1. ความหมายของสะหูร
สะหูร มาจากคำว่า สะหิเราะ ยัสหะรุ สะหะร่น แปลว่าเวลาก่อนรุ่งอรุณ พหูพจน์ของมันคือ อัสหาร (อัลเญาฮะรีย์, อัสศิหาหฺ, เล่ม 2 หน้า 678)
อิบนุดะกีกุลอัยด์ กล่าวว่า สะหูร หมายถึงอาหารที่ใช้ทานในเวลาก่อนรุ่งอรุณ ส่วน สุหูร หมายถึงพฤติกรรมการทานอาหารในเวลาก่อนรุ่งอรุณ (อิหกามุลอะหฺกาม, เล่ม 2 หน้า 209)
2. เวลารับประทานอาหารสะหูร
อิบนุลมุลักกิน กล่าวว่า เสมือนกับว่า สะหูร เป็นนามที่ถูกเรียกตามเวลาของมัน เพราะมันถูกทานในช่วงเวลา สะหัร นั่นคือเวลาก่อนรุ่งอรุณ และเวลาของมันจะเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป (อัลอิอฺลาม บิฟะวาอิด อุมดะตุลอะหฺกาม, เล่ม 5 หน้า 187)
3. หุก่มทานอาหารสะหูร
ญาบิร บิน อับดิลลาฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
((مَنْ أَرَادَ أَنْ يَصُوْمَ فَلْيَتَسَحَّرْ بِشَيْءٍ))
ผู้ใดประสงค์จะถือศีลอดก็จงทานอาหารสะหูรด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (มุสนัดอะหมัด, เล่ม 3 หน้า 367, มุศ็อนนัฟอิบนุอบีชัยบะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 8 (ดู สัลสะละฮฺ อัสเศาะหีหะฮฺของอัลบานีย์, เล่ม 5 หน้า 391, เลขที่ 2309)
บรรดาอุละมาอฺมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การทานอาหารสะหูรเป็นเพียงสุนัตที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ ไม่ใช่วาญิบ ส่วนคำสั่งข้างต้นเป็นเพียงคำสั่งเชิงแนะนำเท่านั้น (อัลอิจญ์มาอฺของอิบนุลมุนซิร, หน้า 58, ชัรหฺเศาะหีหฺมุสลิมของอันนะวะวีย์, เล่ม 7 หน้า 213, อัลอิอฺลาม บิฟะวาอิด อุมดะตุลอะหฺกาม, เล่ม 5 หน้า 188)
4. ความประเสริฐของอาหารสะหูร
4.1 มีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) อยู่ในอาหารสะหูร
อนัส บินมาลิกเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
((تَسَحَّرُوْا، فَإِنَّ فِي السَّحُوْرِ بَرَكَةً))
พวกท่านจงทานอาหารสะหูรฺเถิด เพราะแท้จริงในอาหารสะหูรฺนั้นมีความจำเริญ (บะเราะกัต) อยู่ (เศาะหีหฺอัลบุคอรีย์, เลขที่ 1923, เศาะหีหฺมุสลิม. เลขที่ 1835)
อบู อัดดัรดาอฺ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
((هُوَ الْغَدَاءُ الْمُبَارَكُ، يَعْنِي السَّحُوْرُ))
มันคืออาหารที่ประเสริฐ หมายถึงอาหารสะหูร (เศาะหีหฺอิบนุหิบบาน, เลขที่ 3464, อัลมุอฺญัมอัลกะบีรของอัตเฏาะบะรอนีย์, เล่ม 18 หน้า 322 (ดู เศาะหีหฺอัตตัรฆีบของอัลบานีย์, เลขที่ 1068))
อับดุลลอฮฺ บิน อัลหาริษ ได้เล่าจากเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งว่า ฉันได้เข้าไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมในขณะที่ท่านกำลังทานอาหารสะหูรอยู่ ดังนั้นท่านกล่าวว่า
((إِنَّهَا بَرَكَةٌ أَعْطَاكُمُ اللهُ إِيَّاهَا، فَلاَ تَدَعُوْهُ))
แท้จริงสะหูรเป็นอาหารที่มีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงประทานแก่พวกเจ้าเป็นการเฉพาะ ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าได้ละเว้นจากการทานอาหารสะหูร (มุสนัดอะหมัด, เล่ม 5 หน้า 270, สุนันอันนะสาอีย์, เลขที่ 2162 (ดู เศาะหีหฺอัตตัรฆีบ เลขที่ 1096))
สัลมาน อัลฟาริซีย์ เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
((الْبَرَكَةُ فِي ثَلاَثٍ: الْجَمَاعَاتِ، وَالثَّرِيْدِ، وَالسَّحُوْرِ))
ความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) มีอยู่ใน 3 สิ่ง, ในหมู่คณะ (ญะมาอะฮฺ), ในน้ำซุปผสมขนมปัง (อัซซะรีด) และในอาหารสะหูร (อัฎฎอบรอนีย์ (ดู สัลสะละฮฺ อัสเศาะหีหะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 36, เลขที่ 1045))
จากหะดีษต่างๆข้างต้น บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผู้ทานอาหารสะหูรจะได้รับความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) เพราะ
- เป็นการปฏิบัติตามสุนนะฮฺ
- เป็นการปฏิบัติที่ค้านกับชาวคัมภีร์
- ทำให้ผู้ถือศีลอดมีพลังในการประกอบอิบาดะฮฺ
- สร้างความกระปรี้กระเปร่าและกระฉับกระเฉงแก่ร่างกาย
- ป้องกันจากมารยาทที่ไม่ดีงามที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความหิว เช่นอารมณ์โมโห หงุดหงิด เป็นต้น
- มีโอกาสขอดุอาอ์ในเวลาที่ถูกรับ
- และเป็นการตั้งเจตนา (นิยัต) สำหรับผู้ที่หลงลืมก่อนเข้านอน (ดู ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 4 หน้า 140)
อิลนุดะกีกุลอัยด์ กล่าวว่า ความจำเริญหรือบะเราะกะฮฺดังกล่าวอาจเป็นบะเราะกะฮฺกลับคืนสู่สิ่งต่างๆในทางอาคิเราะฮฺ เพราะการปฏิบัติตามสุนนะฮฺย่อมต้องได้รับผลบุญและการเพิ่มพูน และอาจกลับคืนสู่สิ่งต่างๆในทางโลก เพื่อความแข็งแกร่งของร่างกายและทนต่อการถือศีลอด และทำให้เขาสามารถดำนเนินการถือศีลอดโดยปราศจากการตรากตรำ (อิหฺกาม อัลอะหฺกาม, เล่ม 2 หน้า 208)