ไทยมุสลิมเชื้อสายมะลายู ยุครัตน์โกสินทร์ จะขอกล่าวถึงบรรพชนมุสลิมเชื้อสายมะลายู ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มจากสมัยปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา เริ่มต้นคงจะต้องย้อนรอยไปถึงปี พ.ศ. 2310 ที่ไทยเราเสียกรุงครั้งที่ 2 จากการทำลายเมืองศรีอยุธยา โดยกองทัพของพม่าในช่วงนั้นจนถึงยุคกรุงธนบุรีอีก 15 ปี
คือระหว่างปี พ . ศ . 2310 - 2325 ประเทศไทย อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศ อาณาเขตแว่นแคว้นทั้งหลายแตกกระจัดกระจาย ยังไม่รวมกันเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น
เหมือนเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในยุคนั้นหัวเมืองทางตอนใต้หลายเมืองเช่นเมืองปัตตานีและเมืองประเทศราชในแหลมมะลายูต่างตั้งตนเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นต่อกรุงธนบุรี
จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีเริ่มปี พ.ศ. 2325 ต่อมาในปี พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 1 ได้ส่งพระอนุชาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ)
เป็นทัพหลวงมีพระยาราชบังสัน (แม้น) ขุนนางมุสลิมเชื้อสายสุลต่านสุไลมานชาห์ ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นแม่ทัพหน้า สมทบด้วยเจ้าพระยานคร แห่งเมืองนครศรี ธรรมราช
และเจ้าบุญหุ้ย เจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้น ได้ร่วมกันยกตราทัพไปตีเมืองปัตตานี เพื่อให้สวามีภักดิ์กับราชอาณาจักรไทย (สยามประเทศ) ในการปราบปรามครั้งนั้นเจ้าเมืองปัตตานีขัดขืนไม่ยอม
เป็นเมืองขึ้นดังแต่ก่อน จึงจำเป็นต้องมีการสู้รบกันขึ้น เมืองปัตตานีในสมัยนั้นตั้งอยู่ที่กัวลาปัตตานี (ปากอ่าวลุ่มน้ำปัตตานี ) ขณะนี้อยู่ในท้องที่ตำบลบานา อ. เมือง จังหวัดปัตตานี
มีคำบอกเล่าจากคนรุ่นบรรพชนยุคก่อนเล่ากันมาว่าชัยภูมิของเมืองปัตตานีนั้น มีปราการคือกำแพงเมืองโดยรอบเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนนอกกำแพงเมืองมีต้นไผ่ปลูกล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ยากแก่การที่ทหารจากพระนครและทหารจากเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลาจะจู่โจมเข้าตีโดยง่าย
ในครั้งนั้นเจ้าบุญหุ้ยเจ้าเมืองสงขลาได้แนะนำสมเด็จพระเจ้าเสือ (สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1) ซึ่งเป็นแม่ทัพหลวงจากกรุงเทพว่าให้ยิงกระสุนปืนใหญ่
ซึ่งเป็นกระสุนเหล็กพร้อมเงินเหรียญกษาปณ์ (เงิน พดด้วง) ซึ่งทำจากเงินบริสุทธิ์ ให้ตกลงในกอไผ่รอบกำแพงเมืองปัตตานีในทุกๆ ด้าน หลังจากกองทัพจากกรุงเทพดำเนินการตามแผนแล้ว
กองทหารจากกรุงเทพและคณะทั้งหมดได้ทำทียกทัพกลับ โดยได้ถอยทัพมาตั้งอยู่ที่บ้าน “หน้าทัพ” เมืองเทพา ในเขตเมืองสงขลาระยะเวลาหนึ่ง ฝ่ายทหารเมืองปัตตานีที่ถืออาวุธรักษาป้อมปราการเมือง
เข้าใจผิดคิดว่าทหารกรุงเทพกับคณะเลิกทัพกลับหมดแล้วประกอบกับมีความโลภอยากได้เงินตรา (เงินพดด้วง) ที่ตกหล่นอยู่ในป่าไผ่ จึงได้พร้อมใจกันต่างลงจากหอกำแพงเมือง ทำการถากถางไผ่จนหมดสิ้น
เพื่อเก็บเงินพดด้วงเป็นรายได้ส่วนตน ในที่สุดป่าไผ่รอบกำแพงเมืองปัตตานีเหี้ยนเตียนหมดสิ้น กองทัพไทยได้ยกทัพกลับไปปัตตานีอีกครั้ง
คราวนี้ไม่มีปราการขวางกั้นดำเนินการได้โดยสะดวกสามารถยกกองกำลังเข้าตียึดเมืองปัตตานีได้ ได้นำปืนใหญ่ของเมืองปัตตานีลงเรือมากรุงเทพ 2 กระบอก พร้อมด้วยกวาดต้อนขุนนาง
และครอบครัวมืองปัตตานีลงเรือมาด้วย บางส่วนก็ได้ไล่กวาดต้อนเดินเท้ากลับมากรุงเทพ บ้างก็เล่าว่ามีการร้อยหวายเกรงกลัวว่าเชลยเหล่านั้นจะหลบหนี มีการเล่าว่าปืนปัตตานีกระบอกตัวผู้ได้พลัดตก
จากเรือจมหายไปในทะเล เหลือแต่กระบอกตัวเมียเพียงกระบอกเดียวที่ถูกนำเข้ามาถึงกรุงเทพ (ปัจจุบันปืนใหญ่นางพญาตานี ตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม )
