بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِ
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
ตอบข้อที่ 1. หากกล่าวซัยยิดินาในละหมาดได้ ก็กล่าวซัยยิดินาในอะซานได้เช่นกันครับ แต่เขาไม่นิยมกล่าวในอะซาน
ตอบข้อที่ 2. มีบางคนชอบตั้งคำถามว่า มีคำดุอากุนูตในละหมาดซุบฮิสักตัวบทหนึ่งไหมที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวเอาไว้ ซึ่งคำถามเช่นนี้ ผู้คัดค้านเรื่องกุนูตซุบฮิมักนิยมนำมาถามกัน โดยที่เขายังไม่เข้าใจคำนิยามตามหลักนิติศาสตร์อิสลามว่า มันคืออะไร? ดังนั้นเราต้องรู้จักคำนิยามของคำว่า "กุนูต" ตามหลักนิติศาสตร์ก่อน กล่าวคือ กุนูต ตามหลักคำนิยามของนิติศาสตร์นั้นคือ "เป็นชื่อหนึ่งของดุอาในละหมาดซึ่งอ่านในสถานที่เฉพาะเจาะจงในขณะที่ยืน" หนังสือ อัลฟุตูฮาต อัรร็อบบานียะฮ์ ของท่านอิบนุอะลาล 2/286
ท่านอิมามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ว่า "ทัศนะที่ถูกยึดถือของมัซฮับนั้นคือ ดุอา(กุนูต)นั้นมิได้ถูกเจาะจงด้วยถ้อยคำเหล่านี้ และหากเขาได้ทำการอ่านดุอากุนูตด้วยสิ่งที่ถูกรายงานจากท่านอุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และชอบให้กระทำ(มุสตะฮับ) การรวมระหว่างกุนูตของท่านอุมัรและสิ่งที่ผ่านมาแล้ว(จากกุนูตวิติร) ดังนั้นหากถูกรวมระหว่างทั้งสอง ทัศนะที่ชัดเจนยิ่งคือให้เอากุนูตของท่านอุมัรไว้หลัง" หนังสือมัจญ์มั๊วะอฺ อิมามอันนะวาวีย์ 3/476
ดังนั้น การอ่านกุนูตในละหมาดซุบฮิ ก็คือการอ่านดุอาขณะที่ยืนหลังจากงวยขึ้นมาจากรุกั๊วะนั่นเอง หมายถึง อ่านดุอาอะไรก็ได้ ที่เรียกว่าเป็นการขอดุอา แต่ทว่าที่ดีแล้วนั้นสมควรเป็นดุอาที่มาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นอันดับแรก หลังจากนั้นดุอาที่รายงานจากซอฮาบะฮ์ หากแม้นว่าบางคนบอกว่ามันเป็นดุอากุนูตวิติรไม่ใช่กุนูตซุบฮิ เราขอกล่าวว่า เมื่อมันเป็นคำดุอา ไม่ว่าจะเป็นดุอากุนูตวิติรหรือไม่ใช่ดุอาในวิติรก็เอามาอ่านในกุนูตซุบฮิได้ เหมือนกับดุอากุนูตในละหมาดวิติรที่อิมามมักกะฮ์ได้อ่านในละหมาดวิติรช่วง 10 คืนสุดท้าย ซึ่งอ่านดุอากุนูตกันเป็นครึ่งชั่วโมง หากจะถามว่าดุอากุนูตวิติรดังกล่าวที่อ่านกันเป็นครึ่งชั่วโมงนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแบบนั้นทั้งหมดเป็นครึ่งโมง ตามที่อิมามมักกะฮ์ได้อ่านหรือไม่? ก็ขอตอบว่า ไม่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่หากถามว่า ทำไมอิมามที่มักกะฮ์จึงสรรหาดุอาต่าง ๆ มาอ่านในกุนูตวิติรอย่างมากมายที่ทั้งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่เคยอ่านในรูปแบบเจาะจงเช่นนั้น ก็ขอตอบว่า อิมามมักกะฮ์เขารู้ดีว่า กุนูต คือการขอดุอา ดังนั้นอะไรที่เป็นดุอา ก็นำมาขอได้ในกุนูต นั่นเอง
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