ตกลงตามใครกันแน่
โดย อัล อัค
สนุกดีเหมือนกัน เวลาคุยกับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ด้วยการแกล้งแหย่กลับไป เวลาพวกเขาบอกว่า เขาตามเชคคนนั้น อุละมาอ์คนนี้ ซึ่งเป็นผู้รู้ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ...
อย่างเช่น เชคท่านหนึ่งที่มีหนังสือถูกแปลมาเป็นภาษาไทยเกินสิบไปแล้ว และมีเว็บไซต์ตอบคำถามที่โด่งดัง มีหลายคนบอกว่า เขาฟังฟัตวาของเชคท่านนี้เป็นหลัก
ผมก็เลยแกล้งตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วกรณีที่เชคท่านนี้ฟัตวาให้ออกอีด (ทั้งสองอีด) ตามองค์กรศาสนาของแต่ละประเทศ ทำไมไม่ตาม ... ทำไมเลือกตามเฉพาะทัศนะเรื่องห้ามถ่ายรูป เรื่องปิดหน้า เรื่องจำเป็นต้องมีมะหฺร็อม การห้ามดนตรี แต่ทำไมไม่ตามทัศนะอื่นๆ ในเรื่องการเขียนเรื่องแต่ง การแสดงละคร ...หรือเชครุ่นใหม่ในซาอุฯ อีกท่านหนึ่ง ที่บางคนอ้างทัศนะของท่านในการประท้วงได้ แต่ทัศนะของท่านต่อจุดยืนในการสนับสนุนฮิซบุลลอฮฺในสงครามเลบานอน กลับถูกตอบโต้อย่างรุนแรง
อย่าว่าผมกวนประสาทเลยนะ ผมก็ชอบคุยให้เขาคิดว่า “ตาม” ในความหมายของเขามันหมายถึงอะไรกันแน่จริงๆ แล้วผู้รู้คนอื่นๆ ก็สามารถตั้งคำถามแบบนี้ได้ทั้งนั้น อย่างคนที่นิยมใน เชคอุษัยมีน ถึงกับทำหน้างงเลย เมื่อผมบอกว่า ผมเคยอ่านพบว่า ท่านมีทัศนะว่าการปฏิบัติการพลีชีพนั่นเท่ากับการฆ่าตัวตาย ... คนที่นิยมชมชอบ เชคอัลบานีย์ ถึงกับย้อนถามผมทันที่ว่าจริงหรือ เมื่อผมบอกเรื่องเก่าๆ ว่า เชคอัลบานีย์ ตีความว่าผู้หญิงใส่ทองไม่ได้ ... คนที่เคยกล่าวว่า เชคก็อรฎอวีย์ สุดยอด ถึงกับอึ้ง เมื่อผมบอกว่า ท่านเปิดกว้างเรื่องดนตรีมาก มากกว่าทัศนะเรื่องดนตรีที่เราคุ้นเคย
แม้แต่อุละมาอ์ในอดีต อย่างผู้ที่ตามแนวทางของ
อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ และโจมตีศูฟีย์อย่างชนิดที่ว่าไม่มีศูฟีย์ดีในโลกเลย ผมเคยย้อนถามกลับว่า แล้วเหตุใด อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ จึงยกย่องศูฟีย์บางคน อย่าง
เชคอับดุลกอดีร ญีลานีย และเหตุใดถึงมีหนังสือเล่มหนึ่งในชุดฟัตวาของท่านชื่อว่า ตะเศาวุฟ ได้ … บรรยากาศก็มักตกอยู่ในความเงียบ
ผมไม่ได้กวนประสาทแน่นอน แต่ผมอยากให้คนรุ่นใหม่หัดคิด “คิดให้เสร็จ” ว่า คำว่า
ตามของเขานั้นมันคืออะไร มีกรอบแค่ไหน
และทำไมฟัตวาอันหนึ่งตามได้ อีกอันหนึ่งเขาไม่ตามไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า ผมเคยเจอคนที่ตามผู้รู้บางท่านที่กล่าวถึงเหล่านี้ในทุกประเด็นมาแล้ว อย่างตามผู้รู้บางท่านในซาอุฯ โดยเขาพยายามยืนหยัดตามในทุกประเด็น ไม่ถ่ายรูป ไม่ดูทีวี ไม่ไปงานเมาลิด ฯลฯ ... เหตุผลที่เขาตามทุกประเด็น เพราะเขา “เชื่อถือไว้ใจ” ในความรู้ที่ผู้รู้คนนั้นมี หรือพูดง่าย ๆ เขามองผู้รู้นั้นว่าเป็น “มุจญตะฮิด” หรือผู้มีความสามารถในการวินิจฉัยปัญหาศาสนาได้อย่างดี
