بسم الله الرحمن الرحيم
ท่านอิมามอิบนุอะฏออิลและฮ์ กล่าวว่า
تَنَوعَتْ أَجْنَاسُ الأَعْمَال بتَنَوع وَاردات الأَحْوَال
“บรรดาของชนิดอะมัลที่มีหลากประเภท ก็ด้วยเหตุความหลากหลายของสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ”
คำว่า الأحوال “อัลอะห์วาล” เป็นพหูพจน์ของคำว่า الحال “อัลฮ้าล” คือสภาพการณ์หรือสภาวการณ์ของจิตใจที่ผ่านเข้ามาที่มนุษย์ จากนั้นมันก็ผ่านไปโดยมิได้มั่งคงอยู่ที่ตัวเขา
สภาวการณ์ของจิตใจ ตามทัศนะของอุลามาอ์ตะเซาวุฟ หมายถึง บรรดาความรู้สึกภายในจิตใจที่มันผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไปโดยมิได้มั่นคงอยู่ที่ตัวเขา อันเป็นผลมาจากความรู้และมีการพิจารณาใคร่ครวญคุณลักษณะ(ซีฟาต)และพระนามบางส่วนของอัลเลาะฮ์ อันเนื่องมาจากจิตใจได้รับอิทธิพลจากคุณลักษณะ (ซีฟาต) เหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันเขาให้ปฏิบัติอะมัลที่เหมาะสมแก่ตัวเขา และผลของอิทธิพลดังกล่าวก็จะมาควบคุมจิตใจของเขา เช่น ผลของสภาวะจิตใจหนึ่งที่ได้ผ่านเข้ามาที่มีบุคคลหนึ่งซึ่งเขาได้เคยห่างไกลจากคำสั่งใช้ของอัลเลาะฮ์และจมปลักอยู่กับสิ่งที่ฮะรอม หลังจากนั้นสภาวการณ์ดังกล่าวได้ผ่านพ้นเขาไป แล้วอัลเลาะฮ์ก็ทรงให้เขาได้รับความเพิ่มพูน ความเกรงกลัวในการลงโทษของอัลเลาะฮ์ และจิตใจมีความเจ็บปวดจากการหวนรำลึกถึงอดีตที่เขาได้เคยละเมิดต่อพระองค์
จึงขอยกตัวอย่างบุคคลที่มีคุณธรรมบางส่วน ที่คุณลักษณะความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการปฏิบัติดีต่อผู้อื่น และการอภัย ได้มามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเขาและคุณลักษณะทั้งหมดนี้ เป็นคุณลักษณะที่เป็นผลอันได้รับมาจากพระนามอันวิจิตบางส่วนของอัลเลาะฮ์ตะอาลา เช่น พระองค์ผู้มีนามว่าอัรเราะห์มาน (ผู้ทรงเมตตายิ่ง) มีนามว่าอัลกะรีม (ผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่ง) และอัลฆ่อฟูร (ผู้ทรงอภัยยิ่ง) ดังนั้นภารกิจทางศาสนาใด ๆ ที่เขาได้กระทำก็จะมีความงดงามที่ขึ้นอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงที่มาจากความหวังในอัลเลาะฮ์ตะอาลา
ดังนั้น สภาวะจิตใจเช่นนี้ เขาเรียกว่า الأحوال (อัลอะห์วาล) เพราะมันจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีสภาวะจิตใจเช่นนี้ แล้วสภาวะจิตใจก็คงอยู่ แล้วมันก็ผ่านพ้นไป หลังจากนั้นมันก็หวนกลับมาอีก ซึ่งมันไม่ถูกกำหนดเวลาในระยะเวลาคงอยู่ที่เฉพาะ บางครั้งมันสภาวะจิตใจที่อยู่นานแต่บางครั้งก็ไม่นาน แล้วมันก็ผ่านไป
ตัวอย่างเช่น ท่านอัลฟุฏัยล์ บิน อะยาฎ ซึ่งท่านได้ทำการวุกูฟที่อะรอฟะฮ์พร้อมกับบรรดาผู้ทำฮัจญ์ ท่านมิได้ทำการขอดุอาอ์เหมือนกับพวกเขา หรือทำการกล่าวซิกรุลลอฮ์หรืออ่านวิริดต่าง ๆ ณ สถานที่วุกูฟดังกล่าว เนื่องจากสถาวะจิตใจของเขาได้หวนรำลึกถึงอดีตที่ผ่านมาซึ่งเขาได้ทำการละเมิดต่อตัวเขาเอง ดังกล่าว ทำให้เขามีบรรดาความรู้สึกละอายต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา