بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
السلام عليكم ورحمة الله وبركات
บทวิภาษ บทความเฉพาะกิจ ออกอีดิลอัฎฮาที่ไม่ต้องรอคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีอ.มุรีด ทิมะเสน ได้เขียนบทความเฉพาะกิจนี้ ณ บ้าน วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2549
เนื่องด้วยปีนี้ (พ.ศ. 2549) เมืองไทยออกอีดอีดิลอัฎฮา 2 วัน นั่นคือวันเสาร์ที่ 30 ธ.ค. 49 และวันอาทิตย์ที่ 31 ธ.ค. 49 จึงสร้างความสับสนให้แก่พี่น้องมุสลิมในเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง
โดยพวกเขาตัดสินใจไม่ได้ว่าตนเองจะออกอีดอีดิลอัฎฮาวันไหนกันแน่? บางคนกล่าวว่า ฉันจะออกตามคำประกาศของประเทศซาอุดิอาระเบีย เพราะวันวุกุฟ ( وقوف )
หรือวันอะเราะฟะฮฺ ( عرفة) มีที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนอีกใจหนึ่งก็ยังกังวลกับคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีว่าด้วยความเชื่อเดิมที่ว่าต้องปฏิบัติตามผู้นำ
สิ่งต่างๆ ข้างต้นเป็นความกังวลที่ทวีเพิ่มมากขึ้นในการออกอีดอีดิลอัฎฮาปีนี้ (2549) เป็นอย่างยิ่ง วิภาษความสับสนอันเกิดจากการออกอีดทั้งสอง (อีดิลฟิฎริ-อีดิลอัฎฮา) ในแต่ละปี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง มิใช่เพิ่มมาเกิดในปี 2549 และมิใช้เฉพาะวันอีดิลอัฎฮาเท่านั้น
อาจกล่าวได้ว่าในแต่ละปีจะมีความสับสนในเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอยู่ 3 ครั้ง คือ วันที่ 1 เดือนร่อมาฎอน (หนึ่ง) วันที่ 1 เดือนเซาว๊าล (สอง) อันเป็นวันอีดดิลฟิฎริ
และวันที่ 1 ซุลฮิจยะฮฺ (สาม) ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดวันอีดิลอัฎฮาตามมา ในส่วนของการกำหนดวันที่ 1 ร่อมาฎอน และวันที่ 1 เซาว๊าลนั้นก็จะมีประเด็นเกี่ยวกับการดูผลจันทร์เสี้ยวเป็นหลัก
โดยจะมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อตามคำประกาศผลการดูจันทร์เสี้ยวของสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งให้น้ำหนักแก่การดูจันทร์เสี้ยวภายในประเทศเป็นหลัก
ฝ่ายที่สองถือตามทัศนะของนักวิชาการที่ให้น้ำหนักกับผลการดูจันทร์เสี้ยวทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ ในกรณีที่ไม่มีผลการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศ
ผู้ที่ถือตามฝ่ายที่สองนี้ก็จะติดตามข่าวสารผลการดูจันทร์เสี้ยวในต่างประเทศและเมื่อมีข่าวสารการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศอื่นผู้ที่ถือตามฝ่ายนี้ก็จะกำหนดวันตามนั้น
เรียกง่ายๆ ว่า ตามผลจันทร์เสี้ยวนอกประเทศ โดยไม่พิจารณาคำประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสับสนและการประกอบศาสนกิจในวันที่ต่างกัน
จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างที่รู้กัน
