بسم الله الرحمن الرحيم
1. หากกล่าวถึงการเล่าเรียน ผู้คนทั่วไปจะตั้งคำถามว่า เรียนจบแล้วกลับมาทำอะไร? สามารถนำวิชาความรู้มาประกอบอาชีพเพื่อยกระดับตนเองได้หรือเปล่า? ค่านิยมของมุสลิมส่วนมากในสังคมไทยไปเกี่ยวกับการศึกษาวิชาการศาสนา หมายถึงจบกลับมาต้องมาสอนศาสนา หรือทำงานเกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น วุฒิการศึกษาที่จบมา ไม่สามารถนำมาสมัครงานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่อย เนื่องจากปริญญาบัตรทางวิชาการศาสนาไม่ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องนำไปเทียบหลักสูตรตามจุดประสงค์ที่ทางการกำหนดไว้ ซึ่งแตกต่างกับประเทศมาเลเซีย พวกเขาให้การยอมรับวุฒิการศึกษาวิชาการศาสนา อย่างเช่นจาก มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร อันทรงเกียตริ เป็นต้น แม้ประเทศไทยจะให้การรับรองวุฒิการศึกษาของ มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ก็ตาม แต่ทว่ายังอยู่ในระดับรองจากวุฒิการศึกษาทั่วไปในสถานบันต่าง ๆ ของเมืองไทย นั่นก็คงเป็นเพราะว่า มีวิชาการศาสนาอิสลามมากเกินไปไม่ตรงกับหลักสูตรที่ทางการได้กำหนดไว้
ความจริงวิทยาการต่าง ๆ ของอิสลาม ครอบคลุมถึงทางโลกและทางธรรมโดยไม่แบ่งแยก นิติศาสตร์อิสลามประกอบด้วยหมวดวิชาภาคปฏิบัติศาสนกิจกับภาคธุรกิจ (มุอามะลาต) มีเรื่องการค้าขาย การเช่า การจำนำ หุ้นส่วน การร่วมหุ้นลงทุน การกู้ และอื่น ๆ ซึ่งวิทยาการเหล่านี้ อิสลามได้เคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วมาในอดีตจนถึงสเปน ในช่วงยุคสมัยนั้น ชาวยุโรปนิยมให้บุตรหลานของตนทำการเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ ของนิติศาสตร์อิสลาม หลังจากนั้นพวกเขาได้นำวิชาการต่าง ๆ เหล่านี้ ไปพัฒนาประเทศของตน คัดสรรส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับตนเองมากที่สุด เราจะพบว่ากฏหมายต่าง ๆ ของพวกเขาตรงกับคล้าย ๆ อิสลาม แต่เมื่อประชาชาติอิสลามอ่อนแอ ยุโรปกลับอ้างว่าหลักนิติศาสตร์เหล่านั้น ตนเป็นคนคิดมันขึ้นมา จัดระดับความแตกต่างให้เกิดขึ้นระหว่างนิติศาสตร์อิสลามกับนิติศาสตร์สากล แบ่งแยกวิชาการทางโลกออกจากวิชาการของศาสนา
แต่อิสลามได้รวมไว้ซึ่งการศึกษาทางโลกและทางศาสนา การประกอบธุระกิจต้องควบคู่กับคุณธรรม มิใช่นำกฏหมายมาเป็นสื่อเพื่อละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยใช้ช่องโว่ทางกฏหมาย ดังนั้น เป้าหมายของการศึกษาอิสลาม คือการทำให้บรรลุถึงผลประโยชน์โดยรวมทั้งในโลกนี้และโลกหน้า สร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์(ซ.บ.) และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่บรรดาปวงบ่าวของพระองค์
2. แท้จริงแล้ว ในองค์วิชาความรู้นั้น ย่อมมีประโยชน์เสมอ อีกทั้งยังได้รับความปรารถนาในทุกสภาวการณ์ หากแม้นความสำคัญของวิชาความรู้จะลดหลั่นกันไปตามลักษณะของความรู้ที่แตกต่างกัน ความรู้ ณ ที่นี้ นักปราชญ์ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือความรู้ที่เป็นฟัรดูอีน ซึ่งเป็นความรู้ที่พระองค์ทรงบัญญัติแก่มนุษย์ทุกคน และความรู้ที่เป็นฟัรดูกิฟายะฮ์ ซึ่งเป็นความรู้ที่พระองค์ทรงมุ่งเน้นแก่ผู้ที่มีความสามารถในการสนองความต้องการของคนอื่น ๆ ได้ ดู รายละเอียดเพิ่มเติม จากหนังสือ เอี๊ยะหฺยาอฺ อุลูมิดดีน ของท่านอิมาม อัลฆอซาลีย์ เล่ม 1 หน้า 12
บางครั้งท่านอาจจะกล่าวว่า ?ความรู้นั้น มีทั้งสิ่งที่ถูกห้ามนำมาศึกษาและนำมาปฏิบัติ เช่น โหราศาสตร์ และไสยศาสตร์ เป็นต้น? คำตอบก็คือ ความจริงแล้ว ในแก่นแท้ของไสยศาสตร์ ไม่ถือว่าเป็นวิชาหรือศาสตร์ตามทัศนะของอิสลาม เพราะนอกเหนือจากการที่มันเป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนและก่อให้เกิดโทษแล้ว มันยังเป็นความมุสาและงมงาย และโหราศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ตามที่อิมามอัลฆอซาลีย์ ได้กล่าวไว้
