ท่านอิมาม อิบนุอะฏออิลและฮ์ กล่าวว่า
أَرِحْ نَفْسَكَ مِنَ الْتَدْبِيْرِ ، فَمَا قَامَ بِهِ غَيْرُكَ عَنْكَ لاَ تَقُمْ بِهِ لِنَفْسِكَ
“อะเรี๊ยะห์ นัฟซัก มินัดตัดบีร ฟะมา กอม่า บิฮี ฆ็อยรุ้ก้า อันก้า ลาตะกุม บิฮี ลินัฟซิก้า”
"ท่านจงพักผ่อนจิตใจของท่านจากการวางแผนเถิด ดังนั้นสิ่งที่ผู้อื่นจากท่าน(คืออัลเลาะฮ์)ได้ดำเนินการแทนท่านแล้วนั้น ท่านก็อย่าดำเนินการให้กับจิตใจของท่านเองเลย"
อิสลามได้ส่งเสริมให้มุสลิมกระทำมูลเหตุหรือภาระกิจต่าง ๆ (เช่นการทุ่มเททำงานเพื่อให้ได้กำไรหรือการเล่าเรียนศึกษาเพื่อได้ความรู้หรือทำการเพาะปลูกได้ให้ได้มาซึ่งปัจจัยอาหาร) ที่มนุษย์ได้เผชิญในการดำเนินชีวิต และมูลเหตุเหล่านี้ต้องมีการปฏิบัติในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักของศาสนา แต่ในฮิกัมนี้ได้เตือนและเรียกร้องให้จิตใจมีปล่อยวางหรือพักผ่อนจิตใจจากความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเผชิญในการกระทำมูลเหตุต่าง ๆ หรือภาระกิจเหล่านั้น อีกทั้งได้กำชับมิให้จิตใจต้องเหน็ดเหนื่อยด้วยการทุ่มเทความมุ่งหวังที่จะได้รับทั้งที่อัลเลาะฮ์ทรงประสงค์ให้เขาพักผ่อนจิตใจให้สบาย
ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ การกระทำมูลเหตุต่าง ๆ และการวางแผนในจิตใจของเขาที่มีต่อการกระทำมูลเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น กล่าวคือ
หนึ่ง : มีการลงมือกระทำมูลเหตุต่าง ๆ หมายถึง การทำงานหรือทำภารกิจด้วยการทุ่มเทแรงกาย เช่น การไปตลาดเพื่อทำการค้าขาย , เขาไปมหาวิทยาลัยเพื่อทำการศึกษาเล่าเรียน , ไปหาแพทย์เพื่อทำการรักษาโรค , หรือการหลีกห่างจากมูลเหตุต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดโทษที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงย้ำเตือนให้ระวังไว้
สอง : มีการวางแผน หมายถึง การกระทำในเชิงความคิดหรือการตัดสินใจของสติปัญญา กล่าวคือ มนุษย์คนหนึ่งจะพูดกับจิตใจของเขาว่า การกระทำภาระกิจต่าง ๆ เหล่านี้ได้วางแผนแก่ตนเองว่าจะต้องได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ ได้รับความสำเร็จเช่นนั้นเช่นนี้ และผลลัพท์ต่าง ๆ ที่จะได้รับนั้นเขาได้ประกันและมุ่งหวังจากตัวเขาเอง ดังนั้น ในความคิดของเขาถือว่ามูลเหตุต่าง ๆ (เช่นลงมือทำงาน , การลงมือเพาะปลูก , การไปหาแพทย์ , การไปมหาวิทยาลัยเพื่อเล่าเรียน เป็นต้น) เป็นผู้รับใช้ภายใต้อำนาจหรือเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้กับการวางแผนและความมุ่งหวังของเขา
แต่ท่านไม่เห็นดอกหรือว่า ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ ได้กล่าวว่า “ท่านจงพักผ่อนจิตใจของท่าน” ไม่กล่าวว่า “ท่านจงพักผ่อนร่างกายของท่าน” ดังนั้น การทุ่มเทลงมือกระทำภาระกิจต่าง ๆ นั้น ที่มาก็คือ ร่างกายและส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้และส่งเสริม ส่วนการวางแผนนั้น ที่มาก็คือ จิตใจและความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนารังเกียจและไม่ส่งเสริมให้ทุ่มเทจนเกินจำเป็น เพราะฉะนั้น ทั้งสองแง่มุมนี้ จึงเป็นผลทั้งในแง่บวก(ส่งเสริม)และในแง่ลบ(ไม่ส่งเสริม)ซึ่งอิสลามได้หล่อหลอมทั้งสองให้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมุสลิม (คือทุ่มเทแรงกายอย่าทุ่มเทแรงใจเกินไปว่าจะต้องได้เท่านั้นเท่านี้)