ส่วนการกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺและวันอีดิลอัฎฮานั้นก็ยังคงมีการถือปฏิบัติที่ไม่ตรงกัน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งถือตามการประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งอาศัยการดูจันทร์เสี้ยวเป็น
ตัวกำหนดวันที่ 1 ซุลฮิจยะฮฺ และวันอีดิลอัฎฮา อีกฝ่ายหนึ่งจะถือตามการประกาศของซาอุดิอารเบียโดยให้เหตุผลว่า วันวุกุฟหรือวันอะเราะฟะฮฺที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
(ดังที่ อ.มุรีดระบุข้างต้น) เมื่อมีมาตรฐานหรือหลักการในการกำหนดวันอีดิลอัฎฮาต่างกัน การออกอีดอีดิลอัฎฮาของชาวมุสลิมในประเทศไทยจึงแตกต่างกัน กล่าวคือ ออกอีดกันคนละวัน
เป็นผลทำให้ขาดเอกภาพในการประกอบศาสนกิจ
มิหนำซ้ำ ยังมีการกล่าวพาดพิงและโจมตีฝ่ายที่ออกอีดไม่ตรงกับตนผ่านทางสื่อวิทยุที่เป็นกระบอกเสียงของแต่และฝ่าย (โดยเฉพาะรายการวิทยุที่อ้างว่าเป็นพวกซุนนะฮฺจะมีวิทยากรบางคนกล่าววิพาษวิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน) มีการกล่าวตักบีรและประชาสัมพันธ์กลุ่มองค์กรและมัสญิด
ในเครือข่ายว่าจะจัดการละหมาดอีดในเวลาใด เมื่อเป็นเช่นนี้ความสับสนแบบอีหลักอีเหลื่อก็ย่อมต้องเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อยู่ร่ำไป
จึงมีคำถามน่าคิดเกิดขึ้นว่า เมื่อหลักการของศาสนาอิสลามเป็นหลักการที่สมบูรณ์แบบทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ อีกทั้งยังมีปสิทธิภาพในการสร้างความสงบสุข และความเรียบร้อยในสังคมมนุษย์
กล่าวโดยสรุป หลักนิติธรรมอิสลามคือ สิ่งที่จะขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ มิใช่สร้างปัญหา ดังนั้นหลักนิติธรรมศาสตร์อิสลามมีกลไกในการขจัดปัญหาอย่างไร? สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมมุสลิมขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาเป็นผลมาจากการใช้หลักนิติธรรมอิสลามที่คลาดเคลื่อนหรือไม่?
คือเป็นเรื่องของความเข้าใจคลาดเคลื่อนของบุคคลที่มีต่อตัวบทและหลักการของศาสนาใช่หรือไม่? เพราะถ้าหากบังคับใช้หลักนิติศาสตร์อย่างถูกต้องแล้วก็คงไม่เกิดปัญหาคาราคาซังอย่างที่รู้กัน
ดังกรณีการกำหนดวันที่ 1 ของแต่ละเดือนนั้น เป็นที่ทราบกันว่า นักวิชาการมีทัศนะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายแต่ละฝ่ายก็อาศัยตัวบทหลักฐานมาสนับสนุนทัศนะความเห็นของตน
จนดูเหมือนว่าจะเอาชนะกันอย่างเด็ดขาดมิได้ ถึงแม้ว่าฝ่ายที่ถือผลของจันทร์เสี้ยวสากลจะดูมีภาษีมากกว่า แต่ก็เป็นการให้น้ำหนัก (الترجيح) จากนักวิชาการที่เห็นด้วยอีกเช่นกัน
หาใช่เป็นสิ่งที่เด็ดขาดจากตัวบทของศาสนาไม่ ปัญหาจึงอยู่ในขั้นตอนของการบังคับใช้ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบว่าจะให้น้ำหนักแก่ทัศนะใด
จะถือจันทร์เสี้ยวสากลหรือจันทร์เสี้ยวท้องถิ่นในการประกาศกำหนดวันสำคัญทางศาสนาจะเอาอย่างไหนดี?
