หลักการเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านนบี(ซ.ล.)ไม่เคยกระทำ
ท่านชัยค์ อัลฆุมารีย์กล่าวว่า "การที่ท่านนบี(ซ.ล.)ละทิ้งการกระทำสิ่งหนึ่ง หรือบรรดาสะละฟุสซอและหฺละทิ้งไม่ได้กระทำมัน โดยไม่มีหะดิษ หรือคำกล่าวรายงานของซอฮาบะฮ์ มาระบุห้ามสิ่งที่ถูกทิ้งนั้น มันไม่ได้หมายถึงฮะรอมหรือมักโระฮ์ทำสิ่งนั้น " (ดู หุสนุด ตะฟะฮฺฮุม วัดดัรกฺ หน้า 12 ของท่าน ชัยค์ อัลฆุมารีย์ )
ดังนั้น การทิ้งการกระทำนี้ มีหลายประเภท อาธิ เช่น
1. ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ละทิ้งมันนั้น เพราะมีสิ่งที่มาหักห้ามตามอุปนิสัยตามธรรมชาติ หรือมีอุปนิสัยที่ไม่ชอบ เช่น ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ละทิ้งการกินเนื้อ ฏ๊อบ เมื่อมันได้ถูกนำมาให้แก่ท่าน ซึ่งในหะดิษนี้นั้น ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ถูกถามว่า "มันเป็นสิ่งที่ต้องห้ามหรือ ? ท่านนบี(ซ.ล.)ตอบว่า "ไม่หรอก" เพราะฉะนั้นเรื่องที่กล่าวมานี้ ชี้ให้เห็นว่า การละทิ้งการกระทำของท่านนบี(ซ.ล.)นั้น ไม่ถือว่า เป็นการหะรอมห้ามกระทำมัน
2. การที่ท่านนบี(ซ.ล.)ทิ้งหรือไม่ได้ทำนั้น เพราะเกิดจากการลืม เช่นการที่ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ลืมในละหมาด โดยท่านได้ละทิ้งสิ่งหนึ่ง ท่านจึงถูกถามว่า "มีสิ่งใดเกิดขึ้นในละหมาดหรือ?" ท่านนบี(ซ.ล.) จึงตอบว่า "ที่จริงแล้ว ฉันนั้นก็เป็นมนุษย์ ฉันลืมเหมือนกับที่พวกท่านลืม ดังนั้น เมื่อฉันลืม พวกท่านก็จงเตือนฉัน"
ดังนั้น เมื่อท่านนบี(ซ.ล.) ได้ละทิ้งสิ่งหนึ่งจากละหมาด พวกเขาก็ไม่คิดเลยว่ามันเป็นหุกุ่มใดหุกุ่มหนึ่ง แต่พวกเขากลับไปทบทวนถามกับท่านนบี(ซ.ล.) แล้วท่านนบี(ซ.ล.) ก็ตอบพวกเขา ด้วยคำตอบที่ชี้ให้เห็นว่า การทิ้งการกระทำของท่านนบี(ซ.ล.) ไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นหุกุ่มใด ๆ ขึ้นมา
3. การที่ท่านนบี(ซ.ล.) ได้ทิ้งการกระทำนั้น เพราะเกรงว่า จะเป็นฟัรดูภาระกิจจำเป็นแก่ประชาชาติของท่าน เช่นท่านได้ทิ้งละหมาดญะมาอะฮ์ ตะรอวิหฺ ในขณะที่บรรดาซอฮาบะฮ์ได้ทำการรวมตัวกันละหมาด เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นฟัรดูเหนือพวกเขา
4. การที่ท่านนบี(ซ.ล.)ทิ้งการกระทำ ก็เพราะเกรงถึงฟิตนะฮ์(ความวุ่นวายหรือทำให้ซอฮาบะฮ์บางคนที่พึ่งเข้าอิสลามใหม่ ๆ เกิดความรวนเรหรืออาจจะละทิ้งศาสนา)ที่อาจเกิดขึ้นได้ อาธิเช่น ท่านนบี(ซ.ล.)ละทิ้งการรื้นถอนบัยตุลลอฮ เพื่อนำมาสร้างไว้ที่ฐานเดิมของท่านนบีอิบรอฮีม(ซ.ล.) ตามที่ได้ระบุไว้ในซอฮิหฺบุคอรีย์และมุสลิม เพราะฉะนั้น การละทิ้งหรือไม่ได้กระทำสิ่งดังกล่าวนั้น เพื่อถนอมน้ำใจของบรรดาซอฮาบะฮ์บางคนที่เพิ่งเข้ารับอิสลามใหม่ ๆ
5. บางครั้ง ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ทิ้ง เนื่องจากสาเหตุเฉพาะตัวของท่าน เช่นท่านนบี(ซ.ล.) ทิ้งการรับประทานหัวหอม และสิ่งที่มีกลิ่นไม่ดี เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างความเดือดร้อนแก่มะลาอิกะฮ์ ในขณะที่รับวะหฺยุ โดยที่ไม่มีผู้ใดกล่าวว่า การรับประทานหัวหอมนั้น เป็นสิ่งที่หะรอม เพราะว่านบี(ซ.ล.)ได้ละทิ้งการรับประทานมัน
จากตัวอย่างที่เราได้กล่าวมานั้น เราจะเห็นว่า การที่ท่านนบีได้ละทิ้ง หรือ ไม่ได้กระทำสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ได้ชี้ถึงว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่หะรอม โดยจะนำมาแอบอ้างว่าสิ่งที่ท่านนบี(ซ.ล.) ไม่ได้กระทำนั้น คือสิ่งที่บิดอะฮ์ลุ่มหลงไปเสียทั้งหมด
ท่าน อบู อัลฟัฏลฺ อัลฆุมารีย์ กล่าวว่า " การละทิ้งการกระทำเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่มีหลักฐานมาระบุว่าสิ่งที่ถูกทิ้งนั้นหะรอม ย่อมไม่เป็นหลักฐานชี้ว่าสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่หะรอม แต่จุดมุ่งหมายนั้นก็คือ การที่ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ละทิ้งการกระทำดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่อนุญาติให้ละทิ้งการกระทำได้ และส่วนการที่ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ละทิ้งการกระทำ ที่เป็นสิ่งที่หะรอมนั้น ไม่ได้หมายถึงว่า เพราะท่านนบี(ซ.ล.)ได้ละทิ้งมัน แต่เป็นเพราะว่า มีหลักฐานมาระบุถึงการห้ามต่างหาก " ดู หุสนุด ตะฟะฮฺฮุม วัดดัรกฺ หน้า 15