กล่าวคือ มุสลิมคนหนึ่งได้ออกไปตลาด แล้วลงมือทำงานเหมือนกับผู้คนทั่วไป และเขาก็ตั้งใจทำงานตามวิถีทางของเขาเท่าที่มีความสามารถจะกระทำได้ พร้อมทั้งกระทำโดยสอดคล้องกับหลักบทบัญญัติของศาสนา ดังนั้นเมื่อมีคนหนึ่งได้ถามเขาว่า “ท่านได้มุ่งหวังอะไรหลังจากที่ท่านได้ทุ่มเททำงานอันนี้” เขาก็จะตอบว่า “มันเป็นภาระหน้าที่ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงบัญญัติบนฉัน และฉันก็ได้ลงมือทำงานตามที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติใช้แล้ว ส่วนผลลัพธ์อะไรก็ตาม(หรือกำไรเท่าไหร่ก็ตาม)ที่อัลเลาะฮ์จะทรงบันดาลมันขึ้นมาหลังจากนี้ มันย่อมกลับไปยังการวางแผนและการกำหนดของอัลเลาะฮ์แล้ว ส่วนฉันขอยอมจำนนท์และพอใจต่อการกำหนดของพระองค์”
ดังกล่าวนี้ก็คือครรลองของอิสลามที่ท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ได้ย้ำเตือนให้มีการลงมือกระทำภาระหน้าที่ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักศาสนาพร้อมยอมจำนนท์ต่อการกำหนดและการวางแผนของอัลเลาะฮ์ตะอาลา
และแนวทางนี้ก็สามารถประจักษ์ชักยิ่งขึ้นสำหรับท่านท่านด้วยการใคร่ควรญถึงการดำเนินชีวิตของผู้เป็นแบบฉบับของเรา ก็คือท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านโปรดพิจารณาเรื่องราวการอพยพของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไปยังนครมะดีนะฮ์ โดยมีอบูบักร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ผู้เป็นมิตรสหาย ได้ติดตามไปด้วย ท่านนบีได้ลงมือกระทำมูลเหตุที่เกี่ยวกับการอพยพ (คือต้องทำการเดินทางในหนทางที่ปลอดภัยและอำพรางตนเพื่อระมัดระวังจากการค้นหาของพวกกุฟฟาร) จนกระทั่งทำให้ท่านมั่นใจว่ามูลเหตุต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขความสำเร็จที่จำเป็นสำหรับการอพยพ ดังนั้นท่านจึงออกเดินแบบอำพรางตนโดยปล่อยให้ท่านอะลี ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ นอนบนที่นอนของท่านจนกระทั่งพวกมุชริกีน(พวกตั้งภาคี) คิดว่าเขาคือท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พวกเขาจึงไม่ทำการติดตามและค้นหา และขณะเดียวกันท่านก็ได้ปล่อยให้คนเลี้ยงแพะของท่านอบูบักรนำฝูงแพะเดินติดตามหลังมาเพื่อลบรอยเท้าของร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และมิตรสหาย
