بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِ
اَلْحَمْدُ للهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ وَ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلىَ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَليَ اَلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ
การอาบน้ำในช่วงถือศีลอดกลางวันของเดือนร่อมะฎอน ถืออนุญาตให้กระทำได้และไม่ทำให้เสียศีลอด แต่มักโระฮ์ใช้ ซึ่งพร้อมกันนั้นต้องระวังการเกินเลยในเรื่องการบ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกขณะอาบน้ำหรืออาบน้ำละหมาด
อาซิม บิน ล่ากีฏ บิน ซ่อบิเราะฮ์ รายงานจากบิดาของเขา ได้กล่าวว่า
قُلْتُ يَا رَسُولَ اللَّهِ أَخْبِرْنِي عَنْ الْوُضُوءِ قَالَ أَسْبِغْ الْوُضُوءَ وَخَلِّلْ بَيْنَ الْأَصَابِعِ وَبَالِغْ فِي الِاسْتِنْشَاقِ إِلَّا أَنْ تَكُونَ صَائِمًا
"ฉันกล่าวว่า โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ จงโปรดจงบอกฉันจากเรื่องการอาบน้ำละหมาดด้วยเถิด ท่านร่อซูลุลลอฮ์กล่าวว่า ท่านจงอาบน้ำละหมาดให้ทั่วถึงสมบูรณ์ และจงสรางระหว่างนิ้ว(มือและเท้า) และจงสูดน้ำเข้าจมูกลึก ๆ นอกจากเสียว่าท่านเป็นผู้ถือศีลอด" รายงานโดยติรมีซีย์ (718) ท่านอิตติรมีซีย์กล่าวว่า ฮะดิษนี้ฮะซันซอฮิห์
ท่านอัลค่อฏีบ อัชชัรบีนีย์ได้กล่าวว่า "การอาบน้ำที่เป็นกิจวัตรประจำวันทั่วไปหลังจากแสงอรุณจริงขึ้นนั้น ถือว่ามักโระฮ์ไม่ควรกระทำ เพราะเกรงว่าน้ำจะเข้าไปรูหู , ทวาร , และอื่น ๆ " มุฆนิลมั๊วะตาจญ์ 2/179
คำว่ามักโระฮ์นั้น หมายถึงสิ่งที่ไม่กระทำถือว่าได้ผลบุญแต่หากระทำก็ถือว่าไม่เป็นไร และมักโระฮ์อาจหมายถึงกระทำสิ่งที่ดีน้อยกว่าก็เรียกว่ามักโระฮ์เหมือนกัน เช่นเรากล่าวว่าเย็นแล้วใกล้จะละศีลอดแล้ว ไม่ควรอาบน้ำเพราะเกรงว่าน้ำจะเข้าสู่ภายในอาจทำให้เสียศีลอดได้ ซึ่งคำว่า "ไม่ควร" ย่อมอยู่ในความหมายของมักโระฮ์เช่นกันครับ
ท่านอิมาม อัลลามะฮ์ อัซซัยยิด อัลบักรีย์ ฟัตวาว่า
หลักการดังกล่าวมี 3 กรณี
1. ทำให้เสียศีลอดโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ไม่ว่าเอาน้ำเข้าไปในสิ่งที่เป็นโพรงแบบลึกเกินไปหรือไม่ก็ตาม ดังกล่าวนี้ คือ เมื่อน้ำพลาดเข้าไปในอวัยวะที่เป็นโพรง ในขณะที่กระทำสิ่งที่ศาสนาไม่ได้ใช้ เช่นการดำลงไปในน้ำ - เพราะการดำน้ำถือว่าเป็นมักโระห์สำหรับผู้ถือศีลอด และเช่นอาบน้ำเพื่อให้เย็นสบายหรือเพื่อชำระร่างกายให้สะอาด
2. ทำให้เสียศีลอด หากเขาทำให้น้ำเข้าลึกเกินไป กรณีนี้คือ เมื่อน้ำพลาดเข้าไปในขณะที่บ้วนปากที่ศาสนาได้ใช้ตอนทำการอาบน้ำละหมาด
3. ไม่ทำให้เสียศีลอดเลย หากแม้นว่านำน้ำเข้าลึกเกินไปก็ตาม กรณีนี้คือ ในขณะที่ปากเปื้อนนะยิส ซึ่งจำเป็นต้องทำให้น้ำเข้าไปลึก ๆ เพื่อล้างนะยิสที่ปากของผู้ถือศีลอดและอื่นจากผู้ถือศีลอด เพื่อให้มีการชำระล้างสิ่งที่อยู่เขตภายนอก(ที่เปื้อนนะยิส)
สำหรับ ผู้ที่อาบน้ำญุนุบนั้น หากอาบน้ำแล้วน้ำพลาดเข้าไปอวัยวะที่เป็นโพรงโดยไม่ได้ดำลงไปในน้ำ ถือว่าไม่เสียศีลอด แต่ถ้าหากมุดลงไปในน้ำ แล้วน้ำพลาดเข้าไปในรูหู ถือว่าเสียศีลอด
อ้างอิงจาก : หนังสือ อิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน เล่ม 2 หน้า 365 - 367 ดารุลฟิกร์
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