بسم الله الرحمن الرحيم
الحمد لله رب العالمين و الصلاة والسلام على سيدنا محمد وعلي اله وصحبه أجمعين
การตีกลองและเครื่องเล่นดนตรีที่คล้าย ๆ กัน ย่อมเป็นสิ่งมุบาห์(อนุมัติ) การฟังเพลงที่มีเครื่องดนตรีขับร้องนั้น เป็นสิ่งที่มุบาห์ ตราบใดที่ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอารมณ์ (มีเนื้อหาที่ทำ)ให้หลงผิด เกี้ยวพาราสี ตลกทะลึ่ง พร้อมด้วยมีการดื่มสุราเมรัย มีการเต้นรำ และก่อให้เกิดการกระทำความชั่ว หรือนำเสียงเพลงไปเป็นสื่อให้กับสิ่งที่หะรอม ทำให้ตกอยู่ในสิ่งที่ถูกตำหนิต่าง ๆ หรือทำให้ละเลยจากภาระหน้าที่จำเป็น
สำหรับเสียงตีกลองหรือเสียงดนตรีที่เป็นสายนั้น เราไม่พบว่ามีหลักฐานมาอนุญาตและมาห้ามมันเลย ไม่ว่าจะเป็นหะดิษที่ซอฮิหฺหรือไม่ซอฮิหฺ ก็ไม่ได้ระบุไว้เลย และบรรดาผู้ที่กล่าวหะรอมที่ได้ทำการายงานในการห้ามนั้น ไม่ได้รับการยืนยันที่ซอฮิหฺจากท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เลย และบรรดาบุคคลยุคก่อนถือว่าอนุญาตให้ฟังเครื่องดนตรีได้ เนื่องจากไม่มีหลักการของศาสนามาระบุห้ามและระบุอนุญาตมัน เพราะหลักเดิมแล้ว สรรพสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องมะบาห์
ตามหลักนิติศาสตร์ ความว่า
الأصل فى الأشياء الإباحة حتى يدل الدليل على التحريم
"หลักเดิมในบรรดาสรรพสิ่งต่าง ๆ นั้น คือ อนุญาต จนกระทั่งมีหลักฐานหนึ่งมาระบุห้าม"
ท่านอิบนุ อัลก๊อยซะรอนีย์ ได้กล่าวไว้หนังสือ อัศศิมาอ์ หน้า 71 และหน้าหลังจากนั้น ว่า "บรรดาเครื่องเป่าและเครื่องละเล่นต่าง ๆ ได้มีหะดิษซอฮิหฺรายงานระบุว่า เป็นสิ่งที่อนุญาตได้สดับฟังได้ เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่อนุมัติโดยคำตรัสของ อัลเลาะฮ์ ตะอาลาม ความว่า
وإذا رأوا تجارة أو لهوا انفضوا إليها وتركوك قائما قل ما عند الله خير من اللهو ومن التجارة والله خير الرازقين
"และเมื่อพวกเขาได้เห็น(กองคาราวานที่ทำ) การค้าขาย หรือ สิ่งเพลิดเพลิน พวกเขาก็แยกตัวออก(จากเจ้ามุ่งหน้า)ไปยังมัน โดยปล่อยเจ้าให้ยืนอยู่ (เพียงลำพังบนมิมบัร กับคนที่เหลืออยู่ไม่กี่คน ขณะทำการกล่าวเทศนาประจำวันศุกร์) จงประกาศเถิด สิ่งที่มีอยู่ที่อัลเลาะฮ์ นั้น ย่อมดีกว่าสิ่งเพลิดเพลินและดีกว่าการค้าขาย และอัลเลาะฮ์ทรงประเสริฐที่สุดแห่งบรรดาผู้ให้โชคผล" อัลญู่มุอะฮ์ 11
การอธิบายดังกล่าว คือ หะดิษที่รายงานโดยท่านมุสลิม ในบท การละหมาดญุมอะฮ์ ซึ่งรายงานจากท่านญาบิร บิน สะมุเราะฮ์ ว่า
أن رسول الله صلى الله عليه وسلم كان يخطب قائما ثم يجلس ثم يقوم فيخطب قائما، فمن نبأك أنه كان يخطب جالسا فقد كذب، فقد والله صليت معه أكثر من ألفى صلاة