ทั้งสองได้อาศัยอยู่ในถ้ำษูร ( ثور ) เพื่อรอคอยชายมุชริกีนคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของท่านนบีผู้ไว้เนื้อเชื่อใจได้ ซึ่งได้สัญญากันว่าจะมาพบตามเวลานัดหมายที่ถ้ำษูร ชายคนนั้นคือ อับดุลเลาะฮ์ บุตร อุร็อยกิต ผู้คอยชี้นำเส้นทางลัดทางด้านหลังของนครมะดีนะฮ์ ซึ่งดังกล่าวนี้ก็คือการกระทำมูลเหตุต่าง ๆ (ภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ) อย่างสมบูรณ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ในขณะที่ทั้งสองได้หลบซ่อนอยู่ในถ้ำ มุชริกีนกลุ่มหนึ่งได้มายังถ้ำเพื่อค้นห้าทั้งสอง และทางเข้าของถ้ำเป็นเป้าสายตาของพวกเขา ท่านอบูบักรจึงเกิดความกระวนกระวายใจและกระซิบท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า หากคนใดจากพวกเขาได้ก้มลงมามอง เขาก็จะเห็นเรา ดังนั้นท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “อะไรที่ทำให้ท่านคิดว่าเรามีการสองคน ทั้งที่อัลเลาะฮ์คือบุคคลที่สามผู้อยู่ร่วมกับเรา?” ขณะที่ทั้งสองได้ออกจากถ้ำและมุ่งหน้าเดินทางไปยังนครมะดีนะฮ์ นายซุรอเกาะฮ์ได้ขี่ม้าติดตามทั้งสองเพื่อมุ่งทำร้ายตามที่สายรายงานที่ถูกต้อง(ซอฮิห์)ได้บันทึกไว้ ท่านอบูบักรจึงหันมองเขาและเกิดความหวั่นเกรงว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับท่านร่อซูลุลอฮ์ แต่ทว่าท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กลับมุ่งหน้าเดินทางโดยไม่หันซ้ายหันขวา ยึดมั่นต่อการคุ้มครองและแผนการที่อัลเลาะฮ์ได้วางไว้ให้แล้ว และนี้ก็คือการทำให้แผนการ(ความมุ่งหวังว่าอะไรจะเกิดขึ้นนั้น) ตกไปโดยกลับไปยึดแผนการของอัลเลาะฮ์ตะอาลาให้มันเป็นไปตามการกำหนดของพระองค์
จากสิ่งดังกล่าวเราจะพบกว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ลงมือกระทำมูลเหตุต่าง ๆ พร้อมกับยอมจำนนท์ผลที่เกิดขึ้นให้เป็นการงานของอัลเลาะฮ์โดยให้สอดคล้องกับระเบียบแห่งการสรรสร้างของมัคโลคที่อัลเลาะฮ์ได้ทรงจัดวางเอาไว้ (คือเมื่ออพยพก็ต้องเดินทางและระวังศัตรู) หลังจากนั้น ท่านก็ลืมมูลเหตุเหล่านั้น (คือไม่คำนึงว่าจะมีใครติดตามมาหมายทำร้ายและทำการมุ่งหน้าเดินทางอพยพ) โดยผูกผลลัพธ์ต่าง ๆ ให้เกี่ยวพันอยู่กับความยาเกนทางด้านการเชื่อมั่น(เอี๊ยะอฺติก๊อต) ต่อการกำหนดและความเมตตาจากอัลเลาะฮ์พร้อมกับไว้วางใจต่อพระองค์อย่างสมบูรณ์
แน่แท้ว่าสิ่งดังกล่าวนี้คือฉากหนึ่งจากคำสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ได้อธิบายคำกล่าวของท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ ที่ว่า "ท่านจงพักผ่อนจิตใจของท่านจากการวางแผนเถิด ดังนั้นสิ่งที่ผู้อื่นจากท่าน(คืออัลเลาะฮ์)ได้ดำเนินการแทนท่านแล้วนั้น ท่านก็อย่าดำเนินการให้กับจิตใจของท่านเองเลย"
ได้มีรายงานว่า ท่านอะลี (ซัยนุลอาบิดีน) บุตร ท่านอิมามอัลฮุซัยน์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านมีร้านค้าหนึ่งอยู่ในตลาด ท่านเป็นพ่อค้าที่มีสินค้ากว้างขวาง เมื่อถึงเวลาละหมาด ท่านก็จะละทิ้งร้านค้านั้น แล้วมุ่งไปละหมาดที่มัสยิด วันหนึ่งขณะท่านทำละหมาดอยู่ในมัสยิดนั้น ปรากฏว่ามีคนเข้ามาบอกท่านว่าไฟกำลังไหม้ตลาด และกำลังจะลุกไหม้ลามไปที่ร้านของท่านอะลี แต่ทว่าท่านมิได้ให้ความสนใจต่อข่าวนั้นเลย ท่านยังคงตั้งใจทำละหมาดฟัรดู สุนัต ซิกรุลลอฮ์ และตัสบีห์ ตามปกติวิสัยที่ท่านเคยทำเป็นนิจศีล หลังจากนั้นท่านก็กลับไปยังตลาดอย่างจิตใจสงบนิ่ง
