คนตายฟื้นขึ้นมาได้ไงครับ หลักบอกว่าคนเราตายแค่ครั้งเดียว
ก่อนที่เราจะกล่าวว่าเรื่องเป็นไปได้หรือไม่นั้น เราต้องเข้าใจ
สองหลักเป็นเบื้องต้นก่อน สองหลักที่ว่าคือ
1.) หลักอักลี (หลักสติปัญญา)
2.) หลักอาดัต (หลักเหตุและผล หรือหลักธรรมชาติ หรือทั่วๆ ไป)
หลักอักลี หรือหุกุมอากัล นั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท นั่นก็คือ 1.)
วาญิบต่ออากัล หมายถึง สิ่งที่วาญิบต้องมี การไม่มีสำหรับมัน ถือว่าสติปัญญาไม่ยอมรับเลย เช่น การมีอยู่ของอัลลอฮฺ การไม่มีของอัลลอฮฺ เป็นไปไม่ได้ (มุสตาฮิล) เป็นต้น
2.)
มุสตฮิลต่ออากัล หมายถึง สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีมัน การมีมัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น อัลลอฮฺทรงมีบุตร การมีบุตรของอัลลอฮฺ เป็นไปไม่ได้ เป็นต้น
3.)
ญาอิส หรือฮารูสต่ออากัล หมายถึง การทำ หรือไม่ทำของพระองค์ ตามพระประสงค์ของพระองค์ เช่น การสร้างมนุษย์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่วาญิบ (บังคับ) ที่พระองค์สร้าง เพราะพระองค์สร้างมนุษย์ รวมถึงสรรพสิ่ง เพราะพระองค์ทรงประสงค์ มิใช่เพราะวาญิบต้องสร้างแต่ประการใด เป็นต้น
หลักอาดัต หรือหลักธรรมชาติทั่วๆ ไปนั้น มี 3 ประเภทเช่นกันคือ 1.)
วาญิบต่ออาดัต หมายถึง สิ่งที่ดำเนินไปตามปกติวิสัย หรือธรรมชาติของมันอย่างนั้น เช่น เมื่อเราเทน้ำ น้ำต้องลงสู่พื้น หรือผู้หญิงจะเป็นเพศที่คลอดบุตร ฯลฯ
2.)
มุสตฮิลต่ออาดัต หมายถึง สิ่งที่ผิดปกติวิสัย หรือธรรมชาติของมัน เช่น ต้นมะละกอออกลูกเป็นมะพร้าว หรือคนมีสี่หน้า หรือเทน้ำ ณ พื้นผิวโลกที่มีแรงดึงดูดของโลก แทนที่น้ำจะลงสู่พื้น น้ำกลับขึ้นไปข้างบน หรือลอย ซึ่งขัดกับปกติวิสัยของมัน ฯลฯ
3.)