นักปราชณญ์ในศาสนาอิสลามได้มีมติเห็นพ้อง (إتفاق)
ในเรื่องนี้ว่า ให้ถือตามคำตัดสินชี้ขาดของผู้นำหรือองค์กรสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามในแต่ละดินแดนเป็นข้อยุติ
ดังกฎนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า
ومن المتفق عليه أن حكم الحاكم أو قرار ولي الأمر يرفع الخلاف فى الأمور المختلف فيها
"และส่วนหนึ่งจากมติที่เห็นพ้องนั้นคือ แท้จริงการชี้ขาดของผู้ปกครองหรือการแถลงการณ์รับรองของผู้นำ (วะลียุลอัมริ) จะขจัดข้อขัดแย้งในบรรดาเรื่องราวที่มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องเหล่านั้น
ดังนั้น หากผู้นำหรือองค์กรสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามได้ให้น้ำหนักกับผลการดูดวงจันทร์เสี้ยวท้องถิ่นเป็นหลัก ก็ให้ถือตามนั้น ในทำนองเดียวกันถ้าหากผู้นำหรือองกรสูงสุดฯ ได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะที่ถือผลการดูดวงจันทร์เสี้ยวสากลเป็นหลัก ก็ให้ถือตามนั้นเป็นหลักเช่นกัน หากผู้มีปัญหาและมีความเป็นกลางได้ทำความเข้าใจกับประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วนและปลอดจากมิจฉาทิฐิและก็จะเห็นว่า การนำเอามติเห็นพ้องของเหล่านักปราชญ์ข้างต้นมาบังคับใช้แล้ว ก็จะไม่เกิดปัญหาและความสับสนอย่างที่เป็นอยู่ อีกทั้งมติเห็นพ้องดังกล่าว ก็ถือเป็นกลไกของหลักนิติธรรมอิสลามในการขจัดปัญหา และการสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคมของประชาคมมุสลิมอีกด้วย
ทั้งนี้การถกเถียงในหมู่นักวิชาการถึงเรื่องของจันทร์เสี้ยวท้องถิ่น และจันทร์เสี้ยวสากลนั้นเป็นการวนอยู่ในอ่าง เพราะเอาชนะกันโดยเด็ดขาดมิได้เนื่องจาก เป็นประเด็นของการวิเคราะห์ (الإجتهاد)
จึงจำเป็นต้องอาศัยการให้น้ำหนัก (الترجيح) ของผู้ปกครองหรือผู้นำที่รับผิดชอบเป็นข้อยุติซึ่งถือเป็นหลักการในบัญญัติของศาสนา อีกข้อหนึ่งต่างหาก คือ หลักการที่ว่าด้วยเรื่องการตามผู้นำ (وليُّ الأمر) นั่นเอง
ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ ยังมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับหลักการที่ว่าด้วยเรื่องการตามผู้นำนั่นเอง
มิหนำซ้ำคนบางกลุ่มที่ว่านี้ยังได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้คนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามผู้นำว่า เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเดิมๆ ซึ่งมิได้มุ่งหมายใช้สำนวนในทำนองของการเห็นด้วย (إقراري)
แต่มีนัยบ่งว่าไม่เห็นด้วย (إنكاري) กับความเชื่อเดิมนั้น ทั้งๆ ที่ความเชื่อเดิมที่ว่านี้ เป็นหลักการสำคัญของนิติธรรมอิสลามที่มิอาจปฏิเสธได้
นอกเหนือจากนั้นยังถือเป็นหลักความเชื่อ (عقيدة) ของฝ่ายอะหฺลิซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ อีกด้วย (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในหนังสือ อัลอะกีดะฮฺ อัฏฏ่อฮาวียะฮฺ อรรถาธิบายโดย อัลลามะฮฺ อิบนุ อบิลอิซฺ อัลฮะนะฟีย์ ตรวจทานโดยกลุ่มนักวิชาการและตรวจสอบสถานภาพหะดีษโดยมุฮัมหมัด นาซิรุดดีน อัลอัลบานีย์ สำนักพิมพ์อัลมักตับ อัลอิสลามีย์ พิมพ์ครั้งที่ 9 (ฮ.ศ.1408-ค.ศ.1988) หน้า 379, 380, 381)