ท่านผู้อ่านลงพิจารณาการลงมือกระทำพร้อมกับมูลเหตุหรือภาระกิจต่าง ๆ ของท่านอะลี บุตร ท่านอิมามอัลฮุซัยน์ซิครับ ว่าท่านได้ทำการค้าขายในร้านค้าหรือในตลาด ซึ่งมันเป็นภาระหน้าที่ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงใช้ให้ปวงบ่าวกระทำ หลังจากนั้นท่านผู้อ่านลงพิจารณาว่า อย่างไรที่ท่านอะลี บุตร ท่านอิมามอัลฮุซัยน์ ได้ละตนเองจากผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือท่านได้มอบหมายการงานดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ไปยังการวางแผนและการกำหนดของอัลเลาะฮ์ตะอาลาในช่วงเวลาที่ท่านกำลังปฏิบัติภาระหน้าที่ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้(คือการทำงานค้าขาย) หลังจากนั้นท่านได้ตั้งใจทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งเป็นภารกิจที่อัลเลาะฮ์ทรงสร้างมนุษย์มาเพื่อมัน นั่นก็คือการทำละหมาดและอิบาดะฮ์
บางครั้งอาจจะมีบุคคลหนึ่งค้านว่า : เมื่อทราบข่าวว่าไฟกำลังจะลุกลามไหม้ร้านค้า ท่านอะลีก็สมควรละหมาดให้เร็วและทำละหมาดฟัรดูเพียงอย่างเท่านั้นก็ได้มิใช่หรือ?โดยไม่ต้องละหมาดสุนัตและอื่น ๆ เพื่อเขาจะได้มีความสามารถยับยั้งไฟที่จะลุกลามร้านค้าได้?
คำตอบคือ : หากท่านอะลี บุตร ท่านอัลฮุซัยน์ ได้กำลังค้าขายในขณะที่ไฟกำลังไหม้อยู่นั้น แน่นนอนว่าจำเป็นบนเขาต้องทุ่มเทความพยายามในการกระทำมูลเหตุต่าง ๆ (เช่นเอาน้ำมาดับไฟ เป็นต้น) เพื่อรักษาร้านค้าเอาไว้ เพราะว่าในขณะนั้นเขากำลังอยู่ในโลกแห่งมูลเหตุ( โลกแห่งการทำงานอยู่ในตลาด) ซึ่งท่านก็จะต้องทุ่มเทสำหรับมัน แต่เราทราบมาแล้วว่าในขณะที่ไฟกำลังไหม้ ท่านอะลีกำลังมุ่งปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นก็คือการทำละหมาดและอิบาดะฮ์ต่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้นเมื่อเขาได้เสร็จสิ้นจากการทำงานตรงนั้นแล้ว เขาก็มุ่งมั่นทำอิบาดะฮ์ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญญัติใช้และติดตามมาด้วยการทำอิบาดะฮ์ที่เป็นสุนัต นั่นก็เพราะว่าเขาตระหนักและเชื่อมั่นเป็นอย่างดีแล้วว่า การวางแผนหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากไฟไหม้นั้นมิใช่หวนกลับไปหาตัวเขาเองและมิใช่หวนกลับไปยังการทุ่มเทต่าง ๆ ของเขา แต่ทว่าการวางแผนหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น(ว่าไฟจะไหม้ร้านค้าหรือไม่)นั้น ได้หวนกลับไปยังอัลเลาะฮ์ตะอาลาแต่เพียงผู้เดียว
แต่กระนั้นก็ตาม มันไม่ใช่เป็นใช่เรื่องง่ายเลยที่บุคคลหนึ่งคนใดจากเราสามารถนอบน้อมยอมจำนนท์ต่อความรู้สึกและดำเนินตามคำสอนของฮิกัมอันนี้ และถือว่าเป็นเรื่องง่ายหรือไม่ที่ความรู้สึกนึกคิดของเราจะสามารถยอมรับได้หลังจากที่เข้าใจถึงฮิกัมอันนี้ที่ว่า "ท่านจงพักผ่อนจิตใจของท่านจากการวางแผนเถิด ดังนั้นสิ่งที่ผู้อื่นจากท่าน(คืออัลเลาะฮ์)ได้ดำเนินการแทนท่านแล้วนั้น ท่านก็อย่าดำเนินการให้กับจิตใจของท่านเองเลย” ?!