ย้อนกลับมาดูคำอ้างของคนจำนวนมากที่ว่าตามผู้รู้คนนั้นคนนี้ แต่พอบางเรื่องไม่ตาม และก็ให้เหตุผลที่ไม่ได้มากไปกว่าการบอกว่า เราไม่ได้ตามคน เราตามอัลกุรอานและซุนนะฮฺเท่านั้น ... พูดเช่นนี้ต้องมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนนะครับว่า ผู้รู้ที่เราเลือกไม่ตามบางประเด็นนั้นเกิดช็อต “ไม่ตามอัลกุรอานและซุนนะฮฺ” ขึ้นมาดื้อๆสำหรับผมแล้ว การตอบเช่นนื้ถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนความจริง เพราะจริง ๆ แล้วเขาไม่กล่าวถึงความจริงที่ว่า เขามีผู้รู้ที่เขายินดีตามทุกประเด็นอยู่ ซึ่งเป็นผู้รู้ระดับท้องถิ่น เป็นผู้รู้ที่อยู่ตามสถาบันวิชาการ องค์กร หรือแม้แต่ในอินเตอร์เน็ต ... แต่ผมไม่อาจเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาไม่กล้าตัดสินใจบอกว่า เขาตามผู้รู้คนนั้นๆ ในทุกประเด็น แต่พยายามเบี่ยงไปบอกว่าเขาตามผู้รู้อินเตอร์เนชั่นแนลคนนั้น คนนี้ต่างหาก
นอกจากนี้ สำหรับผมคำตอบที่ใช้อ้างในการเลือกจะตามฟัตวาคนนั้น ไม่ตามคนนี้ โดยโยนไปที่ “ฉันตามซุนนะฮฺเท่านั้น” เป็นคำตอบที่บิดเบือนอย่างร้ายกาจ เพราะความจริงในโลกของนิติศาสตร์มีประเด็นจำนวนมากที่แตกต่างกันในการวินิจฉัย มันก็เกิดจากผู้รู้ที่ดีๆ ที่เรียกร้องให้ตามซุนนะฮฺทั้งนั้น ... เป็นไปได้ว่า ซุนนะฮฺหนึ่งอาจมีความหลากหลายทางทัศนะ คนที่ว่าตามซุนนะฮฺๆ นั้น ความจริงแล้วแค่อาจตามทัศนะหนึ่งๆ จากนักวิชาการคนหนึ่งที่มีต่อซุนนะฮฺเท่านั้นเอง
มีคนตั้งข้อสังเกตต่อว่า ตกลงคน (บางคน) ที่เรียกร้องให้ตามซุนนะฮฺ เอาเข้าจริงจะให้ตามซุนนะฮฺหรือให้ตาม (ทัศนะของ) มันกันแน่ !!!ผมไม่ปฏิเสธอีกเช่นกันมีบางคนกล้าสารภาพว่า เขาตามอาจารย์ระดับท้องถิ่นในบ้านเราคนนั้น คนนี้ มีบางคนบอกผมตรงๆ ว่า เขาไม่ไว้ใจโต๊ะครูคนไหนอีกแล้ว ยกเว้นผู้รู้ของเขาคนเดียว ทุกอย่างจบที่ผู้รู้ของเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น ... ตอนแรกที่ฟัง ผมคิดว่า คนนี้ไม่ค่อยเข้าท่า หรือชักจะเพี้ยนเสียแล้ว แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าคนนี้ใช้ได้ทีเดียว
ผมพูดด้วยใจจริงครับ ไม่ใช่ประชด เพราะตามหลักการแล้ว คนเอาวาม (ไม่มีความรู้ความชำนาญทางนิติศาสตร์เพียงพอ) เขาต้องตามมุจญตะฮิด (ผู้ที่เชี่ยวชาญนิติศาสตร์เพียงพอที่จะฟัตวาได้) ดังนั้น ถ้ามัซฮับทางฟิกฮฺ (สำนักนิติศาสตร์) หนึ่งๆ สามารถกล่าวเทียบได้ว่าเป็นชุดฟัตวาที่ถูกรวบรวมขึ้นจากมุจญตะฮิดในทิศทางหนึ่งๆ คนเอาวามก็ย่อมมีมัซฮับทุกคน นั่นคือมัซฮับของผู้รู้ท่านนั้นๆ นั่นเอง
เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกันต่อนิดนึงว่า ถ้าเขาสามารถตามผู้รู้คนหนึ่งทุกกระเบียดนิ้วได้ ก็ประหนึ่งดังเขาตามมัซฮับหนึ่ง แสดงว่าเขาได้ใช้ในแนวคิดเดียวกับคนที่ตามมัซฮับทั้งสี่ (ฮานาฟี มาลิกี ชาฟิอี ฮัมบะลี) แตกต่างแค่มัซฮับของเขานั้นไม่เรียกว่ามัซฮับแต่เป็นผู้รู้คนๆ หนึ่ง และแน่ละผู้รู้คนหนึ่งก็ย่อมแตกต่างในประเด็นต่างๆ กับมัซฮับทั้งสี่ หรือระหว่างผู้รู้ด้วยกัน ...