หากพิจารณาถึงความรู้ในแง่ของความเลื่อมล้ำ โดยคำนึงถึงความต้องการที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น ท่านจะพบว่า วิชาการทางโลก เช่น แพทย์ศาสตร์ วิศวะ และวิชาเกี่ยวกับอุตสาหะกรรม เป็นต้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าวิชาการศาสนาบางส่วนตามมาตรฐานของศาสนา ดังกล่าวเช่น ในเมือง ๆ หนึ่ง มีผู้คนมากมายที่มีความชำนาญในวิชาการศาสนา แต่ไม่มีจำนวนที่เพียงพอ จากผู้มีความชำนาญในด้านวิชาการทางโลก
ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า ?วิชาการศาสนา? ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของวิชาการที่เฉพาะเจาะจงในตัวของมัน เพราะบางครั้ง วิชาการทางโลกที่พวกกาเฟรหรือพวกปฏิเสธมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่านั้น ซึ่งในบางสภาวการณ์มันอาจจะผนวกเข้าไปร่วมอยู่ในวิชาการของศาสนา คือ เป็นวิชาการที่อัลเลาะฮ์(ซ.บ.)ทรงบัญญัติใช้ให้บ่าวของพระองค์ทำการศึกษา และบางครั้งวิชาการหนึ่งที่ดูอย่างผิวเผินแล้ว เป็นวิชาการทางศาสนา แต่มีสาเหตุหนึ่งที่มาทำให้มันเข้าไปอยู่ในประเภทของวิชาการของดุนยา
ผู้ที่มีเป้าหมายในการศึกษาหรือสั่งสอนวิชาความรู้โดยสอดคล้องกับมาตรฐานและทางนำของศาสนา แน่นอน ความรู้ที่คำนึงถึงเจตนาเช่นนี้ ย่อมเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ และสำหรับบุคคลที่มีเป้าหมายขัดแย้งกับมาตรฐานและทางนำของศาสนา แน่นอน ความรู้ที่คำนึงถึงเป้าหมายเช่นนี้ ย่อมเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น มาตรฐานของศาสนาเกี่ยวกับกรณีนี้ ไม่ได้พิจารณาให้เป็นอื่น นอกจาก เป็นวิชาความรู้ที่ทำให้บ่าวมีความใกล้ชิดในการรู้จัก(มะริฟัต)ต่ออัลเลาะฮ์(ซ.บ.) และทำให้เขาเพิ่มพูนความเคร่งครัดในทางนำของพระองค์ หรือเป็นวิชาความรู้ที่มาปิดกั้นตัวเขาจากการรู้จัก(มะริฟัต)ต่ออัลเลาะฮ์ และทำให้เขาห่างไกลจากทางนำ
แท้จริง ผู้ใดที่รู้จัก(มะริฟัต)ต่ออัลเลาะฮ์(ซ.บ.)นั้น เขาจะรัก ให้เกียรติ และดำรงอยู่บนทางนำของพระองค์ หลังจากนั้น เขาได้มุ่งศึกษาวิทยาการสาขาใดก็ตามที่มีลักษณะวิชาการทางโลกดุนยา เช่น การแพทย์ศาสตร์ วิศวะกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกซ์ เคมี และดาราศาสตร์ เป็นต้น แล้วเขาก็ทำการศึกษา สั่งสอนและฝึกฝนแล้ว แน่นอน วิทยาการทางโลกเหล่านั้น ย่อมเป็นปัจจัยที่มาเพิ่มพูนให้เขารู้จัก(มะริฟัต)ต่ออัลเลาะฮ์และให้เกียรติในความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และเขาก็ไม่ได้นำวิทยาการต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้ นอกจาก เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ชาติ ดังนั้น เขาช่างมีความรู้ที่เป็นคุณประโยชน์เสียจริง ๆ ! อีกทั้งยังสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์(ซ.บ.) และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่บรรดาปวงบ่าวของพระองค์อีกด้วย
ดังนั้น ความรู้ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือความรู้ที่มีประโยชน์และความรู้ที่เป็นโทษ โดยคำนึงถึงสถานะภาพและเป้าหมายของผู้แสวงหา และในสิ่งดังกล่าว ย่อมไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความรู้ ที่ถูกเรียกว่า ความรู้ทางโลกและความรู้ทางศาสนา
3. คุณค่าของความรู้ คือการศึกษาโดยนำความรู้นั้นกลับไปหาอัลเลาะฮ์ ตะอาลา จนกระทั่งเขามีความเกรงกลัวต่อพระองค์ ผมอยากนำเสนอฮิกัมของท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับ "วิชาความรู้" ตามหลักการของอิสลามได้ดีเลยทีเดียว โปรดอ่านดังนี้ครับ
ความรู้ที่ดีเลิศ คือความรู้ที่มีความพร้อมกับความเกรงกลัวความรู้นั้น หากอยู่พร้อมกับความเกรงกลัว ย่อมเป็นผลดีสำหรับท่าน และหากไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นโทษแก่ท่านوالله أعلى وأعلم