บางครั้งในแง่ของทฤษฏีหลักความเชื่อนั้นสติปัญญาของเราจะน้อมรับคำตักเตือนของฮิกัมนี้อยู่แล้ว แต่ทว่าการน้อมรับที่มาจากความรู้สึกภายในจิตใจนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยากเอามาก ๆ เนื่องจากมนุษย์มักจะเอาตนเองมาเป็นบริบทในการวางแผนและกำหนดผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ตนต้องการ ดังนั้นเมื่อผลออกมาอย่างไม่เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังไว้ ความวิตกกังวลก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวเขา ความรู้สึกและความกลัดกลุ้มใจได้วนเวียนอยู่ในสมอง ดังนั้นสภาวะดังกล่าวนี้จะไม่ทำให้อิบาดะฮ์ของเขาบริสุทธิ์ผุดผ่อง(เพราะหัวใจกลัดกลุ้มนึกแต่เรื่องดุนยาโดยลืมอัลเลาะฮ์)และเขาก็จะมิได้ลิ้มรสหวานชื่นของการซิกริลลุฮ์ การฏออัต การอ่านอัลกุรอาน และการทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์
ดังนั้นอะไรคือยาที่จะมารักษาให้ความรู้สึกอันอยากลำบากนี้มีความง่ายดาย? และอะไรคือยาที่จะทำให้มีความรู้สึกดื่มด่ำในฮิกัมนี้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงให้เหมือนกับที่สติปัญญาได้เชื่อมั่นและให้การยอมรับ?
การเยียวยาสิ่งดังกล่าว ก็คือการซิกรุลลอฮ์ให้มาก ๆ รำลึกและมีจิตใจที่จดจ่อต่ออัลเลาะฮ์ (อัลมุรอเกาะบะฮ์) อย่างสม่ำเสมอ และหนทางที่ดียิ่งสำหรับสิ่งดังกล่าวก็คือ การเกี่ยวโยงหรือผูกเนี๊ยะอ์มัตและสิ่งอำนวยสุขต่าง ๆ ไปยังอัลเลาะฮ์ตะอาลา ทำการอ่านวิริด(ซิกิรประจำวัน)อย่างสม่ำเสมอด้วยการอ่านอัลกุรอานอย่างพิจารณาและใคร่ครวญ เป็นต้น ซึ่งการเยียวเช่นนี้จะทำให้ความรักต่ออัลเลาะฮ์เกิดขึ้นในหัวใจ ทำให้มนุษย์มีความไว้วางใจต่อฮิกมะฮ์ ความโปรดปราน และความเมตตาของพระองค์ ดังนั้นเมื่อมุสลิมคนหนึ่งได้ทำการเยียวยาเช่นนี้อย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ ห่างไกลจากความชั่วต่าง ๆ อย่างสุดความสามารถแล้ว แน่นอนว่าความรู้สึกภายในของเขานั้นก็จะดื่มด่ำจากความหมายของฮิกัมอิบนุอะฏออิลและฮ์นี้
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้รับการเยียวยาดังข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ ท่านก็จะได้ลิ้มรสความหวานชื่นของฮิกัมนี้ และท่านจะสามารถปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ ไปพร้อมกับฮิกัมอย่างมีความสุขและสบายใจ และหากมีคำถามขึ้นว่า ฮิกัมนี้มิได้ส่งเสริมให้มุสลิมมีการวางแผนในการดำเนินชีวิตหรืออย่างไร? ทั้งที่การวางแผนนั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาสิ่งเสริม เราขอตอบว่า การวางแผนที่อยู่พร้อมกับการยอมจำนนท์มอบหมายต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลาผู้ทรงรอบรู้และทรงตระหนักยิ่งในการงานของเรานั้น ถือว่าไม่เป็นไร เพราะมีฮะดิษสายรายงานฏออีฟได้กล่าวว่า
اَلتَّدْبِيْرُ نِصْفُ الْمَعِيْشَةِ
“อัตตัดบีร นิสฟุล มะอีชะฮ์”
"การวางแผนนั้นครึ่งหนึ่งของการดำเนินชีวิต” รายงานโดยอัดดัยละมีย์
วัลลอฮุอะลัม