"แท้จริงท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการยืนคุฏบะฮ์(เทศนาในวันศุกร์) หลังจากนั้น ท่านก็นั่ง จากนั้น ท่านก็ทำการยืนคุฏบะฮ์ต่อไป ดังนั้น ผู้ใดที่บอกเล่าแก่ท่านว่า ท่านนบีทำการคุฏบะฮ์โดยการนั่งนั้น แท้จริง เขาย่อมโกหก ดังนั้น ฉันขอยืนยันว่า แท้จริง ฉันได้ทำการละหมาดพร้อมกับท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมากว่า 2000 ครั้ง"
รายงานจากท่านญาบิร บิน อับดิลลาฮ์ ความว่า
أنه كان يخطب قائما يوم الجمعة فجاءت عير من الشام، فأنفتل الناس إليها حتى لم يبق إلا اثنا عشر رجلا فأنزلت هذه الآية
"แท้จริง ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการยืนคุฏบะฮ์ในวันศุกร์ แล้วได้มีกองคาราวานจากเมืองชามเดินทางมา บรรดาผู้คนจึงแยกตัวออกไปยังมัน จนกระทั่งเหลือเพียงแค่ 12 คน ดังนั้น อายะฮ์นี้จึงถูกประทานลงมา"
ท่านอัฏฏ๊อบรีย์ ได้ทำการนำเสนอรายงานหะดิษนี้ จากท่านญาบิร ความว่า
أنهم كانوا إذا نكحوا تضرب لهم الجوارى بالمزامير فيشتد الناس إليهم ويدعون رسول الله صلى الله عليه وسلم قائما
"แท้จริง พวกเขาเหล่านั้น เมื่อได้มีงานแต่งงาน บรรดาทาสหญิงได้ทำการเล่นเครื่องดนตรีด้วยการเป่าปี่ให้พวกเขาฟัง บรรดาผู้คนจึงดูพวกเขาอย่างเนืองแน่น โดยปล่อยให้ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ยืนอยู่"
ดังนั้น อัลเลาะฮ์ทรงทำการตำหนิพวกเขาด้วยอายะฮ์นี้
ท่านอิบนุ อัลก๊อยซะรอนีย์ ได้กล่าวไว้หนังสือ อัศศิมาอ์ หน้า 72 ความว่า "อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ทรงกล่าวคำสัณธานเชื่อมโยงระหว่างคำว่า اللهو (สิ่งเพลิดเพลิน) ด้วยกับคำว่า التجارة (การค้าขาย) ดังนั้น ทั้งสองจึงอยู่ในหลักการเดียวกัน(คือมุบาห์) และโดยมติของปวงปราชญ์ระบุว่า การค้าขายเป็นสิ่งที่อนุมัติ(หะล้าล) จึงสามารถยืนยันได้ว่า ฮุกุ่มหะล้าล(อนุมัติ) นี้ เป็นสิ่งที่ศาสนาให้การยอมรับตามสภาพที่เคยเป็นอยู่ในสมัยญาฮิลียะฮ์ เพราะไม่สามารถตีความได้ว่า ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามมัน หลังจากนั้น ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เดินผ่านมันไปที่ประตูมัสยิดในวันศุกร์ จากนั้น อัลเลาะฮ์ทรงตำหนิผู้ที่ปล่อยให้ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยืนอยู่ และท่านนบีก็ออกไปดูและสดับฟัง โดยที่ไม่มีอายะฮ์ใดถูกประทานลงมาระบุห้าม และท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ไม่ได้กล่าวห้ามไว้ในซุนนะฮ์ใดเลย ดังนั้น เราจึงทราบได้ว่า สิ่งดังกล่าว ยังคงอยู่ในสถานะเดิมของมัน(คือมุบาห์) และสามารถเพิ่มความกระจ่างชัดในสิ่งดังกล่าว โดยหะดิษที่รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮา เกี่ยวกับเรื่อง ที่มีสตรีคนหนึ่งจากชาวอันซอร ได้ถูกส่งเจ้าสาวไปยังชายคนหนึ่งจากชาวอันซอร ดังนั้น ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า
