بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
หากทั้งหมด 40 คน สามารถเป็นอิมามได้ ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นอิมามได้ หมายถึงผู้ที่รู้หลักการของละหมาดและอ่านอัลฟาติหะฮ์ได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น แต่หากว่าใน 40 คนนั้น มีคนอัลอุมีย์ คือ ผู้ที่ไม่สามารถเป็นอิมามนำละหมาดผู้เป็นอัลกอรีย์ คือ ผู้ที่มีความรู้หลักการละหมาดอย่างสมบูรณ์พร้อมได้ เช่นอ่านอัลฟาติหะฮ์ไม่ชัดเจน หรืออ่านโดยมีความบกพร่อง ออกเสียงอักขระไม่ชัดเจน หรือท่องจำอัลฟาติหะฮ์ได้ไม่หมด เป็นต้น แน่นอน การละหมาดญุมอะฮ์ถือว่าใช้ได้ครับ แต่มีเงื่อนไขว่า คนอัลอุมมีย์ที่ไม่สามารถเป็นอิมามได้นั้น ต้องทำการทุ่มเทศึกษาหาความรู้แล้ว แต่หากว่า คนอัลอุมีย์ดังกล่าว ละเลย เพิกเฉย บกพร่อง ต่อการศึกษาหลักการละหมาด แน่นอนว่า พวกเขาย่อมทำให้เกิดผลกระทบกับละหมาดญุมอะฮ์อย่างแน่นอน ( อ้างอิงสรุป จากหนังสือ ตั๊วะฟะตุลมั๊วะตาจญ์ ของท่านอิบนุหะญัร อัลฮัยตะมีย์ เล่ม 2 หน้า 438 , หนังสือ นิฮายะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ ของท่านอิมามอัรรอมลีย์ เล่ม 2 หน้า 168 - 169 , หนังสือ อิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน เล่ม 2 หน้า 91 ตีพิมพ์ ดารุลฟิกร์)
ดังนั้น บรรดามะอ์มูม จะพ้นจากการเป็นอัลอุมมีย์ได้นั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่อิมามประจำมัสยิดนั้น ๆ ที่จะต้องทำการสั่งสอนและทดสอบการละหมาด , การอ่านอัลฟาติหะฮ์ของบรรดามะอฺมูม ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ปล่อยให้มะอฺมูมที่ไม่มีความรู้ ตกอยู่ในความไม่รู้ตลอดไป เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมีหน้าที่ที่รับผิดชอบ การละหมาดก็เป็นภาระหน้าที่ของทุกคน บรรดามะอ์มูมที่มีความรู้น้อย ก็จำเป็นต้องหาเวลาทุ่มเทศึกษาศาสนาที่เป็นฟัรดูอีนสำหรับตัวเขา และอิมามต้องมีหน้าที่เคยสั่งสอนตักเตือนเรื่องศาสนาแก่บรรดามะอ์มูม และหากทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงภาระหน้าที่ของกันและกันจริง ๆ แล้ว ละหมาดวันศุกร์ย่อมไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน อินชาอัลเลาะฮ์
والله أعلى وأعلم