ว่าไปแล้วการตามของคนโดยทั่วไปก็เป็นแบบนี้แหละครับ ดังนั้น คนที่ตามผู้รู้คนหนึ่งไม่ควรไปโจมตีคนที่ถือมัซฮับต่างๆ เช่นที่เคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ตามมัซฮับของอีหม่ามต่างๆ ไม่ได้ ต้องตามมัซฮับของนบีฯ เท่านั้น (ตกลงซุนนะฮฺแปลงสภาพกลายเป็นมัซฮับทางฟิกฮฺของท่านนบีฯไปแล้วหรือ) ... เพราะความจริงทั้งสองฝ่ายก็ใช้แนวคิดการตามผู้รู้ในสูตรเดียวกัน เพียงแต่คนหนึ่งตามผู้รู้เอกชน อีกคนหนึ่งตามแนวของผู้รู้และคณะของผู้รู้แห่งประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “มัซฮับ”ไม่ได้ตั้งใจจะมาเรียกร้องให้คนมาตามมัซฮับ ผมก็มองมัซฮับเหมือนมองเห็นผู้รู้ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ท่านนบีฯ และผมคิดว่าคนที่ตามมัซฮับและคนที่ตามผู้รู้ปัจเจกบุคคลควรจะอยู่ร่วมกันได้ แต่ผมกำลังจะบอกความจริงว่า คนโดยทั่วไปที่ไม่ได้ชำนาญด้านนิติศาสตร์ก็มักจะตามนักนิติศาสตร์หรือสำนักนิติศาสตร์ที่เขาเชื่อถือ และไม่ได้เป็นเรื่องผิด ... ด้วยเหตุนี้ เมื่อผมทบทวนคำพูดของหลายคนที่บอกว่าตามผู้รู้คนนั้นคนนี้ทั้งหมด เขาย่อมไม่ผิด หากจะมองจากมุมมองนี้
แต่สิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับคนเอาวามก็คือ เขาเลือกตามสิ่งที่พอใจเท่านั้น ไม่ได้เลือกตามเพราะเชื่อถือผู้รู้ …นี่คงเป็นการเลือกตามของคนจำนวนหนึ่งที่ตอบคำถามไม่ได้ว่า การตามของเขาเป็นแบบไหนกัน ที่อันตรายยิ่งไปอีกก็คือ การคิดว่าการตามผู้รู้หรือการตามมัซฮับของตนเสมือนดั่งการตามอัลลอฮฺและเราะซูล ... ถ้าไม่เลือกตามอย่างฉัน ก็เท่ากับไม่ใช่ผู้เชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูล !!!หากว่าการตามของคนที่สังกัดมัซฮับกับสังกัดโต๊ะครูเอกชนมันวางอยู่บนสูตรเดียวกัน ซึ่งเป็นสูตรที่ใช้กันมาตลอดประวัติศาสตร์ ดังนั้น สูตรที่ใช้กำชับให้ทั้งสองฝ่ายระมัดระวังก็เหมือนกัน นั่นคือทั้งมัซฮับและโต๊ะครูต่างๆ เราเอาไว้ตามครับ ไม่ได้ไว้คลั่ง
.............................................................
หมายเหตุ- ผมกล่าวถึงมุจญะตะฮิดและคนเอาวาม แต่ผมไม่ได้กล่าวถึงคนที่อยู่ระหว่างช่องว่าตรงกลางที่สามารเรียนรู้หลักฐานได้ในบางประเด็น ซึ่งเขาสามารถเลือกได้ ผมคิดว่าคนที่อยู่ระดับนี้ก็มีไม่มากนัก คนในโลกนี้ยังคงเป็นคนเอาวามอยู่ดีนั่นแหละ
- คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผมไมได้กล่าวถึงคือคน “ญาฮิล” (คนเขลา) ซึ่งไม่ใช่คนเอาวาม เป็นประเภทที่อิสลามไม่ยอมรับ … แต่น่าเสียใจคนจำพวกนี้มีมากนัก
- ข้อเสนอที่ดีมากจากอุละมาอ์นักฟื้นฟู เชคยุซูฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ ต่อปัญหาเรื่องนี้คือพยายามเผยแผ่ “ความเข้าใจในความแตกต่างทางทัศนะ” ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพที่ถูกต้องของทัศนะต่างๆ
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=222&Itemid=1