และบรรดาความรู้สึกนั้นทำให้เขาหยุดยั้งจากความสนใจในการขอดุอาอ์ อ่านวิริด หรือกล่าวซิกรุลลอฮ์ ท่านอิสฮาก บิน อิบรอฮีม อัลฏ่อบะรีย์ รายงานว่า เขาได้ทำการวุกูฟพร้อมกับท่าน อัลฟุฎัยล์ บิน อิยาฏ ที่อะรอฟะฮ์ เขาไม่ได้ยินการดุอาจากท่านอัลฟุฏัยล์เลย นอกจากได้เอามือขวาวางบนแก้มและก้มศีรษะร้องไห้สะอื้นเบา ๆ เขายังคงเป็นเช่นนั้นจนกระทู้ร้องไห้พรั่งพรูออกมา แล้วเงยศีรษะขึ้นยังฟากฟ้าแล้วกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลเลาะฮ์ ฉันมีความละอายต่อพระองค์เหลือเกิน หากแม้นพระองค์จะอภัยให้แก่ฉันแล้วก็ตาม” ท่านกล่าวถึงสามครั้ง ( ดู หนังสือซิฟะตุศศ็อฟวะฮ์ ของท่านอิบนุ อัลเญาซีย์ 2/239 และหนังสือมุคตะซ็อรร่อรีค ของท่านอิบนุอะซากีร 20/326
ยังมีนักปราชญ์บางส่วน ที่สภาวะจิตใจของเขานั้น ทำให้เขาต้องทำการอิสติฆฟาร ซึ่งผิวเผินแล้วถือว่าเป็นอิบาดะฮ์และเป็นการภักดี เช่น ท่านซะรีย์ อัสซักฏีย์ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “ตั้งแต่ 30 ปีมาแล้ว ฉันได้ทำการกล่าวอิสติฆฟารต่ออัลเลาะฮ์ เพียงเพราะครั้งหนึ่งฉันได้กล่าวว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮ์!” จึงถูกกล่าวถามแก่เขาว่า “ดังกล่าวมันเป็นเช่นไรหรือ?” เขากล่าวว่า “ได้เกิดไฟไหม้ที่กรุงแบกแดด แล้วมีชายคนหนึ่งได้มาพบกับฉัน และกล่าวแก่ฉันว่า “ร้านค้าของฉันปลอดภัย” ฉันจึงกล่าวว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮ์” ตั้งแต่วันนั้นมาฉันจึงรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่ฉันได้กล่าวออกไป เนื่องจากฉันคิดว่าตัวฉันนั้นดีกว่าจากสิ่งที่ได้ประสบแก่บรรดามุสลิมีน คือร้านค้าของพวกเขาถูกไฟไหม้แต่ร้านของฉันรอดปลอดภัย” ดู หนังสืออัรริซาละฮ์ อัลกุชัยรียะฮ์ 1/86
และยังมีนักปราชญ์ตะเซาวุฟบางคนทำการละศีลอดในตอนกลางวัน เช่น ท่านมะอฺรูฟ อัลกัรคีย์ ซึ่งเขากำลังถือศีลอดและได้เดินผ่านผู้ที่คอยบริการน้ำ ท่านมะอฺรูฟได้ยินเขากล่าวว่า ขออัลเลาะฮ์ทรงเมตตาผู้ที่มาดื่มน้ำจากฉัน ท่านมะอฺรูฟ อัลกัรคีย์ จึงเดินไปที่เขาและดื่มน้ำจากมือของเขา ดังนั้นจึงมีคนถามท่านมะอฺรูฟ ว่า “ท่านไม่ได้ถือศีลอดกระนั้นหรือ?” เขาตอบว่า “หามิได้ แต่ฉันดื่มน้ำเพื่อหวังในดุอาของเขาต่างหาก” ดู หนังสือร่อซาละฮ์อัลกุชัยรียะฮ์ 1/82
ดังนั้น การกระทำของบรรดานักปราชญ์ตะเซาวุฟเหล่านี้ บางครั้งอาจจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ จากผู้ที่มองเห็นเพียงแค่ภายนอกของอิบาดะฮ์แต่ไม่รู้ถึงสภาวะจิตใจข้างในของพวกเขา ฉะนั้นการมองเช่นนี้ถือว่าเป็นการมองที่ผิดพลาด ยิ่งกว่านั้นอาจเป็นอันตรายซึ่งควรต้องระวัง และนี้ก็คือสิ่งที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ได้อธิบายเกี่ยวกับฮิกัมนี้ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “บรรดาของชนิดอะมัลที่มีหลากประเภท ก็ด้วยเหตุความหลากหลายสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ”
