بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْم
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
การรู้แบ่งออกเป็น اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) และ اَلضَّرُوْرِيُّ ฏ่อรูรีย์
1. การรู้แบบ اَلضَّرُوْرِيُّ (ฏ่อรูรีย์) จะถูกนำมาใช้ใน 4 รูปแบบ
(1) การรู้ที่อยู่พร้อมกับความจำเป็นหรือพร้อมกับมีโทษที่จะเกิดขึ้น เช่น การรู้ที่ถูกบังคับให้ต้องรู้มันด้วยการข่มขู่หรือด้วยการทุบตี เป็นต้น
(2) การรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถ(กุดเราะฮ์)ที่เกิดขึ้นมาใหม่ คือเป็นการรู้ที่เกิดขึ้นแก่จิตใจอย่างฉับพลันโดยมิต้องใช้ความพยายามแต่ประการใด เช่นการรู้ที่เกิดขึ้นด้วยการเห็นโดยมิได้ตั้งใจ กล่าวคือเขาได้เปิดสองตาแล้วมีชายคนหนึ่งเดินทางผ่านมา แล้วเขาก็เห็นชายคนนั้น เขาจึงรู้ว่าชายคนนั้นคือมนุษย์คนหนึ่ง นี้คือการรู้ที่ไม่ต้องใช้ความสามารถใด ๆ
(3) การรู้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยหลักฐาน
(4) การรู้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการพิจารณา
2. ส่วนความหมายของการรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) นั้นถูกนำมาใช้ 2 รูปแบบ
(1) การรู้โดยมิได้อาศัยปัญญาและประสาทสัมผัสหรือการที่รู้โดยไม่ต้องอาศัยการทดลอง เป็นต้น
ดังนั้น การรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) ในข้อที่หนึ่งนี้ มีความหมายที่เฉพาะกว่าการรู้แบบ اَلضَّرُوْرِيُّ (ฏ่อรูรีย์) ในข้อที่ (3) และข้อที่ (4) ที่ผ่านมา เพราะการรู้โดยมิอาศัยปัญญาก็ย่อมไม่ต้องการอาศัยหลักฐานอยู่แล้ว และการรู้โดยมิต้องอาศัยการทดลองก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาแต่ประการใด กล่าวคือการรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) มีความหมายที่ล้ำลึกกว่านั่นเอง
ส่วนการรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) จะแตกต่างกับการรู้แบบ اَلضَّرُوْرِيُّ (ฏ่อรูรีย์) ในข้อที่ (1) แต่การรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) จะมีความหมายใกล้เคียงกับการรู้แบบ اَلضَّرُوْرِيُّ (ฏ่อรูรีย์) ในข้อที่ (2)
(2) การรับรู้ที่ไม่ต้องขึ้นอยู่หรืออาศัยการพิจารณาและอ้างหลักฐาน หากแม้ว่าจะอาศัยการให้ปัญญาหรือการทดลองก็ตาม
ดังนั้น การรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) ในข้อที่สองนี้ จึงมีความหมายเดียวกันครับ การรู้แบบ اَلضَّرُوْرِيُّ (ฏ่อรูรีย์) ในข้อที่ (3) และข้อที่ (4) และมีความแตกต่างกันในข้อที่ (1) และข้อที่ (2)
สรุปก็คือ ความหมายการรู้แบบ اَلْبَدِيْهِيُّ (บ่ะดีฮียะฮ์) ย่อมล้ำลึกกว่าการรู้แบบ اَلضَّرُوْرِيُّ (ฏ่อรูรีย์) นั่นเองครับ
อ้างอิงจากหนังสือ : ฮาชียะฮ์อัชชัรกอวีย์ อะลัลฮุดฮุดีย์ ของท่านชัยคุลอิสลาม อับดุลลอฮ์ อัชชัรกอวีย์ หน้า 93 - 94
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