การศึกษาวิเคราะห์อัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยตรง
อนุญาตหรือไม่ ? ให้กับทุก ๆ การศึกษาวิเคราะห์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ โดยวินิจฉัยฮุกุ่มต่าง ๆ จากทั้งสองโดยตรง แล้วตนเองกล่าวว่า "นี้คืออิจญฮาด(การวินิจฉัย)ของฉัน หากถูกต้องก็มาจากอัลเลาะฮ์ และหากผิดก็มาตัวของฉันและชัยฏอน" ?
ดังนั้น สิ่งดังกล่าวไม่อนุญาต นอกจาก สำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นนักมุจญฺฮิด(ผู้วินิจฉัย)ได้ เฉกเช่น อิมามมาลิก , อิมามอะหฺมัด , อิมามอัชชาฟิอีย์ , อิมามอัลเอาซะอีย์ , อิมามอัษเษารีย์ เป็นต้น และยอมไม่มีประโยชน์สำหรับบุคคล - ที่ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นนักมุจญฮิด - ที่จะกล่าวว่า "นี้คืออิจญฮาด(การวินิจฉัย)ของฉัน หากถูกต้องก็มาจากอัลเลาะฮ์ และหากผิดก็มาตัวของฉันและชัยฏอน" ยิ่งกว่านั้น คำกล่าวของเขาเยี่ยงนี้ เขาจะกลายเป็นผู้ละเมิดมันเสียเอง
ในกรณีดังกล่าว ท่านอิมาม อัลค๊อฏฏอบีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ มะอาเล็มอัสสุนัน โดยกล่าวอธิบายหะดิษที่ว่า
إذا حكم الحاكم فاجتهد ثم أصاب فله أجران وإذا حكم فاجتهد ثم أخطأ فله أجر
"เมื่อผู้ตัดสินคนหนึ่งได้ทำการตัดสิน แล้วทำการวินิจฉัย จากนั้นเขาถูก แน่นอน เขาจะได้รับสองผลบุญ และเมื่อเขาได้ทำการตัดสิน และทำการวินิจฉัย แล้วผิดพลาด แน่นอน เขาย่อมได้รับผลบุญเดียว"
หมายถึง ผู้ที่วินิจฉัยผิดพลาดนั้น เขาจะได้รับผลบุญเนื่องจากเขาแสวงหาสัจจะธรรม เพราะการอิจญฮาดนั้นเป็นอิบาดะฮ์ และดังกล่าวจะต้องอยู่ในบุคคลที่เป็นนักปราชญ์มุจญฺฮิด อีกทั้งเพรียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือในการวินิจฉัย รู้หลักฐานต่าง ๆ ของศาสนา รู้ถึงหนทางต่าง ๆ ของการกิยาส(ที่ถูกต้อง) สำหรับผู้ที่ไม่มีคุณลักษณะที่เป็นนักวินิจฉัย เขาย่อมเป็นผู้ที่ดันทุรัง จะไม่ถูกอนุโลมกับความผิดพลาดในการฮุกุ่มของเขา ยิ่งกว่านั้น เกรงว่าบาปใหญ่จะตกอยู่บนเขา ด้วยเหตุหะดิษของท่าน บุรอยเราะฮ์ รายงานจากบิดาของเขา ว่า
القضاة ثلاثة: واحد في الجنة، واثنان في النار . أما الذي في الجنة: فرجل عرف الحق فقضى به . ورجل عرف الحقّ فَجَار في الحكم فهو في النار، ورجل قضى الناس على جهل فهو في النار
"นักตัดสินมีอยู่ 3 ประเภท หนึ่งอยู่ในสวรรค์ และสองอยู่ในนรก สำหรับผู้ที่อยู่สวรรค์คือ บุรุษที่รู้ถึงสัจจะธรรม แล้วเขาทำการตัดสินด้วยสัจจะธรรมนั้น และบุรุษอีกคนหนึ่ง ที่รู้ถึงสัจจะธรรม แต่อธรรมในการตัดสิน เขาย่อมอยู่ในนรก และบุรุษคนหนึ่งที่ตัดสินบรรดาผู้คนทั้งหลาย บนความโง่เขลา เขาย่อมอยู่ในนรก"
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ชัรห์มุสลิม เล่ม 12 หน้า 13 ว่า "บรรดานักปราชญ์กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติในการตัดสิน ดังนั้น จึงไม่อนุญาตสำหรับเขาทำการตัดสิน ดังนั้น หากเขาทำการตัดสิน เขาย่อมไม่ได้รับผลการตอบแทน ยิ่งกว่านั้น เขายังกระทำบาป และการตัดสินของเขาจะไม่ถูกดำเนินการ ไม่ว่าการตัดสินของเขาจะสอนคล้องกับสัจจะธรรมหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากความถูกต้องของเขานั้น ไปตรงกัน โดยไม่ได้ออกมาจากหลักพื้นฐานเดิมของศาสนา ดังนั้น เขาย่อมเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนในการฮุกุ่มของเขาทั้งหมด ไม่ว่าจะสอดคล้องกับความถูกต้องหรือไม่ก็ตาม บรรดาการตัดสินของเขาจะถูกปฏิเสธทั้งหมด และเขาจะไม่ได้รับการยินยอมในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยจากกรณีดังกล่าว"
ข้อความระวังท่าน อิบนุ อบี ซัยด์ อัลก๊อยร่อวานีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ อัลญาเมี๊ยะอฺ ว่า "ผู้ที่ไม่ใช่มุจญฮิด อนุญาตให้ทำการวิเคราะห์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ แต่ต้องด้วยการวิเคราะห์ตามหลักการของนักนิติศาสตร์อิสลาม หากปราศจากเช่นนั้นแล้ว เขาย่อมหลงทาง ท่านอัซซุฟยาน บิน อุยัยนะฮ์ กล่าวว่า "อัลหะดิษนั้น เป็นสถานที่ทำให้หลงทาง นอกจาก สำหรับบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามเท่านั้น" หมายถึง บรรดาผู้ที่ไม่ใช่นักปราชญ์นิติศาสตร์อิสลามนั้น บางครั้งเขาได้ตีความสิ่งหนึ่งเพียงแค่ความหมายของหะดิษที่ผิวเผิน ทั้งที่อนุญาตให้ตีความอธิบายด้วยกับหะดิษอื่นอีก หรือด้วยกับอีกหลักฐานหนึ่งที่เขาไม่เคยได้รับ หรือหะดิษจำต้องถูกละทิ้งอันเนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องทำการละทิ้งมัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการกับมันได้นอกจากบุคคลที่มีความรู้กว้างขวางและมีความเข้าใจในหลักนิติศาสตร์อิสลาม" ดู หน้า 118