คำแถลงการณ์ของคณะกรรมการคัดสรร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547
จากบทความโดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล
ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2547
อินนาลิลลา ฮิวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน "แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราต้องกลับไปสู่พระองค์"
(อัล-กุรอาน บทที่ 2 วรรค 156)
มารุต วัชระพิสุทธิ์ หรือยาซีน เอส เอ็ม มูตู อิหม่ามมัสยิดฮารูณ หยุดชีวิตของเขาไว้ที่เช้าวันอาทิตย์ (18)ในอ้อมกอดของพระเจ้า
ร่างสูงใหญ่ที่เคยก้าวเดินด้วยความหนักแน่น มั่นคง เพื่อทำหน้าที่ปาฐกถาธรรม ระหว่างนมาซวันศุกร์ ณ มัสยิดฮารูณ บางรัก ยาวนานนับสิบปี ไม่เคยขาด ไม่เคยหาย ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันพัก บัดนี้ ถึงเวลาพักชั่วนิรันดร์ รอวันฟื้นขึ้นในวันตัดสิน
"ทุกๆ ชีวิตเป็นผู้ลิ้มรสความตาย และสูเจ้าจะถูกตอบแทนรางวัลของสูเจ้าในวันฟื้นขึ้น (วันแห่งการพิพากษา) เท่านั้น"
(อัล-กุรอาน บทที่ 3 วรรค 184)
ยาซีน เอส เอ็ม มูตู เป็นภาพสะท้อนบุคลิกภาพแบบอิสลาม ที่มีศรัทธามั่นในศาสนา คล้ายนักบวช แต่มิใช่นักบวช คล้ายนักบริหารที่มีต้นทุน-กำไร เป็นเป้าหมายชีวิต แต่มิใช่
ในทางธุรกิจ ยาซีน เอส เอ็ม มูตู เคยเป็นผู้บริหารการตลาด บริษัทตราแม่ครัว ไทยโมเดิร์นพลาสติค อินดัสทรี
ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาบุคคล บริษัทศรีกรุงวัฒนา ผู้จัดการส่งเสริมการขาย บริษัทเฟดเดอร์มาร์เก็ตติ้ง
ที่ปรึกษาอาวุโส ยูเอฟเอ็ม ฟู้ดเซ็นเตอร์ ที่ปรึกษาอาวุโส การฝึกอบรม บริษัทไทยประกันชีวิต อาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ รวมทั้งบทบาทในทางวิชาการ ประธานบริษัท สมาร์ท เบรน ยาซีนพัฒนาการตลาด อาจารย์พิเศษหลักสูตร
มินิ เอ็มบีเอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ผลิตวิชาชุดบริหาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิทยากรรับเชิญบรรยายวิชาการขาย บริหารการขาย จิตวิทยาการทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน
แต่บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของเขา กลับเป็นบทบาทผู้นำทางความคิดทั้งในฐานะอิหม่าม และผู้แสดงปาฐกถาธรรม
ประจำมัสยิดฮารูณ มัสยิดกลางกรุง ที่มีการแสดงธรรมถึง 3 ภาษา ในวันศุกร์ไทยอาหรับ และอังกฤษในขณะที่มัสยิดแห่งนี้มีอาคันตุกะจากต่างแดนทั้งในโลกตะวันตกและโลกอาหรับมาเยือนและ
ร่วมในพิธีกรรมนมาซวันศุกร์ไม่เคยขาด
อิหม่ามยาซีน เป็นผู้แสดงธรรมที่ทรงอิทธิพลในฐานะที่สามารถเชื่อมโยงโลกยุคใหม่ให้เข้ากับคำสอนในอิสลามได้อย่างเห็นภาพ ในขณะที่ผู้แสดงธรรมคนอื่นๆ อาจมิได้ปรับคำสอนให้ทำหน้าที่อธิบายความเป็นไปของสังคมโลกมากนัก
เมื่อซัลมาน รุชดี เขียน Satanic Verses สั่นคลอนความเชื่ออิสลามไปทั่วโลก เสียงจากฮารูณก็ดังก้องขึ้น ระหว่างปาฐกถาธรรม ก่อนนมาซวันศุกร์
"บัญญัติที่มาจากไซตอน (ซาตาน) เกิดขึ้นเมื่อราวปีที่ 2-3 ของการประกาศสัจธรรมของท่านนบีมูฮัมหมัด กล่าวคือ เมื่อท่านนบีได้นำสัจธรรมออกเผยแพร่ก็ปรากฏว่าได้รับการต่อต้านอย่างมากมาย ทั้งนี้เกิดจากการยุยงและยุแหย่จากระดับหัวหน้า เช่น อบูซุฟยาน หัวหน้าเผ่าบนูอูมัยยะ อบูยะฮัลแห่งบนูมักซูม อบูละฮับและอุมย์ยะมิล ต่างก็ได้แสดงการต่อต้านและยุยงพลพรรคของตนให้เป็นศัตรูกับท่านศาสดาของอัลลอฮ์อย่างออกหน้าออกตา แต่ท่านนบีก็มิได้ย่อท้อ ยังคงดำเนินตามบัญชาของอัลลอฮ์ต่อไป และได้สาวกเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ..."
(คุตบะห์ - การแสดงปาฐกถาธรรม มัสยิดฮารูณ ศุกร์ 17 มีนาคม 2532)
และเมื่อมีประเด็นโต้แย้งในเรื่องการแต่งกายแบบอิสลาม ระหว่างความเรียบง่าย และหรูหรา สิ่งที่อิหม่ามยาซีน เตือนสติ คือ
"...ของที่เป็นวัตถุนั้น เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่เป็นวัตถุเท่านั้น ที่สำคัญก็คืออย่าปล่อยให้วิญญาณหลงใหลไปกับความสะดวกสบายทางวัตถุ จนลืมแหล่งกำเนิดของตน การรู้จักแยกจิตใจออกจากวัตถุได้ จะเป็นผู้ที่สามารถใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองทั้งโลกนี้และโลกอาคิเราะห์ (โลกแห่งการพิพากษา) แต่สติปัญญาของมนุษย์นั้นไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยสิ่งถูกและผิดได้แม่นยำนัก เพราะมนุษย์แต่ละคนมีค่านิยมที่คอยเข้าข้างตนเองอย ู่"(คุตบะห์วันศุกร์ 28 กรกฎาคม 2532)
โลกและธรรมถูกหลอมรวมอยู่ในโลกใบเดียวกัน โลกและธรรมก็หลอมรวมอยู่ในคนๆ เดียวกัน
อิหม่ามยาซีน เอส เอ็ม มูตู
ปราชญ์แห่งฮารูณ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก
http://haroonmosque.org/head_top.html?s=g255haroon65c08eadr8808da4atdrd1504&act=09