ญาอิสต่ออาดัต หมายถึง สิ่งที่เป็นไปได้ทุกทาง เช่น การกินข้าวหมด 2 จาน บางคนก็อิ่ม บางคนก็ยังไม่อิ่ม เป็นต้น
จากหลักทั้งสองนั้น ถือเป็นหลักพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องเรียน และทำความเข้าใจก่อนเป็นเบื้องต้น เพื่อปูพื้นไปสู่การเรียนศิฟัต 20 ต่อไป และถือเป็นหลักที่โต๊ะครูหลายคนเน้นเป็นอย่างมาก เพราะบางคนตกมุรฺตัด เพราะสับสนเรื่องหลักทั้งสอง เช่น ไปบอกว่า มุสตฮิลต่ออากัล (เป็นไปไม่ได้ต่อหลักสติปัญญา) ที่คนตายจะฟื้นขึ้นมาใหม่ (นี่คือความเชื่อของพวกกาฟิรฺ) ซึ่งที่จริงมันเป็นเรื่องฮารูสต่ออากัล ต่อมุสติฮิลต่ออาดัต ฉันใดก็ฉันนั้น กับเรื่อง "คนตายฟื้นขึ้นมาได้ไงครับ หลักบอกว่าคนเราตายแค่ครั้งเดียว" หากว่าไปตามหลักสติปัญญาเป็นไปได้ (ฮารูส) ที่อัลลอฮฺจะทรงให้คนตายฟื้นขึ้นมาใหม่ก่อนวันกิยามะฮ์ แม้อัลกุรฺอานจะกล่าวว่า มนุษย์จะฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮ์ก็ตาม เพราะหลักที่กล่าวในอัลกุรฺอาน ถือเป็นหลักอาริฎี หมายถึง หลักที่เพิ่งมาใหม่ ซึ่งก็แบ่งเป็น 3 เช่นกัน คือ วาญิบอาริฎี, มุสตฮิลอาริฎิ และฮารูสอาริฎี หากพระองค์จะทรงทำในสิ่งที่ขัดกับสิ่งที่กล่าวในอัลกุรฺอาน ก็ย่อมได้ เพราะนั่นเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์ ไม่มีใครห้ามได้ เรื่องการฟื้นคืนชีพ ก่อนวันกิยามะฮฺนั้น หากว่าไปตามหลักต่างๆ ข้างต้นก็จะได้ดังนี้คือ
- เป็นเรื่อง
ฮารูสต่ออากัล - เพราะอัลลอฮฺทรงกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ทรงอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งปวง รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่พระองค์ทรงวางไว้ หรือสัญญาไว้ด้วย ส่วนการที่พระองค์จะทรงละไว้ไม่กระทำ นั่นก็เป็นพระประสงค์แต่ดั้งเดิมของพระองค์แล้ว ซึ่งพระองค์จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
- เป็นเรื่อง
มุสติฮิลต่ออาดัต - เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา ก็ไม่เคยมีใครบอกว่า คนตายแล้ว ฟื้นขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ แต่หากเป็นจริง ก็มิใช่เป็นเรื่องที่สติปัญญารับไม่ได้ เพราะมันเป็นไม่ได้ตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺ
- เป็นเรื่อง
มุสตฮิลอาริฎี - เพราะขัดกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสัญญาไว้ในอัลกุรฺอาน เพราะพระองค์ทรงตรัสในอัลกุรฺอานว่ามนุษย์จะฟื้นขึ้นมาในวันกิยามะฮ์ - วัลลอฮุ อะอฺลัม
เพราะฉะนั้น ก่อนที่กล่าวว่า
"คนตายฟื้นขึ้นมาได้ไงครับ หลักบอกว่าคนเราตายแค่ครั้งเดียว" ต้องพิจารณาและตรวจสอบให้ดีนะครับว่า เป็นไปไม่ได้ในหลักใด หากเป็นไปไม่ได้ (มุสตฮิล) ต่ออาดัต และอาริฎี ถือว่ากล่าวถูกต้องครับ แต่หากบอกว่าเป็นไปไม่ได้ต่ออากัล (สติปัญญา) นั้นถือว่า กุฟุรฺ ครับ วัลอิยาฑุบิลลาฮฺ เพราะที่ถูกต้องควรอิอฺติก๊อตฺ ว่า ฮารูสต่ออากัล เป็นไปได้ที่อัลลอฮฺจะทรงให้คนตายฟื้นขึ้นก่อนวันกิยามะฮฺตามพระประสงค์ของพระองค์ ส่วนหลักฐานที่กล่าวยืนยันในอัลกุรฺอานนั้น นั่นก็เป็นอีกหลักหนึ่ง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
นี่คือความเข้าใจอันน้อยนิดของผมที่ฟังบรรยายธรรมจากบาบอแอ สปันญัง และเพื่อนที่ปอเนาะอธิบายให้ฟังอะครับ หากผิดพลาดประการใด เชิญท้วงติงได้ครับ หากผมกล่าวถูกต้องแล้ว ช่วยยืนยันด้วยครับ บังอัลอัซฮะรีย์
วัสสลามุ อลัยกุม