สำหรับเหล่าขุนนาง ข้าราชบริพาร
ของปัตตานีนั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ในเขตพระนครชั้นใน คือ
ที่บ้านตึกดิน (ถนนราชดำเนินกลางในปัจจุบัน)
บ้านบางลำพู (ถนนจักรพงษ์) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3
ลูกหลานคนกลุ่มนี้ได้ขยายถิ่นฐานไปอยู่ที่
ริมคลองมหานาค (มัสยิดมหานาคปัจจุบัน) ชุมชนย่านมัสยิดบ้านตึกดินและชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ บางลำพู (ไม่ใช่บางลำภูอย่างที่มีคนเขียนผิดๆ กันอยู่มากเพราะ
“ลำพู” เป็นชื่อไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ริมน้ำในบริเวณป่าชายเลนมีลักษณะปลายแหลม สมัยก่อนนำมาใช้ประโยชน์เป็นจุกอุดปากขวด) และชุมชนมัสยิดมหานาค อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นพวกผู้ดีเก่า
มาจากขุนนางในเมืองปัตตานีเดิม ชุมชนเหล่านี้จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และรสนิยมในการดำรงชีวิตแตกต่างไปจากกลุ่มมุสลิม ลูกหลานชาวปัตตานี ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร
ซึ่งมีอยู่มากมายในเขตกรุงเทพมหานคร รอบนอกและจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร อย่างเห็นได้ชัดเจน (เหตุการณ์ในอดีตและที่หลงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน)

ปืนใหญ่ พระยาตานี
สำหรับทางเมืองปัตตานีนั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดให้ผู้มีเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีคนเดิม เป็นเจ้าเมืองปกครองดูแลต่อไป แต่ให้เปลี่ยนอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเมืองสงขลาอีกชั้นหนึ่ง
หลังจากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2334 เจ้าเมืองปัตตานี ได้ก่อการแข็งเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทำการปราบปรามลงอย่างราบคาบและได้กวาดต้อนฃ
พลเมืองออกจากปัตตานีขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อนำขึ้นมาอยู่ในกรุงเทพในระหว่างทางได้มีราษฎรบางส่วนหลบหนีอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชบ้าง สุราษฎร์ธานีบ้างและบางส่วนก็หลบหนีอยู่ที่แถวท่าแร้งบ้านแหลม
เมืองเพชรบุรีก็มี ในส่วนที่เหลือมาถึงภาคกลางได้ถูกปล่อยให้อยู่อาศัยหลายแห่งตั้งแต่
ปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ทุ่งครุ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา สวนพลู ฝั่งธนบุรี และบางส่วน
ก็ได้นำมาปล่อยไว้ในที่ราบลุ่มนอกพระนครฝั่งตะวันออกละแวก
“คลองแสนแสบ” เป็นต้น
ภาพเหตุการณ์ตอนศึกปัตตานี
เหตุการณ์ครั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 จึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์แข็งเมืองขึ้นอีกจึงได้หาทางป้องกันโดยมีพระราชดำริจะแบ่งเมืองปัตตานี ออกเป็นหัวเมืองย่อยๆ ในราว พ.ศ. 2351
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง บังเกิดผลสำคัญกล่าวคือ คำนึงว่าเมืองใดคนไทยนับถือพุทธศาสนามาก ก็ให้คนไทยพุทธเป็นพระยาเมือง เมืองใดมีคนไทยมุสลิมอาศัยอยู่มาก
ก็ให้คนไทยมุสลิม เป็นพระยาเมืองเพื่อให้เป็นไปตามรัฐประศาสโนบาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามไปเป็นผู้แบ่งเมืองปัตตานี ออกเป็น 7 หัวเมือง ดังนี้คือ
1. เมืองปัตตานี ให้ต่วนสุหลง เป็นพระยาเมือง
2. เมืองหนองจิก ให้ต่วนนิ เป็นพระยาเมือง
3. เมืองยะลา ให้ต่วนยาโล เป็นพระยาเมือง
4. มืองรามันห์ ให้ต่วนมันโซร์ เป็นพระยาเมือง
5. เมืองระแงะ ให้นิโต๊ะ เป็นพระยาเมือง
6. เมืองสายบุรี ให้นิเดะ เป็นพระยาเมือง
7. เมืองยะหริ่ง ( ยามู ) ให้พระยาปัตตานี (พ่าย) เป็นพระยาเมือง และ เปลี่ยนชื่อ เรียกว่า “พระยะหริ่ง”
ในครั้งหน้าจะได้นำเสนอถึงการอพยพมุสลิมเชื้อสายมลายู เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการต่อไป