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยตรงมาทำการวินิจฉัย


ระดับที่ 3 . مجتهد الفتوى   ปราชญ์ผู้วินิจฉัยในด้านฟัตวา  

นักปราชญ์ระดับนี้  ไม่ถึงขั้นระดับนักปราชญ์ระดับที่สอง  แต่เขามีหัวใจในความเป็นนักนิติศาสตร์  จดจำหลักการมัซฮับอิมาม  รอบรู้ถึงบรรดาหลักฐานต่างๆ  ของมัซฮับอิมาม  มีความสามารถในการยืนยันหลักฐาน  สามารถฉายประเด็น  วางระเบียบ  วิเคราะห์  วางบริบท  ขัดเกลา  และให้น้ำหนักได้  แต่เขามีระดับลดลงมาจากนักปราชญ์ระดับที่สอง  เพราะเขามีความชำนาญในการวินิจฉัยและรอบรู้หลักมูลฐานนิตศาสตร์และอื่นๆ  น้อยกว่านักปราชญ์ระดับที่สอง

ส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์ระดับนี้  คือ  ท่านอัฏเฏาะหาวีย์  , ท่านอัลกัรคีย์ ,  ท่านอัซซัรคอซีย์  จากนักปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์ ,   ท่านอัลมาซิรีย์ , ท่านอัลกอฏีย์ อับดุลวะฮาบ , ท่านอัลกอฏีย์ อิยาฏ  จากนักปราชญ์มัซฮับมาลิกีย์ , ท่านอิมามอัลฆอซะลีย์ , ท่านอัรรอฟิอีย์ , ท่านอิมามอันนะวาวีย์  จากนักปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์ , ท่านอิบนุ อัลกุดามะฮ์ , ท่านอิบนุตัยมียะฮ์  จากนักปราชญ์มัซฮับหัมบาลีย์ 


ระดับที่ 4 . أصحاب الترجيح فى المذهب  คือ พวกเขาไม่มีความสามารถในการวินิจฉัย(อิจญติฮาด) แต่พวกเขา

มีความรอบรู้ในหลักมูลฐานนิติศาสตร์และมีความจำประเด็นต่างๆ ที่ได้รับจากหลักฐาน   มีความสามารถอธิบายถึงรายละเอียดของทัศนะอันรวบรัดที่ตีความได้ทั้งสองแง่มุม  หรือฮุกุ่มที่ยังมีความเข้าใจคลุมเครือ ที่สามารถตีความได้เป็นสองแนวทาง  ซึ่งเป็นประเด็นที่ถ่ายทอดมาจากเจ้าของมัซฮับหรือจากบรรดาสานุศิษย์ของอิมามมัซฮับนั้น

ส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์ที่อยู่ในระดับนี้  เช่น  ท่านปรมาจารย์  อาลี อิบนุ อบีบักร อัลมิรฆีนานีย์ 
เจ้าของหนังสือ  อัลฮิดายะฮ์  จากนักปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์ , ท่านอัลหัฏฏ๊อบ  นักปราชญ์จากมัซฮับมาลิกีย์ , ท่านอัลอิสนาวีย์  นักปราชญ์จากมัซฮับชาฟิอีย์ , ท่านอิบนุ มุฟลิหฺ  นักปราชญ์จากมัซฮับหัมบาลีย์


ระดับที่ 5 . حفظة المذهب  บรรดานักปราชญ์ที่จดจำหลักการของมัซฮับ 

คุณสมบัติของพวกเขา  คือ  นักปราชญ์ที่ทำการจดจำหลักการของมัซฮับ  ทำการถ่ายทอด  และเข้าใจในประเด็นต่างๆ  ที่มีความชัดเจนและเข้าใจยาก แต่เขาไม่มีความสันทัดในการยืนยันหลักฐานและวิเคราะห์หลักการกิยาสของมัซฮับ  ดังนั้น  นักปราชญ์ระดับนี้  สามารถยึดการฟัตวาและการถ่ายทอดของเขาจากสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในมัซฮับหรือจากตัวบทคำพูดของอิมามของเขาได้  และสามารถยึดการแจงรายละเอียดทัศนะของนักปราชญ์มุจญฮิดในมัซฮับของอิมามของเขาได้ 

จุดประสงค์ของการจดจำมัซฮับ  คือ  การที่หลักการส่วนมากของมัซฮับนั้น  อยู่ในสมองของเขา 
และเขามีความชำนาญจากการรับรู้ส่วนประเด็นที่เหลือได้ไม่ยากนัก 

ส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์ที่อยู่ในระดับนี้  เช่น  ท่านอิมาม อิบนุ นุญัยม์ , ท่านอิมามอิบนุอาบิดีน
จากนักปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์  , ท่านอิมามอัดดุซุกีย์ , ท่านอิมามอัศศอวีย์  จากนักปราชญ์มัซฮับมาลิกีย์ ,  ท่านอิมามอิบนุ หะญัร อัลฮัยตะมีย์ , และท่านอิมามรอมลีย์  จากนักปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์ ,  ท่านอิมามอัลมัดดาวีย์ , ท่านอิมามอัลบุฮูตี  จากนักปราชญ์มัซฮับหัมบาลีย์ 


ระดับที่ 6 . المشتغل بالمذهب  นักปราชญ์ที่สนใจหลักการของมัซฮับ 

ซึ่งคุณลักษณะนี้จะไม่สมควรได้รับ นอกจาก 3 ประการ

1.   เขาต้องรอบรู้ประเด็นการสังกัดมัซฮับ  อย่างแท้จริงหรือโดยรวม

2.   เขาต้องรอบรู้ถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ  จากทัศนะที่ได้รับยึดถือของมัซฮับ

3.   เขาต้องมีความชำนาญจากการรอบรู้อยู่  3  ข้อ

ข้อ 1 . เขาต้องรู้ถึงศัพท์เชิงวิชการของมัซฮับ

ข้อ 2 . เขาต้องรู้หลักการต่างๆ ของมัซฮับ  ซึ่งจะสามารถจะรู้ได้จาก 2  แหล่งด้วยกัน

แหล่งที่ 1 . บรรดากฎเกณฑ์และหลักมูลฐานต่างๆ ทางด้านนิติศาสตร์ของมัซฮับ  ซึ่งศึกษาได้จาก  วิชามูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม(อุซูลุลฟิกห์)

แหล่งที่ 2 .  รู้ในด้านของเชิงปฏิบัติ  ซึ่งสามารถรู้ได้จากวิชานิติศาสตร์อิสลาม(วิชาฟิกห์)

แหล่งที่  3 . เขาต้องรู้ถึงบทต่างๆ  ที่จะค้นคว้าประเด็นข้อปลีกย่อย   เช่น  เมื่อเขาต้องการจะทราบประเด็นเรื่อง  การปิดเอาเราะฮ์   บทที่ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น  คือ  บทที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาด  ในบทย่อยของเงื่อนไขการละหมาด  ในประเด็นย่อยของเงื่อนไขการปกปิดเอาเราะฮ์  และสามารถค้นคว้าประเด็นนี้ได้ใน  เรื่องนิกาห์   บทที่ว่าด้วยเรื่อง  การอนุญาตให้ชายผู้สู่ขอมองหญิงที่ถูกสู่ขอ


วัลลอฮุ ตะอาลา อะลัม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิ.ย. 11, 2012, 10:41 PM โดย Muftee »
// อะฮฺลิสสุนนะฮฺ อัล-อะชาอิเราะฮฺ...สักวันนึง เราต้องเป็นอุละมาอฺที่ยิ่งใหญ่ อินชาอัลลอฮฺ //

 

GoogleTagged