เรื่องของการปฏิบัติอะมัลนั้น เพียงเราเห็นแค่ภายนอกมิได้หมายความว่ามันเป็นเหตุให้ได้ผลบุญและถูกตอบรับจากอัลเลาะฮ์ตะอาลา แต่ทว่าเหตุที่ทำให้ได้ผลบุญนั้นก็คือสิ่งที่สภาวะจิตใจที่ผ่านเข้ามาในมุสลิมคนหนึ่งที่มุ่งทุ่มเทตัวของเขาทั้งหมดไปสู่อัลเลาะฮ์ต่างหาก
ดังนั้นประเภทของอะมัลที่สภาวะจิตใจของท่าน อัลฟุฎัยล์ บิน อิยาฎ ได้ผลักดันให้กระทำมันขึ้นมานั้น ก็เนื่องจากเขาได้ทำการวุกูฟที่อะรอฟะฮ์พร้อมกับบรรดาผู้ทำฮัจญ์ทั้งหลาย ซึ่งเขาได้อยู่ในสภาวะจิตใจที่ดื่มด่ำอยู่ในความรู้สึกละอายต่ออัลเลาะฮ์ เพราะเขาได้หวนรำลึกถึงพฤติกรรมในอดีตที่ฝ่าฝืนและห่างไกลจากอัลเลาะฮ์ตะอาลา! ดังนั้นจึงไม่สงสัยเลยว่า ผลบุญของการดื่มด่ำอยู่ในความรู้สึกละอายต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลานั้น ก็คือผลบุญของผู้ที่รำลึกและวอนขอดุอาต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลานั่นเอง
ส่วนการปฏิบัติอะมัลที่สภาวะจิตใจของท่าน อัสซะรีย์ อัสซักฏีย์ ได้ได้ผลักดันให้กระทำมันขึ้นมานั้น เนื่องจากเขาเสียใจและละอายต่ออัลเลาะฮ์ เพราะการสรรเสริญพระองค์ด้วยการกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮ์” นั้นได้แสดงถึงความดีใจด้วยกับสิ่งที่เขามีความโดดเด่นเหนือบรรดาพี่น้องคนอื่น ๆ ที่อยู่ในตลาด บรรดาร้านค้าของพวกเขาถูกไฟไหม้ แต่คงเหลือร้านของท่านอัสซะรีย์ อัสซักฏีย์ รอดปลอดภัย ดังนั้นเขาจึงทำการเน้นอิสติฆฟารอย่างสม่ำเสมอเพราะเหตุที่เคยคิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น
สำหรับการปฏิบัติอะมัลที่สภาวะจิตใจของท่าน อัสซะรีย์ อัสซักฏีย์ ได้ผลักดันให้กระทำมันขึ้นมานั้น คือในขณะที่เขาได้ยินผู้บริการน้ำดื่มกล่าวว่า “ขออัลเลาะฮ์ทรงเมตตาผู้ที่ดื่มน้ำจากฉัน” ขณะที่เขามั่นใจว่าผู้บริการน้ำดื่มเป็นผู้มีคุณธรรม จิตใจของท่านมะอฺรูฟ อัลกัรคีย์ ปราถนาที่จะเป็นหนึ่งจากผู้ที่อัลเลาะฮ์ทรงเมตตาด้วยเหตุดุอาของเขา ดังนั้นท่านมะอฺรูฟ อัลกัรคีย์ จึงไปหาเขาและทำการละศีลอดด้วยการดื่มน้ำจากมือผู้ที่คอยบริการน้ำดื่มคนนั้น เพราะฉะนั้นจะไม่ถูกกล่าวแย้งว่า มีบรรดานักปราชญ์ฟิกห์บางส่วนกล่าวว่า การเริ่มทำอิบาดะฮ์สุนัตนั้นจำเป็นต้องปฏิบัติให้ลุล่วงเรียบร้อย เพราะบรรดานักปราชญ์ฟิกห์นั้นเมื่อพวกเขาทำการวินิจฉัย พวกเขาก็จะมีทัศนะความเห็นในสิ่งดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกันกับกรณีของท่านมะอฺรูฟ อัลกัรคีย์ ซึ่งเมื่อสภาวะจิตใจของเขาที่เข้ามามีอิทธิพลนั้นได้ชี้นำไปยังการวินิจฉัยที่เขาได้โน้มเอียง
เมื่อท่านรู้ถึงข้อเท็จจริงที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ได้ทำให้เราทราบและรู้ถึงสิ่งที่เราได้อธิบายและนำเสนอตัวอย่างจากสภาวะจิตใจของนักปราชญ์ผู้มีคุณธรรม แน่นอนว่าลิ้นของท่านก็จะไม่ละเมิดและกล่าววิจารณ์ในสิทธิของบรรดาปราชญ์ผู้มีคุณธรรมและปราชญ์ร็อบบานียีน ซึ่งสภาวะจิตใจของพวกเขาที่อยู่กับอัลเลาะฮ์เสมอนั้นจะน้อมนำให้ไปฏิบัติบรรดาอะมัลที่หลากหลายและแตกต่างกันไปนั่นเอง
والله تعالي أعلي وأعلم