أما كان معكن من لهو فإن الأنصار يعجبهم اللهو
"สำหรับเครื่องละเล่น(ดนตรี)ที่อยู่พร้อมกับพวกนางนั้น แท้จริง มันทำให้ประทับใจ(เพลิดเพลิน)กับชาวอันซอร"
หะดิษนี้รายงานโดย อัลบุคอรีย์ ดู หนังสือ ชัรห์ อุมดะตุลกอรีย์ อธิบายหนังสือ ซอฮิหฺ อัลบุคอรีย์ เล่ม 20 หน้า 146 ในบทเรื่อง อันนิกาห์
ท่านอัชเชากานีย์ ได้ทำการถ่ายทอดไว้ในหนังสือ นัยลุลเอาฏอร เล่ม 8 หน้า 104 - 105 ในบทที่ว่าด้วยเรื่อง หะดิษที่รายงานเกี่ยวกับ เครื่องเล่นดนตรี จากทัศนะต่าง ๆ ของผู้ที่กล่าวหะรอมและผู้ที่มีทัศนะว่าอนุญาต และได้นำหลักฐานทั้งสองฝ่ายมาเสนอ พร้อมทำการวิจารณ์หะดิษ ที่ว่า
كل لهو يلهو به المؤمن فهو باطل إلا ثلاثة ملاعبة الرجل أهله وتأديبه فرسه ورميه عن قوسه
"ทุก ๆ ความเพลิดเพลินที่ทำให้ผู้ศรัทธาเพลิดเพลินนั้น เป็นสิ่งที่โมฆะ เนื่องจาก 3 อย่าง คือ สามีได้หยอกล้อกับครอบครัวของเขา ทำการฝึกม้า และยิงธนู"
ท่านอัชเชากานีย์ ได้อ้างอิงคำชี้แจงของอิมามอัลฆอซาลีย์ ที่ว่า "
เราขอกล่าวว่า คำกล่าวของท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า "มันเป็นสิ่งที่โมฆะ" ไม่ได้ชี้ถึงการห้าม(ห้าม) แต่ชี้ถึงว่า มันเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์" หลังจากนั้นท่านอัชเชากานีย์กล่าวว่า "มันเป็นคำตอบที่ถูกต้อง" เพราะสิ่งที่ไม่มีประโยชน์นั้น เป็นประเภทหนึ่งจากสิ่งที่มุบาห์
และได้ถูกถ่ายทอดจากท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาซอฮาบะฮ์มากมาย ว่า พวกเขาเหล่านั้นได้ทำการฟังและปรากฏตัวอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงขับร้องโดยปราศจากความ หยาบทะลึ่ง และสิ่งที่หะรอม และมีนักปราชญ์ฟิกห์มากมายที่มีทัศนะเช่นดังกล่าวนี้ ดังนั้น การฟัตวาจึงสรุปไว้ว่า "
การฟังเครื่องเล่นดนตรีต่าง ๆ หรือเสียงขับร้องต่าง ๆ ไม่สามารถกล่าวได้ว่า มันเป็นสิ่งที่หะรอมโดยพิจารณาถึงเสียงของเครื่องเล่นดนตรี แต่ทว่ามันเป็นสิ่งหะรอมเมื่อมันเป็นส่วนร่วมในการส่งเสริมสิ่งที่หะรอมหรือทำมันเป็นสื่อไปยังการกระทำที่หะรอมหรือทำให้ละเลยเพิกเฉยจากภาระหน้าที่จำเป็น(คือสิ่งที่เป็นวายิบ)"
والله أعلى وأعلم
คัดสรุปจาก
สถาบันฟัตวาแห่งประเทศอียิปต์