8. เตรียมอาหารแต่พอดีและไม่ฟุ่มเฟือย
อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
((وكُلُواْ وَاشْرَبُواْ وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ))
และพวกเจ้าจงกินและจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย (อัล-อะอฺรอฟ, 31)
อิบนุอับบาสกล่าวว่า อัลลอฮฺทรงอนุญาตในอายะฮฺนี้ให้กินดื่ม ตราบใดที่ไม่เป็นการฟุ่มเฟือย หรือหยิ่งยะโส (อัลกุรฏุบีย์, อัลญามิอฺลิอะหฺกาม อัลกุรอาน, เล่ม 7 หน้า 191)
อิบนุล อะเราะบีย์กล่าวว่า ความฟุ่มเฟือยคือการเลยเถิดออกจากขอบเขตที่เที่ยงตรง บางครั้งเกิดจากการล้วงล้ำขอบเขตของสิ่งที่หะลาลไปสู่สิ่งที่หะรอม... และบางครั้งเกิดความฟุ่มเฟือยในอาหารการกิน เมื่อมีการกินอิ่มจนเกินไปจนกลายเป็นโทษและอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งการกินเป็นสิ่งที่หะรอมเช่นกัน (อะหฺกามอัลกุรอาน, เล่ม 4 หน้า 207)
อัลกุรฏุบีย์กล่าวว่า คำตรัสที่ว่า จงอย่าฟุ่มเฟือย หมายถึง การทานอาหารที่มากมาย และเกิดขึ้นกับการดื่มที่มากมายเช่นกัน เพราะจะทำให้หนักกระเพาะอาหาร และจะเป็นอุปสรรค์ต่อการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ และการทานแต่เพียงพอดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง และหากทานเกินกว่านั้นจนไม่สามารถลุกขึ้นปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นต้องกระทำก็ถือว่าหะรอมสำหรับเขา และแท้จริงเขาได้กระทำการฟุ่มเฟือยในอาหารและเครื่องดื่มของเขาแล้ว (อัลญามิอฺลิอะหฺกาม อัลกุรอาน, เล่ม 7 หน้า 194)
นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
((كُلُوْا وَاشْرَبُوْا وَتَصَدَّقُوْا وَالْبَسُوْا مَالَمْ يُخَالِطْهُ إِسْرَافٌ أَوْ مَخِيْلَةٌ))
พวกเจ้าจงทาน จงดื่ม จงให้บริจาคทาน และจงแต่งกาย ตราบใดที่ไม่มีการปะปนกับความฟุ่มเฟือยและความหยิ่งยะโส (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เล่ม 5 หน้า 2181 (ตะอฺลีก), มุศ็อนนัฟอิบนุอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 5 หน้า 125, มุสนัดอะหมัด, เล่ม 2 หน้า 181, สุนันอันนะสาอีย์, เลขที่ 2558, สุนันอิบนุมาญะฮฺ, เลขที่ 3595, มุสตัดร็อกอัลหากิม, เล่ม 4 หน้า 125 (ดู เศาะหีหฺอิบนุมาญะฮฺ, เลขที่ 2904, เล่ม 2 หน้า 284, มิชกาตอัลมะศอบีหฺ, เลขที่ 4381))
อัลมุนาวีย์กล่าวว่า หะดีษนี้ครอบคลุมความประเสริฐในการดูแลตนเองของแต่ละคน และความฟุ่มเฟือยเกิดโทษต่อร่างกายและค่าใช้จ่าย ส่วนความหยิ่งยะโสก็เกิดโทษทั้งต่อจิตใจ ซึ่งทำให้รู้สึกสำคัญตัวเอง ต่อโลกซึ่งผู้คนต่างจะพากันประณาม และต่อวันอาคิเราะฮฺซึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่เป็นบาป (ฟัยฎุลเกาะดีร, เล่ม 5 หน้า 46)
นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
((مَا مَلأَ آدَمَيٌّ وِعَاءً شَرًّا مِنْ بَطْنٍ حَسَبُ الآدَمِيِّ لُقَيْمَاتٍ يَقُمْنَ صُلْبَهُ فَإِنْ غَلَبَتْ الآدَمِيَّ نَفْسُهُ فَثُلُثٌ لِلطَّعَامِ وَثُلُثٌ لِلشَّرَابِ وَثُلُثٌ لِلنَّفْسِ))
ลูกหลานอาดัมไม่เติมเต็มภาชนะใดที่เลวร้ายไปกว่าท้อง (กระเพาะอาหาร) เพียงพอแล้วสำหรับลูกหลานอาดัมกับอาหารเพียงไม่กี่คำที่ทำให้ร่างกายสามารถยืนหยัด และหากแม้นว่าตัณหาได้ครอบงำเขา (ไม่สามารถยับยั้งได้) ก็จง (แบ่งกระเพาะเป็นสามส่วน) ส่วนหนึ่งสำหรับอาหาร ส่วนหนึ่งสำหรับเครื่องดื่ม และอีกส่วนหนึ่งสำหรับไว้หายใจ (มุสนัดอะหมัด, เล่ม 4 หน้า 132, สุนันอัตติรมิซีย์, เลขที่ 2380, สุนันอิบนุมาญะฮฺ, เลขที่ 3349, เศาะหีหฺอิบนุหิบบาน, เลขที่ 674, มุสตัดร็อกอัลหากิม, เล่ม 4 หน้า 331 (ดู อิรวาอฺอัลเฆาะลีล, เลขที่ 1983))
อิบนุเราะญับกล่าวว่า หะดีษนี้เป็นแหล่งที่มาหลักและครอบคลุมสำหรับแหล่งที่มาของการแพทย์ทั้งหลาย... ส่วนประโยชน์สำหรับจิตใจและสุขภาพของมันจากการลดอาหารให้น้อยลงคือ การทานอาหารน้อยจะทำให้จิตใจอ่อนโยน ทำให้เข้าใจง่าย ทำลายตัณหา อารมณ์และความโกรธอ่อนตัวลง ส่วนการทานอาหารมากจะทำให้เกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา (ญามิอุลอุลูมวัลหิกัม, เล่ม 2 หน้า 468)